Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผย ตร.แจ้ง ม.112 เพิ่ม 'รุ้ง-ปนัสยา' เหตุปาอาหารสุนัขประท้วงการจับกุม 'นิว-สิริชัย' - ยื่นประกัน 'โตโต้' ครั้งที่ 3 ยืนยันไม่มีพฤติการณ์เป็นอั้งยี่ ตามที่ถูกกล่าวหา ศาลนัดไต่สวนก่อนมีคำสั่ง 31 มี.ค. นี้

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2564 ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง เวลา 13.30 น. พ.ต.ท. สุชัย แสงส่อง รอง ผกก. (สอบสวน) สภ.คลองหลวง ในฐานะคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่ง ภ.จว.ปทุมธานี ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ว่าด้วยความผิดตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา สืบเนื่องจากกรณีปาอาหารสุนัขใส่รูปของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ที่บริเวณหน้า สภ.คลองหลวง ในขณะรวมตัวกันเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัว “นิว” สิริชัย นาถึง นักศึกษาปี 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หลังจากถูกจับกุมด้วยข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ในยามดึกของวันที่ 14 ม.ค. 2564 

ในการเข้าแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมวันนี้ มีทนายความ และพี่สาวของรุ้งในฐานะผู้ไว้วางใจเข้าร่วมเป็นประจักษ์พยานด้วย โดยมีรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนได้เดินทางมาเพื่อแจ้งข้อกล่าวแล้วครั้งหนึ่ง แต่เนื่องจากรุ้งยืนยันจะใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยให้ผู้ไว้วางใจซึ่งเป็นแม่ พี่สาว และแฟน เข้าร่วมฟังการสอบสวน แต่ทางทัณฑสถานหญิงกลางไม่อนุญาต พนักงานสอบสวนจึงต้องเดินทางกลับ

วันนี้พนักงานสอบสวนระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาในคดีว่า ปนัสยาและพรรคพวกชุมนุมมั่วสุมหน้า สภ.คลองหลวงในยามวิกาลก่อนเที่ยงของวันที่ 14 มี.ค. 2564 โดยมีการร่วมกันนําอาหารสัตว์มาโปรยและขว้างใส่เจ้าหน้าที่ตํารวจที่นั่งเรียงแถวปิดทางเข้า สภ.คลองหลวง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปข้างในได้ หลังจากนั้นได้มีการขว้างปาอาหารสุนัขชนิดเม็ดไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อเปรียบเทียบผู้ปฏิบัติหน้าที่ดังเช่นเจ้าหน้าที่ตํารวจเป็นเหมือนสุนัข และพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของสุนัข  รวมทั้งมีการนำสเปรย์มาฉีดพ่นข้อความบนผนัง กำแพง พื้น และกระจกบานเลื่อนบริเวณหน้า สภ.คลองหลวง จนเกิดความเสียหาย 

พนักงานสอบสวนแจ้งอีกว่า จากการกระทำข้างต้น ภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่งที่ปรากฏจากการตรวจสอบของฝ่ายสืบสวนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ปนัสยาได้ร่วมกันขว้างอาหารสุนัขขึ้นไปใส่พระบรมฉายาลักษณ์ ที่อยู่บนป้ายหน้าสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการขว้างปาวัตถุใส่วัตถุซึ่งเป็นทรัพย์สินซึ่งอยู่ในความครอบครองของทางราชการ แต่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นสิ่งซึ่งประชาชนชาวไทยทั่วไปเคารพสักการะ เสมือนหนึ่งแทนพระองค์

พนักงานสอบสวนจึงพิจารณาว่า การกระทำดังกล่าวของปนัสยา เข้าข่ายร่วมกันดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ ซึ่งเป็นการละเมิดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นอกจากนี้ยังได้แจ้งข้อหา ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตเพิ่มเติมอีกข้อหาด้วย 

ในวันนี้ ปนัสยาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และยืนยันว่าจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือในภายหลัง 

