Skip to main content
sharethis

‘ปิยบุตร’ เปิดคลับเฮาส์เสวนาออนไลน์ ‘หมดเวลา 112 ถึงเวลาคืนอนาคตสังคมไทย’ ให้ความรู้-ชี้ปัญหา ม.112 และกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ทั่วโลก แนะ 3 แนวทางการแก้ไข/ยกเลิก ม.112 ลั่นเรียกร้องสิทธิเสรีภาพไปพร้อมๆ กับการแก้ปัญหาปากท้องได้ พร้อมชวนประชาชน-ส.ส. สร้างแนวร่วมผลักดันการแก้ไข ม.112 อย่าผลักคนเห็นต่างออกไปเป็นอื่น เผยเตรียมเปิดตัวแพลตฟอร์มล่ารายชื่อออนไลน์เร็วๆ นี้

2 พ.ย. 2564 วันนี้ เวลา 20.00 น. ปิยบุตร แสงกนกกุล เปิดห้องเสวนาออนไลน์ผ่านทางแอปพลิเคชันคลับเฮาส์และเฟซบุ๊กไลฟ์ในหัวข้อ “หมดเวลา 112 ถึงเวลาคืนอนาคตสังคมไทย” โดยพูดถึงปัญหาที่พบในตัวบทของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งเรื่องการจัดหมวดกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ให้อยู่ในหมวดความมั่นคง ซึ่งขัดต่อหลักการประชาธิปไตย โดยปิยบุตรระบุว่าการจัดให้ ม.112 อยู่ในหมวดความมั่นคงนั้นสามารถทำได้หากประเทศไทยปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะกษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขแห่งรัฐมีสถานะเป็น “รัฐ” แต่ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย หมายความว่าอำนาจสูงสุดของรัฐไม่ได้อยู่ที่สถาบันกษัตริย์ ดังนั้น ม.112 จึงไม่สมควรจัดอยู่ในกฎหมายความมั่นคง แต่ควรเป็นกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไป

“วิธีการป้องกันประเทศไทยไม่ให้เป็นสาธารณรัฐคือการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์”

ปิยบุตรชี้ให้เห็นว่า ม.112 ของไทยนั้นมีบทลงโทษที่สูงเกินไป คือ จำคุก 3-15 ปี ซึ่ง ตามความเห็นของตนนั้นโทษหมิ่นประมาทกษัตริย์ ศาล หรือเจ้าหน้าที่รัฐควรเป็นโทษทางแพ่ง ไม่ควรมีโทษอาญา เพราะเป็นตำแหน่งที่มีและสามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ และถือเป็นบุคคลสาธารณะ ดังนั้นจึงควรถูกพูดถึงและตรวจสอบได้โดยประชาชน นอกจากนี้ การเปิดให้บุคคลใดก็ได้ไปแจ้งความเอาผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์โดยใช้ ม.112 เป็นช่องโหว่ของตัวบทกฎหมายที่ทำให้เกิดการกลั่นแกล้งทางการเมือง โดยปิยบุตรตั้งข้อสังเกตว่า ม.112 ถูกนำมาใช้มากขึ้นหลังรัฐประหาร 2549 หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 และหลังการรัฐประหาร 2557 แต่นับจากปี 2561 ถึงช่วงปลายๆ ปี 2563 จะพบว่าไม่มีผู้ถูกแจ้งความเอาผิดในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์เลย ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่เคยพูดไว้เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2563 ว่า “เดิมเรามีกฎหมายอาญามาตรา 112 อยู่ และไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องนี้ อยากบอกคนไทยว่าวันนี้มาตรา 112 ไม่ได้ใช้เลย เพราะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตาไม่ให้ใช้ นี่คือสิ่งที่ท่านทรงทำให้แล้ว และคุณก็ละเมิดกันเรื่อยเปื่อยอย่างนี้”

