Skip to main content
sharethis
  • ควันหลงการประชุม COP26 กลุ่มรีพับลิกยูเค (Republic) ขึ้นป้ายบิลบอร์ดประท้วงราชวงศ์อังกฤษทำตัว ‘หน้าไหว้หลังหลอก’ เรื่องสภาพภูมิอากาศโลก ชี้ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์-เจ้าชายวิลเลียมเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินส่วนตัวบ่อย ทิ้งคาร์บอนฟุตพริ้นท์จำนวนมาก สอดคล้องกับข้อมูลงบเดินทางของสำนักพระราชวังอังกฤษ
  • เปิดงบฯ การบินทั้งเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวของราชวงศ์อังกฤษ
  • เรามักถูกบอกในแบบเรียนว่าอังกฤษเป็นแม่แบบการปกครองของเรา ชวนทำความรู้จักกลุ่มนี้ ที่ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญมาวินิจฉัยว่าล้มล้างการปกครอง กลับกันยังสามารถผลักดันให้ UK เป็นสาธารณรัฐเต็มรูปแบบ เกือบ 40 ปี แล้ว โดยชู 3 เหตุผลคือการมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์นั้นขัดต่อหลักการประชาธิปไตย, เป็นสถาบันทางการเมืองที่ล้าหลังในยุคนี้, ความประพฤติของสมาชิกราชวงศ์นั้นสะท้อนให้เห็นขาดความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตย และสถาบันกษัตริย์เป็นจุดศูนย์กลางของรัฐธรรมนูญที่เป็นจุดบกพร่องที่ฝังรากลึก

ภาพจาก IG : republiccampaign

16 พ.ย. 2564 รีพับลิก (Republic) กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องให้สหราชอาณาจักรเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐ ผุดแคมเปญประท้วงราชวงศ์อังกฤษในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26  หรือ COP26 ด้วยการขึ้นป้ายบิลบอร์ดหรือป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ในเมืองกลาสโกลว ซึ่งระบุว่าราชวงศ์อังกฤษทำตัว ‘หน้าไหว้หลังหลอก’ เกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อม พร้อมกล่าวหาว่าการกระทำหน้าไหว้หลังหลอกของราชวงศ์อังกฤษนั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้การจัดการปัญหาสภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลงนั้นตกอยู่ในอันตราย

ป้ายบิลบอร์ดของกลุ่มรีพับลิกระบุว่าเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ และเจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์ มักเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ทั้งยังมีคฤหาสน์หรือบ้านพักขนาดใหญ่อีกหลายหลัง ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม โดยกลุ่มรีพับลิกเริ่มโครงการระดมทุนจัดทำป้ายบิลบอร์ดผ่านเว็บไซต์ Crowdfunder.co.uk มาตั้งแต่เดือน ส.ค. และจะปิดการรับระดมทุนในวันที่ 30 พ.ย. นี้ ซึ่งขณะนี้ (15 พ.ย. 2564) มีผู้บริจาคสมทบทุนรวม 35,777 ปอนด์ จากเป้าหมายคือ 60,000 ปอนด์

เกรแฮม สมิท ผู้บริหารของกลุ่มรีพับลิกกล่าวเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2564 ก่อนเริ่มการประชุม COP26 อย่างเป็นทางการ โดยระบุว่าสมาชิกราชวงศ์อังกฤษต่างง่วนอยู่กับการสั่งสอนทุกคนที่เข้าร่วมประชุม COP26 ถึงความจำเป็นเรื่องการลงมือปฏิบัติเพื่อต่อสู้กับสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไป การกระทำเช่นนี้เป็นการเสแสร้งแกล้งทำที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่ง

“สมาชิกราชวงศ์ระดับสูงมักเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์เป็นประจำ แทนที่จะใช้รถยนต์ และเมื่อต้องเดินทางไกลก็มักใช้เครื่องบินเจ็ตส่วนตัว นอกจากนี้ พวกเขายังเป็นเจ้าของคฤหาสน์อีกหลายหลัง ซึ่งบ้านหลังใหญ่โตเหล่านี้จะสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ตามมาอีกในจำนวนมหาศาล”

“ราชวงศ์ต้องท้าทายทัศนคติ ‘ทำตามแบบเรา’ ได้แล้ว”

“ในเดือน พ.ย. นี้ ระหว่างที่มีการประชุม COP26 กลุ่มรีพับลิกจะขึ้นป้ายบิลบอร์ดในเมืองกลาสโกลวและเมืองอื่นๆ ทั่วสหราชอาณาจักร เพื่อเรียกร้องให้เจ้าชายทั้งสองเลิกเล่นละครเสแสร้ง”

ภาพจากเพจ Republic

“ไม่มีข้อยกเว้นสำหรับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ที่จะบินไปไหนมาไหนด้วยเฮลิคอปเตอร์ หรือแม้กระทั่งเจ้าชายวิลเลียมที่ใช้เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวทั้งๆ ที่เขาสามารถเดินทางโดยรถไฟหรือเครื่องบินพาณิชย์ทั่วไปได้”

