Skip to main content
sharethis

กรณีรัฐประหารพม่าที่นำไปสู่การปราบปรามอย่างนองเลือด จนประชาชนพม่าเรียกร้องให้สหประชาชาติแทรกแซงตามหลักการ R2P หรือความรับผิดชอบเพื่อปกป้องนั้น ด้านผู้เชี่ยวชาญชี้ควรใช้ R2P เพื่อห้ามค้าอาวุธและคว่ำบาตรแบบเจาะจงต่อนายพลพม่า

การเดินประท้วงต้านรัฐประหารเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 ที่เมืองทวาย ประเทศเมียนมา ภาพโดย Khit Thit Media 

การเดินประท้วงต้านรัฐประหารเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 ที่เมืองทวาย ประเทศเมียนมา ภาพโดย Khit Thit Media

ช่วงที่ผ่านมาผู้ประท้วงในพม่ามีการเรียกร้องให้สหประชาชาติ หรือยูเอ็น ดำเนินมาตรการบางอย่างเพื่อแทรกแซงกิจการภายใน ซึ่งบางคนหมายรวมถึงการใช้กองกำลังทหารจากต่างชาติเข้ามาในพม่า เพื่อหยุดยั้งการยึดอำนาจของกองทัพ 

ตัวอย่างที่เด่นชัดปรากฏอยู่ในสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กยอดนิยมอย่าง ‘เฟซบุ๊ก’ โดยผู้ประท้วงต่อต้านกองทัพมักจะโพสต์บรรยายสถานการณ์การประท้วงในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หรือพม่า พร้อมติดแฮชแท็กว่า “How many dead Bodies need For UN to take action” อย่างไรก็ตาม คริส ซิโดติ อดีตสมาชิกคณะสอบสวนข้อเท็จจริงอิสระกรณีเมียนมา ระบุว่าต่างชาติไม่ควรใช้ ‘หลักการรับผิดชอบเพื่อการคุ้มครอง’ (R2P) เพื่อดำเนินมาตรการทางทหาร แทรกแซงกิจการในประเทศพม่า

“สหประชาชาติ หรือยูเอ็น ควรใส่ใจต่อเสียงเรียกร้องจากชาวเมียนมา ที่ขอให้ยูเอ็นดำเนินมาตรการ ‘หลักการรับผิดชอบเพื่อการคุ้มครอง’ หรือ Respossiblity to protect เรียกย่อ ๆ ว่า R2P แต่ไม่ และไม่ควรมีการแทรกแซงด้วยมาตรการทางทหาร” ซิโดติ กล่าว

คริส ซิโดติ อดีตสมาชิกคณะสอบสวนข้อเท็จจริงอิสระกรณีพม่า (independent UN fact-finding mission on Myanmar) ระบุว่า หลักการที่รู้จักกันในชื่อ R2P นี้ ควรถูกใช้เพื่อสนับสนุนมาตรการต้านเผด็จการกองทัพพม่า เช่น ห้ามประชาคมโลกค้าอาวุธให้เมียนมา คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแบบเฉพาะเจาะจง (Targeted Sanction) และมีการจับตาดูการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมาอย่างใกล้ชิด    

อย่างไรก็ตาม ซิโดติ ย้ำเตือนว่า นับตั้งแต่ที่กองทัพยึดอำนาจจากพลเรือนเมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา มีชาวเมียนมาบางรายวิงวอนให้นานาชาติดำเนินมาตรการ R2P ในรูปแบบการใช้กำลังทหารแทรกแซง เพื่อเข้าช่วยเหลือปกป้องพลเรือนในพม่า โดยเฉพาะผู้ประท้วงที่ถูกสลายการชุมนุมด้วยอาวุธของทหารและตำรวจ

“ชาวเมียนมาเรียกร้องให้ดำเนินมาตรการ R2P ใช้กำลังทหารแทรกแซงหรือไม่ ถ้าอย่างนั้น เขาต้องรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมาก” ซิโดติ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Myanmar Now ‘มันจะไม่เกิดขึ้น มันไม่เกิดขึ้นในปี 2017 ที่ชาวโรฮิงญาถูกไล่ล่า ขับไล่ ข่มขืน และถูกฆ่า และผมก็ไม่เห็นว่าจะมีการตัดสินใจเข้ามาแทรกแซงอย่างไรในขณะนี้’ 

“อย่างไรก็ตาม ผมไม่อยากเห็นเมียนมากลายเป็นแบบประเทศอัฟกานิสถาน และอิรัก” ซิโดติ กล่าวเพิ่ม