หลังจากนั้นช่วงปลายปี 2563 เป็นต้นมาก็พบว่ามีการแจ้งความเอาผิดประชาชน โดยเฉพาะนักเคลื่อนไหว ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์มากขึ้นหลายร้อยคดี ปิยุบุตรกล่าวเพิ่มเติมว่าหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้การแจ้งความคดี ม.112 เกือบสองร้อยคดีในช่วงเวลาเพียงแค่ปีเดียวเกิดจากการที่กลุ่มบุคคลซึ่งอ้างตัวว่าจงรักภักดีต่อสถาบันฯ นำชื่อของสถาบันฯ ไปแอบอ้างและแจ้งความเอาผิดประชาชนไปเรื่อย แจ้งความเอาผิดที่ สน. หรือ สภ. ไกลๆ บ้าง สร้างความลำบากในการต่อสู้คดี ซึ่งปิยบุตรมองว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้มองว่าการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ในมุมมองมองที่ต่างจากพวกเขาเป็นหมิ่นประมาทที่ตัวสถาบันฯ หรือตัวบุคคล แต่พวกเขามองว่าการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ในมุมต่างเป็นการหลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นการดูหมิ่นภาพแทนของความเชื่อส่วนบุคคลของพวกเขา เพราะหากมองว่าเป้นการหมิ่นประมาทที่ตัวบุคคลจริง ไม่ว่าอย่างไร ผู้ที่สมควรไปแจ้งความเอาผิดควรจะเป็นกษัตริย์หรือผู้แทนของกษัตริย์ ซึ่งก็คือเลขาธิการสำนักพระราชวัง ไม่ใช่กลุ่มบุคคลที่ตั้งตัวขึ้นมาแบบลอยๆ

ปิยบุตรกล่าวถึงการรณรงค์แก้ไข ม.112 ซึ่งตนทำมาตั้งแต่สมัยเป็นนักวิชาการในกลุ่มนิติราษฎร์ มาจนถึงการชุมนุมของกลุ่มราษฎรยกเลิก 112 เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา พร้อมชี้ให้เห็นว่าแนวทางการจัดการ ม.112 มีอยู่ 3 รูปแบบ คือ 1) แก้ไขกฎหมาย คือ อาจจะลดโทษ ดังที่คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ในสมัยรัฐบาลของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยเสนอ หรือการเพิ่มโทษ เหมือนตอนรัฐประหารหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 โดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ 2) กึ่งแก้ไขกึ่งยกเลิก เช่น การเสนอร่างกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ของพรรคก้าวไกลที่เสนอให้ยกเลิก ม.112 ก่อน แล้วร่างกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ขึ้นมาใหม่ให้มีความรัดกุมในตัวบทมากขึ้น และ 3) การยกเลิก ม.112 แบบที่กลุ่มราษฎรเสนอในการชุมนุมเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งปิยบุตรมองว่าการใช้คำว่า “ยกเลิก 112” นั้นเป็นคำที่ช่วยให้การรณรงค์เรื่องปัญหาของ ม.112 ดำเนินไปได้อย่างง่ายขึ้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ปิยบุตรกล่าวว่าการผลักดันให้กระบวนการแก้ไขหรือยกเลิก ม.112 ประสบความสำเร็จนั้นต้องอาศัยพลังนอกสภาและในสภา คือ ต้องอาศัยพลังเรียกร้องของประชาชนและนักการเมืองต้องรับไม้ต่อไปผลักดันในสภา เพราะหากไม่มีเสียงเรียกร้องจากประชาชน ส.ส. ในสภาไทยคงไม่มีใครกล้าหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาเสนอ หรือถ้า ส.ส. หยิบขึ้นมาเสนอด้วยตนเองแล้ว แต่ไม่มีแรงสนับสนุนจากประชาชนก็คงไม่มีใครกล้าทำ ต้องให้ “นอกสภาหนุน ในสภาทำ และในสภาทำ นอกสภาหนุน” อย่างไรก็ตาม หากการเสนอร่างแก้ไข ม.112 ที่กลุ่ม iLaw และภาคประชาชนร่วมกันล่ารายชื่อถูกผลักดันจนเข้าสู่สภาแล้ว อาจถูกตีตกได้โดยประธานรัฐสภา ดังที่เคยเกิดขึ้นในสมัยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาในขณะนั้นตีตกการแก้ไข ม.112 ที่เสนอโดยคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) โดยระบุว่าร่างกฎหมายดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพของประชาชน พร้อมยกตัวอย่างกรณีที่กฎหมายหลายฉบับซึ่งเสนอโดยพรรคอนาคตใหม่ถูกประธานรัฐสภาคนปัจจุบันตีตกไป ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประธานรัฐสภามีอำนาจยับยั้งการพิจารณากฎหมายที่เสนอร่างเข้ามาโดยประชาชน ดังนั้น หากไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ ปิยบุตรเสนอว่าพรรคการเมืองสามารถร่างกฎหมายเกี่ยวกับ ม.112 ขึ้นมาเอง และนำเข้าสู่สภาเองได้ ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยรับประกันได้ว่ากฎหมายจะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่ต้องการต่อจากนั้นคือเสียงในสภา ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้กันต่อไป นอกจากนี้ ปิยบุตรยังฝากไปถึงประชาชนและพรรคการเมืองให้ช่วยกันทำงานด้านความคิดและร่วมมือกันผลักดันให้เกิดการแก้ไข ม.112 จนบังเกิดผลในที่สุด อย่าทะเลาะ กีดกัน หรือผลักให้พรรคการเมืองหรือคนที่เห็นด้วยในบางประเด็นออกไปเป็นอื่น ต้องสร้างแนวร่วมเพื่อผลักดันการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้

นอกจากปัญหากฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ของไทยแล้ว ปิยบุตรยังยกตัวอย่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาทกษัตริย์ของต่างประเทศ เช่น สเปน สหราชอาณาจักร เบลเยียม และญี่ปุ่น ว่าแต่ละประเทศมีปัญหาอะไร และแก้ไขกันอย่างไรบ้าง เช่น สเปน ที่มีการใช้กฎหมายนี้อย่างจริงจังกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรป แต่โทษก็มีเพียงการปรับเท่านั้น พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าโทษจำคุกฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์สเปนมักมาคู่กับความผิดฐานแบ่งแยกดินแดน ดังที่เกิดขึ้นกับนักเคลื่อนไหวในแคว้นกาตาลุญญาของสเปน ซึ่งต่อมา นักเคลื่อนไหวคนดังกล่าวได้ลี้ภัยไปยังเบลเยียม และชนะคดีในศาลรัฐธรรมนูญเบลเยียมเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนในความผิดหมิ่นประมาทกษัตริย์ โดยศาลรัฐธรรมนูญเบลเยียมชี้ว่าแม้เบลเยียมจะมีกฎหมายมิ่นประมาทกษัตริย์ แต่กฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญเบลเยียม ส่งผลให้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ของเบลเยียมสิ้นสภาพ และนักเคลื่อนไหวจากแคว้นกาตาลุญญาคนดังกล่าวไม่ต้องถูกส่งตัวกลับไปรับโทษที่สเปน

ส่วนกรณีของสหราชอาณาจักรซึ่งไม่มีกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์นั้น ปิยบุตรมองว่าเป็นตัวอย่างที่ดีที่ชี้ให้เห็นว่าการเปิดให้ประชาชนสามารถพูดถึง วิจารณ์ หรือล้อเลียนสถาบันกษัตริย์ได้อย่างเสรี ไม่ได้ทำให้ความนิยมในตัวสถาบันฯ ลดลง แม้ว่าในสหราชอาณาจักรจะมีกลุ่มคนที่ต้องการล้มล้างราชวงศ์ที่แสดงตนอย่างชัดเจนก็ตาม ซึ่งความนิยมของสถาบันกษัตริย์อังกฤษนั้นเห็นได้จากการทำโพลล์สำรวจทั้งอย่างเป็นการทางหรือไม่เป็นทางการ ไม่ว่าจะกี่จะครั้ง ผลโพลล์ก็จะชี้ว่าคนส่วนใหญ่บนเกาะบริเตนยังต้องการให้คงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ และผลักให้กลุ่มคนที่ต้องการล้มล้างสถาบันฯ เป็นเพียงเสียงส่วนน้อยเท่านั้น

“วิธีการป้องกันประเทศไทยไม่ให้เป็นสาธารณรัฐคือการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ปิยบุตรตอบคำถามผู้ร่วมเสวนาในแอปพลิเคชันคลับเฮ้าส์ ซึ่งถามถึงกรณีที่ประชาชนบางส่วนเริ่มพูดถึงเรื่องสาธารณรัฐมากขึ้น

ปิยบุตรกล่าวว่าหากจะเดินออกจากวิกฤติไปสู่การออกแบบอนาคตร่วมกัน ทำให้ทุกคนทุกฝ่ายทุกอุดมการณ์ความฝันอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ทุกฝ่ายจำเป็นต้องพูดคุยเรื่องนี้ด้วยเหตุด้วยผลกันอย่างตรงไปตรงมา พร้อมเรียกร้องไปยังสื่อกระแสหลักให้ช่วยมอบพื้นที่แก่เรื่องการแก้ไข ม.112 ให้มากขึ้น เช่น จัดวงเสวนาหรือดีเบตระหว่างพรรคการเมือง หรือกลุ่มนักเคลื่อนไหว หรือถ้ามีสื่อไหนจะเชิญตนไปร่วมวงดีเบต ตนก็พร้อมและยินดีไปร่วมด้วยเช่นกัน ทั้งยังตอบคำถามผู้ร่วมฟังเสวนาที่แสดงความกังวลว่าการคงไว้ซึ่ง ม.112 แต่กำหนดให้เฉพาะสถาบันฯ เป็นผู้แจ้งความเอาผิดเอง จะเป็นการทำให้ภาพลักษณ์ของสถาบันฯ เสื่อมเสียมากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับการเปิดให้ใครก็ได้ไปแจ้งความเอาผิด ซึ่งปิยบุตรตอบว่าไม่ว่าจะทางใดก็ยังคงมีผลต่อภาพลักษณ์ของสถาบันฯ แต่การที่กฎหมายอนุญาตให้เฉพาะสถาบันฯ เป็นผู้ฟ้องนั้นหมายความว่ากษัตริย์ทรงวินิจฉัยแล้วว่าคำพูดหรือการกระทำนั้นส่งผลให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติ ซึ่งเป็นพระราชวินิจฉัยที่มาจากพระองค์เอง ไม่ใช่บุคคลอื่นไปแอบอ้างอย่างในทุกวันนี้ หากเป็นเช่นนี้แล้วก็จะไม่ต่างอะไรกับกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไปที่เป็นเรื่องระหว่างคู่ขัดแย้ง 2 ฝ่ายโดยตรง

