Skip to main content
sharethis

ตำรวจสน.ลุมพินี แจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไผ่ จตุภัทร เพิ่มอีก 2 คดีเหตุทำกิจกรรมชู 3 นิ้วในเซเว่นอีเลฟเว่นและหล่อเทียนไล่ประยุทธ์ พร้อมแจ้งข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่มในคดีเดิมคือคดีชุมนุมเมื่อตุลาคมปี 63

ภาพกลุ่มทะลุฟ้าที่หน้าตึกเครือเจริญโภคภัณฑ์หลังทำกิจกรรมยืนเฉยๆ ในเซเว่น เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 64 (ที่มา ไลฟ์สดของกลุ่มทะลุฟ้า)

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เมื่อวานนี้ (28 ก.ย. 64) เวลา 11.00 น. ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พ.ต.ท.เทอดศักดิ์ มนัสชน และ ร.ต.อ.สุทวัฒน์ ศรีพรวรรณ์ พนักงานสอบสวน จาก สน.ลุมพินี เข้าแจ้งข้อกล่าวหาต่อ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้าเพิ่ม 2 คดี โดยคดีแรกตำรวจกล่าวหาว่า “ร่วมกัน” ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มทะลุฟ้าในร้านสะดวกซื้อ 7-11 ก่อนไปทำกิจกรรมหล่อเทียนที่สวนลุมพินี เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 64 และคดีที่สองจากกิจกรรม “หล่อเทียนทําบุญประเทศ ขับไล่เสนียดจัญไร ออกไปไอ้สัส” เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 64 ที่ แยกราชประสงค์

นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนจาก สน.ลุมพินี แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในกรณีร่วมชุมนุมปราศรัยเพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในระหว่าง #ม็อบ25ตุลา เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 63 ที่แยกราชประสงค์ หลังคดีนี้พนักงานอัยการได้ตีสำนวนกลับ ให้ตำรวจแจ้งข้อหาเพิ่มเติม

ทั้งนี้จตุภัทรให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาในทั้ง 3 คดี

คดีชู 3 นิ้วใน 7-11 และหล่อเทียนไล่ประยุทธ์ที่สวนลุมฯ

สำหรับคดีแรกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาจตุภัทร 2 ข้อหา ข้อหาแรก ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวด ซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 5 คน” และข้อหาที่สองฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง “ห้ามการชุมนุม การทํากิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019”

พนักงานสอบสวนบรรยายพฤติการณ์ว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2564 ช่วงเวลาประมาณ 13.00 น. มีมวลชนประมาณ 30 คน รวมทั้งจตุภัทร์ ได้เดินทางมารวมกลุ่มภายในร้าน 7-11 ถนนสีลม พร้อมแสดงสัญลักษณ์ยืนชูสามนิ้ว มีการใส่แว่นตาสีดำและสวมหน้ากากอนามัยสีฟ้า เป็นเวลาประมาณ 30 นาที โดยไม่ได้มีการปราศรัย หรือกระทำการใดๆ ในร้าน นอกจากมีบางคนในกลุ่มยืนเฉยๆ และทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์โดยชูสามนิ้ว

ต่อมา 14.30 น. จตุภัทร์กับพวกรวม 30 คน เดินเท้าจากถนนสีลมมุ่งหน้าไปสวนลุมพินี เพื่อทำกิจกรรม “ร่วมหล่อเทียนทําบุญประเทศ ขับไล่เสนียดจัญไร ออกไปไอ้สัส” บริเวณลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 จนถึงเวลาประมาณ 18.00 น. โดยจตุภัทร์และพวกได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ชูสามนิ้ว พร้อมตะโกนพูดว่า “สวัสดีครับ” และมีการบันทึกภาพไว้ ซึ่งในขณะนั้น มีสื่อมวลชนมาในที่เกิดเหตุด้วย

นอกจากนี้ ในกิจกรรมดังกล่าวยังมีผู้ต้องหาอีก 9 ราย ได้แก่ โชคดี ร่มพฤกษ์, พีรพงศ์ เพิ่มพูล, ทรงพล สนธิรักษ์, ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, วรวรรณ แซ่อึ้ง, ธนายุทธ ณ อยุธยา, พรหมศร วีระธรรมจารี, ธนพัฒน์ กาเพ็ง และภาณุพงศ์ จาดนอก ได้ร่วมกันปราศัย, แสดงความคิดเห็น, เล่นดนตรี, อ่านประกาศจุดยืนข้อเรียกร้อง 3 ข้อ และได้กล่าวเชิญชวนให้มวลชนเข้าร่วมกิจกรรมอีกครั้งในวันที่ 23 ก.ค.2564 เวลา 16.00 น. ที่ห้าแยกลาดพร้าว ก่อนจะประกาศยุติการชุมนุมและเดินทางกลับ

