Skip to main content
sharethis

อธิบดีกรมควบคุมโรคตอบคำถามสื่อมวลชนผ่านทางออนไลน์ ชี้แจงไทม์ไลน์การจัดหาวัคซีนแอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส ภายใน ธ.ค. 2564 ส่วนแผนกระจายวัคซีนในประเทศตกเดือนละประมาณ 10 ล้านโดส กลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ โดยก่อนหน้านี้มีการเผยแพร่จดหมายของ 'บ.แอสตราเซเนกา' ระบุ สธ.ไทยเคยแจ้งต้องการแค่เดือนละ 3 ล้านโดส เพิ่มให้เกือบ 2 เท่าแล้ว

18 ก.ค. 2564 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ตอบคำถามสื่อมวลชนผ่าน webex โดยได้ชี้แจงไทม์ไลน์ การจัดหาวัคซีนแอสตราเซเนกา เริ่มตั้งแต่ 20 ม.ค.64 อย.ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนแอสตราฯ ในประเทศไทย 23 ก.พ. 2564 ครม. เห็นชอบแก้ไขสัญญาจองซื้อวัคซีนแอสตราฯ จากเดิม 26 ล้านโดส เป็น 61 ล้านโดส และนับจาก 28 ก.พ.-16 ก.ค. 2564 ไทยได้รับวัคซีนแอสตราฯ แล้ว 8,193,500โดส

อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังกล่าวว่าไทยเป็นประเทศที่มีการจองวัคซีนแอสตราฯ มากที่สุด 61 ล้านโดส ในภูมิภาคอาเซียน และย้ำว่าวันที่ 27 พ.ย. 2563 ยังไม่มีการผลิตวัคซีน ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการระบุจำนวนวัคซีนที่จะส่งให้ไทย ซึ่งบริษัทแอสตราฯ ย้ำว่าจะส่งวัคซีนไห้ไทยตลอดระยะเวลาที่มีกำลังการผลิต ส่วนแผนสำรอง หากวัคซีนแอสตราฯ เข้ามาไม่เพียงพอ คือ ไฟเซอร์ ซิโนแวค และวัคซีนจากแหล่งอื่น ๆ

เมื่อถูกถามถึงประสิทธิภาพของซิโนแวค นพ.โอภาส กล่าวว่าวัคซีนซิโนแวคมีความสามารถในการยับยั้งอาการป่วยหนัก ลดการเสียชีวิต และว่าวัคซีนแต่ละตัวสามารถป้องกันการป่วยหนักได้ลดการเสียชีวิตได้มากน้อยต่างกัน ไม่มีวัคซีนตัวใดสมบูรณ์แบบ 100% ส่วนการสลับสูตรฉีดวัคซีน สืบเนื่องมาจากหลายประเทศสลับฉีดวัคซีนแล้วพบว่าทำให้ร่างกายมีการสร้างภูมิต้านทานสายพันธุ์ใหม่ใหม่ เช่น เดลตา ได้มากขึ้น ดังนั้นในช่วงต่อไป การฉีดของเราจะเริ่มเข็มแรกด้วยซิโนแวคตามด้วยแอสตราฯ เป็นเข็มที่ 2

ด้านนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงวิธีการแลกเปลี่ยนวัคซีนโดยนำวัคซีนที่ไม่ได้ใช้ในหลายประเทศให้มาใช้ในประเทศไทยก่อน แล้วค่อยจัดสรรคืนทีหลัง รวมทั้งการนำวัคซีนบริจาคมาใช้ประโยชน์ ว่า ไทยได้เจรจากับหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และอยู่ในขั้นตอนเจรจา แต่มีข้อกำหนดไม่ให้เปิดเผยรายละเอียด และยังกล่าวถึงวัคซีนที่กำลังอยู่ในความสนใจ คือ โนวาแว็กซ์ ที่ใช้เทคโนโลยีโปรตีนซับยูนิตว่ามี 3 ประเทศ กำลังพัฒนาการผลิต คือ อเมริกา จีน คิวบา โดยประเทศไทยอยู่ในขั้นตอนการเจรจาเพื่อขอถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมาในประเทศไทย เริ่มจากซื้อ และถ่ายทอดเทคโนโลยีและมาผลิตร่วมกัน ต้องรอขั้นตอน เครื่องมือ ความชำนาญ และบุคลากร รวมถึงประสิทธิภาพการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งปกติจะเริ่มต้นด้วยการไม่เปิดเผยเพราะเป็นความลับ

อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังกล่าวถึงคนที่ได้ รับการฉีดซิโนแวคไปแล้ว 2 เข็มว่าถ้าเป็นบุคลากรทางการแพทย์ก็เห็นชอบให้ฉีดบูสเตอร์เข็ม 3 ด้วยวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ ส่วนประชาชนกลุ่มอื่นอยู่ระหว่างการพิจารณา ขณะที่ภาพรวมสถานการณ์ทั่วโลกเห็นพ้องให้ฉีดกระตุ้นเข็ม 3 แต่จะด้วยยี่ห้ออะไรเมื่อไหร่ยังไม่มีข้อมูลเด่นชัดให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และย้ำนโยบายฉีดวัคซีนประชาชนในคนไทยต้องให้ได้ 70% ส่วนกลุ่มเด็กเล็กหรือต่ำกว่า 18 ปี ถ้ามีวัคซีนใดฉีดให้ได้ก็จะจัดหาให้ และยังคงตั้งเป้าหมาย ฉีดวัคซีนให้ประชาชนไทยครบ 100 ล้านโดส ภายในเดือน ธ.ค. 2564

สำหรับการเลื่อนฉีดวัคซีนของหลายโรงพยาบาลทั่วประเทศ เหตุผลส่วนใหญ่มาจากโรงพยาบาลนั้นนั้นไม่แน่ใจในสูตรการฉีดวัคซีน ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้ย้ำให้ฉีดซิโนแวค เป็นเข็มที่ 1 ตามด้วยแอสตราฯ เข็ม 2 และขอเร่งรัดผู้สูงอายุโรค เรื้อรังและหญิงตั้งครรภ์ก่อน ทั้งนี้การจัดสรรวัคซีนในแต่ละจังหวัด สถานการณ์แตกต่างกัน ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดสรรไปตามแต่ละอำเภอสอดคล้องกับแนวทาง ของกระทรวงสาธารณสุข

'อิศรา' เปิดจดหมายของ 'บ.แอสตราเซเนกา' ระบุ สธ.ไทยเคยแจ้งต้องการแค่เดือนละ 3 ล้านโดส เพิ่มให้เกือบ 2 เท่าแล้ว

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2564 สำนักข่าวอิศรา รายงานว่าได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากนายแพทย์ระดับสูงรายหนึ่ง เกี่ยวกับปัญหาการสั่งจองวัคซีนโควิดแอสตร้าเซนเนก้าของประเทศไทย เป็นหนังสือลับลงวันที่ 25 มิ.ย. 2564 ที่นายสจอร์ด ฮับเบน รองประธานฝ่ายกิจการองค์กรทั่วโลก ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ที่ส่งให้กับนายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และมีการส่งต่อหนังสือดังกล่าวไปให้กับ นพ.โอภาส การกวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่าแจ้งขอรับวัคซีนโควิดแอสตร้าเซนเนก้าในช่วงแรกเพียงแค่  3 ล้านโดสต่อเดือน และเป็นการแจ้งช้าที่สุดในอาเซียน 

โดยเนื้อหาในหนังสือมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

“ผมเขียนหนังสือฉบับนี้มาเพื่อแสดงความขอบคุณต่อการสนับสนุนของคุณ และคำแนะนำของคุณในการสร้างความมั่นใจในการเข้าถึงวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าอย่างเท่าเทียมกัน

ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่จะรายงานความคืบหน้าครั้งใหญ่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ที่เรากำหนดไว้ร่วมกันเมื่อเราได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตนารมณ์ (LOI) ร่วมกับพันธมิตรของเราคือบริษัทเอสซีจีและบริษัทสยามไบโอไซน์เอาไว้เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2563 ”

1.เพื่อการสร้างการเข้าถึงวัคซีนในวงกว้าง,เสมอภาคในระดับนานาชาติ เราได้ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งกำลังการผลิตของบริษัทสยามไบโอไซน์เพื่อให้รองรับกับการผลิตวัคซีนที่ก้าวหน้าและได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทย (อย.) 