ส่วนกรณีที่ประชาชนหลายฝ่ายออกมาเรียกร้องว่าอย่าเพิ่งไปแตะเรื่อง ม.112 ให้ช่วยแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนก่อนนั้น ปิยบุตรมองว่าไม่มีข้อห้ามเรื่องการเรียกร้องว่าจะต้องทำได้ทีละเรื่องเท่านั้น เราสามารถเรียกร้องหลายเรื่องพร้อมกันได้ ทั้งประเด็นปัญหาเศรษฐกิจ และสิทธิเสรีภาพ ตนจึงมองว่าประชาชนและสภาสามารถผลักดันเรื่องแก้ไข ม.112 ไปพร้อมๆ กับการเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออกได้ ขณะเดียวกัน ปิยะบุตรก็กล่าวว่า ม.112 ถือว่าเกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชน เพราะสถาบันกษัตริย์ได้รับงบประมาณจากภาษีประชาชนปีละหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถนำไปจัดสรรให้กับภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องกับปากท้องประชาชนได้ โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดวิกฤติโรคระบาด ตามมาด้วยปัญหาเศรษฐกิจ แต่ในสภากลับไม่มีใครกล้าพูด มีเพียง ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่พูดเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา เช่น ส.ส.เบญจา แสงจันทร์ ซึ่งเข้ามาร่วมรับฟังในห้องคลับเฮาส์ในวันนี้

นอกจากนี้ ปิยบุตรยังตอบคำถามผู้ร่วมฟังการเสวนาว่าหากเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยกฎหมายฉบับนี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งปิยบุตรตอบว่าตนจะวินิจฉัยว่า “ม.112 ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน” โดยให้เหตุผลว่าอัตราโทษจำคุก 3-15 ปี สูงเกินไป ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด และกฎหมายนี้ละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตนไม่ได้บอกว่าห้ามมีกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ แต่กฎหมาย ม.112 ที่มีอยู่นี้ “เกินสัดส่วน” พร้อมยกตัวอย่างกรณีการต่อสู้ของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่เคยร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ม.112 ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งสุดท้ายตุลาการศาลชี้ว่า “ไม่ขัด” ตนจึงอยากให้ทุกคนไปย้อนอ่านคำวินิจฉัยดังกล่าว เพราะส่วนตัวมองว่าเป็นเหมือน “คำอาเศียรวาท” หรือคำถวายพระพรที่แฝงอยู่ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

สุดท้าย ปิยบุตรฝากไปถึงคนที่ทำงานในฝ่ายตุลาการ ทั้งผู้พิพากษาและอัยการว่าขอให้นำกรณี ม.112 ของนักกิจกรรม เช่น เบนจา อะปัญ, พริษฐ์ ชิวารักษ์ และคนอื่นๆ ไปทบทวน โดยถอดหมวกตำแหน่งที่ทำอยู่ในขณะนี้ แล้วย้อนกลับไปสวมหมวกนักศึกษานิติศาสตร์ชั้นปีที่ 2 ขณะนั่งทำข้อสอบวินิจฉัยหลักการของกฎหมาย ขอให้ตอบคำถามเรื่อง ม.112 เหมือนตอนทำข้อสอบแล้วสอบผ่าน ได้คะแนนดี

“ใช้กฎหมายให้ตรงกับที่เรียนมา อย่าใช้กฎหมายเพียงเพราะมีเรื่องอะไรมาบีบบังคับมาดลใจ” ปิยบุตรกล่าว พร้อมฝากให้ประชาชนติดตามการเข้าชื่อเสนอยกเลิก ม.112 แบบออนไลน์ ซึ่งทางคณะก้าวหน้าจะเป็นผู้ออกแบบและสนับสนุนระบบการลงชื่อให้กับ iLaw และกลุ่มเคลื่อนไหวที่เปิดโต๊ะลงชื่อครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net