Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ตลอดช่วงเวลากว่าตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1950 จนถึง 2014 สจ๊วต ฮอลล์ (Stuart Hall,1932-2014) เป็นที่รู้จักในฐานะหัวขบวนของซ้ายใหม่อังกฤษในทศวรรษที่ 1950 ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการคนแรก New Left Review  เป็นอดีตผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาวัฒนธรรมร่วมสมัย (CCCS) (1964-1978) มหาวิทยาลับเบอร์มิงแฮมที่เปรียบได้กับเสาหลักของวัฒนธรรมศึกษา และเป็นศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาที่โอเพ่นยู่เวอร์ซิตี้ (1979-1997) ผู้ดูแลคอร์สวัฒนธรรม สื่อ และอัตลักษณ์ หลังเกษียณเขายังเป็นผู้อำนวยการให้กับมูลนิธิ two the Institute of International Visual Arts (Iniva) และAutograph ABP ที่ส่งเสริมการทำงานศิลปะและถ่ายภาพของกลุ่มคนอังกฤษผิวดำ  อาจกล่าวได้ว่าฮอลล์เป็นที่รู้จักจากผลงานเขียนทางวิชาการ และบทบาทของปัญญาชนสาธารณะ แต่มีน้อยคนนักที่จะรู้จักว่าเขาในฐานะนักฟังเพลงแจ๊ส แม้แต่ฮอลล์เองก็พูดหรือเขียนเรื่องนี้น้อยมาก บทสัมภาษณ์กับบีบีซีในปี ค.ศ.2000 น่าจะเป็นครั้งแรกที่เขาพูดเรื่องนี้เผยแพร่ต่อสาธารณะชน แต่ก็เป็นสารคดี The Stuart Hall Project ที่ออกฉายในปี ค.ศ. 2013 ก่อนเขาเสียไม่นานที่ทำให้ผมและคนอื่นๆอีกหลายคนที่ได้รู้ว่าสจ็วต ฮอลล์มีความ“ความฮิป”ขนาดไหนในวัยหนุ่ม เขามีความชื่อชอบและรับแรงบันดาลใจจากผลงานของไมล์ส เดวิส (Miles Davis,1926-1991) นักทรัมเปตชาวอเมริกัน งานดนตรีแจ๊ซของเดิวสอาจเปิดโลกต่อการใคร่รู้ในฮอลล์ในวัยเยาว์อาจไม่ต่างจากงานของคาร์ล มาร์กซก็ได้!!  

(1)

สจ๊วต ฮอลล์ เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางที่มีเชื้อสาย สก็อตติส อัฟริกา และครึ่งโปรโตเกส-ยิว เขาจึงมาจาก “ครอบครัวลูกผสม”ที่มีพ่อเป็นคนถือสัญชาติจาไมก้าและแม่ถือสัญชาติจาไมก้า-อังกฤษ ฮอลล์นิยามตัวตนตามอัตลักษณ์ของคนเวสต์อินดีสว่าเป็นพวก “ผิวสีน้ำตาล” เขาเรียนจบไฮสคูลที่จาไมก้าคอลเลจ ชีวิตวัยรุ่นในจาไมก้าไม่ต่างจากกวัยรุ่นทั่วไป การเรียนในระบบไม่ได้ทำให้เขามีอิสระในความคิดเท่าไร ซึ่งคงเป็นเรื่องปกติของรัฐภายใต้อาณานิคมของอังกฤษที่ระบบการศึกษาอังกฤษเป็นผู้วางรากฐานให้ แต่ฮอลล์ก็บอกว่าที่หมู่เกาะเวสต์อินดีสนั้นเปรียบได้กลับชายขอบของกลุ่มประเทศอาณานิคมของอังกฤษ ดังนั้น นอกจากระบบการศึกษาสูงสุดเพียงแค่ไฮสคูลแล้วก็ไม่ได้มีระบบการเรียนรู้อะไรเช่นประเทศภายใต้อาณานิคมของอังกฤษอื่นๆ อีกทั้งในจาไมก้าผู้เรียนจบมักกลายเป็นพวกคนมีการศึกษาที่ส่วนใหญ่อยู่แวดวงชนชั้นสูงของสังคมในเวลาต่อมา ในช่วงเรียนที่จาไมก้าคอลเลจนั้นฮอลล์สนใจใฝ่รู้ในงานวรรณกรรม ด้วยระบบการศึกษาแบบรัฐอาณานิคมทำให้เขาต้องอ่านงานวรรณกรรมของนักเขียนจากประเทศเจ้าอาณานิคม อย่างไรก็ดีกระแสเรียกร้องที่ต้องการปลดปล่อยพันธการจากประเทศเจ้าอาณานิคม ทำให้มีงานวรรณกรรมของนักเขียนในเวสต์อินดีสและวรรณกรรมของนักเขียนหัวก้าวหน้านานาชาติให้อ่านอยู่บ้าง กระแสการเมืองโลกช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ ฮอลล์เริ่มสนใจงานทางด้านทฤษฎีการเมืองด้วยเช่นกัน เขาเองบอกว่าในห้องสมุดมีแถลงการณ์คอมมิวนิสต์ของคาร์ล มาร์กซ ซึ่งเขาได้หยิบอ่านเป็นครั้งแรกในช่วงนั้นเช่นกัน

