Skip to main content
sharethis

หนี้ครัวเรือนสูงสุดในรอบ 18 ปี ลูกหนี้ในภาวะเศรษฐกิจชะงักจากพิษโควิด 19 เผชิญความตึงเครียดจากการชักหน้าไม่ถึงหลัง มาตรการช่วยเหลือที่ออกมาอาจไม่เพียงพอหรือไม่ช่วยอะไร ตัวอย่างชีวิตหนี้ที่เหลือทางเลือกไม่มากหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น

ต้นปีมีรายงานว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยสูงสุดในรอบ 18 ปี ชวนอกสั่นขวัญแขวนไม่น้อย เมื่อถูกบีบคั้นจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 เศรษฐกิจชะงักงัน มันอาจเป็นระเบิดเวลาที่เริ่มนับถอยหลังแล้วก็เป็นได้

กลับมาในภาพระดับครัวเรือน มาตรการช่วยเหลือต่างๆ ที่ออกมาโดยภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) การขอความร่วมมือกับสถาบันการเงินผ่านมาตรการขั้นต่ำเพียงพอจะผ่อนเบาให้ลูกหนี้ได้ไหม ยังเป็นคำถาม

นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวในทำนองว่าเหมือนจะช่วย แต่ก็ไม่ช่วย สำหรับวรัญญา ชาวจังหวัดภูเก็ต เมืองท่องเที่ยวหลักของประเทศ บอกว่ามันไม่ช่วยอะไร ซ้ำเธอยังโกรธตัวเองที่โง่เกินไป...หรือเปล่า

ถ้าเกินมือจะยื้อ เธอตัดสินใจจะปล่อยมันไป

หนี้ครัวเรือนสูงสุดในรอบ 18 ปี

จากการเก็บข้อมูลของ ธปท. ตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทย ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 14 ล้านล้านบาท สูงสุดในรอบ 18 ปี คิดเป็นร้อยละ 89.3 ของจีดีพีปี 2563

ข้อมูลปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 ของ ธปท. แบ่งเป็นหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล 10,778,538 ล้านบาท แยกย่อยเป็นเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ 4,785,134 ล้านบาท ซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 1,781,439 ล้านบาท เพื่อการศึกษา 309,608 ล้านบาท และเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น 3,902,357 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของ ธปท. 1,027,240 ล้านบาท หนี้เพื่อประกอบอาชีพ 2,505,154 ล้านบาท และอื่นๆ 737,038 ล้านบาท

นอกจากนี้ การวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังพบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปี 2563 แม้จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 89.3 แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้หนี้เติบโตช้าลง แต่ถึงหนี้จะเติบโตช้าระดับหนี้ก็ยังเพิ่มขึ้นสวนทางกับเศรษฐกิจที่หดตัว เพราะเมื่อดูตัวเลขหนี้ครัวเรือนถอยหลังไป 3 ปีพบว่าหนี้ครัวเรือนขยับขึ้นทุกปี โดยในปี 2561 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ร้อยละ 78.4 และร้อยละ 79.8 ในปี 2562

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ต่อไปว่า กลุ่มผู้กู้รายย่อยที่ประกอบธุรกิจและผู้กู้รายย่อยที่มีปัญหาด้านรายได้จะมีภาระหนี้หรือ Debt Service Ratio (DSR) สูงกว่าผู้กู้ในกลุ่มอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลให้ความสามารถในการชำระคืนหนี้ลดลง ช่องว่างในการก่อหนี้ก้อนใหม่ลดลง และระดับการออมของครัวเรือนก็ต่ำลง

ร่วมโครงการพักต้นพักดอก

สถานการณ์หนักหนาแค่ไหน? ตัวอย่างของวรัญญา คงพอทำให้เห็นภาพ เธอเล่าว่า พอโควิดระบาด ตัวเธอต้องออกจากงาน ขณะที่สามีผู้ทำงานเป็นสถาปนิก ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2563 เป็นต้นมาถูกลดเงินลงครึ่งหนึ่ง

