Skip to main content
sharethis

'ผสานวัฒนธรรม' ออกแถลงการณ์เนื่องในวันรำลึกถึงผู้ถูกบังคับสูญหายสากล เรียกร้องปฏิรูปตำรวจ ป้องกันการกระทำทรมานและบังคับให้บุคคลสูญหาย สภาผ่านกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายที่ค้างอยู่

30 ส.ค.2564 เนื่องด้วยวาระวันรำลึกถึงผู้ถูกบังคับสูญหายสากล มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์ เรียกร้องการปฏิรูปตำรวจ ป้องกันการกระทำทรมานและบังคับให้บุคคลสูญหาย คือกระบวนการเพื่อคืนความยุติธรรมให้แก่ประชาชน เนื่องในวันรำลึกถึงผู้ถูกบังคับสูญหายสากล

เรียกร้องต่อรัฐบาล หน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้ 1. ขอให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ ดำเนินการให้เป็นคดีพิเศษเพื่อให้กรมสวบสวนคดีพิเศษมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนคดีนี้ โดยด่วนในอดีตผู้กำกับ สภ.เมืองนครสวรรค์และพวก 2. ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องป้องกันและปราบปรามการกระทำทรมานและการบังคับให้สูญหายที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่โดยเด็ดขาด 3. รัฐบาลต้องดำเนินการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

4. ขอให้เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ทั้งในชั้นเจ้าพนักงานคือ พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ และในชั้นพิจารณาคือ ศาล ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบข้อเท็จจริง คำให้การ การซัดทอด คำรับสารภาพ และพยานหลักฐานต่างๆ ที่อาจได้มาจากการซ้อมทรมานหรือการบีบบังคับบุคคล โดยเฉพาะในคดีที่ผู้ต้องสงสัย จำเลย หรือพยานเป็นบุคคลในกลุ่มเปราะบาง  5. ขอให้รัฐบาลแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ เพื่อปิดโอกาสหรือป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและประพฤติมิชอบได้เช่น ยกเลิกข้อกฎหมายปราบปรามยาเสพติดที่ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจนำผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาเกี่ยวกับยาเสพติดไปขังไว้ที่ “เซฟเฮาส์” เป็นเวลาสามวันเพื่อ “ขยายผล” อันมักเป็นเหตุให้เกิดการทรมาน และการทุจริตต่อหน้าที่

6. ขอให้รัฐสภาเร่งรัดในการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ... ที่รัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอเข้าสู่สภาแล้ว เพื่อตราเป็นกฎหมาย 7. สุดท้ายขอให้สังคมร่วมกันส่งเสียงเพื่อให้รัฐสภา พิจารณาผ่านร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเป็นวาระเร่งด่วน 

โดยมีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์ การปฏิรูปตำรวจ ป้องกันการกระทำทรมานและบังคับให้บุคคลสูญหาย คือกระบวนการเพื่อคืนความยุติธรรมให้แก่ประชาชน เนื่องในวันรำลึกถึงผู้ถูกบังคับสูญหายสากล

เนื่องด้วยวันนี้ (30 สิงหาคม 2564) ตรงกับวันรำลึกถึงผู้ถูกบังคับสูญหายสากล เป็นที่ทราบกันดีว่า จนถึงขณะนี้ ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายอนุวัติการที่บัญญัติให้ การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายไทย เป็นผลให้การกระทำเหล่านี้ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง โดยจำนวนนี้ ส่วนใหญ่เป็นการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดหรือผู้ต้องหาในคดีอาญาต่างๆ มากระทำการสืบสวนสอบสวน และนำวิธีการนอกกฎหมายมาใช้เพื่อให้ผู้ต้องสงสัย หรือผู้ต้องหารับสารภาพในคดีต่างๆ เพื่อปิดคดีหรือเค้นเอาข้อมูลจากบุคคลดังกล่าว

ดังเห็นได้จาก การรายงานข่าวของสื่อหลายสำนัก เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา กรณีที่มีคลิปวิดีโอและข่าวเผยแพร่ว่า ผู้กำกับการสำนักงานตำรวจภูธร (สภ.) เมืองนครสวรรค์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายคน ได้ร่วมกันทรมานผู้ต้องหาคดีค้ายาเสพติด โดยการใช้ถุงพลาสติกสีดำครอบศีรษะ เพื่อรีดเงินจากผู้ต้องหาคนดังกล่าวจำนวน 2 ล้านบาท จนกระทั่งผู้ต้องหาเสียชีวิต และเป็นผลให้ ต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ขอให้ศาลออกหมายจับ และจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดดังกล่าว