ในช่วงวัยรุ่นดนตรีแบบอัฟริกันอเมริกันและจากละตินเริ่มเป็นที่นิยมในคิงสตัน เมืองหลวงของจาไมก้า ฮอลล์เห็นว่าดนตรีเหล่านี้มีจังหวะที่ผนวกเข้ากับการเต้นรำอันเปรียบเสมือนเป็นวิธีของคนคาริเบียน ดังนั้นมันจึงได้รับความนิยมโดยทั่วไปทั้งในกลุ่มวัยรุ่นและชนชั้นกลางของจาไมก้าในทศวรรษที่ 1930-1950 ฮอลล์บอกว่าตั้งแต่ตอนเด็กเขานักเต้นที่ดีและมีเซนส์ของการจับจังหวะ จริงๆเขาเรียนเปียโนและฟังดนตรีคลาสิคมาก่อน มีความรู้เรื่องราวของดนตรีประเภทนี้ดีพอชนิดที่ฮอลล์บอกว่าเขาเคยคิดที่จะเขียนงานรีวิวการแสดงเปียโนเพลงคลาสสิคที่ประพันธ์โดยศิลปินของจาไมกัน  เขาเล่นเปียโนตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมและก็เล่นในวงดนตรีสมัครเล่นเมื่อมีโอกาสเสมอๆจนกระทั้งช่วงที่เขามาเรียนวรรณกรรมที่ออกซ์ฟอร์ดในปีค.ศ. 1951 ซึ่งที่นี้เองเขาเริ่มฟังดนตรีคลาสิคแบบซีเรียสเป็นครั้งแรก แต่เขาก็ไม่ได้จัดตนอเองว่าเป็นนักฟังเพลงคลาสิคแต่อย่างใด และจากในข้อเขียนและบทสัมภาษณ์ของเขาหลายครั้ง ฮอลล์จะบอกว่าเขาไม่ได้รู้สึกว่าเป็น “ส่วนหนึ่ง”ออกซ์ฟอร์ด ซึ่งนั้นอาจจะเป็นเพราะรสนิยมของการฟัง“ดนตรีแจ็ส”...ใครจะไปรู้ได้นอกจากฮอลล์เอง?

(2)

ฮอลล์เริ่มรู้จักเพลงแจ๊สจากพี่ชายของเขา แต่เพื่อนคนหนึ่งสมัยเรียนมัธยมปลายของเขาสนใจโมเดิร์นแจ็สอย่างจริงจัง ซึ่งมันทำให้ต่อมาเขาก็ได้เรียนรู้เพลงทั้งแจ๊สดั้งเดิมและโมเดิร์นแจ็ซจากพี่ชายและเพื่อนของเขา อย่างไรก็ดีฮอลล์พบว่าดนตรีโมเดิร์นแจ็สที่เล่นโดยศิลปินผิวดำที่อยู่ไกลออกไปในดินแดนเสรีอย่างอเมริกาต่างหาก กลายเป็นสิ่งที่กู่ร้องเอาจิตวิญญาณหนุ่มโคโลเนียลผู้กระหายใคร่รู้อย่างเขาไปได้  ฮอลล์ได้กล่าวว่า ตอนอายุราวๆ 20 ปี เพลงแจ็สของไมล์ เดวิสได้สะกิดจิตวิณญานของเขา ความหลากหลายของอารมณ์ดนตรีของไมล์สเข้ากันได้กับวิวัฒนาการความรู้สึกของเขาในวัยหนุ่ม แจ็สสมัยใหม่ ทำให้ฮอลล์ค่อยๆตระหนักถึงพื้นที่ใหม่ของการแสดงออกทางอารมณ์และอัตลักษณ์  และมันได้ดำดิ่งไปพร้อมกับการหลอมละลายอย่างช้าๆกับพลังงานใหม่ของจิตสำนึกคนดำ แจ๊สเข้ามาในจังหวะที่วัยหนุ่มของเขาที่อยากจะรู้ว่า “ตนเองคือใคร?” แต่ด้วยความใคร่รู้ของปัญญาชนวัยหนุ่มอย่างฮอลล์  เขายอมรับว่าความสนใจในโมเดิร์นแจ๊สคืออะไรที่ให้ผลรับแกเขาอย่างที่เคยไม่คิดคาดการณ์เอาไว้   