“ต้นปี 2564 ทางบริษัทแฟนก็แจ้ง leave without pay ไม่มีกำหนด จากที่ยังพอมีรายได้ก็ไม่มีรายได้ บริษัทที่แฟนทำเป็นบริษัทออกแบบโรงแรม รีสอร์ท ได้รับผลกระทบจากการที่ไม่มีนักท่องเที่ยว ไม่มีการรีโนเวทหรือตกแต่ง ปีที่แล้วยังมีโปรเจกต์ค้างอยู่ ตั้งแต่ต้นปีบริษัทไม่มีงานเลย เราซื้อบ้านที่ภูเก็ตแล้ว ไปไหนไม่ได้ เราก็หวังว่าวันหนึ่งบริษัทจะกลับมา ก็เลยอยู่ในสถานะ leave without pay มา 5 เดือนแล้ว”

แรงบีบคั้นทำให้สามีของวรัญญาต้องหางานนอกเข้ามาเสริม แต่รายได้ก็ไม่แน่นอน ภาระหนักที่สุดของเธอและสามีคือการผ่อนคอนโดมิเนียม เงินเก็บที่มีอยู่ถูกใช้ไปในปีที่แล้วจำนวนมาก ในช่วงเวลาที่เธอพยายามหาทางออก ธนาคารที่เธอกู้เงินซื้อคอนโดก็มีโครงการออกมาซึ่งเธอคิดว่าน่าจะช่วยแบ่งเบาภาระลงได้บ้าง

“ธนาคารที่เรากู้ซื้อบ้านมีโครงการให้เลือก 3 อย่างตอนนั้นคือจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย แล้วดอกเบี้ยจะลดลง 0.1 เปอร์เซ็นต์นาน 3 เดือน หรือจะลดค่างวด 50 เปอร์เซ็นต์นาน 3 เดือน หรือพักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 3 เดือน เราเลยลองเลือกตัวที่ 3 เพราะรู้สึกว่าเราหนัก ไม่ไหว เพื่อถือเงินเก็บน้อยนิดไว้ก่อน เผื่อจะมีงานนอกเข้ามาแล้วจะพอกลับไปผ่อนไหว”

พอมองย้อนกลับไป วรัญญาบอกว่าจะไม่เข้าร่วมโครงการและเธอยังเฝ้าถามตัวเองถึงวันนี้ว่า

“เราโง่เองหรือเปล่าที่เราไม่รู้”

ดอกเบี้ยไม่หยุดเดิน

กับคนที่มีประสบการณ์การกู้เงินกับธนาคารน่าจะเข้าใจคำว่า ‘พักต้นพักดอก’ แต่ยังมีคนอีกมากที่เข้าใจผิดกับคำๆ นี้

ทาง ธปท. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 ทั้งลูกหนี้ที่เป็น SMEs ลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน โดยร่วมมือกับสมาคมและชมรมต่างๆ รวม 8 แห่ง เช่น สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมการค้า ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ ชมรมธุรกิจบัตรเครดิต-สมาคมธนาคารไทย ชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น

ทั้งนี้ในส่วนของสินเชื่อบ้านตามมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ระยะที่ 2 ระบุไว้ 3 ตัวเลือกคือเลื่อนชำระค่างวด (เงินต้นและดอกเบี้ย) 3 เดือน, เลื่อนชำระเงินต้น 3 เดือนและพิจารณาลดดอกเบี้ยให้ตามความเหมาะสม และลดค่างวดโดยขยายเวลาการชำระหนี้

นฤมล กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการขั้นต่ำและเป็นการขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินซึ่งพบว่า ธนาคารพาณิชย์มักเลือกมาตรการให้ลูกหนี้พักชำระหนี้เงินต้นโดยยังต้องจ่ายดอกเบี้ยอยู่