รวมถึง กรณีที่เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ตามที่ปรากฎบนหน้าสื่อออนไลน์ว่า มีเอกสาร “ลับที่สุด” เป็นบัญชีรายชื่อของบุคคลต้องเฝ้าระวังโดยรัฐ (Watchlist) ทั้งสิ้น 183 รายชื่อ ซึ่งอ้างว่า จัดทำโดยกองบังคับการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ในจำนวนนี้ระบุรายชื่อเป็นชายจำนวน 130 คน ช่วงอายุตั้งแต่ 17-64 ปี ในจำนวนนี้มีการระบุสีแดงหมายถึง อยู่นอกราชอาณาจักร 6 คน และหนึ่งในนี้เป็นผู้พิการทางสายตารวมอยู่ด้วย และระบุเป็นหญิงจำนวน 53 คน มีช่วงอายุตั้งแต่ 15-61 ปี อยู่นอกราชอาณาจักรอย่างน้อยหนึ่งคน และจากจำนวนนี้มีเยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปีถึง 7 คน (ใน 7 คนนี้มีเด็กอายุ 15 ปีจำนวน 2 คน) และบัญชีโซเชียลมีเดีย 19 บัญชี โดยเอกสารบัญชี “ลับที่สุด” ที่หน่วยราชการด้านความมั่นคงจัดทำในลักษณะที่เป็น “บัญชีดำ” หรือ Blacklist ฉบับนี้ ยังกำกับท้ายหน้ากระดาษ “อัปเดต 1 มิ.ย. 64 เวลา 17.00 น. โดย พ.ต.อ. หญิง (ปกปิดชื่อ) สว.กก.สส.ปป.บก.ตม.2” อีกด้วย

เอกสารที่ถูกเปิดเผยออกมาฉบับนี้ นำมาซึ่งข้อกังวลอย่างยิ่งว่า ผู้ที่อยู่ในบัญชีดำของหน่วยราชการด้านความมั่นคง อาจจะถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวโดยมิชอบ และเสียงต่อการถูกนำตัวไปซ้อมทรมานในสถานที่ใดที่หนึ่ง และทำให้สูญหายไป ดังที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ซึ่งตามรายงานขององค์การสหประชาชาติว่า นับตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีผู้ถูกบังคับให้สูญหายไปแล้วถึง 91 คน รวมทั้งกรณีของนายทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงานในสมัยคณะรัฐประหาร รสช. นายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชน นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักกิจกรรมเพื่อสิทธิชุมชนชาวกะเหรี่ยง ทั้งนี้ยังไม่รวม บุคคลอีก 9 คน มีชื่ออยู่ในบัญชีดำสมัยของคณะรัฐประหาร คสช. ซึ่งมีข้อมูลและพยานหลักฐานที่น่าเชื่อได้ว่า ถูกฆาตกรรมหรือถูกบังคับให้สูญหายไปในประเทศเพื่อนบ้านของไทย

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในฐานะองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ทำงานติดตามและสอดส่องปัญหาการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายที่กระทำต่อประชาชน ขณะถูกจับกุมหรือควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ทั้งกรณีที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติด การก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ หรืออาชญากรรมต่างๆ อันถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง มูลนิธิพบว่า เจ้าหน้าที่มักใช้การซ้อม ทรมานผู้ต้องหาด้วยวิธีการต่างๆ รวมทั้งการทำให้ผู้ต้องหาขาดอากาศหายใจ โดยการใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะ เพื่อให้ได้ข้อมูล คำรับสารภาพ หรือรีดเงินหรือผลประโยชน์ต่างๆ จากผู้ต้องหาหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยการซ้อมทรมานนั้นแท้จริงแล้วเป็นวิธีการสอบสวนที่ไม่ได้นำมาซึ่งความจริง เพราะมีไม่น้อยที่มูลนิธิพบว่า ผู้ต้องหาจำเป็นต้องรับสารภาพ ให้ข้อมูลเท็จ หรือซัดทอดบุคคลอื่นซึ่งเป็นความเท็จ เพียงเพื่อให้ตนรอดพ้นจากความทุกข์ทรมานอันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่เท่านั้น ในกรณีที่ไม่รับสารภาพหรือให้ข้อมูลหรือเงินตามที่เจ้าหน้าที่ต้องการ การทรมานอาจถึงขั้นที่ผู้ถูกทรมานเสียชีวิตหรือถูกทำให้สูญหาย

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาล หน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

1. สำหรับกรณีการกระทำของอดีตผู้กำกับ สภ.เมืองนครสวรรค์และพวก ดังกล่าวข้างต้นนั้น เพื่อความโปร่งใสและความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย รวมทั้งเพื่อประโยชน์ของสังคม ขอให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ ดำเนินการให้เป็นคดีพิเศษเพื่อให้กรมสวบสวนคดีพิเศษมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนคดีนี้ โดยด่วน

2. ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องป้องกันและปราบปรามการกระทำทรมานและการบังคับให้สูญหายที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่โดยเด็ดขาด เพื่อคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกายของประชาชนและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยการถูกบังคับ ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ โดยการกำหนดมาตรการต่างๆ ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ อาทิเช่น

