Skip to main content
sharethis

สำนักงานที่ปรึกษาพิเศษด้านการป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติออกแถลงการณ์ร่วม ประณามกรณีที่กองทัพพม่าใช้กำลังสังหารผู้ชุมนุมอย่างสันตินั้น มีการระบุถึงกลไกเรื่อง "ความรับผิดชอบในการคุ้มครอง" จากนานาชาติ (responsibility to protect หรือ R2P) เพื่อปกป้องประชาชนพม่าจากอาชญากรรมที่โหดร้ายทารุณ

ภาพจากวิดีโอเหตุการณ์ทหารและตำรวจพม่ายิงประชาชนเมื่อวันที่ 27 มี.ค.2564 ที่ผ่านมา จาก Myanmar Now

28 มี.ค.2564 เจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเอ็นของ 2 คนได้แก่ อลิซ ไวริมู เอ็นเดอริตู (Alice Wairimu Nderitu) ที่ปรึกษาพิเศษของสหประชาชาติด้านการป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ และมิเชล บาเชเล สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์ร่วมเพื่อประณามรัฐบาลพม่าหลังจากที่มีการนองเลือดเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของพม่าจากน้ำมือของกองทัพที่มียอดผู้เสียชีวิตกว่า 400 ราย ณ วันที่แถลงการณ์ฉบับนี้ออกมา

แถลงการณ์ดังกล่าว ประณามกองทัพพม่าอย่างหนักว่า ความรุนแรงจากน้ำมือของกองทัพนั้นเป็นไปในวงกว้าง รุนแรงถึงชีวิต และวางแผนอย่างเป็นระบบในการโจมตีประชาชนที่ชุมนุมอย่างสันติ นับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงนับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 เป็นต้นมา

แถลงการณ์ยูเอ็นระบุถึงสถานการณ์ในพม่าที่ระบุถึงการจับกุมประชาชนโดยพลการหลายพันราย มีการอุ้มหายจำนวนมาก และในวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมาก็นับเป็นวันที่นองเลือดหนักที่สุดโดยมีผู้คนถูกสังหารหนึ่งร้อยกว่าคนรวมถึงเด็กอย่างน้อย 7 คน นอกจากนี้ยังมีอีกหลายร้อยคนที่ได้รับบาดเจ็บและถูกคุมขังจากสิ่งที่ยูเอ็นระบุว่าเป็น "การโจมตีอย่างประสานงานกันไว้ก่อน" ต่อพื้นที่มากกว่า 40 พื้นที่ทั่วประเทศ

เดอริตู และบาเชเลต์ เรียกร้องให้กองทัพพม่าหยุดการสังหารประชาชนที่พวกเขามีหน้าที่ต้องคุ้มครองทันที พวกเขาแถลงว่าการสังหารประชาชนที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำที่ "น่าอัปยศ, ขี้ขลาด, โหดเหี้ยมทารุณ" อีกทั้งยังประณามการที่ตำรวจและทหารพม่าถ่ายภาพยิงผู้ประท้วงที่กำลังหนีโดยไม่เว้นแม้แต่เด็กอายุยังน้อย

เจ้าหน้าที่ยูเอ็นยังเรียกร้องให้ "ประชาคมโลกมีความรับผิดชอบในการคุ้มครองประชาชนชาวพม่าจากอาชญากรมที่โหดร้าย"

มีการเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติยกระดับการดำเนินการขึ้นบนฐานของแถลงการณ์ที่ออกมาก่อนหน้านี้ในวันที่ 10 มี.ค. และเรียกร้องให้กลุ่มประเทศอาเซียนกับประชาคมโลกในที่อื่นๆ มีปฏิบัติการโดยทันทีในการทำตามหลักการ "ความรับผิดชอบในการคุ้มครอง" (R2P) ประชาชนชาวพม่า

ยูเอ็นระบุว่าในขณะที่รัฐมีความรับผิดชอบในชั้นแรกในการปกป้องคุ้มครองประชาชนของตัวเอง แต่ประชาคมนานาชาติก็มีความรับผิดชอบนี้ร่วมกันด้วย และในกรณีที่รัฐ(ซึ่งในกรณีนี้คือพม่า) ล้มเหลวในการที่จะให้การคุ้มครองประชาชนของตัวเองอย่างเห็นได้ชัด ประชาคมนานาชาติก็ควรจะมีปฏิบัติการร่วมกันอย่างทันด่วนในการปฏิบัติตามกฎหมายของสหประชาชาติว่าด้วยการคุ้มครองประชากรพลเรือน