“สมมติเราขอพักชำระหนี้ 6 เดือน เราก็จ่ายแต่ดอกเบี้ย เจ้าหน้าที่ยังได้ดอกเบี้ยอัตราคงที่ ไม่ใช่ลดต้นลดดอก กรณีที่เจอคือเงินต้นที่ถูกพักเอาไว้ยังถูกคิดดอกเบี้ยอยู่ แทนที่ 6 เดือนที่เราพักชำระหนี้เราจะไม่เสียดอกเบี้ยเลย แต่สุดท้ายก็ยังต้องจ่ายดอกเบี้ยใน 6 เดือนต่อไป คือเดือนที่ 7 ต้องจ่ายดอกเบี้ยเหมือนเดือนที่ 6 พอเดือนที่ 8 ดอกเบี้ยจึงจะลดลงเพราะได้ดอกเบี้ยเดือนที่ 7 ไปลดยอดเงินต้น

“ธนาคารไม่ได้บอกว่าเงินต้นที่พักเอาไว้ 6 เดือนจะไม่คิดดอกเบี้ย ยังถือว่ามีหนี้อยู่อีก 6 เดือน เพราะฉะนั้น 6 เดือนที่ถูกยืดออกไปก็ยังถูกคิดดอกเบี้ยอยู่ มันถูกคิดดอกเบี้ยตลอดเวลา ทั้งที่ดอกเบี้ยเงินต้นที่ยืดออกมามันคือจ่ายไปแล้วใน 6 เดือนที่พักชำระหนี้เงินต้นเอาไว้ ทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ อันนี้จึงเป็นนโยบายที่ไม่ได้ช่วยเหลือลูกหนี้จริง เพียงแค่ช่วงที่พักชำระหนี้เงินต้นไม่ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่เท่านั้น เพราะการช่วยเหลือลูกหนี้จริงๆ มันต้องพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอก”

นฤมลยังบอกด้วยว่าในบางกรณีมีลูกหนี้ที่ถูกธนาคารพาณิชย์พักชำระหนี้โดยที่เจ้าตัวไม่ได้ยินยอม

“เราโง่เองหรือเปล่าที่เราไม่รู้”

ไม่ใช่วรัญญาคนเดียวที่เข้าใจคำว่า ‘พักต้นพักดอก’ ผิด

“เดี๋ยวนี้ธนาคารจะมีไลน์ ออฟฟิเชียล เราก็แค่กดตามขั้นตอนต่างๆ แล้วเราก็ได้พักชำระหนี้นาน 3 เดือน พอครบ 3 เดือนก็กลับไปจ่ายตามสัญญาเดิม เราก็ดีใจมากเลย มันเบาเราไป 3 เดือน ถ้ามีงานนอกเข้ามาเราจะได้เก็บเงินเอาไว้ก่อน เดือนที่ 4 เราจะกลับมาผ่อน เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยเสียประวัติเลย พอเรากู้ ธนาคารก็ให้เราชำระผ่านการตัดบัญชี ไม่ว่าจะมีเงินหรือไม่มีเงิน ทุกวันที่ 30 หรือ 31 ของเดือน 4 ทุ่มมันตัดบัญชีเราแล้ว”

เธอเข้าใจว่าการพักต้นพักดอกคือหยุดชำระเงินต้น 3 เดือนและดอกเบี้ยจะหยุดเดิน 3 เดือน พอเข้าเดือนที่ 4 ครอบครัวเธอมีรายได้จากงานนอกเข้ามา ธนาคารก็ตัดยอดตามเดิม 11,600 บาท แต่เมื่อเธอเช็คอีเมล์ที่ทางธนาคารส่งให้กลับพบว่าเงิน 11,600 บาทที่ถูกหักไปเป็นดอกเบี้ยทั้งหมด ทั้งที่ปกติจะต้องเป็นเงินต้นประมาณ 5,018 บาท

