Skip to main content
sharethis

พล.อ.อาวุโสมินอ่องหล่าย บินร่วมประชุมอาเซียนนัดพิเศษเมื่อ 24 เม.ย. เจอม็อบต้านถึงที่ ด้านประธานาธิบดีอินโดนีเซียเรียกร้องปล่อยตัวนักโทษการเมือง ส่วนผลประชุมเห็นชอบฉันทามติ 5 ข้อ เรียกร้องให้มีการใช้กระบวนการสนทนาอย่างสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตพม่า

ที่ประชุมอาเซียนเสนอมติ 5 ข้อเรียกร้องยุติความรุนแรงในพม่า

25 เม.ย. 2564 เสร็จสิ้นลงไปแล้วสำหรับการประชุมผู้นำสูงสุดอาเซียน สมัยพิเศษ ที่กรุงจาการ์ตา ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานอาเซียน ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อช่วงบ่าย เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2564 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นชาติสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ประกอบด้วย สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ ประธานาธิบดีบรูไน ในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นายลี เซียนหลง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ส่วนฟิลิปปินส์และไทยส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมแทน โดยประเทศไทยมีน ดอน ปรมัตถ์วินัย ร่วมประชุมแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คนสุดท้าย พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย หัวหน้าคณะรัฐประหาร และผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพพม่า  

การประชุมเกิดขึ้นเพื่อหาทางคลี่คลายต่อสถานการณ์ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หรือพม่า หลังกองทัพพม่าปราบผู้ประท้วงนองเลือดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลังทำรัฐประหารวันที่ 1 ก.พ. 2564 เป็นต้นมา

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ AAPP รายงานผู้เสียชีวิตจากการปราบผู้ประท้วงของกองทัพและตำรวจเมียนมา นับตั้งแต่ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.64 จนถึงวันที่ 24 เม.ย.64 มีจำนวนทั้งสิ้น 748 ราย และมีผู้ประท้วงต้านรัฐประหารถูกจับกุมแล้ว 4429 ราย 

ทั้งนี้ การประชุมผู้นำสูงสุดอาเซียน สมัยพิเศษนัดนี้ ยังเป็นที่จับตามองจากนานาชาติอย่างมาก หลังพลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้นำคณะรัฐประหาร และผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพพม่า เข้าร่วมการประชุมด้วยตนเอง ที่กรุงจาการ์ตา และถือเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกของผู้นำทหารพม่า หลังจากทำรัฐประหาร

25 เม.ย. 2564 กระทรวงการต่างประเทศ รายงานผ่านบนสื่อโซเชียลออนไลน์อย่าง เฟซบุ๊กเพจ ‘กระทรวงการต่างประเทศ’ ระบุว่า ที่ประชุมสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน มีมติเห็นชอบในเอกสารฉันทามติ 5 ข้อ เพื่อแก้ปัญหาต่อวิกฤตพม่า ประกอบด้วย 

1) หยุดยั้งการใช้ความรุนแรงในประเทศพม่าโดยทันที และขอเรียกร้องทุกฝ่ายให้ใช้ความยับยั้งชั่งใจขั้นสูงสุด 

2) ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้กระบวนการเจรจาอย่างสร้างสรรค์ ในการแก้ปัญหาวิกฤติพม่าอย่างสันติ เพื่อประโยชน์ของประชาชน 

3) ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนจะทำหน้าที่เป็นคนกลางประสานงานการเจรจา โดยมีผู้ช่วยเลขาธิการอาเซียนให้ความช่วยเหลือ 

4) อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ผ่านศูนย์ประสานงานเพื่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ หรือ AHA 

5) สุดท้าย ผู้แทนพิเศษ  และคณะผู้แทน จะเดินทางเยือนประเทศพม่า เพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในวิกฤตการณ์ครั้งนี้

ขณะที่สำนักข่าวจากตะวันออกกลาง อัลจาซีรา เปิดเผยถ้อยแถลงของ โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีแห่งอินโดนีเซีย หลังจากพบปะกับผู้นำชาติอาเซียน และผู้นำทหารพม่า เรียกร้องให้กองทัพพม่า หรือ ‘ทัตมาดอ’ ฟื้นคืนการปกครองระบอบประชาธิปไตย และหยุดการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือน 

“ฉันทามติข้อแรกที่เราเรียกร้อง คือ ให้กองทัพพม่าหยุดใช้ความรุนแรง และขณะเดียวกัน ขอให้ทุกฝ่ายต้องหยุดการใช้ความรุนแรง เพื่อลดความตึงเครียด” 

“ต้องหยุดใช้ความรุนแรง และประชาธิปไตย ความมั่นคง และสันติสุข ต้องได้รับการฟื้นฟู” วิโดโด กล่าว  

นอกจากนี้ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เรียกร้องให้มีการปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมด และ สำหรับผู้แทนพิเศษจากอาเซียน จะได้รับอนุญาตให้เข้าไปในประเทศเมียนมา เพื่อผลักดันให้เกิดการเจรจาต่อไป

เช่นเดียวกับ ลี เซียนหลง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ที่เรียกร้องให้มีการปล่อยตัววินมยิ้ด ประธานาธิบดีของเมียนมา และอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ซึ่งขณะนี้ถูกควบคุมตัวอยู่ในบ้านพัก   

รัฐบาลต้านเผด็จการ NUG ว่าอย่างไรบ้าง

หลังการประชุมอาเซียนฯ เสร็จสิ้น นพ.ซาซา รัฐมนตรีกระทรวงความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG ระบุว่าแม้ว่าการประชุมครั้งนี้ จะไม่มีตัวแทนจาก NUG เข้าร่วม แต่ นพ.ซาซา ออกแถลงการณ์ยินดีต่อฉันทามติของอาเซียน 5 ข้อเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ของพม่า และถ้อยแถลงของผู้นำประเทศอินโดนีเซียที่เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด 

“เรายินดีต่อคำพูดอันหนักแน่นจากโจโกวี วิโดโด ประธานาธิบดีแห่งอินโดนีเซีย ที่เรียกร้องให้มีการปล่อยตัววีรบุรุษของเราทั้งหมด เราตั้งตารอมาตรการที่แข็งขันจากอาเซียนที่ติดตามการตัดสินใจ และการฟื้นฟูประชาธิปไตยและเสรีภาพของพวกเรา” แถลงการณ์ของ นพ.ซาซา ระบุ

ทั้งนี้ สำนักข่าวท้องถิ่น Myanmar Now โพสต์ลงเฟซบุ๊ก รายงานว่า ก่อนการประชุมอาเซียน มีประชาชนเดินขบวนต้านรัฐประหาร บริเวณใกล้ ๆ กับสำนักงานใหญ่อาเซียน กรุงจาการ์ตา แต่ไม่มีรายงานเหตุความวุ่นวายใด ๆ ตามมา


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net