ซิโดติ ขณะนี้เป็นหนึ่งในสามสมาชิกสภาที่ปรึกษาพิเศษกรณีพม่า ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระที่มีภารกิจที่สำคัญ คือ การจัดเตรียมความช่วยเหลือจากนานาชาติให้กับการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย

ขณะที่สมาชิกอีกสองคน คือ ยังฮีลี อดีตผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติต่อกรณีพม่า และดาร์ซึกิ ดารัสมัน ทนายความอินโดนีเซีย อดีตสมาชิกคณะสอบสวนข้อเท็จจริงอิสระกรณีพม่า เช่นเดียวกับซิโดติ 

การสลายการชุมนุมที่ตองจี รัฐฉาน เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2564 ภาพโดย Tachilek News Agency
การสลายการชุมนุมที่ตองจี รัฐฉาน เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2564 ภาพโดย Tachilek News Agency
 

R2P เป็นมาตรการที่ถูกร่างขึ้นมา เพื่อตอบสนองกับความโหดร้ายที่เคยเกิดขึ้นในประเทศรวันดา และอดีตประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา) ในช่วงทศวรรษ 1990 และสหประชาชาติได้ออกเอกสารรับรองในการประชุมระดับโลกขององค์กรสหประชาชาติ (UN World Summit) เมื่อปี ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548)

R2P ถูกใช้โดยสมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในปฏิบัติการโจมตีทางอากาศเข้าถล่มเป้าหมายที่ประเทศลิเบียเมื่อปี ค.ศ.2011 จากเหตุการณ์คราวนั้นได้ทำให้เกิดข้อถกเถียงขึ้น เนื่องจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน วิจารณ์ว่าการโจมตีดังกล่าวทำให้พลเรือนเสียชีวิต และอาจมีการโจมตีสถานที่ที่ไม่ใช่เป้าหมายทางการทหาร

กลับมาที่สถานการณ์ในพม่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ประท้วงพยายามเรียกร้องให้ยูเอ็นทำอะไรบางอย่างเพื่อหยุดยั้งกองทัพพม่า โดยพวกเขาคิดสโลแกนเป็นประโยคว่า ‘ต้องมีผู้เสียชีวิตอีกกี่คน’ ยูเอ็นถึงจะเข้ามาช่วย 

แต่ในข้อความก็ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า มาตรการ (Action) รูปแบบไหนกันแน่ที่พวกเขาคาดหวัง อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์การสถานการณ์ทางการเมือง เตือนผู้ประท้วงว่า อาจจะเป็นการสิ้นเปลืองเวลา และพลังงาน เพื่อเรียกร้องให้มีการแทรกแซง จากนานาชาติ ซึ่งไม่สามารถทำได้ และจะไม่ทำ

เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ ร่วมด้วยชาติอื่น ๆ อย่าง สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร เรียกร้องให้กองทัพพม่าต้องรับผิดชอบกับอาชญากรรมที่ได้ก่อขึ้น แต่ก็ไม่ได้การกำหนดว่าจะทำให้กองทัพรับผิดยังไง มีเพียงแต่การประณามเท่านั้น 

“ความเข้าใจผิดถึงมาตรการอันใกล้นี้ทำให้ผู้เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยหลายคนเชื่อว่าอาจมีการแทรกแซงที่สำคัญเกิดขึ้นในเร็ววัน ป้ายการประท้วงช่วงที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และชาติอื่น ๆ ยื่นมือเข้ามาแทรกแซง ซึ่งรวมถึงการใช้กำลังทหารบุกเข้ามา” กาเบรียล เอรอน นักวิเคราะห์ และฟรานซิส เวด ผู้สื่อข่าว เขียนบทความลงในสำนักข่าว เดอะ การ์เดียน (The Guardian)   

“องค์กรภาคประชาสังคมในเมียนมาร่วมมือกันส่งเสียงเรียกร้องให้สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติส่งกองกำลังเข้ามาแทรกกิจการภายในของประเทศเมียนมา” เอรอน และเวด กล่าวเพิ่ม 

เอรอน และเวด ระบุว่า ถ้ามองในแง่ยุทธวิธี บางคนเลือกที่จะเรียกร้องให้ประชาคมโลกดำเนินหลักการ R2P เพื่อขยายเพดานเรียกร้องความสนใจจากนานาชาติมากขึ้น แต่หากบางคนศรัทธาในมหาอำนาจตะวันตกว่าพวกเขาจะเข้ามาแทรกแซง อาจต้องผิดหวังแน่นอน  