สิ่งที่ฮอลล์ชื่นชอบดนตรีแจ๊สได้นำพาแสงสว่างมาสู่วัยหนุ่มของเขา  สำหรับฮอลล์ดนตรีแจ๊สคือตัวอย่างอันยอดเยี่ยมของการแสดงออกซึ่งการปะทะประสานและการเบียดขับกันอันซ่อนอยู่ภายใต้โครงสร้าง ฮอลล์เปรียบว่ามันคือการจำลองสถาปัตยกรรมโครงสร้างกับเสรีภาพ ในขณะที่เขาพยายามเข้าใจมันในคุณลักษณะของดนตรีวิทยา แต่ฮอลล์ก็พบว่าแจ็สสมัยใหม่ ให้อารมณ์ลึกซึ้งโดยที่ดนตรีมันไม่ได้เฉพาะเจาะจง มันเป็นได้ความรู้สึกดีและมิอาจทานทน  เขารู้สึกถึงความแตกต่างบ้างอย่างและพึงพอใจอย่างลึกซึ้งเพลงแจ็สสมัยใหม่ “Relaxing into the groove” คือคำบรรยายที่ฮอลล์ใช้ว่าเขารู้สึกอย่างไรกับแจ๊สสมัยใหม่ ซึ่งสมัยนั้นต่างไปจากเพลงจาไมก้าที่ได้รับอิทธิลจากเพลงอเมริกันอัฟริกันที่มีจังหวะที่เร็วกว่า เทปโป้หนัก เน้นเพลงเต้นรำ ในขณะที่โมเดิร์นแจ็สควบคุมความเร็วด้วยการให้มีการโซโล่ที่มีอิสระ การอิมโพรไวซ์ได้ทำให้เดนตรีมีความอิสระ แต่ก็อยู่บนพื้นฐานที่ถูกขับเคลื่อนด้วยริทึ่มเซคชั่นของเบส กลองและเปียโน  

ฮอลล์ในวัยหนุ่มหวังว่าวันหนึ่งดนตรีมันจะปลุกเร้าชาวจาไมก้าให้กล้าเอ่ยถึงประสบการณ์ตัวตนของพวกเขาในภาษาดนตรีของตนเองที่ตระหนักซึ่งเชื้อชาติในแถบเวสต์อินเดีส  ซึ่งมันได้เกิดขึ้นจริงๆ แต่ไม่เคยเกิดขึ้นกับเพลงแจ๊ส ด้วยเหตุที่ว่าหลังจากเป็นเอกราชจากอังกฤษทั้งจาไมก้าหรือชาติอื่นๆในแถบทะเลคาริเบียน การมาถึงของยุคร็อกแอนด์โรลล์และวัฒนธรรมอเมริกาในต้นทศวรรษที่ 60  ดนตรีสกา เร้กเก้ บลูส์บีท และร็อกสเตดดี้ เข้ามากุมหัวใจของวัยรุ่น ฮอลล์เห็นว่า บ็อบ มาร์เลย์และสหายรัสต้าฟาเรี่ยนนำพาเอาเสียงเพลงสไตล์ใหม่เหล่านี้มาช่วยปกป้องคนรุ่นที่สองของเวสต์อินเดีย ในขณะที่ฮอลล์เองคือคนรุ่นที่หนึ่งที่สร้างวัฒนธรรมของตนเองภายใต้เงาของอาณานิคม แต่คนรุ่นสองเหมือนกับกำลังจะถูกฝังลงไปใต้พื้นดิน เพราะว่าพวกเขาไม่รู้ว่าตนเองคือใคร? พวกอังกฤษไม่ได้ต้องการพวกเขา? แม้จะประเทศเป็นเอกราชแล้ว ที่พวกเขาก็ไม่ได้รู้สึกมีอนาคตกับมัน ซึ่งมันทำให้คนรุ่นสองนี้ผสานการแสดงออกในเรื่องของอิสรภาพดนตรีกับเสรีภาพทางการเมืองพร้อมกับกับผสมผสานวัฒนธรรม และอุดมการณ์ ความเชื่อ ต่างๆเข้าด้วยกันและสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา..เพลงเร้กเก้เปรียบได้กลับเป็นคำประกาศของจิตสำนึกใหม่ของคนรุ่นที่ 2 แต่มันไม่ได้เกิดกับฮอลล์ เขามาประกาศจิตสำนึกใหม่ของเขาและคนรุ่นเขาในการก่อเกิดของขบวนการซ้ายใหม่ในอังกฤษในปี 1956 ซึ่งตอนนั้นดูเหมือนโมเดิร์นแจ๊สยังหาที่ทางไม่ได้ในกระแสของซ้ายใหม่    