เดอริตูและบาเชเลตระบุเรียกร้องให้หยุดยั้งกระบวนการปล่อยให้ผู้ก่อเหตุลอยนวลไม่ต้องรับผิดในพม่า พวกเขาบอกว่าต้องมีกระบวนการทำให้กองทัพพม่าต้องรับผิดต่อสิ่งที่ทำตั้งแต่ในอดีตและยับยั้งไม่ให้มีการก่อเหตุอาชญากรรมร้ายแรงระดับนานาชาติ การที่พวกเขาล้มเหลวในการทำให้กองทัพพม่าต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมในอดีตทั้งสิ่งที่กระทำต่อชาวโรฮิงญาและชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์อื่นๆ กลายเป็นการเปิดทางให้กองทัพพม่าก่อเหตุเลวร้ายได้ "ไม่มีหนทางไปต่อข้างหน้าถ้าหากไม่มีการนำตัวผู้กระทำผิดมารับผิดชอบและทำให้เกิดการปฏิรูปกองทัพพม่าในระดับรากฐาน"

เจ้าหน้าที่ยูเอ็นเรียกร้องให้ทุกฝ่ายรวมถึงเจ้าหน้าที่ทางการพม่าไม่ว่าจะเป็นตำรวจและทหารที่แปรพักตร์จากทางการให้ความร่วมมือกับกลไกนานาชาติ รวมถึงศาลอาญาระหว่างประเทศและกลไกการสืบสวนอิสระจองคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในเรื่องการต่อสู้กับการลอยนวลไม่ต้องรับผิดในพม่า

อีกเรื่องหนึ่งในแถลงการณ์นี้คือความกังวลว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์และทางศาสนาในพม่าอยู่ภายใต้ความเสี่ยงมากขึ้นจากเดิมที่พวกเขาเผชิญกับความรุนแรงจากน้ำมือเผด็จการทหารพม่าอยู่แล้ว ทางเจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเอ็นเล็งเห็นว่ามีความหลากหลายในกระบวนการเคลื่อนไหวและสนับสนุนให้เกิดความสามัคคีร่วมกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในการเคลื่อนไหว รวมถึงตระหนักรู้ในเรื่องอาชญากรรมต่อชนกลุ่มน้อยในอดีตรวมถึงชาวโรฮิงญาให้มากขึ้น

สำหรับเรื่องหลักการ "ความรับผิดชอบในการคุ้มครอง" (Responsibility to Protect) เป็นหลักที่พัฒนามาจากหลักการแทรกแซงด้านมนุษยธรรมที่เป็นบทเรียนมาจากกรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาและบอสเนีย ซึ่งหลักการนี้ได้รับรองอย่างเป็นเอกฉันท์ในที่ประชุมของสหประชาชาติปี 2548 ที่เน้นพูดถึงปัญหาหลักๆ 4 อย่างคือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, อาชญากรรมสงคราม, กำจัดชาติพันธุ์ และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ หลักการนี้วางแนวทางการบังคับใช้มาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองไม่ให้เกิดการก่อเหตุทารุณโหดร้ายต่อพลเรือน โดยระบุให้ทั้งรัฐบาล, องค์การระหว่างรัฐ, ภาคประชาสังคม รวมถึงภาคส่วนเอกชน มีหน้าที่ป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรมโหดร้ายนี้

R2P มีหลักสำคัญสามประการคือ

  1. ทุกรัฐมีหน้าที่ในการปกป้องประชาชนทุกคนในรัฐจากอาชญากรรม 4 ประเภทข้างต้น
  2. ประชาคมนานาชาติมีหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือรัฐ และส่งเสริมสร้างศักยภาพ ในการป้องกัน
  3. หากรัฐใดไม่สามารถหรือล้มเหลวในการปกป้องอาชญากรรมทั้ง 4 ประเภท ก็เป็นหน้าที่ของประชาคมนานาชาติที่จะต้องเตรียมการในการร่วมมือเพื่อดำเนินการมาตรการทางการทูต อย่างทันท่วงที เด็ดขาดโดยที่มาตรการเหล่านั้นจะต้องเป็นไปตามกฎบัตรสหประชาชาติ

เรียบเรียงจาก

Note to Correspondents: Joint Statement by UN Special Adviser on the Prevention of Genocide and UN High Commissioner for Human Rights - on Myanmar, UN, 28-03-2021

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

The Global Centre for the Responsibility to Protect

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net