Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผย ‘ราษฎรอีสาน’ 16 ราย เจอ 3 คดี ชุมนุม #ปล่อยหมู่เฮา - ชักธง ‘ปฏิรูปกษัตริย์’ นักศึกษาชี้ รัฐใช้กฎหมายปิดปาก ตร.สน.สำราญราษฎร์ เข้าแจ้ง ทำให้เสียทรัพย์-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “ไมค์” ในเรือนจำ เหตุสั่งรื้อกระถางต้นไม้ #ม็อบ13กุมภา

 

22 มีนาคม 2564 ที่ สภ.เมืองขอนแก่น นักกิจกรรมภาคอีสาน “ราษฎรโขง ชี มูล” 16 ราย...

โพสต์โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อ วันอังคารที่ 23 มีนาคม  2021

 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2564 ที่ สภ.เมืองขอนแก่น นักกิจกรรมภาคอีสาน “ราษฎรโขง ชี มูล” 16 ราย เข้ารับทราบข้อหาจากกรณีชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองรวม 3 คดี คือ (1) คดีชุมนุมที่สวนเรืองแสงและชุมนุมต่อเนื่องที่หน้า สภ.เมืองขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 (2) คดีชุมนุมที่ สภ.ย่อย มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 และ (3) คดีชักธงปฏิรูปกษัตริย์ที่ตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564

บรรยากาศหน้า สภ.เมืองขอนแก่น มีการติดตั้งลวดหนามบนรั้วด้านหน้าตั้งแต่คืนก่อนหน้า ต่อมาในช่วงเช้า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนพร้อมโล่และกระบองร่วม 300 นาย จากสถานีตำรวจใน จ.ขอนแก่น, กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม วางกำลังอยู่โดยรอบบริเวณ สภ.เมืองขอนแก่น รวมถึงนำแบริเออร์ปิดกั้นเส้นทางเข้า ติดป้าย “พื้นที่ควบคุมสูงสุด” และไม่อนุญาตให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไป สภ. หลังเฟซบุ๊กเพจขอนแก่นพอกันทีประกาศชุมนุม #หมายที่ไหนม็อบที่นั่น เพื่อเชิญชวนประชาชนร่วมสังเกตการณ์และให้กำลังใจกลุ่มผู้ต้องหา รวมถึงจับตาว่าจะมีการฝากขังหรือไม่

ตั้งแต่เวลา 9.30 น. กลุ่ม “ราษฎรโขง ชี มูล” และประชาชนชุมนุมประจัญหน้ากับตำรวจควบคุมฝูงชน ที่เฝ้าทางเข้า สภ.เมืองขอนแก่น “เซฟ” วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในผู้ถูกออกหมายเรียกผู้ต้องหา ได้เผาหมายเรียกของตนทั้ง 3 คดี เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ไม่ยอมรับการใช้กฎหมายปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม วชิรวิทย์ยังให้สัมภาษณ์สื่อกล่าวถึงการนำแบริเออร์และลวดหนามมากั้นด้านหน้า สภ. ว่าเป็นมาตรการที่มากเกินไป ทั้งที่พวกตนเพียงมาตามหมายเรียกของตำรวจเอง

กลุ่มผู้ชุมนุมมีการกล่าวแนะนำตัวผู้ถูกออกหมายเรียกทั้ง 16 คน ซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยมหาสารคามรวม 7 คน ก่อนที่เวลาประมาณ 11.00 น. นักศึกษาและนักกิจกรรมทั้งสิบหก ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และเครือข่ายทนายสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน รวมทั้งผู้ไว้วางใจจะเดินเข้าด้านใน สภ. เพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหา โดยทุกคนต้องถูกตรวจค้นร่างกายและกระเป๋าอย่างเข้มงวด

แจ้ง 4 ข้อหา ‘ราษฎรโขงชีมูล’ ชุมนุมเรียกร้อง “ปล่อยหมู่เฮา” 4 แกนนำราษฎร

คดีแรก กรณีชุมนุมเรียกร้อง “ปล่อยหมู่เฮา” หรือ 4 แกนนำราษฎรที่ไม่ได้รับการประกันตัวในคดีมาตรา 112 พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น บรรยายพฤติการณ์ของผู้ถูกออกหมายเรียกว่า เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 อรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ ได้ร่วมกับวชิรวิทย์ เทศศรีเมือง, ศิวกร นามนวด, ภานุพงษ์ ศรีธนานุวัฒน์, พชร สารธิยากุล, กรชนก แสนประเสริฐ, ธนศักดิ์ โพธิเตมีย์, นิติกร ค้ำชู, เจตน์สฤษฎ์ นามโคตร และอิศเรษฐ์ เจริญคง รวม 10 คน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองในชื่อ “รวมพลราษฎร โขง ชี มูล” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น 

