Skip to main content
sharethis

ทบ. ย้ำจำเป็น เหตุทหารฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อชายแดน หลังผู้ลี้ภัยชาวพม่า เข้ามาพักพิงชั่วคราว เผยทำตามมาตรการควบคุมป้องกันโรค สร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวบ้านในพื้นที่

15 เม.ย.2564 จากการณีเมื่อวันที่ 13 เม.ย. ที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ PRD กรมประชาสัมพันธ์ ทวีตภาพและรายงานว่า "ชายแดนก็ต้องปลอดโควิด ทหารพราน 36 ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโควิด-19 เพิ่มอีก 5 พื้นที่รองรับ ภายหลังผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาเดินทางกลับยังภูมิลำเนา" จนก่อให้การการวิพากษ์วิจารณ์ และต่อมาทวิตเตอร์ดังกล่าวลบภาพดังกล่าวออกนั้น

ล่าสุดวันนี้ (15 เม.ย.64) พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวชี้แจงข้อวิจารณ์ เรื่องการฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อชายแดนไทย-เมียนมา ว่า ไม่คุ้มค่าคุ้มค่า และ ประสิทธิภาพในการฉีดน้ำยาบริเวณชายแดน ว่า เนื่องด้วยในช่วงต้นเดือนเมษายน มีผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาจำนวนมากได้เข้ามาพักชั่วคราวในพื้นที่ปลอดภัยแนวชายแดนและได้เดินทางกลับประเทศไปแล้วหลังเหตุการณ์คลี่คลาย หลังจบเหตุการณ์ กองกำลังชายแดน ได้ปฏิบัติตามมาตรการดูแลพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย และการควบคุมป้องกันโรค เพื่อให้พื้นที่นั้นกลับสู่สภาพปกติ พร้อมทั้งได้ทำความสะอาด และฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคป้องกันโรคติดต่อ ที่อาจแฝงมากับผู้หนีภัยฯ ตามมาตรการด้านสาธารณสุข

การฉีดพ่นฆ่าเชื้อ หน่วยทหารได้บริหารจัดการ สิ่งอุปกรณ์และกำลังพลที่มีอยู่แล้ว โดยเป็นอุปกรณ์ที่หน่วยใช้ในภารกิจช่วยดับไฟป่า พร้อมขอสนับสนุนน้ำยาฆ่าเชื้อโรคจากหน่วยงานสาธารณสุข เป็นการนำเครื่องมือของส่วนราชการที่มีอยู่แล้วมาบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าในการช่วยเหลือดูแลประชาชน

รองโฆษกกองทัพบก ระบุว่า การรวมตัวกันของคนจำนวนมากในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดความเสี่ยง การทำพื้นที่ให้สะอาด จึงเป็นมาตรการป้องกันโรคติดต่อและ ลดการสะสมของเชื้อโรคต่างๆที่เกิดจากสภาพความเป็นอยู่และของเสียจากร่างกาย สุขอนามัยส่วนบุคคลในบริเวณที่เคยมีคนมาพักอาศัยเป็นจำนวนมากได้อีกทางหนึ่ง เป็นมาตรการสร้างความปลอดภัยและป้องกันโรคให้กับประชาชนในพื้นที่ชายแดน ที่สำคัญเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนท้องถิ่น ในการกลับเข้าทำกิจกรรมต่างๆ ตามวิถีเดิม เช่น ปลูกพืชล้มลุก หรือหาอาหาร เป็นต้น

พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ ยังชี้แจงด้วยว่า ในปัจจุบัน การทำความสะอาดล้างสิ่งปนเปื้อนและฉีดสารฆ่าเชื้อในพื้นที่สาธารณะ แหล่งชุมชน เช่น โรงเรียน วัด สำนักงาน ตลาด สถานีขนส่ง หน่วยทหารของกองทัพบกได้ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ และประชาชนจิตอาสา ดำเนินการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ของเชื้อ COVID-19 อย่างต่อเนื่อง ทั้งภายในหน่วยทหาร และพื้นที่โดยรอบ โดยสรุปตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค. 2564 ถึงปัจจุบัน มีการปฏิบัติใน 268 พื้นที่ และ162 โรงเรียน ซึ่งเป็นการใช้ศักยภาพของกองทัพในการดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างดีที่สุด

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันว่า การนำสารเคมียาฆ่าเชื้อมาฉีดพ่นตามถนนและพื้นที่สาธารณะนอกจากไม่ได้ผลในการควบคุมโรค (แหล่งแพร่เชื้อโรคคือร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อ ควรควบคุมตรงการคลุกคลีกันระหว่างผู้คนมากกว่า) ยังเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ เพราะเชื้อไวรัสสามารถตายได้โดยไม่ยาก ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงและแสงแดดจัด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net