“เราเลยโทรหาคอลเซ็นเตอร์ เขาก็อธิบายว่าที่บอกว่าพักต้นพักดอก 3 เดือนแค่ให้หยุดจ่าย แต่ดอกเบี้ยไม่ได้หยุดเดิน ยังคิดตามปกติ เราก็บอกว่าเราไม่รู้เลย ก็อึ้งไป นี่เราผิดเองเหรอที่เราไม่รู้ที่จะต้องคิดดอกเบี้ยตามปกติ เพราะเราเพิ่งกู้บ้านหลังแรก ไม่เคยเป็นหนี้มาก่อนเลย

“ถามว่าพักต้น พักดอกคืออะไร เขาบอกว่ามันคือการพักชำระ พักการจ่ายเฉยๆ พักการชำระเงินต้น พักการชำระดอกเบี้ย แต่ไม่ได้พักการคิดดอกเบี้ย ซึ่งมันจะไม่ใช่การค้างจ่ายดอกเบี้ย 3 เดือนแบบปกติ เพราะว่าปกติเวลาผ่อนบ้านมันจะลดต้นลดดอก พอเงินต้นลด ดอกเบี้ยก็จะลดไปด้วย กลายเป็นว่า 3 เดือนที่ผ่านมาเงินต้นเราไม่ลด เพราะฉะนั้นดอกเบี้ยอาจจะเยอะขึ้น เราก็เลยถามว่าจะถูกหักแบบนี้ไปประมาณเท่าไหร่ เขาไม่ได้บอกละเอียด แต่บอกว่าเดือน 4 กับเดือน 5 น่าจะถูกหักเป็นดอกเบี้ยเต็มวงเงิน แต่พอเดือน 6 น่าจะเหลือกลับมาเป็นต้นนิดหนึ่ง”

เมื่อถามว่าถ้าย้อนกลับไปจะเข้าร่วมโครงการหรือไม่ เธอตอบว่าไม่

“มันเป็นความผิดเราเหรอที่เราไม่รู้ แล้วทำไมตอนนั้นในรายละเอียดมันก็ไม่มีการอธิบายว่าดอกเบี้ยยังเดินตามปกติ เราก็ไปหาข้อมูลดู คนอื่นก็เพิ่งรู้เหมือนเราเยอะเหมือนกัน คนที่รู้ส่วนมากจะเป็นคนที่มีประสบการณ์ เคยกู้ เคยพักชำระหนี้ แต่มือใหม่ที่เพิ่งรู้ก็เยอะ เพื่อนเราก็มีที่เพิ่งรู้ เราก็รู้สึกว่าทำไมไม่บอกให้ละเอียด แต่พอเรากลับมาหาข้อมูลอีกรอบหนึ่ง เราคิดไปเองว่าอาจมีคนโทรไปถามเยอะว่าทำไมพักต้นพักดอก แต่ดอกเบี้ยยังคิดตามปกติ ทำให้ธนาคารมาอธิบายเพิ่มเติมชัดเจนแล้ว ซึ่งก็ดีกับคนที่จะเข้าร่วมโครงการหลังจากนี้จะได้ตัดสินใจได้ถูกว่าอยากเข้าร่วมไหม เพราะสุดท้ายเข้าร่วมโครงการไปมันเหมือนไม่ได้ช่วยอะไรเราเลย คุณบอกให้เราหยุดจ่าย แต่ดอกเบี้ยไม่หยุดเดิน แล้วเราจะเข้าร่วมไปทำไม นี่คือความรู้สึกของเราว่าเราโง่เองหรือเปล่าที่เราไม่รู้ แล้วทำไมก่อนหน้านี้ไม่บอกให้ละเอียด เราโทษใครได้ไหมหรือเราต้องโทษตัวเอง โกรธตัวเองด้วย โง่”

ต้องมากกว่าขั้นต่ำ

นฤมลมีคำแนะนำสำหรับลูกหนี้ที่เผชิญภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจว่าให้ติดต่อโดยไปยัง ธปท. ซึ่งมีนโยบายช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยกับคู่สัญญาให้

