Skip to main content
sharethis

6 ต.ค. 2564 ศบค. กังวลการติดเชื้อใน 4 จังหวัดภาคใต้พุ่งสูง ย้ำฉีดวัคซีนได้ไม่ขัดหลักศาสนา เตือนสูบบหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เสี่ยงเสียชีวิตจากโควิด-19 มากขึ้น แนะเด็กที่รับวัคซีนไฟเซอร์สังเกตอาการใน 1 สัปดาห์ อาจเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สปสช. ชี้ได้รับผลกระทบจากวัคซีนโควิด-19 ขอเยียวยาได้

พบผู้ป่วยใหม่ 9,866 คน เสีชีวิต 102 คน

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 6 ต.ค. 2564 ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,866 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 9,805 คน ติดเชื้อจากต่างประเทศ 16 คน และติดเชื้อในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 45 คน ในจำนวนนี้ไม่รวมผู้ป่วยเข้าข่ายจากการตรวจด้วยแอนติเจนเทสต์คิต (antigen test kit: ATK) ได้ผลเป็นบวก 5,652 คน ผู้ป่วยยืนยันสะสมทั้งหมด 1,667,097 คน

เสียชีวิตเพิ่ม 102 คน ผู้เสียชีวิตสะสมทั้งหมด 17,305 คน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 1.04 % ผู้เสียชีวิตประจำวันที่ 6 ต.ค. 2564 อายุระหว่าง 38-102 ปี 94% ของผู้เสียชีวิตอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือมีโรคเรื้อรัง

ผู้ป่วยยังรักษาตัวอยู่ 108,022 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 3,017 คน ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 720 คน ประชาชนได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็มแล้ว 21,595,916 คน คิดเป็น 29.98% ของประชากร

รายงานสถานการณ์โควิด-19 วันที่ 6 ต.ค. 2564

รายงานสถานการณ์โควิด-19 วันที่ 6 ต.ค. 2564

4 จังหวัดภาคใต้ผู้ติดเชื้อพุ่งสูงต่อเนื่อง ชี้ฉีดวัคซีนได้ไม่ขัดหลักศาสนา

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. รายงานว่าการติดเชื้อใน 4 จังหวัดภาคใต้ยังคงเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง จำนวนผู้ติดเชื้อใกล้เคียงกับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คิดเป็น 20% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด โดยมีผู้ติดเชื้อใหม่ 1,922 คน เสียชีวิต 6 คน

ทั้งนี้ ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) ได้รับทราบแผนจัดการควบคุมโรคและจัดสรรทรัพยากรในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.สงขลา จ.นราธิวาส จ.ยะลา และ จ.ปัตตานี หลังจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าตัวในช่วง 2 สัปดาห์ เนื่องจากวิถีทางการดำเนินชีวิตประจำวันมีการจิบน้ำชาพบปะพูดคุยกันโดยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย รวมถึงการประกอบกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรม

ส่วนการระดมฉีดวัคซีนใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พญ.อภิสมัย กล่าวว่า มีประชาชนแจ้งข้อมูลว่ามีการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนทำให้เกิดความลังเล ไม่กล้าฉีดวัคซีน จึงขอย้ำข้อมูลจากจุฬาราชมนตรีว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ฉีดได้และมีความจำเป็น ไม่มีสิ่งต้องห้ามตามหลักการศาสนาอิสลาม

เตือนสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงตายเพิ่ม

นอกจากนี้ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ยังเตือนผู้สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตที่มีประวัติการสูบบุหรี่ โดยสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ออกแถลงการณ์เน้นย้ำว่า บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าถือว่ามีอันตราย ทำให้พยาธิสภาพของปอดผิดปกติ ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 อาจมีอาการปอดอักเสบ ปอดบวม และระบบหายใจล้มเหลวอย่างรวดเร็ว ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

พญ.อภิสมัย เน้นอีกว่า บุหรี่ไฟฟ้าที่คนเข้าใจว่าไม่มีอันตราย หลายคนใช้เป็นตัวช่วยเลิกบุหรี่ แต่สมาพันธ์ฯ ย้ำว่าอันตรายไม่ต่างจากบุหรี่ทั่วไป ก่อให้เกิดโรคประจำตัวจำนวนมาก รวมถึงโรคมะเร็ง และไม่สามารถช่วยเลิกบุหรี่ได้ โดยมีผลการวิจัยชี้ว่า คนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อจะเลิกบุหรี่ สุดท้ายจะติดทั้งบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้ปอดเสียหายมากยิ่งขึ้น

แนะเด็กรับวัคซีนไฟเซอร์สังเกตอาการ

กรณีการฉีดวัคซีน ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนให้เยาวชนอายุ 12-18 ปี อยากให้ผู้ที่รับวัคซีนสังเกตอาการเนื่องจากเป็นวัคซีนไฟเซอร์ มีรายงานเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์อย่างต่อเนื่อง อาการ คือ เจ็บ แน่นหน้าออก หน้ามืด เป็นลม ภายใน 1 สัปดาห์ หากมีอาการให้แจ้งผู้ปกครองและไปโรงพยาบาลใกล้บ้านให้เร็วที่สุด พร้อมแจ้งวันที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แพทย์ทราบ

อย่างไรก็ตาม พญ.อภิสมัย ย้ำว่า เด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 และเกิดการอักเสบของอวัยวะคิดเป็นอัตรา 16 ต่อแสน แต่อัตราการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเนื่องจากการฉีกวัคซีนน้อยกว่าถึง 6 เท่า จึงแนะนำให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานไปรับวัคซีน ซึ่งจะทำให้มีภูมิคุ้มกันและสามารถเปิดโรงเรียนได้ในเดือน พ.ย.

ผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ยื่นขอเยียวยาจาก สปสช. ได้

ด้านทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับเด็กนักเรียนอายุ 12 ปีขึ้นไป โดยเป้าหมาย 5,048,000 รายทั่วประเทศ เริ่มต้นฉีดเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2564 เป็นวันแรก โดยเป็นวัคซีนชนิด mRNA ผลิตโดย บริษัท ไฟเซอร์ ร่วมกับ บริษัท ไบโอเอ็นเทค เพื่อเป็นการให้วัคซีนครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มอายุที่สามารถรับการฉีดวัคซีนได้ ลดอัตราการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศได้

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลระบบการรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของ CDC ประเทศสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะมีรายงานผลข้างเคียงการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หลังจากการฉีดวัคซีนชนิด mRNA แต่ด้วยจำนวนผู้ที่เกิดผลข้างเคียงนี้มีไม่มากและประโยชน์ที่ได้รับจากฉีดวัคซีนมีมากกว่า ทางองค์การอนามัยโลก รวมถึงราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยังคงแนะนำให้เด็กนักเรียนช่วงอายุดังกล่าวเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 นี้

ทั้งนี้ เพื่อเฝ้าระวังและไม่ประมาท ที่ผ่านมาคณะทำงานจัดทำแนวทำงานวินิจฉัยและรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบภายหลังการได้รับวัคซีน mRNA  ซึ่งประกอบด้วยสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้จัดทำคำแนะนำ “การวินิจฉัยและรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบที่เกิดภายหลังการได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (Guideline for diagnosis and management of myocarditis and pericarditis after COVID-19 mRNA vaccination) ฉบับวันที่ 1 ต.ค. 2564

ในคำแนะนำฉบับดังกล่าว ได้ระบุถึงอาการภาวะไม่พึงประสงค์ที่สังเกตคือ มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจไม่สะดวก รู้สึกเหนื่อย หายใจแล้วรู้สึกเจ็บหน้าอก ใจสั่น เป็นลมหมดสติ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดจุกแน่นท้องบริเวณด้านขวาบน หรือลิ้นปี่ ซึ่งเป็นผลจาก hepatic congestion พบได้ในภาวะ right-sided heart failure ในบางรายอาจมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ และตรวจพบค่าโปรตีนโทรโปนิน (troponin) มีระดับสูงขึ้น

ทั้งนี้ อาการแสดงเหล่านี้มักเกิดเร็วหลังได้รับวัคซีน เฉลี่ยจะแสดงอาการในวันที่ 3-7 หลังจากได้รับวัคซีน ซึ่งหน่วยบริการทั่วประเทศที่ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มนักเรียน สามารถใช้แนวทางนี้ในการสังเกตอาการเด็กนักเรียนหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้วได้

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่เป็นลูกหลานของเรา แต่หากเกิดขึ้นจำเป็นต้องได้รับการดูแลและช่วยเหลือความเสียหายที่เกิดขึ้นเบื้องต้นโดยเร็ว ซึ่ง สปสช. โดยการสนับสนุนจากรัฐบาลได้มีการจัดระบบการช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับผลกระทบหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกรณีที่เกิดภาวะไม่พึงประสงค์หลังจากการฉีดวัคซีนสามารถขอรับการช่วยเหลือผ่านช่องทางนี้ได้

เลขาธิการ สปสช. ชี้แจงว่า หลักการจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ สปสช. ไม่ไช่การพิสูจน์ถูกผิดหรือชี้ชัดว่าเป็นผลที่เกิดจากการฉีดวัคซีนแต่อย่างใด แต่เป็นเงินเยียวยาเพื่อลดผลกระทบที่เกิดแก่ประชาชนเมื่อมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น  

ทั้งนี้ หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามแผนงานโครงการที่รัฐจัดให้ฟรี สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ที่ โรงพยาบาลที่ฉีด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือที่สำนักงาน สปสช.สาขาเขตพื้นที่ทั้ง 13 เขต โดยมีระยะเวลายื่นคำร้องได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ทราบความเสียหาย เมื่อมีผู้มายื่นคำร้องแล้ว คณะอนุกรรมการฯ ระดับเขตพื้นที่จะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัย ก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อเลขาธิการ สปสช. ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบผลการวินิจฉัย 

หลักเกณฑ์การพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นจะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับ 1 มีอาการป่วยต้องรักษาต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท ระดับ 2 เกิดความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท และระดับ 3 กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท  

สอบถามเพิ่มเติม สายด่วน สปสช. 1330 

ดาวน์โหลดแแบบคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโควิดได้ที่ https://www.nhso.go.th/storage/files/841/001/nhso_VaccinCovid19.pdf

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net