Skip to main content
sharethis

นักวิชาการ ม.วลัยลักษณ์เสนอว่าพื้นที่คาบสมุทรมีประวัติศาสตร์ของตัวเอง โดยไม่ยึดโยงกับการมีศูนย์กลางอยู่ที่รัฐสยามมาเป็นตัวกำหนด ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างสำคัญมาจากตัวคาบสมุทรเองปฏิสัมพันธ์กับภายนอก

เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2564 มนวัธน์ พรหมรัตน์ อาจารย์จากสำนักวิชาพหุภาคและการศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หนึ่งในผู้บรรยายในงานเสวนาออนไลน์ชุดสังคมศึกษาหัวข้อ “ชะตากรรมท้องถิ่นไทย” โดยเป็นโครงการสานศิลป์ถิ่นมนุษย์ ครั้งที่11 ของคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ซึ่งหัวข้อที่มนวัทธ์นำมาบรรยายคือ “ชีวิตของคาบสมุทรในโลกเศรษฐกิจยุคอาณานิคม” โดยงานศึกษาชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ของเขาเองด้วย โดยศึกษาพื้นที่คาบสมุทรช่วงปี ค.ศ.1830-1930(พ.ศ.2373-2473) เป็นช่วงที่อาณานิคมมีบทบาทสูงอีกทั้งยังเกิดความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างต่อคาบสมุทร

มนวัธน์ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันของพื้นที่บนคาบสมุทรมลายูกับมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งสัมพันธ์กันทางการค้าไปจนถึงผู้คน และวัฒนธรรม อันมาจากการรุกคืบของเจ้าอาณานิคม โดยเขากล่าวถึงแนวคิดที่ใช้ศึกษางานชิ้นนี้ซึ่งเป็นการมองมุมกลับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสยามกับพื้นที่คาบสมุทร โดยไม่ได้เลือกมองว่า รัฐสยามกำหนดสร้างความเปลี่ยนแปลงกับพื้นที่คาบสมุทรอย่างไร แต่มองกลับกันว่า ท้องถิ่นมีปฏิสัมพันธ์กับรัฐสยามและกระแสโลกในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอย่างไร และส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับพื้นที่ส่วนกลางอย่างรัฐสยามอย่างไร เนื่องจากคาบสมุทรมักถูกมองเป็นพื่นที่ชายขอบของการศึกษาจากการมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพหรือสิงคโปร์

มนวัธน์ยกตัวอย่างเรื่องเล่าของท้องถิ่นบริเวณคาบสมุทรที่กำหนดสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อมุมมองหรือกลไกทางการเมืองของรัฐสยามและโลกภายนอก

• กรณีการพยายามช่วงชิงพื้นที่บริเวณแม่น้ำเประระหว่างสยามกับอังกฤษ แม่น้ำเประมีต้นกำเนิดอยู่ที่ยะลาในปัจจุบัน การที่สยามและอังกฤษพยายามแย่งชิงพื้นที่ดังกล่าวเพราะว่าเป็นแหล่งแร่ดีบุกที่สำคัญ โดยอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมพยายามแสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำมาเป็นของตัวเอง อังกฤษใช้วิธีสร้างประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบมลายูขึ้นมาโดยนับเอาคนต้นน้ำกับปลายน้ำเป็นคนกลุ่มเดียวกันและมีปฏิสัมพันธ์กันตลอด จากนั้นจึงทำการกำหนดเส้นเขตแดนโดยต้องการรวมเอาต้นน้ำเประเข้าไปเป็นพื้นที่ใต้อาณานิคมเช่นเดียวกับตรงปลายน้ำ ส่วนรัฐสยามกลับใช้อีกวิธีหนึ่งคือยึดเอาคนที่อยู่บริเวณต้นน้ำเประที่ต้องส่งบรรณาการให้รัฐสยามมาขึ้นกับตัวเองแล้วพยายามใช้การปฏิรูปหัวเมืองแขกทั้ง 7 ในช่วงทศวรรษ 2440 เพื่อกำหนดเส้นเขตแดนการแย่งชิงคนในพื้นที่ต้นน้ำเประระหว่างรัฐสยามกับอังกฤษ จึงสะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่แม่น้ำเประซึ่งเดิมเป็นพื้นที่เปล่าๆ อยู่ที่ชายขอบของรัฐสยามมาโดยตลอดกลับมีส่วนเข้าไปกำหนดสร้างวิธีคิดหรือทางการเมืองของรัฐสยามส่วนกลาง

• เรื่องโจรขโมยวัวควาย โจรขโมยวัวควายนั้นเป็นนักเลงในบ่อนที่มีหน้าที่ในการควบคุมการแสดงวงโนราห์หรือบางคนก็เป็นนักแสดงเอง นักเลงเหล่านี้อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของเจ้าพ่อท้องถิ่น และเจ้าพ่อท้องถิ่นเหล่านั้นมีธุรกิจหลายอย่างโดยหนึ่งในนั้นคือโรงโนราห์หรือการแสดงที่จะมีการเก็บค่าชมการแสดง รวมไปถึงเก็บภาษีค่าเหล้ายาปลาปิ้งที่มาขายในงาน และเมื่อถึงฤดูกาลที่ไม่สามารถจัดแสดงโนราห์ได้ เจ้าพ่อก็จะส่งลูกน้องไปขโมยวัวควาย โดยหนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจคือ มีโจรขโมยวัวควายแถวจะนะข้ามเขตแดนเข้าไปในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้อาณานิคมอังกฤษทำให้เกิดปัญหาระหว่างสยามกับอังกฤษ จนท้ายที่สุดนำไปสู่ข้อตกลงเรื่องกฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งกรณีนี้แสดงให้เห็นถึงการมีปฏิสัมพันธ์หรือมีส่วนกำหนดสร้างของชายขอบกับส่วนกลาง

