Skip to main content
sharethis

ประชุม กมธ.วิสามัญ พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย ครั้งที่ 3-4 พบการพิจารณารายมาตราล่าช้า รายละเอียดบทนิยามยังมีความเห็นไม่ตรงกัน ด้าน 'รังสิมันต์ โรม' เสนอแก้คำนิยามให้ครอบคลุม อย่าเปิดช่องว่างให้กฎหมายพิเศษมีอำนาจเหนือการพิทักษ์สิทธิของประชาชน

 

20 ต.ค. 2564 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม หนึ่งในสมาชิกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … รายงานว่า วานนี้ (19 ต.ค. 2564) และวันนี้ (20 ต.ค. 2564) กมธ. จัดการประชุมครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4 โดยวาระในการประชุมทั้ง 2 ครั้งนี้ คือการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ในรายมาตรา ซึ่งพิจารณาจากร่างของรัฐบาลเป็นร่างหลัก

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมทั้งสองวันกลับปรากฏว่าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ในรายมาตรามีความล่าช้า ไม่สามารถพิจารณาให้ผ่านไปได้โดยเร็วเพราะต้องการความรอบคอบ และเนื่องจาก กมธ. บางส่วนมีความเห็นไม่ตรงกันเรื่องการนิยามความหมายที่เกี่ยวข้องในร่าง พ.ร.บ.ของรัฐบาล เช่นคำว่า 'การทรมาน' และ 'การกระทำให้บุคคลสูญหาย' โดย กมธ. ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าควรให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (ICPPED) ให้มากที่สุด ตามที่เห็นชอบร่วมกันในการประชุมครั้งแรกๆ

ขณะที่ร่างของรัฐบาลไม่กำหนดนิยามและข้อหาความผิดในเรื่อง 'การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์' ซึ่ง กมธ. ส่วนใหญ่เห็นสมควรว่าควรมีการกำหนดไว้ ทั้งนี้ ในที่ประชุมยังถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง กรณีการแก้ไขคำว่า 'การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม' ของร่างรัฐบาลให้ปรับเป็น 'การเลือกปฏิบัติไม่ว่ารูปแบบใด' หรือ 'โดยเหตุใดๆ' ตามข้อเสนอของ กมธ. ส่วนใหญ่ แต่ท้ายที่สุดก็ยังไม่ได้ข้อสรุปเช่นกัน

การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ตลอดการประชุมทั้ง 4 ครั้ง ยังไม่ได้ข้อสรุปในรายมาตรา แม้ว่าเสียงของ กมธ. ส่วนใหญ่จะเสนอให้นำเอาบางมาตราของร่าง พ.ร.บ.ฉบับของ กมธ. ซึ่งลงชื่อโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากทุกพรรค จำนวน 101 คน ร่างพรรคประชาธิปัตย์จำนวน 21 คน และร่างพรรคประชาชาติจำนวน 21 คน มาเสนอเพื่อปรับปรุงร่างของรัฐบาลให้สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ เพื่อให้การปกป้องทุกคนจากการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการบังคับสูญหาย โดยกฎหมายสามารถนำไปบังคับใช้ได้ผลจริงในทางปฏิบัติ ยิ่งไปกว่านั้น การให้คำนิยามคำว่า 'ผู้เสียหาย' กมธ. บางคนยังได้เสนอให้ไม่ระบุคำว่า 'คู่ชีวิต' ที่หมายถึงคู่รักต่างเพศ เพศเดียวกัน หรือคู่รักที่เป็นบุคคลหลากหลายทางเพศที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว ในนิยามคำว่า 'ผู้เสียหาย' โดยเห็นว่ายังไม่มีกฎหมายออกมาบังคับใช้ ทำให้เป็นข้อกังวลว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะออกมาทิศทางใด และจะทำให้บุคคลบางกลุ่มไม่อยู่ในขอบเขตที่รัฐต้องให้การคุ้มครองหรือไม่

ทั้งนี้ การประชุม กมธ. ครั้งถัดไป จะมีขึ้นในวันที่ 25-27 ต.ค. 2564 เพื่อเร่งดำเนินการให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้เสร็จสิ้นภายในเดือน ต.ค. นี้และเตรียมเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยหน้า ซึ่งจะเปิดสมัยประชุมในวันที่ 1 พ.ย. ที่จะถึงนี้