การชุมนุมดังกล่าวเพื่อยืนยันข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 3 ข้อคือ 1.รัฐบาลประยุทธ์ลาออก 2.รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 3.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รวมถึงเรียกร้องให้มีการถอนแจ้งข้อกล่าวหาและถอนฟ้องพริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการเป็นแกนนำกล่าวปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น ก่อนเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่นเดินไปยังสวนสาธารณะประตูเมือง และหน้า สภ.เมืองขอนแก่น ในลักษณะกีดขวางจราจร ไม่แจ้งหน่วยงานที่ควบคุมโรคติดต่อ ไม่แจ้งขออนุญาตการใช้เครื่องขยายเสียง และศิวกร นามนวด ยังได้พ่นสีลงบนพื้นถนนสาธารณะ

นอกจากนี้  ในการจัดกิจกรรมมีผู้เข้าร่วมในลักษณะมั่วสุม หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสและแพร่เชื้อโรคโควิด 19 และผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ได้มีมาตรการป้องกันโรค เช่น จัดให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย จัดให้มีการลงทะเบียนผู้เข้าร่วมชุมนุม มีการสวมหน้ากากอนามัย จัดให้มีการเว้นระยะห่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร หรือจัดให้มีการล้างมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์ เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค

พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหานักศึกษาและนักกิจกรรมทั้ง 10 คน รวม 4 ข้อหา ดังนี้

1.ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะติดต่อสัมผัสกันง่าย ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ (มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)

2.ร่วมกันกระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นเหตุให้โรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 34 (6) (มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท)

3.ร่วมกันเดินแถว เดินเป็นขบวนแห่ หรือเดินขบวนใดๆในลักษณะกีดขวางจราจร ตาม พ.ร.บ.การจราจร มาตรา 108 (มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 500 บาท)

4.ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.การควบคุมโฆษณา มาตรา  4 (มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 200 บาท)

หลังได้รับการแจ้งข้อกล่าวหา ทั้งสิบคนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยบางคนไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา ทั้งนี้ ผู้ต้องหาทั้งสิบประสงค์จะยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายใน 30 วัน หรือภายในวันที่ 21 เมษายน 2564 ขณะที่พนักงานสอบสวนนัดส่งตัวให้อัยการแขวงขอนแก่นในวันที่ 19 เมษายน 2564  

แจ้งอีก 4 ข้อหา ชุมนุมประณามการใช้ความรุนแรงของตำรวจใน #ม็อบ28กุมภา

ส่วนในคดีการชุมนุมวันที่ 1 มีนาคม 2564 ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมเดินเท้าไป สภ.ย่อย มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อประณามตำรวจที่ใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุม #ม็อบ28กุมภา หน้ากรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ พนักงานสอบสวนบรรยายพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่า วันเกิดเหตุ วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง, วิศัลยา งามนา, ศิวกร นามนวด, อิศเรษฐ์ เจริญคง, ศรายุทธ นาคมณี, พชร สารธิยากุล, จตุพร แซ่อึง, ธนศักดิ์ โพธิเตมีย์ และวีรภัทร ศิริสุนทร รวม 9 คน ได้ร่วมจัดกิจกรรมชุมนุมทางการเมืองในชื่อ “ผู้พิทักษ์ทรราช ผู้พิฆาตประชาชน” ที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาคอมเพล็กซ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน โดยมีการผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัย 

จากนั้นได้พากันเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุม จากหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ไปตามถนนในมหาวิทยาลัยขอนแก่น จนถึงสถานีตำรวจภูธรย่อย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในลักษณะกีดขวางจราจร ไม่ได้แจ้งหน่วยงานที่ควบคุมโรคติดต่อ ไม่ได้แจ้งขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง ในการจัดกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะมั่วสุม หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสและแพร่เชื้อไวรัสโควิด 19 และผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ได้มีมาตรการป้องกันโรค

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหานักกิจกรรมทั้งเก้ารวม 4 ข้อหาเช่นเดียวกับคดีแรก ทั้ง 9 คน ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายใน 30 วัน โดยบางคนปฏิเสธไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา และเขียนข้อเรียกร้องแทน เช่น “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนนัดส่งตัวให้อัยการแขวงขอนแก่นในวันที่ 19 เมษายน 2564 