• เรือสลัดกับสนธิสัญญาแองโกล-ดัตช์ ค.ศ.1824(พ.ศ.2367) สนธิสัญญาแองโกล-ดัตช์เป็นการกำหนดเขตอิทธิพลระหว่างอังกฤษกับดัตช์โดยใช้บริเวณช่องแคบมะละกาเป็นตัวแบ่งว่าว่าคาบสมุทรมลายูให้เป็นพื้นที่เขตอิทธิพลของอังกฤษ และบริเวณเกาะสุมาตราลงไปถึงอินโดนีเซียเป็นเขตอิทธิพลของดัตช์ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการแบ่งเขตแดนอย่างชัดเจนคือโจรสลัด ซึ่งพื้นเพมาจากพ่อค้า ชาวบ้าน หรือเป็นคนของเจ้าเมืองที่ถูกส่งมาปล้นสินค้าจากเรือสินค้า ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นเป็นการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบส่วนของตนและดูแลช่องแคบมะละการ่วมกันระหว่างดัตช์กับอังกฤษ

มนวัธร์กล่าวต่อว่าพื้นที่คาบสมุทรมลายูเป็นพื้นที่เชื่อมต่อทางการค้า สังคม การเมือง และวัฒนธรรมระหว่างคาบสมุทรอินเดียกับคาบสมุทรแปซิฟิกได้ จึงสามารถส่งสินค้าไปได้ถึงอินเดีย โลกอาหรับ และแอฟริกา และอีกทางหนึ่งก็สามารถเชื่อมโยงสินค้าไปได้ถึงทางตอนเหนือของออสเตรเลีย หรือปาปัวนิวกินี และไปได้ถึงจีน

เมื่อการขยายตัวของอาณานิคมและการขึ้นเป็นศูนย์กลางอำนาจของอังกฤษแทนที่จีนในยุคก่อนหน้า ส่งผลให้ระบบการค้าแบบบรรณาการหรือการค้าผูกขาดที่พระคลังเป็นผู้กำหนดสินค้าถูกเปลี่ยนเป็นการค้าที่เสรีมากขึ้น เนื่องจากมีพื้นที่เปิดให้กับผู้เล่นที่เป็นเอกชนรายใหม่ๆที่เป็นชาวต่างชาติ อาทิ ตันกิมเจ๋ง นักธุรกิจชาวสิงคโปร์ที่เข้ามาประมูลเจ้าภาษีเหมาเมืองภูเก็ตที่เดิมทีเป็นของเจ้าพระยาภูเก็ต ซึ่งคนเหล่านี้เองจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนโฉมหน้าคาบสมุทร เกิดชนชั้นนำกลุ่มใหม่ที่ขยายตัวมากขึ้นในบริเวณคาบสมุทร

มนวัธร์ชี้ว่าแม้เอกชนที่เข้ามาจะไม่ได้มาจากช่องทางการค้าเสรีโดยตรงแต่สุดท้ายก็เข้ามาพัวพันกับการเมืองของรัฐจารีต อาทิ การเข้าไปสู่ตำแหน่งขุนนางหรือเจ้าเมือง ซึ่งมีฐานเครือข่ายเศรษฐกิจข้ามภูมิภาค โดยใช้ทุนดำเนินการผ่านเครือข่ายการค้าขนาดใหญ่ ทุนเหล่านี้รวมตัวกันเป็นบริษัท และบรรษัทข้ามรัฐชาติ ชนชั้นนำเดิมซึ่งอยู่กับระบบการค้าแบบจารีตจึงไม่มีเครื่องมือจะจัดการกับบริษัทแบบใหม่ที่เข้ามา จึงค่อยๆ ถูกชนชั้นนำกลุ่มใหม่กลืนกินบทบาททางเศรษฐกิจไปเรื่อยๆ

ภูมิทัศน์ของเมืองแถบคาบสมุทรจึงเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่โดยมีชนชั้นนำกลุ่มเดิมที่เป็นเจ้าเมืองจากรัฐสยามและชนชั้นนำกลุ่มใหม่ซึ่งล้วนเป็นพ่อค้าชาวต่างชาติที่ปะทะประสานกันจนเกิดการสร้างความทันสมัยต่างๆ แก่เมืองเพื่อดึงดูดผู้คนให้มาสัมพันธ์กับเมือง เช่น การวางผังเมืองใหม่ สร้างระบบสาธารณูปโภค เพื่อเป็นกลไกรองรับการขยายตัวของภาคธุรกิจ รวมถึงส่งผลต่อเนื่องให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เพิ่มกลไกในการควบคุมประชากรเข้าไปด้วยเพื่อให้อยู่ภายใต้อาณัติของตน แต่กว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ก็

มนวัธน์กล่าวสรุปถึงข้อเสนอของตนว่า ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงมาจากการค้าภายในพื้นที่คาบสมุทรเอง ไม่ได้เป็นผลจากรัฐสยามที่เข้ามาใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคเพื่อเก็บภาษี ภาคใต้ หรือพื้นที่คาบสมุทรตอนบนจึงมีลักษณะเป็นผู้กระทำการในตัวเอง มีเรื่องเล่า และมีชีวิตที่เป็นของตัวเองแล้วพื้นที่คาบสมุทรก็ยังไปมีความสัมพันธ์อย่างมากกับปีนังและสิงคโปร์ และเขายังเห็นว่าต่อให้รัฐสยามเชื่อมเส้นทางเข้ามาในคาบสมุทรด้วยรถไฟหรือถนนเข้ามาโลกเศรษฐฏิจตรงนั้นก็ยังไม่ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปจนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net