หล่อเทียนพรรษา ร้องเพลง-ปราศรัยไล่ประยุทธ์ที่แยกราชประสงค์

สำหรับคดีที่สอง พนักงานสอบสวนบรรยายพฤติการณ์ข้อกล่าวหาโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2564 จตุภัทร์และพวกอีก 7 ราย ได้แก่ นวพล ต้นงาม, ธนพัฒน์ กาเพ็ง, ปนัดดา ศิริมาศกูล, พรชัย ยวนยี, พีรพงศ์ เพิ่มพูล, ทรงพล สนธิรักษ์ และโชคดี ร่มพฤกษ์ ได้มาร่วมกิจกรรม “ร่วมหล่อเทียนทําบุญประเทศ ขับ ไล่เสนียดจัญไร ออกไปไอ้สัส” ที่บริเวณแยกราชประสงค์

ในช่วงบ่ายวันดังกล่าว กลุ่มผู้ชุมนุมได้จัดเตรียมเวทีเพื่อทํากิจกรรมบนพื้นผิวทางจราจร บริเวณถนนราชดําริ จํานวน 3 ช่องทางจราจร โดยมีการติดป้ายข้อความและใช้แผงเหล็กกั้นบนพื้นผิวการจราจร มีการเล่นดนตรี, กล่าวปราศัยในประเด็นต่างๆ เช่น เรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19, การบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล, กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน

จตุภัทร์ยังประกาศขยายพื้นที่ทำกิจกรรมเพิ่มอีก 1 ช่องทางการจราจร รวมเป็น 4 ช่องทางจราจร ทําให้ช่องทางจราจรบนถนนราชดําริมุ่งหน้าประตูน้ำเหลือเพียง 6 ช่องทางจราจร รวมถึงยังกล่าวปราศรัยเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก เนื่องจากบริหารจัดการสถานการณ์โควิดล้มเหลว

พนักงานสอบสวนได้แจ้ง 3 ข้อกล่าวหาแก่จตุภัทร์ ได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไข สถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง และข้อหาร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ

แจ้งข้อหาเพิ่มคดีชุมนุมราชประสงค์เมื่อตุลาคม 63

พนักงานสอบสวนจากสน.ลุมพินียังแจ้งข้อหาจตุภัทร์เพิ่มเติมอีกในคดีชุมนุมเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2563 ที่แยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นการชุมนุมหลังจากจตุภัทร์ได้รับการประกันตัวจากคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร มีการจัดกิจกรรมอย่างหลากหลาย ทั้งแดร็กควีน คณะราษแดนซ์ และมีผู้เข้าร่วมเปิดปราศรัยเป็นเวทีย่อยหลายเวที และเป็นคดีที่จตุภัทรเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปแล้วตั้งแต่ วันที่ 9 ธ.ค.2563

ทั้งนี้อัยการในคดีนี้ได้ตีสำนวนกลับเพื่อให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาผู้ต้องหาในคดีเพิ่มอีก 2 ข้อหาคือ ข้อหาร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มโดยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ และไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกําหนด โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และข้อหาร่วมกันกระทําด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางทางสาธารณะและการจราจรจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 2 ข้อกล่าวหาคือฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า” และฝ่าฝืนข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 13 ข้อ 1 และข้อ 5 โดยคดีมีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 5 คน

ก่อนที่พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี จะสรุปสำนวนการสอบสวนส่งพนักงานอัยการฝ่ายคดีศาลแขวงปทุมวัน ต่อมาพนักงานอัยการได้ตีสำนวนกลับ และมีหนังสือลงวันที่ 6 ก.ย. 64 ให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเพิ่มเติมต่อทั้ง 5 คน

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 64 จตุภัทร์ได้เดินทางเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน ตามหมายจับศาลอาญา จากเหตุร่วมกันสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง ก่อนไม่ได้การประกันตัวนับตั้งแต่วันนั้น ทำให้เขาถูกคุมขังเป็นระยะเวลา 51 วันแล้ว โดยขณะนี้เขาถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กรณีที่ถูกถอนประกันตัวจากคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และเพิ่งหายจากอาการป่วยโรคโควิด-19 แล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net