Skip to main content
sharethis

6 ก.ค. 2564 สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทยยื่นหนังสือเรียกร้องให้ทบทวนมาตรการโควิด ครม. อนุมัติเงินกู้ 2.5 พันล้าน เยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการรัฐ พร้อมอนุมัติสินเชื่อสำหรับธุรกิจร้านอาหารวงเงิน 2 พันล้านบาท

ศิลปิน-ธุรกิจกลางคืนเรียกร้องทบทวนมาตรการโควิด

สำนักข่าวไทยและมติชนออนไลน์รายงานว่า ตัวแทนสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทย นำโดย นายนนทเดช บูรณะสิทธิพร ตัวแทนชมรมผู้ประกอบการสถานบันเทิง ผับ บาร์ และ นายธัญญ์นิธิ ปภัสสุรีย์โชติ ตัวแทนชมรมคนดนตรีแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยศิลปินนักร้องหลากหลายวง อาทิ วงไททศมิตร, ทรีแมนดาวน์ (Three Man Down), Klear, Safeplanet, เอ้ The Voice เดินทางเข้ายื่นหนังสือข้อเรียกร้องถึงพรรคพลังประชารัฐ ผ่านสิระ เจนจาคะ ส.ส. กทม. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน

โดยตัวแทนของสมาพันธ์ฯ ได้กล่าวว่า ธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงได้รับความเดือดร้อนตกงานกันมากว่า 250 วันตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 และยังมองไม่เห็นหนทางที่จะได้กลับมาประกอบอาชีพเพื่อมีรายได้อีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการยื่นหนังสือให้กับพรรคการเมืองต่างๆ 5 พรรคการเมือง รวมถึงหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่มีหนึ่งพรรคการเมืองที่ต้องการยื่นโดยตรงมากที่สุดคือพรรคพลังประชารัฐ โดยหวังว่าเสียงของพวกเราจะดังไปถึงหน่วยงานและองค์กรที่มีอำนาจในการตัดสินใจสักครั้ง

“เราหมดหนทางจริงๆทุกคน ตั้งแต่คนที่ตัวเล็กที่สุดในวงการ คนที่เราห่วงที่สุด เขาไม่มีแม้แต่กำลังใจ ไม่ต้องพูดถึงเม็ดเงิน กำลังใจก็แทบจะไม่มีเหลือกันแล้ว เป็นสิ่งที่เราเจอกันมาปีครึ่ง และก็ไม่รู้ว่าหนทางจะไปจบตรงไหน”ตัวแทนสมาพันธ์ กล่าว

ส่วนข้อเรียกร้องของสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทยมี 8 ข้อ ได้แก่

1.ยกเลิกคำสั่งปิดสถานบันเทิงแบบเหมารวม

2.ขอให้มีคำสั่งปลดล็อกเพื่อให้ธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงได้กลับมาเปิดบริการ และสามารถจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 โดยให้คงการปฏิบัติตามมาตรการคำสั่งของ ศบค. เพื่อรักษามาตรฐานการควบคุมโรค ทั้งนี้ ได้มีการเสนอและเรียกร้องให้พิจารณาเป็นวันที่ 1 ส.ค. 2564 และ/หรือกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการอนุญาตให้กลับมาประกอบกิจการและอาชีพได้อีกครั้ง

3.ผ่อนปรนให้สามารถขายแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้านค้าได้

4.ผ่อนปรนให้มีการจัดงานมหรสพโดยให้คงการปฏิบัติตามมาตรการคำสั่งของ ศบค. เพื่อรักษามาตรฐานการควบคุมโรค

5.พิจารณาการจัดสรรฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ และ/หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานประกอบการธุรกิจกลางคืน และธุรกิจบันเทิงโดยเร็วที่สุด

6.พิจารณาให้มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการเยียวยา การพักชำระหนี้และ/หรือการกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำต่อผู้เดือดร้อนตั้งแต่การออกคำสั่งครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2563

