Skip to main content
sharethis

กลุ่มนักกิจกรรมดิจิทัลชาวพม่าผันตัวมาจัดทำวิทยุคลื่นไพเรทเพื่อพยายามโน้มน้าวให้ทหารและตำรวจหันมาอยู่ข้างประชาชนมากขึ้น ความพยายามครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลทหารพม่าใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนอย่างโหดร้ายจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 583 ราย และมีการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตทำให้พวกเขาหันมาใช้ช่องทางวิทยุ

ตำรวจพม่าที่เมืองลอยก่อ รัฐกะเรนนี เดินขบวนต้านรัฐประหาร เมื่อ 10 ก.พ. 64 (ที่มา: Kantarawaddy Times)

ข้อความที่ส่งผ่านทางคลื่นวิทยุมีทั้งเรื่องราวของ แม่ที่กำลังปวดใจร้องขอให้ลูกของตัวเองถอนตัวออกจากการเป็นทหาร พี่สาว/น้องสาวส่งเสียงออกอากาศบอกกับพี่ชาย/น้องชายของเธอว่ารู้สึกไม่ปลอดภัยและขอร้องให้เขาหยุดเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ พ่อหลายๆ คนเตือนลูกของตัวเองว่าพวกเขากำลังถูกจับให้ลงมือทำร้ายกันเองในขณะที่พวกคนชั้นนายพลนั่งจิบไวน์อย่างสบายใจในแมนชันของตัวเอง

ข้อความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการทางจิตวิทยาที่เรียกว่า "ปฏิบัติการ ฮานอย ฮันนาห์" หนึ่งในแนวรบทางดิจิทัลเพื่อต่อต้านเผด็จการทหารพม่า ทำการกระจายเสียงวิทยุแบบไพเรทเพื่อหวังว่าจะโน้มน้าวให้ตำรวจและทหารหันมาอยู่ข้างประชาชนได้ การกระจายเสียงของพวกเขาไม่ใช่อินเทอร์เน็ตซึ่งทางการพม่าเพิ่งสั่งปิดไปเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2564

Bogyoke Yay หนึ่งในนักกิจกรรมและวิศวกรเสียงของปฏิบัติการ ฮานอย ฮันนาห์ กล่าวว่าพวกเขากำลังใช้กลยุทธทางจิตวิทยาในการต่อต้านกระบวนการล้างสมองของกองทัพ ทำให้คนในกองทัพและตำรวจหันมาอยู่ข้างประชาชน

ปฏิบัติการนี้จัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มศิลปินและนักกิจกรรมอายุประมาณ 20-30 ปีในพม่า พวกเขาอาศัยเครื่องมือแบบโลว์เทคเพื่อส่งสัญญาณคลื่นวิทยุในชื่อวิทยุ เฟเดอรัลเอฟเอ็ม ซึ่งสามารถรับฟังได้ในกรุงย่างกุ้งด้วยความถี่ 90.2 เมกะเฮิรตซ์ เพราะเป็นเครื่องมือที่ยังเหลืออยู่หลังจากที่รัฐบาลสั่งปิดอินเทอร์เน็ต

สาเหตุที่พวกเขาตั้งชื่อว่าปฏิบัติการ ฮานอย ฮันนาห์ เพราะพวกเขาได้แรงบันดาลใจจากนักจัดรายการวิทยุชาวเวียดนามที่ชื่อ ฮานอย ฮันนาห์ ที่เคยกระจายเสียงรายการวิทยุเพื่อเกลี่ยกล่อมทหารสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนามรวมถึงมีการเปิดเพลงต่อต้านสงครามสลับกันไปกับการอ่านรายชื่อของทหารสหรัฐที่ถูกสังหารหรือถูกคุมขัง โดยหวังว่าจะทำให้ชาวอเมริกันที่เห็นด้วยกับขบวนการต่อต้านสงครามจะอยู่ข้างพวกเขา

ในปฏิบัติการ ฮานอย ฮันนาห์ จึงได้พยายามใช้เครื่องมือแบบเดียวกันในการทำให้ทหารและตำรวจเห็นถึงความขัดแย้งในตัวเองจากการที่พวกเขาหันปืนใส่ประชาชนทั้งที่พวกเขามีหน้าที่คุ้มครอง หนึ่งในสมาชิกของปฏิบัติการ Yay Khae กล่าวว่า "ทหารพวกนี้คิดว่าตัวเองกำลังปกป้องคุ้มครองประเทศปละประชาชน พวกเรากำลังบอกว่าพวกเขากำลังทำในทางตรงกันข้าม"