“และราชวงศ์ไม่จำเป็นต้องมีบ้านที่ใหญ่โตหรูหราหลายหลัง ถ้าพวกเขาอยากสั่งสอนใครเรื่องสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ก็เริ่มได้ด้วยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง”

“สมาชิกราชวงศ์อังกฤษมีความกังวลอย่างชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคต นี่เป็นเหมือนการสร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเองมากกว่าการกอบกู้ความน่าเชื่อถือ และการกระทำเหล่านี้ที่ช่างเสแสร้งและน่าเย้ยหยันต้องถูกเรียกตามสิ่งมันเป็น”

ข้อมูลงบประมาณชี้สมาชิกราชวงศ์นิยมเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์จริง

ตามพระราชบัญญัติเงินปีส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2554 (Sovereign Grant Act 2011) สำนักพระราชวังอังกฤษจะต้องเปิดเผยรายละเอียดค่าใช้จ่ายการเดินทางไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจของสมาชิกราชวงศ์โดยละเอียดผ่านทางเว็บไซต์สำนักพระราชวัง หากการเดินทางนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงเกิน 15,000 ปอนด์ (ประมาณ 659,000 บาท)

ในปีงบประมาณ 2562-2563 การเดินทางเพื่อปฏิบัติพระราชกรณียกิจของสมาชิกราชวงศ์อังกฤษที่มีค่าใช้จ่ายสูงเกิน 15,000 ปอนด์ มีทั้งสิ้น 37 รายการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,825,633 ปอนด์ วิธีเดินทางที่สมาชิกราชวงศ์เลือกใช้บ่อยที่สุด คือ เฮลิคอปเตอร์ มีทั้งสิ้น 188 เที่ยว คิดเป็นเงินรวม 650,578 ปอนด์ อันดับ 2 คือการเดินทางโดยเครื่องบินเช่าเหมาลำหรือเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว มีทั้งสิ้น 63 เที่ยวบิน คิดเป็นเงิน 272,379 ปอนด์ รองลงมาคือการเดินทางโดยเครื่องบินพาณิชย์และรถไฟหลวงตามลำดับ ทั้งนี้ เงินรายปีจากภาษีประชาชนที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรถวายแด่ราชวงศ์เพื่อใช้จ่ายในการเดินทางปฏิบัติพระราชกรณียกิจในปีงบประมาณ 2561-2562 นั้นอยู่ที่ 49.4 ล้านปอนด์จากเงินรายปีทั้งสิ้น 82.4 ล้านปอนด์

ต่อมา ในปีงบประมาณล่าสุด (2563-2564) ราชวงศ์อังกฤษได้รับเงินรายปีสำหรับการเดินทางเพื่อปฏิบัติพระราชกรณียกิจจำนวน 51.5 ล้านปอนด์ จากเงินรายปีทั้งสิ้น 85.9 ล้านปอนด์ แต่การเดินทางที่เป็นทางการซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงเกิน 15,000 ปอนด์นั้นลดลง โดยมีทั้งสิ้น 5 รายการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 921,950 ปอนด์ ซึ่งการเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ยังคงเป็นวิธีการที่สมาชิกราชวงศ์เลือกใช้มากที่สุด จำนวน 47 เที่ยว มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 669,149 ปอนด์ ส่วนอันดับ 2 ยังเป็นการเดินทางด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำหรือเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว จำนวน 5 เที่ยวบิน คิดเป็นเงิน 44,239 ปอนด์ ตามมาด้วยเครื่องบินพาณิชย์และรถไฟตามลำดับ

ทั้งนี้ การเดินทางเพื่อปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่มีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 15,000 ปอนด์ต่อครั้ง สำนักพระราชวังอังกฤษไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลโดยละเอียดแก่สาธารณชน

Sandra Mason ประธานาธิบดีแห่งบาร์เบโดส ซึ่งเมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่ผ่านมา สภาผู้แทนฯ และวุฒิสภาของบาร์เบโดส ร่วมกันโหวตเลือกให้เธอขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศด้วย 2 ใน 3 จากคะแนนเสียงทั้งหมด เรื่องนี้ถูกมองว่าเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งที่ประเทศเกาะแคริบเบียนที่อยู่ภายใต้เครือจักรภพอังกฤษอย่างบาร์เบโดสจะละทิ้งอดีตของตนในฐานะประเทศอาณานิคมได้

รู้จักกลุ่ม ‘รีพับลิก (Republic)’ ผู้ผลักดันให้ UK เป็นสาธารณรัฐเต็มรูปแบบ

กลุ่มรีพับลิก (Republic) ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ.2526 โดยเกรแฮม สมิท โดยมีจุดประสงค์เพื่อเรียกร้องให้ล้มราชวงศ์อังกฤษ และเปลี่ยนแปลงการปกครองของสหราชอาณาจักรให้เป็นระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐที่ประชาชนสามารถเลือกประมุขแห่งรัฐด้วยตนเองได้ ทั้งนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์ของกลุ่มรีพับลิกระบุว่าพวกเขามีผู้สนับสนุนเครือข่ายกว่า 80,000 คนทั่วประเทศ