2.เพื่อการปกป้องคุ้มครองระบบสาธารณสุขของประเทศไทย,เราได้บรรลุข้อตกลงการใช้วัคซีนของประเทศไทย โดยไม่มีผลประโยชน์เข้ามาแอบแฝงในช่วงเวลาที่เกิดการระบาดขึ้น และจะเริ่มมีการส่งมอบวัคซีนครั้งแรกในเดือน ก.พ. โดยการฉีดวัคซีนในขณะนี้นั้นมีการเร่งด่วนอย่างมีนัยยะสำคัญด้วยการส่งมอบวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทย 

ผมหวังว่าคุณจะเห็นด้วยที่ว่าการเปิดสายการผลิตอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 มิ.ย. และการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าครั้งแรก ที่ผลิตจากโรงงานในประเทศไทยจะเริ่มต้นหลังจากนั้น ถือเป็นหมุดหมายสำคัญ ซึ่งจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากไม่มีความยินยอมและความเป็นผู้นำของคุณ

ซึ่งในช่วงเวลาที่วัคซีนจำนวนหลายล้านโดสจะไปสู่ประชาชนทั่วประเทศไทย เราได้มีการเร่งการเตรียมการเพื่อส่งออกทรัพยากรวัคซีนไปให้กับหลายประเทศทั่วภูมิภาค รัฐบาลของประเทศเหล่านี้นั้นได้ใช้ความอดทนเป็นอย่างยิ่งในฐานะที่รัฐบาลเหล่านี้ต่างก็เป็นผู้ที่ร่วมกับเราในหนังสือแสดงเจตนารมณ์เพื่อที่จะดำเนินการจัดตั้งห่วงโซ่การผลิตวัคซีนเช่นกัน แต่ทั้งนี้ก็เข้าใจได้ว่ารัฐบาลเหล่านี้ก็มีความกังวลใจเกี่ยวกับการเริ่มต้นของการส่งมอบวัคซีน  

โดยรวมแล้ว ทางแอสตร้าเซนเนก้า มีความมุ่งมั่นที่จะจัดสรรวัคซีนจำนวนหนึ่งในสามของวัคซีนที่ผลิตได้ให้แก่ประเทศไทย กล่าวคือ จากวัคซีนที่ผลิตทุกๆ 3 ล้านโดส กระทรวงสาธารณสุขจะได้จัดสรรจำนวน 1 ล้านโดส และส่วนที่เหลืออีก 2 ส่วนที่ว่ามานั้น จะถูกจัดสรรไปให้กับประชาชนในประเทศอื่นๆ ซึ่งการจัดสรรนี้นั้นเป็นไปตามความมุ่งมั่นร่วมกันของเราในการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมกันและยึดโยงกับส่วนแบ่งของประเทศไทยที่จะได้รับวัคซีนจำนวนทั้งสิ้น 61 ล้านโดสจากยอดการผลิตในสัญญารวมทั้งสิ้น 175 ล้านโดส โดยรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับคำสั่งซื้อที่สมบูรณ์จากกระบวนการผลิตนี้ มีการระบุไว้เพิ่มเติมแล้วในด้านหลังของเอกสาร

ซึ่งจากการคาดการณ์ของเราเกี่ยวกับการจัดส่งวัคซีนรายเดือน ในขณะที่สายการผลิตนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่เพิ่งจะเกิดขึ้นใหม่ เราเชื่อมั่นว่าในแต่ละเดือน ด้วยการผลิตวัคซีนอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขจะได้รับวัคซีนประมาณทั้งสิ้น 5-6 ล้านโดสต่อเดือน ขึ้นอยู่กับการผลิตผลของสารที่จะใช้ในการผลิตวัคซีน

ผมหวังว่าคุณจะมีความพอใจที่ปริมาณนี้เกือบ 2 เท่าของปริมาณวัคซีนที่เราได้กล่าวถึงระหว่างการประชุมในวันที่ 7 ก.ย. 2563 ซึ่งสาระการหารือในวันนั้น ทีมงานของคุณได้มีการประมาณการว่าระบบสาธารณสุขของประเทศไทยนั้นมีความต้องการวัคซีนประมาณ 3 ล้านโดสต่อเดือน 