ก่อนหน้านี้ในการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาครั้งแรกที่ สภ.คลองหลวง เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2564 พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาปนัสยารวม 6 ข้อหา ได้แก่ มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคท้าย (เป็นหัวหน้าผู้สั่งการ), ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อ, พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ, ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน และทำให้เสียทรัพย์  

สำหรับคดีนี้ มีนักกิจกรรมถูกกล่าวหารวมทั้งสิ้น 12 ราย โดยหนึ่งในนั้นมีศศลักษณ์ (สงวนนามสกุล) เยาวชนอายุ 17 ปีรวมอยู่ด้วย โดยแต่ละคนถูกดำเนินคดีในข้อหาที่แตกต่างกันไป แต่หลักๆ เป็นข้อหา มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อ และดูหมิ่นเจ้าพนักงาน

ยื่นประกัน 'โตโต้' ครั้งที่ 3 ยืนยันไม่มีพฤติการณ์เป็นอั้งยี่ ตามที่ถูกกล่าวหา ศาลนัดไต่สวนก่อนมีคำสั่ง 31 มี.ค. นี้

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2564 เวลา 10.00 น. ทนายความได้เดินทางไปที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก เพื่อยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ นักกิจกรรมแกนนำการ์ดอาสา We Volunteer หรือ WeVo ซึ่งถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2564 บริเวณห้างสรรพสินค้าเมเจอร์รัชโยธิน พร้อมกลุ่มการ์ดและประชาชนรวม 48 ราย ก่อนการชุมนุม #ม็อบ6มีนา ของกลุ่ม  “รีเด็ม” (REDEM) เดินขบวนจากห้าแยกลาดพร้าว ไปหน้าศาลอาญา 

โดยโตโต้เป็นเพียงรายเดียวที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว หลังพนักงานสอบสวนขออำนาจศาลฝากขังเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 64 ในจำนวนทั้งหมด 18 ราย ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาในคืนที่ถูกจับกุมรวม 4 ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, เป็นอั้งยี่ และเป็นซ่องโจร จากเหตุที่ตำรวจอ้างว่าทีมการ์ด WeVo เตรียมที่จะก่อเหตุสร้างความวุ่นวายและทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจในระหว่างการชุมนุมดังกล่าว ขณะที่ผู้ถูกจับกุมที่เหลือทั้งหมดได้รับอนุญาตให้ประกันตัวโดยใช้เงินสดวางเป็นหลักทรัพย์ประกันคนละ 45,000 บาท

ก่อนหน้านี้ โตโต้พร้อม “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก ยังถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรี ซึ่งไม่ตรงกับหมายขังของศาล ที่ออกหมายขังไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อนจะมีการขอให้ไต่สวนย้ายที่คุมขังเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 และศาลมีคำสั่งให้ทั้ง 3 ถูกย้ายไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ ตามหมายขัง ในวันที่ 15 มี.ค. 2564

4 เหตุผลขอปล่อยตัว “โตโต้” ปิยรัฐ

1. ปิยรัฐไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำตามที่ถูกกล่าวหา ตามวันและเวลาที่เกิดเหตุเพียงเดินทางไปรับประทานอาหารที่ห้างเมเจอร์ รัชโยธินเท่านั้น ไม่ได้ไปมั่วสุมหรือชุมนุมกับบุคคลใด ๆ ไม่ได้เข้าไปร่วมชุมนุม ไม่ได้กระทำการใดอันเป็นการซ่องสุมกำลังบุคคลโดยปกปิดวิธีการดำเนินการ ปรากฏตามใบเสร็จค่าอาหารจำนวน 962 บาท โดยรับประทานอาหารเสร็จในเวลา 17.52 น. ขณะที่กำลังจะเดินทางกลับ ได้ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบพยายามเข้ามาควบคุมตัวโดยไม่มีหมายจับ ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ไม่มีหมายค้น และขอตรวจค้นตัว บริเวณลานจอดรถของห้างสรรพสินค้า ซึ่งปิยรัฐได้ให้ความยินยอมแต่โดยดี ขณะถูกจับกุมปิยรัฐมีเพียงตัวเปล่าเท่านั้น ไม่ได้มีกระเป๋าหรือกล่องใส่สิ่งของสัมภาระใด ๆ  ย่อมไม่สามารถมีสิ่งของใด ๆ ไว้ในครอบครองตามที่ถูกกล่าวหาและถูกจับกุมได้   