“เราเคยมีข้อเสนอต่อธนาคารแห่งประเทศไทยหลายเรื่อง ถ้าเป็นหนี้ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดทางธนาคารแห่งประเทศไทยควรมีนโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลหรือพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจนถึงปลายธันวาคม 2564 ให้เศรษฐกิจฟื้นตัว คนมีงานทำ หรือจนกว่าจะมีสามารถชำระหนี้ได้ก็ค่อยชำระหนี้ มันก็จะช่วยเหลือผู้บริโภคมากกว่าการใช้มาตรการขั้นต่ำ เพราะถ้าเป็นมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยมันจะชัดเจน แต่ถ้าเป็นการขอความร่วมมือและออกมาตรการขั้นต่ำ ธนาคารพาณิชย์จะทำหรือไม่ทำก็ได้ซึ่งก็ทำ แต่ทำขั้นต่ำ คือพักชำระหนี้เงินต้น”

ถึงจุดนี้คงต้องย้อนถามประชาชนโดยทั่วไปว่า ‘พักต้นพักดอก’ ชวนให้เข้าใจได้อย่างไรบ้าง และมีคนมากน้อยแค่ไหนที่ติดกับความเข้าใจผิด รายละเอียดที่คลุมเครือ หรือ ‘ความโง่’ ของตนเองดังที่วรัญญาบอกตัวเอง กับอนาคตข้างหน้า เธอระบายว่า

“คิดไม่ออกเพราะว่ามันเกินมือเราแล้ว เราช่วยตัวเองจนไม่รู้จะช่วยยังไงแล้วในภาวะโควิดปีครึ่ง เงินเก็บที่มีก็ดึงออกมาใช้ แมสก์ก็ซื้อเอง เจลแอลกอฮอล์ก็ซื้อเอง เราอยู่ภูเก็ตคุณบอกให้เรารีบไปฉีดวัคซีนเพราะวันที่ 1 กรกฎาคมคุณจะเปิดจังหวัด เรารีบไปฉีดตั้งแต่ล็อตแรกทั้งที่รู้ว่าวัคซีนยังไม่ได้รับการรับรองจาก WHO พอจะฉีดเข็ม 2 เราเห็นว่ามีคนเจอผลข้างเคียง แต่เราก็ยอมฉีดเพราะเราไม่ไหวแล้ว

“เราต้องการให้เศรษฐกิจของภูเก็ตกลับมา เราต้องการนักท่องเที่ยว เรายอมเสี่ยงฉีดวัคซีนที่จะเกิดอะไรขึ้นกับเราก็ไม่รู้ เรายอมขนาดนี้แล้ว เรื่องอื่นเราคุมไม่ได้เลย มันเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำ มันเป็นหน้าที่ของรัฐบาลแล้ว เราทำทุกวิถีทางที่ประชาชนคนหนึ่งจะทำแล้ว เราก็คิดว่าเราจะติดโควิดหรือติดบูโรก่อนกัน บางทีก็เครียดจนคิดว่าหรือจะติดโควิดแล้วตายๆ ไปเลยดี เหนื่อย มองไม่เห็นผลทาง มองไม่เห็นการจัดการที่ดี ประชาชนต้องช่วยตัวเองไปอีกเท่าไหร่”

คอนโดมิเนียมที่เธอกับสามีร่วมกันกู้ เธอยอมรับว่าหากสุดทางจริงๆ ก็ต้องปล่อยมือ จะไม่เข้าร่วมโครงการอีกหรือ? อย่างน้อยก็ยื้อออกไปได้ เธอตอบว่า

“การกลับไปพักต้นพักดอกสุดท้ายมันไม่ช่วยอะไร”

นี่อาจเป็นภาพสะท้อนลางๆ ถึงอิทธิพลของกลุ่มทุนธนาคารและอุตสาหกรรมการเงินในบ้านเรา

ว่าแต่ว่ารัฐบาลจะช่วยอะไร?

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net