โดยในช่วงเวลานั้นเราได้อธิบายถึงรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับโอกาสที่รัฐบาลของประเทศไทยจะสามารถจัดซื้อวัคซีนได้เพิ่มเติมอีกด้วยราคาที่ไม่แสวงหาผลกำไรจากโครงการของโคแวกซ์  ซึ่งสามารถใช้ผนวกกับการทำข้อตกลงจัดซื้อวัคซีนโดยตรงที่จะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการแจกจ่ายวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าได้ 

และเนื่องจากการทำงานที่จะเกิดขึ้นร่วมกันกับคุณและทีมงานบริหารของคุณ ผมได้มีการสั่งการให้ทีมของผมเตรียมตัวที่จะตรวจสอบภาพรวมการจัดส่งวัคซีนเป็นรายเดือนและเตรียมกับที่จะจัดสรรวัคซีนเพื่อที่จะใช้ทั้งในประเทศและเพื่อที่จะส่งออก

โดยข้อมูลการตรวจสอบชุดแรกนั้นจะครอบคลุมรายละเอียดในช่วงเดือน มิ.ย. และจะมีการส่งมอบข้อมูลชุดต่อไปในช่วงต้นเดือนหน้า 

ขอขอบคุณอีกครั้งในการสนับสนุนของคุณและความมุ่งมั่นของคุณ ผมมีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าด้วยการทำงานร่วมกันเราจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทางด้านสุขภาพและความเจริญให้กับประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ 

ซึ่งถ้าหากคุณมีความสงสัยเพิ่มเติม ได้โปรดอย่าลังเลที่จะติดต่อตัวผมหรือว่าทีมงานของผม

สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่าในหนังสือนายสจอร์ด ฮับเบน รองประธานฝ่ายกิจการองค์กรทั่วโลก ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า  ที่ส่งมานั้น ยังได้มีการเปิดเผยตารางคำสั่งจัดส่งวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าให้กับประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไต้หวันกับประเทศมัลดีฟส์ด้วย

โดยในส่วนประเทศไทยนั้นมีการกำหนดการจำนวน 2 ครั้ง คือ เดือน ม.ค. 2564 และเดือน พ.ค. 2564 โดยคิดเป็นจำนวนวัคซีนตามสัญญาอยู่ที่ 26 ล้านโดสและ 35 ล้านโดสตามลำดับ หรือคิดเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 61 ล้านโดส ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ นั้นมีการดำเนินการล่วงหน้าก่อนประเทศไทย โดยเริ่มกันตั้งแต่เดือน พ.ย. 2563-ม.ค. 2564 (ดูภาพประกอบ)

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์สำนักข่าวอิศรา ยอมรับว่าบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าฯ ได้ทำหนังสือมาถึงตนในช่วงเวลาดังกล่าวจริง ซึ่งตนก็ได้ตอบจดหมายกลับไปทันที ยืนยันว่าประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 รายวันที่พุ่งสูงมาก ต้องการวัคซีนจำนวนมากขึ้นเพื่อที่จะรับมือกับสถานการณ์การระบาดและเพื่อจะนำไปใช้รองรับกับเป้าหมายใหม่ในเรื่องการฉีดวัคซีนระดับชาติ  ซึ่งนายกรัฐมนตรีของไทยได้มีความมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งที่จะจัดหาวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 10 ล้านโดสต่อเดือนเพื่อจะใช้ฉีดให้กับกลุ่มประชาชนคนไทย และคาดหวังว่าจะได้รับวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้ามากกว่าหนึ่งในสามของที่ตกลงไว้ หรือจะได้วัคซีนจำนวนอย่างน้อย 10 ล้านโดสต่อเดือนเอามาใช้ภายในประเทศไทย

