Skip to main content
sharethis

เผด็จการเบลารุสใช้หน่วยเคจีบีที่เป็นหน่วยงานข่าวกรองและความมั่นคงที่ตกค้างมาตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียต ในการไล่กวาดต้อนจับกุมสื่อและผู้คนที่ประธานาธิบดี 'อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชงโก' มองว่าเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาล อ้างว่าผู้คนเหล่านี้ "หัวรุนแรง" ท่ามกลางเสียงประณามจากสหประชาชาติและสหภาพยุโรป ในแง่ของการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงและลิดรอนเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

18 ก.ค. 2564 รัฐบาลเผด็จการเบลารุสภายใต้การนำของอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชงโก ทำการกวาดต้อนจับกุมสื่อและนักกิจกรรมภาคประชาสังคมในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับมาตรการปราบปรามฝ่ายต่อต้านรัฐบาลของเบลารุส

หน่วยงานของเบลารุสที่ทำการบุกจับกุมสื่อและนักกิจกรรมในครั้งนี้เป็นหน่วยงานข่าวกรองที่ใช้ชื่อตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียตคือ "คณะกรรมการความมั่นคงแห่งรัฐ" หรือ "เคจีบี" โดยที่หน่วยงานนี้กล่าวหาว่าผู้ที่พวกเขาจับกุมเป็นคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องใน "การกระทำแบบหัวรุนแรง"

ในหมู่สื่อที่ถูกกวาดต้อนจับกุมในเบลารุสครั้งนี้มีช่องโทรทัศน์เบลแซตทีวีที่ได้รับเงินทุนจากโปแลนด์ และสื่อเรดิโอฟรียุโรป/เรดิโอลิเบอตีที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสหรัฐฯ รวมอยู่ด้วย โดยที่หน่วยงานรัฐบาลเบลารุสได้บุกเข้าไปในสำนักงานของสื่อเรดิโอฟรียุโรปในกรุงมินสก์ มีนีกข่าวที่ถูกจับกุมในครั้งนี้รวม 32 ราย รวมถึงมีการค้นบ้านนักข่าวหลายรายรวมถึง วาเลนตินา ชดานโก หัวหน้าสำนักงานของเรดิโอฟรียุโรปสาขาเบลารุส

สื่อดอยซ์เวลเลระบุว่าการกวาดต้อนจับกุมในครั้งนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นวันที่สามแล้ว นอกจากสำนักงานสื่อแล้วหน่วยเคจีบียังกวาดต้อนจับกุมสำนักงานกลุ่มสิทธิมนุษยชนและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรการกุศล หรือสถาบันผู้เชี่ยวชาญด้วย

อังเดร บาสตูเนตส์ จากสมาคมนักข่าวกล่าวว่าการทางเบลารุสกำลังใช้กำลังทั้งหมดในการลิดรอนเสรีภาพของนักข่าว ไม่ว่าจะด้วยการข่มขู่คุกคาม การทุบตีทำร้าย การค้น และการจับกุมตัว

ทั้งนี้ในวันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมามีการสั่งลงโทษครู 1 ราย และนักข่าวอีก 11 ราย ด้วยโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปีถึง 2 ปีครึ่งโดยอ้างข้อหาว่าพวกเขาเป็นผู้จัดการประท้วงในปี 2563

มิเชลล์ บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติกล่าวถึงเรื่องนี้ว่ามันเป็นเรื่องที่ "น่าตระหนกอย่างมาก" กับการยกระดับการลิดรอนเสรีภาพเช่นนี้ การบุกจับกุมปราบปรามผู้คนเช่นนี้เป็นเรื่องที่ "รับไม่ได้โดยสิ้นเชิง" และนับเป็นการที่เบลารุสละเลยพันธกรณีภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนนานาชาติอย่างเห็นได้ชัด

ลูกาเชงโก เป็นประธานาธิบดีอำนาจนิยมที่ครองอำนาจเบลารุสมายาวนานนับตั้งแต่ปี 2537 ประกาศจะปราบปรามกลุ่มเอ็นจีโอที่เป็นเสี้ยนหนามของเขาเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว

การประท้วงต่อต้านลูกาเชงโกรอบล่าสุดนี้เกิดขึ้นนับตั้งแต่เขาอ้างว่าเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2563 แต่กลุ่มผู้นำชาติตะวันตกก็กล่าวประณามและไม่ยอมรับการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวโดยระบุว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมและไม่เสรี

สเวตลานา ทิคานอฟสกายา ผู้ที่เคยลงเลือกตั้งฝ่ายตรงข้ามกับลูกาเชงโกเมื่อปีที่แล้วกลายเป็นคนที่ถูกบีบให้ต้องหนีออกจากประเทศเบลารุสโดยบอกว่าเธอเผชิญการคุกคามจากฝ่ายลูกาเชงโก เธอกล่าวถึงกรณีปราบปรามสื่อล่าสุดว่า รัฐบาลลูกาเชงโกทำลายสื่อทุกแห่งที่ "กล้าพูดความจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ในเบลารุส"

หัวหน้าฝ่ายนโยบายการต่างประเทศของสหภาพยุโรป โจเซฟ บอร์เรลล์ กล่าวประณามการปราบปรามที่เกิดขึ้นในเบลารุสว่าการลิดรอนเสรีภาพโดยลูกาเชงโกแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลลูกาเชงโกกำลังดำเนินการตามแผนการที่วางเป็นระบบไว้อย่างดีในการปิดปากผู้ต่อต้านที่ยังเหลืออยู่ และบีบรัดข่มเหงพื้นที่ภาคประชาสังคมในเบลารุส เรื่องเหล่านี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและการล่วงล้ำเสรีภาพขั้นพื้นฐานเช่นนี้ก็มีราคาที่ต้องจ่าย ซึ่งอียูกำลังพิจารณามาตรการในการจำกัดเบลารุสต่อไปตามวิธีการแบบค่อยเป็นค่อยไป


เรียบเรียงจาก
Belarus security services raid journalists' homes, DW, 16-07-2021
KGB Raids 31 Journalists in Belarus, Accuses Them of 'Extremist Activities', Newsweek, 16-07-2021

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net