ฮอลล์บอกว่าเขามาเข้าใจโมเดิร์นแจ๊สอีกครั้งหลังจากทำความเข้าใจในทฤษฏีภาษาศาสตร์ของเฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์ (1857-1923) นักภาษาศาสตร์โครงสร้างนิยมชาวสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งนั้นก็กินเวลาหลายปีนับจากที่เขาเริ่มสนใจโมเดิร์นแจ๊ส เขาชอบโมเดิร์นแจ๊สเพราะว่า “คำ” “กริยา”และ”อนุประโยค”ของมันไม่อาจคลี่คลายออกมาได้ง่ายๆ  คุณต้องทำงานเพื่อที่จะเขาใจ “กับมัน” แม้ว่าผลรับมันอาจจะไม่ได้มีอะไรยืนยันว่าคุณจะเข้าใจหรือซาบซึ้งกับมันได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น โมเดิร์นแจ๊สคือการค้นหาอิสรภาพใหม่ เราจะเห็นว่าฮอลล์ไม่ได้กล่าวถึงดนตรีในแบบดนตรีวิทยา ฮอลล์ไม่ได้เอยถึงแจ๊สในมุมมองในแบบ”แจ๊สศึกษา” (Jazz Studies) หากแต่เขาเข้าถึงแจ๊ส ในแบบ “Perception at the pitch of passion” คำอธิบายที่ฮอลล์หยิบยืมมาจากเจมส์ บาล์ดวิน (Jame Baldwin, 1924-1987) นักเขียนและนักกิจกรรมอเมริกันผิวดำ อย่างไรก็ดีงที่กล่าวไว้แล้วว่าฮอลล์แทบไม่เคยมีข้อเขียนเกี่ยวกับแจ็ส รวมถึงดนตรีอื่นๆเลย เรื่องของเขากับดนตรีแจ๊สจึงเป็นเรื่อง “ส่วนตัว”และ”ไม่วิชาการ”แต่ก็ทำให้เรารับรู้ความเป็นตัวตนของเขาในอีกมิติหนึ่งโดยเฉพาะแรงบันดาลใจในวัยหนุ่ม

เป็นที่น่าสังเกตว่าช่วงรุ่งเรื่องสุดของวัฒนธรรมศึกษาในทศวรรษที่ 1970 ของสำนักเบอร์มิงแฮม ซึ่งเขาเป็นผู้อำนวยศูนย์ศึกษาฯ ลูกศิษย์ของเขาหลายคนผลิตผลคลาสสิคที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมวัยรุ่น วัฒนธรรมคนผิดดำ เพศวิถีกับดนตรี ไม่ว่าจะเป็นดนตรีโปรแกรสซีฟ พั๊งค์ เฮฟวีเมตัล  โซล เรกเก้ฯลฯ ไว้หลายชิ้น และลูกศิษย์ของลูกศิษย์ก็ยังผลิตงานดนตรีสมัยนิยมกับอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จนอาจกล่าวได้ว่าหากนึกถึงวัฒนธรรมศึกษาคุณจะนึกถึงดนตรีสมัยนิยมศึกษา (popular music studies) แต่ก็เป็นที่น่าตกใจว่ามีงานเกี่ยวกับดนตรีแจ๊สน้อยมาก งานคลาสิคในกลุ่มลูกศิษย์ของฮอลล์ที่กล่าวมาก็ไม่มีเลย ฮอลล์เองก็บอกว่าในทศวรรษที่ 70 เขาให้ความสนใจกับเพลงโซล (Soul) `ซึ่งเป็นเพลงของคนผิวดำที่เกิดในยุคสมัยนั้น และมีศิลปินที่เขาชื่อชอบก็คือ มาร์วิน เกย์ (Marvin Gaye, 1938-1984) นักร้องเพลงโซลชาวอเมริกัน