นายอนุทิน  กล่าวอีกว่า การสั่งจองวัคซีนเท่าที่จำได้สั่งจองไปตั้งแต่ปลายปี 2563 ซึ่งช่วงนั้นสถานการณ์โควิดยังไม่ได้ระบาดรุนแรงเหมือนในช่วงตั้งแต่เดือนธ.ค.ที่ผ่านมา ส่วนอีก 35 ล้านโดส ได้สั่งจองไปตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 นี้ แต่ตามตารางที่อ้างว่าสั่งจองในเดือน พ.ค.2564 เข้าใจว่าอาจจะเป็นลักษณะไปลงนามเป็นทางการ ซึ่งคงจะต้องไปตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้งก่อน

ฉบับเต็มหนังสือ 'อนุทิน' แจ้งแอสตร้าเซนเนก้า ขอรับวัคซีนโควิดเพิ่ม 10 ล้านโดส

เว็บไซต์อิศรา ยังได้เผยแพร่รายละเอียดในหนังสือของ นายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่แจ้งตอบกลับ นายสจอร์ด ฮับเบน รองประธานฝ่ายกิจการองค์กรทั่วโลก ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ที่ส่งให้สำนักข่าวอิศรา เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงในการเจรจาข้อตกลงจัดหาวัคซีนโควิด-19 เป็นจำนวน 10 ล้านโดสต่อเดือน หลังปรากฏข้อมูลว่าไทยแจ้งขอรับวัคซีนโควิดแอสตร้าเซนเนก้าในช่วงแรกเพียงแค่  3 ล้านโดสต่อเดือน และเป็นการสั่งจองช้าที่สุดในอาเซียน

อ้างอิงจากจดหมายของคุณ (นายสจอร์ด ฮับเบน) ลงวันที่ 25 มิ.ย. 2564 อันเกี่ยวกับความคืบหน้าในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าในวงกว้างและเท่าเทียมกัน

ผมขอขอบคุณในบทบาทของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า และความมุ่งมั่นในการที่จะดำเนินการผลิตวัคซีนตามนโยบายไม่แสวงหาผลกำไรและไม่ขาดทุน ซึ่งรวมไปถึงรายละเอียดการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังบริษัทผู้ผลิตวัคซีนในประเทศไทย

ด้วยความร่วมมืออันสร้างสรรค์และการทำงานร่วมกันที่ประสบความสำเร็จระหว่างเรา ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าได้นำไปสู่สถานการณ์ที่ทั้ง 2 ฝ่ายนั้นต่างได้ประโยชน์จากข้อตกลงนี้

ความร่วมมือของเราจะอยู่ต่อไปตราบเท่าที่ผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยและบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าจะบรรลุข้อตกลงด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยนั้นกำลังประสบกับปัญหาผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 รายวันที่พุ่งสูงมาก เราต้องการวัคซีนจำนวนมากขึ้นเพื่อที่จะรับมือกับสถานการณ์การระบาดและเพื่อจะนำไปใช้รองรับกับเป้าหมายใหม่ในเรื่องการฉีดวัคซีนระดับชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีของเราได้มีความมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งที่จะจัดหาวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 10 ล้านโดสต่อเดือนเพื่อจะใช้ฉีดให้กับกลุ่มประชาชนคนไทย

ซึ่งในเรื่องนี้นั้นทำให้เราคาดหวังว่าเราจะได้รับวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้ามากกว่าหนึ่งในสามของที่จดหมายของคุณได้ระบุเอาไว้ หรือเราก็หวังว่าจะเราได้วัคซีนจำนวนอย่างน้อย 10 ล้านโดสต่อเดือนเอามาใช้ภายในประเทศไทย

ดังนั้นเราจึงต้องมีการหารือร่วมกันในทิศทางที่สร้างสรรค์และจริงจังมากขึ้นเกี่ยวกับประเด็นเรื่องเหล่านี้ และมีความจำเป็นจะต้องหารืออย่างเร่งด่วนด้วยเช่นกัน

โดยผมได้มีการมอบหมายให้ทีมงานเล็ก ๆ อันประกอบด้วยเหล่าผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญอันได้แก่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ที่จัดการโครงการวัคซีนและเป็นคู่เทียบประสานงานทางกฎหมายของคุณ เพื่อที่จะดำเนินการหารือกับคุณหรือตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจของคุณเพื่อที่จะทำให้บรรลุการทำข้อตกลงที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างได้ประโยชน์และบรรลุเป้าหมายการแจกจ่ายวัคซีนทั้ง 2 ฝ่าย