จนถึงตอนนี้ปฏิบัติการฯ ได้ทำการเผยแพร่การบันทึกเสียงของญาติพี่น้องที่ขอร้องให้ทหารตำรวจเลิกเข่นฆ่าประชาชน คลิปเสียงของคนที่พูดคุยกันถึงความโหดร้ายของกองทัพและความมือถือสากปากถือศีลของพวกผู้นำกองทัพซึ่งหาผลประโยชน์จากการรัฐประหาร

คลิปเสียงเหล่านี้มีการเปิดสลับกันไปกับเสียงของหวอไซเรน เสียงปืนกลที่ยิงใส่ผู้หญิงและเด็ก ซึ่งในสถานการณ์ตอนนี้รัฐบาลเผด็จการทหารสังหารผู้คนไปอย่างน้อย 583 รายแล้ว หนึ่งในคลิปเสียงเป็นเสียงของแม่ที่กำลังร้องไห้คว่ำครวญถึงลูกที่เป็นทหารว่า "ทำไมลูกถึงได้เข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ ถ้าฉันรู้ว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้น ฉันจะไม่ให้ลูกเข้าไปเป็นทหาร"

มีการตั้งข้อสังเกตว่าผู้จัดทำสื่อทั้งดิจิทัลส่งเสริมประชาธิปไตยในพม่ามักจะเป็นคนรุ่นใหม่ยุค Gen Z หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Bogyoke San Pyote พูดถึงสื่อวิทยุฮานอย ฮันนาห์ ว่า เมื่อเขาได้ฟังเสียงของแม่ทหารในวิทยุนี้แล้วเขารู้ว่าเธอทั้งกลัวและคิดถึงลูกของเธอเพียงใด เรื่องนี้อาจจะย้ำเตือนใจให้ทหารนึกถึงตอนที่เขาบอกลาแม่มาสู่แนวหน้าได้บ้าง แล้วจะทำให้พวกเขาคิดเทียบกันเอาระหว่างครอบครัวของพวกเขากับพวกนายทหารระดับสูงเหล่านั้น

กลุ่มนักกิจกรรม นักสร้างสรรค์ผลงานและวิศวกรเสียงเหล่านี้ ใช้ทักษะของตัวเองในการสร้างผลงาน "โฆษณาชวนเชื่อเสียงเสรีภาพ" เพื่อต่อต้านสิ่งที่พวกเราเรียกว่าเป็น "การล้างสมอง" จากกองทัพพม่าที่เรียกว่าทัตมะตอว์โดยประชุมหารือกันเพื่อพยายามเจาะเข้าไปใจจิตใจทหารเหล่านี้ เช่นการใช้เสียงของผู้หญิงและเด็กที่ร้องไห้ ผู้คนวิ่งหนี หวีดร้อง เมื่อพวกทัตมะตอว์เริ่มเปิดฉากยิง และเสียงของพ่อแม่ที่ร้องไห้เมื่อพบว่าลูกของพวกเขาถูกยิงเสียชีวิต

นอกจากเรื่องปัญหาการที่พวกเผด็จการทหารบล็อกอินเทอร์เน็ตเพื่อเปิดทางให้พวกเขาก่อเหตุรุนแรงเข่นฆ่าและจับกุมประชาชนได้ตามอำเภอใจ สิ่งที่ทำให้ขบวนการวิทยุไพเรทนี้หันมาใช้เทคโนโลยีเก่าเป็นเพราะพวกเขากังวลเรื่องการถูกติดตามดักเก็บข้อมูลการโพสต์ทางอินเทอร์เน็ตจากฝ่ายรัฐบาลด้วย

นอกจากนี้หนึ่งในนักกิจกรรมดิจิทัล โอโช ที่ช่วยเหลือปฏิบัติการฯ กล่าวว่าพวกเขาวางแผนเตรียมรับมือกับกรณีการปิดช่องทางการสื่อสารทั้งหมดเอาไว้ด้วย เขาบอกว่าถ้าหากมีสงครามกลางเมืองก็จะมีการตัดอินเทอร์เน็ตจากระบบเคเบิลและสายโทรศัพท์ ถึงแม้พวกเขาจะยังใช้ช่องทางผ่านดาวเทียมและ WiFi ได้ แต่ก็จะถูกติดตามสะกดรอยทางดิจิทัลได้ ทำให้พวกเขาเลือกใช้ช่องทางสื่อสารผ่านทางวิทยุ

 

เรียบเรียงจาก
 

To turn soldiers to their side, Myanmar’s digital activists turn to low-tech alternative: pirate radio (Audioscapes), Coconuts, 02-04-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net