การเข้าชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกสถาบันกษัตริย์ในเว็บไซต์รัฐสภาอังกฤษ โดยเกรแฮม สมิท ผู้ก่อตั้งกลุ่มรีพับลิก

สมิทให้สัมภาษณ์กับ Newsweek นิตยสารข่าวสัญชาติอเมริกันเมื่อปี 2562 ว่าทางกลุ่มต้องการให้ประมุขของประเทศมาจากการเลือกตั้ง แทนการแต่งตั้งตามสายเลือดของสถาบันกษัตริย์ พวกเขามองว่าราชวงศ์นั้นตักตวงผลประโยชน์เพื่อครอบครัวของตน ทุจริต และเป็นกลุ่มอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม สมิทยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าคนส่วนใหญ่ในสหราชอาณาจักรไม่ค่อยกระตือรือร้นในเรื่องนี้ และไม่ค่อยสนใจถึงการมีอยู่ของราชวงศ์มากนัก แต่กลุ่มรีพับลิกก็ยังมุ่งมั่นตั้งใจทำงานรณรงค์ทางความคิดอย่างต่อเนื่อง และหวังว่าสักวันจะสามารถเปลี่ยนสหราชอาณาจักรให้เป็นสาธารณรัฐได้

สมิทบอกว่าเหตุผลที่กลุ่มรีพับลิกต้องการล้มล้างราชวงศ์อังกฤษนั้นมี 3 เหตุผลง่ายๆ คือ ประการแรก เป็นเรื่องของหลักการ ซึ่งการมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์นั้นขัดต่อหลักการประชาธิปไตย และเป็นสถาบันทางการเมืองที่ล้าหลังในยุคนี้

ประการที่สอง ความประพฤติของสมาชิกราชวงศ์นั้นสะท้อนให้เห็นว่า [พวกเขา] ขาดความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตย สมิทบอกว่าราชวงศ์อังกฤษประพฤติตนไม่เหมาะสมอย่างยิ่งตามหลักการประชาธิปไตยสมัยใหม่ หลายเรื่องยังถูกปิดเป็นความลับ ไม่สามารถให้คำตอบแก่ประชาชนได้ ทั้งยังใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนในจำนวนที่มากเกินไป และมีการใช้ตำแหน่งสาธารณะโน้มน้าวรัฐบาลให้ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองอีกด้วย

ประการสุดท้าย คือ สถาบันกษัตริย์เป็นจุดศูนย์กลางของรัฐธรรมนูญแห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งถือว่าเป็นจุดบกพร่องที่ฝังรากลึก หลายสิ่งหลายอย่างกลับกลายมาเป็นอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งมีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เป็นผู้ใช้อำนาจแทนรัฐบาล สิ่งนี้จะทำไปสู่ระบอบการเมืองแบบรวมศูนย์ที่รัฐสภาแทบจะไม่มีอำนาจอิสระแยกออกจากฝ่ายบริหาร โดยสมิทอธิบายเพิ่มเติมว่าสมาชิกราชวงศ์ เช่น เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ สามารถส่งจดหมายขอพบคณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกวุฒิสภาเป็นการส่วนตัวได้ ส่วนรายละเอียดของการพูดคุยก็ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยต่อสาธารณะและได้รับการคุ้มครองจากข้อกำหนดสมาชิกวุฒิสภาเรื่องความยินยอมของสถาบันกษัตริย์อีกด้วย

แผนที่แสดงข้อมูลเชิงสถิติว่าพื้นที่ใดในสหราชอาณาจักรที่มีผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกสถาบันกษัตริย์ร่วมกับกลุ่มรีพับลิกมากน้อยเท่าไร โดยหนึ่งในพื้นที่สีแดงเข้มที่มีคนร่วมลงชื่อมากที่สุด คือ เขต Aberdeenshire ในสกอตแลนด์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ Birkhall พระตำหนักส่วนพระองค์ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์

กลุ่มรีพับลิกเริ่มทำกิจกรรมรณรงค์หลายอย่างเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ โดยอีกหนึ่งการรณรงค์นอกเหนือจากการขึ้นป้ายบิลบอร์ดที่เมืองกลาสโกลวแล้ว ยังมีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายให้ทำประชามติว่าจะยกเลิกสถาบันกษัตริย์อังกฤษหรือไม่ โดยกลุ่มรีพับลิกยื่นเรื่องผ่านเว็บไซต์รัฐสภาของสหราชอาณาจักร มีผู้มาลงชื่อทั้งสิ้น 7,506 คน แต่กฎหมายระบุไว้ว่าการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชนต้องมีผู้ร่วมลงชื่ออย่างน้อย 10,000 คนภายในระยะเวลา 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่เปิดให้ลงชื่อ กฎหมายดังกล่าวจึงจะได้รับการพิจารณาในสภา ทำให้การรณรงค์นี้จบลงในชั้นเสนอชื่อเท่านั้น

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net