ซึ่งผมหวังว่าการหารือของเรานั้นจะนำไปสู่การมีข้อตกลงร่วมกันอันจะให้ประโยชน์แก่การแจกวัคซีนสูงสุดให้กับประชาชนคนไทยเพื่อที่จะใช้ในประเทศไทย

ผมต้องขอขอบคุณอีกครั้งกับการที่บริษัทแอสตร้าเซนเนก้ามีเจตนาที่ดีในการทำงานเพื่อเข้าถึงวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าอย่างตรงเวลา เราหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากคุณต่อไปในภายภาคหน้าและหวังว่าเราจะสามาถหาทางออกอันเป็นมิตรร่วมกันด้วยความเชื่อมั่นและเจตนาที่ดี (ดูหนังสือประกอบ)

เปิดเอกสาร 'แอสตร้าฯ' ฉบับภาษาไทย ยืนยันส่งให้ สธ. เดือนละ 5-6 ล้านโดส

ต่อมาวันที่ 18 ก.ค. 2564 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่ากรณีการจัดส่งวัคซีน "แอสตร้าเซนเนก้า" ที่ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย โดย วานนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยว่า "กรมควบคุมโรค" ในฐานะคู่สัญญากับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ได้เจรจาต่อรองอย่างต่อเนื่องให้ผู้ผลิตที่จะจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมให้ประเทศไทยมากที่สุด เร็วที่สุด โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดรุนแรงขณะนี้ โดยได้ตั้งคณะทำงานในการเจรจากับผู้ผลิต

ล่าสุด วันนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุข มีการแถลงข่าวด่วน ในเวลา 11.00 น. วันที่ 18 ก.ค.64

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ได้ปรากฏเอกสารจดหมาย ทั้งจากทางแอสตร้าเซนเนก้า ถึง นายอนุทิน ชาญวีรกูล และ จากนายอนุทิน ถึงฝั่งแอสตร้าเซนเนก้า

รวมถึงมีจดหมายจาก จากคณะกรรมาธิการสาธารณสุข ถึง ทูตอังกฤษประจำประเทศไทย

ปรากฏเอกสารดังนี้

เอกสารในวันที่ 25 มิ.ย. 2564 แอสตร้าเซนเนกาเขียนถึง นายอนุทิน ชาญวีรกูล เกี่ยวกับเจตนารมย์ร่วมกับพันธมิตรอย่างบริษัทเอสซี จีและบริษัทสยามไบโอซายน์ โดยระบุว่าจากกำหนดการผลิตวัคซีนอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยจะทำให้กระทรวงสาธารณสุขได้รับวัคซีนประมาณ 5-6 ล้านโดสต่อเดือนซึ่งขึ้นอยู่กับผลิตผลของสารที่จะใช้ในการผลิตวัคซีน

เผย 'อนุทิน' เตรียมเสนอ ศบค.เคาะจำกัดส่งออก 'แอสตร้าเซนเนก้า' ไปต่างประเทศ พร้อมสั่งซื้อ mRNA เพิ่มอีก 50 ล้านโดส

เว็บไซต์ TNN รายงานว่านายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เร่งจัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ภายนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว พร้อมเตรียมเสนอให้ ศบค.พิจารณาตัดสินใจ เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมของประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังสั่งการให้ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย.เชิญผู้แทนของบริษัทวัคซีนที่ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนในประเทศไทยทุกรายเข้าพบในสัปดาห์หน้า เพื่อหารือถึงแนวทางที่ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะวัคซีน mRNA ที่ประชาชนต้องการ ซึ่งขณะนี้ผู้แทนของโมเดอร์นาได้ตอบรับที่จะร่วมหารือกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขแล้ว รวมทั้งได้มีการยื่นข้อเสนอไปที่บริษัทไฟเซอร์ ประเทศไทย เพื่อสั่งซื้อวัคซีนเพิ่มขึ้นอีก 50 ล้านโดส ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมเพื่อหาแนวทางความร่วมมือกันเร็ว ๆ นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net