7.เปิดโอกาสให้ภาคเอกชน และ/หรือประชาชนในกลุ่มภาคธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อน เข้าร่วมรับฟัง เสนอแนะพูดคุยในกระบวนการออกมาตรการและนโยบายต่างๆ และ

8.เปิดช่องทางสื่อสารเพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนที่เดือดร้อน

ด้านสิระ กล่าวว่า ตนในฐานะเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ วันนี้ เวลา 15.00 น. จะมีการประชุมสมาชิกของพรรค ตนจะนำหนังสือดังกล่าวเข้ายื่นต่อพรรคโดยด่วน และในฐานะที่ตนเป็นผู้แทนราษฎรก็ขอทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับสมาพันธ์ฯ ที่มายื่น เพื่อสะท้อนให้ถึงหูรัฐบาลว่ากลุ่มนี้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาเป็นเด็กดีมาโดยตลอด ไม่มีต้นเหตุในการแพร่เชื่อเหมือนกับแคมป์คนงานที่มีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายจนเกิดการแพร่เชื้อสร้างผลกระทบที่รุนแรงต่อประชาชนและงบประมาณ รวมถึงเศรษฐกิจ ซึ่งแคมป์คนงานมีนายจ้างที่ร่ำรวยและตนได้เรียกร้องมาโดยตลอดว่าเจ้าของธุรกิจที่ร่ำรวยและใช้แรงงานที่ผิดกฎหมายต้องออกมารับผิดชอบ ไม่ใช่เอาเงินงบประมาณไปดูแลคนที่ทำผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ สิระ กล่าวต่อว่า ตนในฐานะเป็นประธานกรรมาธิการการกฎหมายฯ จะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมาธิการฯ เพื่อพิจารณาว่าสิทธิของผู้ที่อยู่ในธุรกิจกลางคืนควรจะได้รับหรือไม่ แล้วจะเชิญ ศบค. เข้ามาสอบถามถึงมาตรการการเยียวยาที่กลุ่มหนึ่งได้รับ แต่อีกกลุ่มกลับไม่ได้รับการเยียวยา รวมถึงอาชีพอื่นๆ หากได้รับผลกระทบก็สามารถเข้ามาร้องเรียนได้ ตนในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขอเป็นป่กเป็นเสียงให้กับประชาชน ขอให้ทุกคนได้ใช้ผู้แทนที่พวกท่านได้เลือกมาให้เกิดประโยชน์

อนุมัติเงินกู้ 2.5 พันล้าน เยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ

เว็บไซต์รัฐบาลไทย เผยแพร่มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 6 ก.ค. 2564 ระบุว่า อนุมัติโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (กรุงเทพมหานครและปริมณฑล) ของสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กรอบวงเงินจำนวน 2,519.3800 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 2 เพื่อให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่นายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่อยู่ในฐานข้อมูลประกันสังคม ณ วันที่ 28 มิ.ย. 2564 และได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 25)

ทั้งนี้ เห็นควรให้เงินได้จากการให้ความช่วยเหลือ เยียวยาจากการดำเนินโครงการฯ แก่นายจ้างและลูกจ้าง ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมสรรพากร เสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป และมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ และดำเนินการ

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับความช่วยเหลือในกิจการที่ได้รับผลกระทบ 4 ประเภท ได้แก่

  • กิจการก่อสร้าง
  • กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร
  • กิจการศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ
  • กิจกรรมบริการด้านอื่นๆ ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ มีดังนี้

1. นายจ้างที่อยู่ในฐานข้อมูลประกันสังคม ณ วันที่ 28 มิ.ย. 2564 หรือนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนใหม่ตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย. - 30 ก.ค. 2564 จำนวน 41,940 ราย โดยจะได้รับเงินเยียวยาในอัตรา 3,000 บาทต่อลูกจ้างหนึ่งคน สูงสุดไม่เกิน 200 คนต่อแห่ง

2. ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 663,916 ราย จะได้รับเงินเยียวยาในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ทั้งนี้กรณีที่ผู้ประกันตนทำงานกับนายจ้างมากกว่า 1 ราย ให้มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาเพียงครั้งเดียวในอัตรา 2,000 บาท

สำหรับวิธีการจ่ายเงินเยียวยา

  • กรณีบุคคลธรรมดาและผู้ประกันตนมาตรา 33 จะโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ (PromptPay) เฉพาะการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขบัตรประชาชน
  • กรณีนายจ้างที่เป็นนิติบุคคล สำนักงานประกันสังคมจะโอนเข้าบัญชีเงินฝากตามที่นายจ้างแจ้ง หรือตามวิธีการอื่นๆ ที่กระทรวงแรงงานกำหนด
  • เริ่มโอนเงินเยียวยาครั้งแรกภายในวันที่ 23 ก.ค. 2564 และโอนเงินซ้ำทุกสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเผยว่า ที่ประชุม ครม. ยังมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม เร่งลงทะเบียนนายจ้าง และให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานตรวจสอบนิติสัมพันธ์ความเป็นนายจ้างลูกจ้างของนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมรายใหม่ในช่วงวันที่ 29 มิ.ย.-30 ก.ค. 2564 เพื่อยืนยันว่ามีการประกอบธุรกิจและมีการจ้างงานตามจำนวนที่แจ้งขึ้นทะเบียนประกันสังคมไว้จริง รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างรายใหม่ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบประกันสังคมมากขึ้นด้วย

ครม. อนุมัติ มาตรการสินเชื่ออิ่มใจสำหรับธุรกิจร้านอาหาร สูงสุด 1 แสนบาท ดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี

ด้านมติชนออนไลน์ รายงานว่า อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่กลับมามีความรุนแรงและเสี่ยงต่อการเกิดภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุข นำไปสู่การออกประกาศกำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมไปถึงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการสั่งปิดสถานที่และระงับการให้บริการของสถานบริการต่างๆ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ มีรายได้ลดลงและขาดสภาพคล่อง

ครม. มีมติเห็นชอบ มาตรการสินเชื่ออิ่มใจ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารหรือเครื่องดื่มให้มีสภาพคล่องที่เพียงพอสำหรับการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

มาตรการสินเชื่ออิ่มใจ วงเงิน 2,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสิน สนับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหารหรือเครื่องดื่มที่เป็นร้านจำหน่ายแบบถาวร เช่น ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารที่เปิดในห้องแถวหรืออาคารพาณิชย์ ภัตตาคาร ร้านที่มีลักษณะเป็นบูธ เป็นต้น

ด้วยหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติวงเงินสินเชื่อต่อรายสูงสุด 100,000 บาท ดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี ( อัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก หรือ Effective Rate) ระยะเวลากู้ไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก โดยรับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564

สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารหรือเครื่องดื่มที่เป็นร้านแบบเคลื่อนที่ได้ เช่น หาบเร่ แผงลอย รถเข็น เป็นต้น สามารถเข้าร่วมมาตรการสินเชื่อผ่อนปรนของรัฐบาลที่มีอยู่ ได้แก่ มาตรการสินเชื่อสู้ภัย โควิด-19 โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อวงเงิน 10,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน ระยะเวลากู้ 3 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนแรก รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564 หรือโครงการอื่นๆ ที่ธนาคารออมสินดำเนินการเอง เช่น สินเชื่อโครงการธนาคารประชาชน สินเชื่อสตรีทฟู้ด (Street Food) เป็นต้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ให้ความสำคัญกับการดูแลประชาชนและผู้ประกอบการให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทั่วถึง และเพียงพอ โดยได้มีการติดตามผลการดำเนินมาตรการอยู่เป็นระยะ รวมถึงพิจารณาข้อจำกัด ปัญหาอุปสรรคของการดำเนินมาตรการ และผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด เพื่อปรับปรุงและออกมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อดูแลประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงทีต่อไป

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net