2. ภาพจากกล้องวงจรปิดระบุว่าเวลาที่กลุ่ม  WeVo จำนวน 27 คนถูกจับกุมนั้น แสดงเวลา 17.43 – 17.45 น. ซึ่งเป็นระยะเวลาช่วงเดียวกันกับที่ปิยรัฐยังอยู่ในห้างเมเจอร์รัชโยธินและกำลังจะจ่ายเงินค่าอาหารไปตามใบเสร็จในข้อ 1 (เวลา 17.52 น.) ปิยรัฐไม่ได้มีพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเป็นความผิดตามที่ถูกกล่าวหา และไม่ได้มีพฤติการณ์คุกคาม ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมืองตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด  

3. ประเด็นที่กล่าวหาว่า ได้มีการตรวจค้นพบสัมภาระของกลุ่มบุคคลต่าง ๆ ข้างต้นซึ่งถูกจับกุมในวันเดียวกันกับผู้ต้องหา และมีผลการตรวจค้นพบวัตถุซึ่งเป็นยุทธภัณฑ์ วัตถุซึ่งอาจจะใช้เป็นอาวุธ และวัตถุซึ่งอาจใช้ก่อความวุ่นวายในการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง จำนวนหลายรายการนั้น ตามสำเนาบันทึกการตรวจยึดของกลางของตน ระบุเพียงแค่ว่าตรวจยึดเสื้อคล้ายเกาะได้เท่านั้น ไม่ใช่เสื้อเกราะ ไม่มีสิ่งของต่าง ๆ ตามที่พนักงานสอบสวนได้บรรยายไว้ในคำร้องขอฝากขังอยู่ในความครอบครองของผู้ต้องหาแต่อย่างใด ส่วนสิ่งของอื่น ๆ ที่อ้างว่าถูกตรวจค้นพบ ผู้ต้องหาก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด  

4. ปิยรัฐเพิ่งเคยถูกดำเนินคดีข้อหาในความผิดฐานอั้งยี่ และความผิดฐานซ่องโจร เป็นครั้งแรก ไม่เคยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในเขตท้องที่สถานีตำรวจอื่นมาก่อน จึงไม่ได้มีพฤติการณ์ลักษณะซ้ำ ๆ ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมืองแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงที่พนักงานสอบสวนกล่าวอ้างมาในคำร้องขอฝากขังจึงน่าจะคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องครบถ้วนประเด็นนี้ หากศาลเห็นสมควรก็ขอให้เรียกพนักงานสอบสวนมาทำการไต่สวนประกอบการใช้ดุลพินิจเพื่อสั่งปล่อยตัวชั่วคราวปิยรัฐ  และสำหรับคดีอื่น ๆ ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในสถานีตำรวจอื่นนั้น ไม่ได้ลักษณะคดีและข้อหาข้อเท็จจริงต่าง ๆ เหมือนกับคดีนี้ เป็นแต่เพียงการแสดงออกและการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น

ทั้งนี้ทนายความยังได้ขอให้ศาลเรียกพนักงานสอบสวนและผู้ต้องหามาไต่สวนเหตุในการคัดค้านการขอปล่อยตัวชั่วคราว ว่ามีมูลเหตุจริงเท็จ เพียงใด เพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจของศาล

ในการยื่นประกันวันนี้ทนายความได้ใช้หลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 100,000 บาท 

ทั้งนี้ ศาลมีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องขอประกันตัวตามที่ฝ่ายผู้ต้องหาขอ โดยกำหนดนัดวันที่ 31 มี.ค. 2564 เวลา 10.00 น.

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net