“บางคนพยายามส่งเสียง เพื่อเรียกร้องความสนใจจากนานาชาติให้มากขึ้น แต่ก็ยังมีคนที่ศรัทธาต่อมหาอำนาจตะวันตกอย่างไม่ลืมหูลืมตา ซึ่งคนเหล่านี้มองไม่เห็นข้อเท็จจริงที่น่าอึดอัดใจของประเทศเสรีนิยม คือประเทศเหล่านี้มักใช้วาทศิลป์คำใหญ่คำโต เป็นเครื่องมือปกปิดว่า พวกเขาเหล่านี้จะไม่ดำเนินการอะไรต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น” เอรอน และเวด ระบุ

ซิโดติ กล่าวว่า การเรียกร้องมาตรการ R2P เป็นการเรียกร้องในเชิงสัญลักษณ์มากกว่าในทางปฏิบัติ และการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแบบเจาะจง การห้ามค้าขาย และการจับตาดูสถานการณ์ความรุนแรงเหล่านี้สามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องผ่านหลักการ R2P 

แม้ซิโดชิ จะมองว่าไม่ควรใช้มาตรการทางทหารเข้าแทรกแซงกิจการภายในของพม่าก็ตาม แต่เขาเห็นด้วยว่า การเรียกร้องให้ยูเอ็นดำเนินมาตรการ R2P ถือเป็นยุทธวิธีที่ดี และมีประสิทธิภาพ เพราะต่อให้ยูเอ็นจะไม่ได้ใช้หลัก R2P ก็ตาม แต่การเรียกร้องอาจทำให้เกิดมาตรการอื่น ๆ เพื่อต่อต้านเผด็จการทหารพม่าตามมาได้ 

“แต่ไม่ว่ายังไงก็ตาม R2P ทำให้เกิดการดำเนินมาตรการอื่น ๆ ตามมาได้ ดังนั้น การเรียกร้องให้มีการใช้ R2P ยังเป็นวิธีที่มีประโยชน์และมีประสิทธิภาพ” ซิโดชิ กล่าว “แค่อย่าคาดหวังว่าจะมีหมวกทหารสีน้ำเงิน (กองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ) หรือหมวกทหารสีเขียว (กองกำลังจาก NATO จะสวมหมวกสีเขียว) หรือหมวกทหารจากชาติอื่น ๆ ว่าจะมาปรากฏตัวบนถนนนครย่างกุ้งในช่วงเวลาอันใกล้นี้” ซิโดติ ทิ้งท้าย 

 

อะไรคือ R2P หรือ Responsibility to Protect 

หลักการความรับผิดชอบในการปกป้อง (R2P) ได้รับการรับรองจากสหประชาชาติครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2548 ในการประชุมระดับโลกของยูเอ็น คือ รัฐที่มีอำนาจอธิปไตยต้องมีความรับผิดชอบในการปกป้องประชาชนภายในรัฐ ให้พ้นจากอาชญากรรมร้ายแรง 4 ประเภท คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมสงคราม การกำจัดชาติพันธุ์ และอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ แต่หากรัฐใดไม่สามารถหรือล้มเหลวในการปกป้องประชากรภายในรัฐ องค์การระหว่างประเทศทั้งสหประชาชาติ และองค์การระดับภูมิภาค สามารถเข้าไปแทรกแซงเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้ 

เหตุการณ์ที่มีการใช้หลักการ R2P เพื่อปกป้องประชาชน คือเหตุการณ์ความขัดแย้งที่ลิเบีย เมื่อปี 2011 โดยขณะนั้น รัฐบาลนำโดยมูอัมมาร์ กัดดาฟี ให้ตำรวจและทหารใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ต่อต้านรัฐบาล ผลจากเหตุการณ์นั้น ทำให้ชาวลิเบียเสียชีวิตกว่า 500-700 ราย หลังจากรัฐบาลลิเบียใช้กองกำลังทหาร และรถถัง จัดการประชาชนลิเบียและกลุ่มกบฏที่ล้อมเมืองต่าง ๆ เช่น เบนกาซี มิสราตา และที่อื่น ๆ

คราวนั้น สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีการนำหลักการ R2P มาใช้ เพื่อปกป้องประชาชนลิเบีย และเป็นผลให้ต่อมา มีปฏิบัติการโจมตีทางอากาศเป้าหมายทางทหารของกองทัพลิเบีย ที่มีท่าทีคุกคามสวัสดิภาพของประชาชน สุดท้าย หลังจากการต่อสู้อย่างหนักหน่วงหลายเดือน รัฐบาลของกัดดาฟีก็ถูกโค่นลง และกลุ่มกบฎสามารถยึดเมืองทริโปลีได้        

 

แปลและเรียบเรียงจาก 

UN should invoke R2P to support arms embargo, sanctions against military - expert

https://www.globalr2p.org/countries/libya/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net