2.1 การติดตั้งกล้องวงจรปิดในและรอบบริเวณสถานที่ทำการ ที่สามารถรับภาพและเสียงสดได้ตลอดเวลาโดยผู้บังคับบัญชาและหน่วยงานตรวจสอบ รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ออกปฏิบัติงานนอกสถานที่ เช่น ในการตั้งด่านตรวจค้น จับกุม ที่ติดตั้ง body cam หรือกล้องวงจรปิดติดศีรษะที่ผู้บังคับบัญชาสามารถติดตามการปฏิบัติงานได้ด้วย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้

2.2 การกำหนดระเบียบปฏิบัติให้ผู้บังคับบัญชาต้องมีหน้าที่สอดส่องดูแลผู้ใต้บังคับบัญชามิให้กระทำความผิดในการปฏิบัติหน้าที่ หากผู้บังคับบัญชารายใดรู้เห็นเป็นใจหรือควรจะรู้แต่ละเลยไม่ป้องกันหรือห้ามปราม จะต้องรับผิดในทางวินัยด้วยเช่นกัน

3. รัฐบาลต้องดำเนินการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญที่ให้เป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องกระทำ โดยเฉพาะจะต้องแยกการสอบสวนจากการปราบปรามหรือการบังคับใช้กฎหมาย โดยให้การสอบสวนเป็นอิสระจากการแทรกแซงของผู้บริหารงานตำรวจและให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพนักงานอัยการ ยุบกองบัญชาการตำรวจภาค ให้งานตำรวจในท้องที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัด ถ่ายโอนอำนาจการบังคับใช้กฎหมายและการสอบสวนที่ไม่สำคัญหรือเฉพาะด้าน ให้แก่ท้องถิ่นหรือหน่วยงานเฉพาะและสร้างวัฒนธรรมการเป็นเจ้าหน้าที่พลเรือนมืออาชีพในองค์กรตำรวจ โดยไม่มีชั้นยศ เป็นต้น

4. ขอให้เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ทั้งในชั้นเจ้าพนักงานคือ พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ และในชั้นพิจารณาคือ ศาล ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบข้อเท็จจริง คำให้การ การซัดทอด คำรับสารภาพ และพยานหลักฐานต่างๆ ที่อาจได้มาจากการซ้อมทรมานหรือการบีบบังคับบุคคล โดยเฉพาะในคดีที่ผู้ต้องสงสัย จำเลย หรือพยานเป็นบุคคลในกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ เยาวชน คนยากคนจน ผู้ต้องหาที่ไม่สามารถจัดหาทนายความด้วยตนเอง หรือถูกสงสัยหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในข้อหาที่สังคมรังเกียจเช่น ข้อหาเกี่ยวกับยาเสพติด การแบ่งแยกดินแดน เป็นต้น

5. ขอให้รัฐบาลแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ เพื่อปิดโอกาสหรือป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและประพฤติมิชอบได้เช่น ยกเลิกข้อกฎหมายปราบปรามยาเสพติดที่ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจนำผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาเกี่ยวกับยาเสพติดไปขังไว้ที่ “เซฟเฮาส์” เป็นเวลาสามวันเพื่อ “ขยายผล” อันมักเป็นเหตุให้เกิดการทรมาน และการทุจริตต่อหน้าที่ ก่อนที่จะส่งตัวให้พนักงานสอบสวน การค้น จับ ขังตามกฎอัยการศึกโดยไม่ต้องมีหมายศาล การจับและควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลาสามสิบวัน โดยผู้ถูกจับและควบคุมตัวไม่มีสิทธิเช่นเดียวกับผู้ต้องหาเช่น ไม่มีสิทธิพบและปรึกษาทนายความ ไม่มีสิทธิให้ถ้อยคำต่อหน้าทนายความหรือบุคคลที่ตนไว้วางใจเป็นต้น

6. ขอให้รัฐสภาเร่งรัดในการพิจารณา (ร่าง) พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ... ที่รัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอเข้าสู่สภาแล้ว เพื่อตราเป็นกฎหมาย เพื่อลดหรือมิให้มีการกระทำทรมานเกิดขึ้นอีก อันเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่ และเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในชีวิต ร่างกาย และสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ

7. สุดท้าย มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอให้สังคมร่วมกันส่งเสียงเพื่อให้รัฐสภา พิจารณาผ่านร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ... ดังกล่าวเป็นวาระเร่งด่วน เนื่องจากปัจจุบันยังปรากฏสถานการณ์การปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจรัฐของเจ้าหน้าที่ยังคงคุกคามชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน ตราบใดที่การทรมานและการบังคับสูญหายบุคคลยังไม่เป็นความผิดทางอาญา เจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำทรมานหรือบังคับให้บุคคลสูญหายยังสามารถลอยนวลพ้นผิดได้

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอให้สังคมร่วมกันส่งเสียงเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาผ่านร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย เป็นวาระเร่งด่วน เนื่องจากปัจจุบันยังปรากฏสถานการณ์การปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจรัฐของเจ้าหน้าที่ยังคงคุกคามชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน ตราบใดที่การทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหายยังไม่เป็นความผิดทางอาญา เจ้าหน้าที่รัฐก็จะยังคงลอยนวลพ้นผิดต่อไป

ด้วยความเคารพต่อหลักการสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net