'รังสิมันต์ โรม' เสนอแก้คำนิยามให้ทัดเทียมกับอนุสัญญาระดับสากล

วานนี้ (19 ต.ค. 2564) รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล หนึ่งใน กมธ. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหาย-ซ้อมทรมาน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพจ Rangsiman Rome - รังสิมันต์ โรม ระบุว่าตนได้ให้ความเห็นต่อที่ประชุมว่าคำว่า 'มนุษยธรรม' หรือ 'ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์' ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นมาใหม่ ย่อมมีการศึกษาค้นความเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาแล้วพอสมควรที่จะให้หยิบยกขึ้นมาใช้ตีความกันได้ ในขณะที่ในความเป็นจริงนั้น เราก็ได้พบกับปรากฏการณ์ต่างๆ ที่ทำให้เห็นได้ว่าการกระทำอันโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้นมีอยู่จริง เช่น การคุมขังในที่มืดไม่ให้รู้วันคืน การคุมขังในสถานที่สกปรกไม่ถูกสุขลักษณะ เช่นนี้แล้วจึงจำเป็นที่จะต้องกำหนดฐานความผิดดังกล่าวเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และหากจะยังมีส่วนที่จะต้องตีความก็ต้องเป็นหน้าที่ของศาล ซึ่งในอนาคตเมื่อศาลได้มีคำพิพากษาบรรทัดฐานออกมาแล้วก็จะช่วยให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้นได้ นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ กมธ. ได้เสนอให้นำบทบัญญัติในร่างฉบับ กมธ. ที่กำหนดหากมีข้อขัดแย้งกับกฎหมายฉบับอื่นๆ ให้ยึดตามที่บัญญัติไว้ในร่าง พ.ร.บ.นี้เป็นสำคัญ (เว้นแต่บทบัญญัติในกฎหมายฉบับอื่นให้การคุมครองบุคคลได้มากกว่า) ซึ่งตัวแทนกฤษฎีกาได้แสดงข้อกังวลว่าหากกำหนดไว้อาจเกิดปัญหาในทางกฎหมาย

ในประเด็นนี้ รังสิมันต์ได้ให้ความเห็นว่าการที่ต้องกำหนดไว้เช่นนี้ก็เนื่องจากเราต้องการให้กฎหมายนี้เป็นมาตรฐานใหม่ของการคุ้มครองชีวิตและร่างกายของประชาชน ดังนั้นจะให้มีกฎหมายอื่นใดมาเปิดช่องยกเว้นเพื่อที่จะไม่ถือปฏิบัติตามร่าง พ.ร.บ. นี้ไม่ได้ เช่น การยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, กฎอัยการศึก หรือการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งตนรับฟังได้หากทางกฤษฎีกาจะเห็นว่าถ้อยคำยังไม่รัดกุมพอ ก็แก้ไขในจุดเหล่านั้นไป แต่หากไม่มีการกำหนดเรื่องดังกล่าวไว้เลย ผมเกรงว่าที่อุตส่าห์ยกร่าง พ.ร.บ. นี้ขึ้นมา สุดท้ายเมื่ออยู่ต่อหน้า 'กฎหมายพิเศษ' เหล่านั้นแล้วก็จะกลายเป็นเปล่าประโยชน์ และขอให้ กมธ. ช่วยกันหาและแก้ไขจุดอ่อนข้อด้อยของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยไม่ลืมว่าเป้าหมายใหญ่ของการร่างกฎหมายฉบับนี้คือเพื่อสร้างมาตรฐานในการพิทักษ์สิทธิของประชาชนให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล หรือสูงยิ่งไปกว่านั้นได้ยิ่งดี

นอกจากนี้ ในวันนี้ (20 ต.ค. 2564) รังสิมันต์ยังระบุว่าตนได้เสนอเรื่องการแก้ไขการกำหนดองค์ประกอบความผิดฐานทรมาน ส่วนที่เป็นเรื่องเจตนา 'เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม' (ตามร่างฉบับ ครม.) โดยขอให้แก้เป็น 'การเลือกปฏิบัติไม่ว่ารูปแบบใด' เนื่องการการเขียนตามร่างฉบับ ครม. นั้นอาจก่อให้เกิดความสับสนในการตีความ ซึ่งรังสิมันต์เห็นว่าการเขียนตามที่ตนเสนอนั้นสอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศมากกว่า อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ยังไม่ได้มีการลงมติว่าจะเห็นด้วยกับข้อเสนอให้แก้ไขหรือไม่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net