(3)

จอห์น อคอมฟราห์ (John Akomfrah) ศิลปินอังกฤษเชื้อสายกานา และผู้กำกับสารคดี The Stuart Hall Project เขาคือผู้ร่วมก่อตั้ง the Black Audio Film Collective  ในทศวรรษที่ 80 ซึ่งทำให้อคอมฟราห์และเพื่อนในกลุ่มรู้จักกับสจ๊วต ฮอลล์ ได้กล่าวไว้ว่า “ผมรู้มาเสมอว่าฮอลล์สนใจในเพลงแจ๊ส แต่ผมไม่มีไอเดียว่าเขาลึกซึ้งกับมัน…ผมเองเริ่มฟังแจ๊สในทศวรรษที่ 80 แต่มันเป็นในมุมมองของศิลปินและคนผลิตภาพยนตร์ที่ผมทำงานด้วย ซึ่งเป็นมุมมองการเข้าใจแบบขนบของแจ๊ส แต่เพราะสจ๊วตที่เปิดมุมให้เห็นความสัมพันธ์ของแจ๊สกับเรื่องอื่นๆ ซึ่งนั้นคือเมื่อ  20- 30 ปีก่อน...เขาคือคนที่มาก่อนกาล” ผลลงานล่าสุด Precarity ` (2017) ของอคอมฟราห์เป็นงานสื่อศิลปะและสารดดีเกี่ยวกับผู้ให้กำเนิดแจ๊สคนแรก ชารล์ส “บัดดี้” โบลเด้น ( Charles “Buddy” Bolden, 1877-1931) ซึ่งก่อนหน้านี้เขาเก็บข้อมูลเพื่อได้โครงการศิลปะที่ชื่อ Unfinished conversation และต่อมาได้ทำต่อเนื่องเป็นสารดดีเกี่ยวกับสจ๊วต ฮอลล์ ที่ชื่อว่า The Stuart Hall Project ออกฉายในปี ค.ศ. 2014 สารดคีที่ฮอลล์เองไม่มีโอกาสได้ดู ในสารคดีมีคำกล่าวสั้นๆที่ฮอลล์พูดถึงแรงบันดาลใจจากดนตรีแจ๊ส (ตัดมาจากบันสัมภาษณ์ของบีบีซี) และในสารดคียังได้ใช้เพลง I waited for you ที่ออกจำหน่ายในปี ค.ศ. 1993 ของไมล์ส เดวิส เป็นเพลงธีม ซึ่งเสมือนเป็นการสร้างความกระจ่างให้เห็นว่าเพลงแจ๊สเป็นสร้างพลังและแรงบันดาลใจของฮอลล์ในวัยหนุ่ม หากเราใช้คำอธิบายเรื่องแจ๊สกับ “ฮิปคัลเจอร์”ของนักสังคมวิทยาฟิล โอเฮนมาจับภาพหนุ่มที่ชื่อสจ๊วต ฮอลล์ ที่ในคิงสตันทาวน์ต้นทศวรรษที่ 1950 ได้ แต่เราก็พอจะเห็นภาพร่างๆของหนุ่มฮิปคนหนึ่งที่ชื่นชอบไมล์ เดวิส ที่เดินทางจากบ้านจากเมืองข้ามน้ำข้ามทะเลมาหลายพันไมล์เพื่อค้นอิสรภาพใหม่ๆ ซึ่งการค้นหานั้นทำให้เขาพบกับ“วัฒนธรรมการเมืองแบบซ้าย (ใหม่) ”ที่แม้แต่ไมล์ เดวิสก็บอกไม่ได้ว่าเพลงของเขาเพลงไหนที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กหนุ่มคนนี้

 

เอกสาร/เว็บไซต์ประกอบ

Akofrah, J. (2014) . The Stuart Hall Project. Smoking Dogs Production

Hall, S. (2017) . Familiar Stranger: A Life Between Island, Duke University.

Hall, S. (2000) .Desert Island Disc https://www.bbc.co.uk/programmes/p0094b6r.

Miles Davis. I waited for you. https://www.youtube.com/watch?v=9hWTM3wHvZ0

Bob Marley. Redemption Song https://www.youtube.com/watch?v=CqnYSCSjZ6c

Marvin Gaye I Heard It Through The Grapevine https://www.youtube.com/watch?v=kAPj9oP4q_w

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net