เซฟ ‘ขอนแก่นพอกันที’ เจออีก 2 ข้อหา ชักธงปฏิรูปกษัตริย์

นอกจากนี้ วชิรวิทย์ หรือเซฟ ยังถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีที่ 3 ร่วมกับเพื่อนนักศึกษาอีก 2 คน คือ ชัยธวัช รามมะเริง และเชษฐา กลิ่นดี จากกิจกรรมชักธง “ปฏิรูปกษัตริย์” ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยพนักงานสอบสวนบรรยายพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564  วชิรวิทย์ กับพวก ได้นำธงผ้าพื้นสีแดง ขนาดความยาว 1.5 เมตร ความกว้าง 1 เมตร ซึ่งประดิษฐ์เองและเขียนข้อความด้วยสีน้ำสีขาวว่า “ปฏิรูปกษัตริย์” เข้ามาร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองในชื่อเรียก “ปล่อยเพื่อนเรา ยกเลิก 112” ที่บริเวณลานอเนกประสงค์ ริมบึงสีฐาน ฝั่งทิศตะวันออก ต่อมาเวลา 18.30 น. วชิรวิทย์ได้นำธงผ้าพื้นสีแดงนั้น ไปที่เสาธงซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าตึกอธิการบดี อาคาร 1 (หลังเก่า) ซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่มีการจัดกิจกรรมประมาณ 3 กิโลเมตร 

ตร.สน.สำราญราษฎร์ เข้าแจ้ง ทำให้เสียทรัพย์-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “ไมค์” ในเรือนจำ เหตุสั่งรื้อกระถางต้นไม้ #ม็อบ13กุมภา

 

ตร.สน. สำราญราษฏร์ เข้าแจ้ง ทำให้เสียทรัพย์-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “ไมค์” ในเรือนจำ เหตุสั่งรื้อกระถางต้นไม้ #ม็อบ13กุมภา...

โพสต์โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อ วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม  2021

 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ วันที่ 19 มี.ค. 2564 เวลา 10.00  น. ร.ต.ท.รณกร วัฒนกุล รอง สว.(สอบสวน) สถานีตำรวจนครบาลสําราญราษฏร์ ได้เดินทางเข้าแจ้งข้อกล่าวหา ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 “ทำให้เสียทรัพย์” และข้อหาอื่น ๆ อีก 5 ข้อหา จากกรณี #ม็อบ13กุมภา หรือ #นับ1ถึงล้านคืนอำนาจให้ประชาชน ซึ่งจัดบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2564 

คดีนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 9 ราย ได้แก่ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์, “ตี้-พะเยา” วรรณวลี ธรรมสัตยา, “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, ชนินทร์ วงษ์ศรี นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, “แหวน”​ ณัฏฐธิดา มีวังปลา, ธนาธร วิทยเบญจางค์ นักศีกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

โดยอรรถพล, วรรณวลี, ณวรรษ, ชนินทร์, เกียรติชัย, ณัฏฐธิดา และธนาธร ได้เดินทางไปรับทราบข้อหาแล้วเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2564 ปนัสยาเดินทางไปรับทราบข้อหาในวันที่ 7 มี.ค. 2564 ส่วนภาณุพงศ์ยื่นหนังสือต่อพนักงานสอบสวน ขอเลื่อนนัดรับทราบข้อหาเป็นวันที่ 10 มี.ค. แต่ภายหลังถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างพิจารณาคดี ในคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2564 ทำให้ไม่สามารถไปรับทราบข้อกล่าวหาได้ตามนัดหมาย

ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาได้อธิบายพฤติการณ์ของคดีไว้ว่า ภาณุพงศ์ (ผู้ต้องหาที่ 1) ได้เข้าร่วมการชุมนุม และมีการขึ้นปราศรัย โดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต  กลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการนำผ้าแดงขนาดใหญ่ลงไปปูพื้นถนนผิวการจราจร เพื่อร่วมกันเขียนข้อความ และกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากลงไปทำกิจกรรมบนถนน มีการปิดเส้นทางการจราจรโดยไม่รับอนุญาต

นอกจากนี้ผู้ต้องหายังได้ร่วมกันปราศรัยและสั่งให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปรื้อกระถางต้นไม้ที่วางประดับอยู่รอบๆ ฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งปนัสยา และกลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้าไปรื้อกระถางต้นไม้ที่วางประดับอยู่รอบ ๆ ฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่อยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานครได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 5,968,000 บาท

สำหรับข้อหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งต่อภาณุพงศ์มีทั้งหมด 6 ข้อกล่าวหา ได้แก่

1. ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

2. ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย ชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6) กระทำการหรือดำเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ โทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

4. ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวางหรือทอดทิ้งสิ่งของ หรือโดยกระทำด้วยประการอื่นใด โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

5. พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 39 ร่วมกันติดตั้ง ตาก วาง หรือแขวนสิ่งใด ๆ ในที่สาธารณะโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ โทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

6. พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ มาตรา 4 ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โทษปรับไม่เกิน 200 บาท

เบื้องต้นภาณุพงศ์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และปฏิเสธจะลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา โดยจะส่งคำให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายใน 30 วัน

ปัจจุบัน ภาณุพงศ์ยังคงถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 15 วันแล้ว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net