Skip to main content
sharethis

‘เบญจา พรรคก้าวไกล’ ซักฟอก ‘พล.อ.ประยุทธ์’ เอื้อนายทุนไม่ลืมหูลืมตา จนคนไทยจ่ายค่าไฟแพงกว่าสิงคโปร์

18 ก.พ.2564 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดยเป็นการอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องจากในฐานะที่ดูแลนโยบายด้านพลังงาน และรัฐวิสาหกิจ เปิดโอกาสให้เอกชนรายหนึ่งได้ประโยชน์มากมายมหาศาลจากนโยบายพลังงานและสัมปทานจากภาครัฐ ท่ามกลางสภาวะที่ประชาชนทั้งประเทศดำรงชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก สภาพเศรษฐกิจดิ่งเหว ในภาวะเช่นนี้พลเอกประยุทธ์กลับใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ไปเอื้อคนรวยแทนที่จะนำมาดูแลคนจน กอบโกยผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง

เบญจา กล่าวว่า ไฟฟ้าที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้ผลิตโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเพียงเจ้าเดียว แต่ซื้อไฟฟ้าจากเอกชนอีกหลายเจ้า โดยที่เราต้องรับซื้อผ่านการให้สัมปทานโรงไฟฟ้า ซึ่งก็ดูเหมือนจะดี จะได้มีไฟฟ้าพอใช้ ไม่มีไฟดับ หรือไฟตก แต่การให้สัมปทานโรงไฟฟ้าของ พล.อ.ประยุทธ์ กลับถูกบิดเบือน เพื่อให้เอกชนที่รับสัมปทาน ได้กำไรมหาศาล สัมปทานที่เอื้อประโยชน์ให้เอกชนมากจนเกินปกติเช่นนี้ ทำให้เรามีโรงไฟฟ้ามากจนเกินไป  และทำให้เรามีกำลังการผลิตไฟฟ้าล้นเกินไปอย่างมากอีกด้วย

เบญจา เผยด้วยว่า ปัจจุบันอัตรากำลังไฟฟ้าสำรองของประเทศไทยล้นเกินเป็นอย่างมาก และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557 จนขึ้นมาอยู่ที่เกือบ 60% ในปี 2563 ทั้งที่อัตราที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณ 15% เท่านั้น เรื่องนี้ไม่ต้องอ้างว่าเป็นเพราะโควิด  เพราะกำลังการผลิตมันล้นเกินมาตั้งแต่ก่อนช่วงโควิดแล้วด้วยซ้ำ แล้วซ้ำร้ายปัญหานี้ก็ยังจะคงอยู่ไปจนถึงปี 2570 ขึ้นไป ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีการให้สัมปทานโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดูผ่านๆ ก็จะคิดว่าเป็นเพราะแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ PDP คาดการณ์การใช้ไฟฟ้าผิดพลาดไปมากเกินไป ไร้ประสิทธิภาพ ผิดพลาดล้มเหลว แต่แท้จริงแล้ว PDP ของพลเอกประยุทธ์เป็นแผนที่มีการปรับบ่อยมาก ปกติ PDP จะใช้แผนละ 5 ปี แต่หลังจากการรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ ก็ทำการเปลี่ยนไปแล้ว 3 แผน จนอดคิดไม่ได้ว่าแก้แผนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนพลังงานหรือไม่  นายทุนอยากได้เพิ่มก็เลยเติมโรงไฟฟ้าใหม่เข้ามาให้ ใช่หรือไม่ สุดท้ายมีกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่มได้สร้างอาณาจักร ขยายฐานธุรกิจ โหมสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เกินจำเป็น ทำให้เรามีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ล้นเกิน ผลิตไฟมากเกินกว่าที่จำเป็น

“ต้นทุนการผลิตไฟที่เกินความจำเป็นแบบนี้ทำให้ประชาชนต้องแบกรับค่าไฟฟ้าที่สูงมากขึ้นทุกปีที่เป็นแบบนั้นก็เพราะว่า พล.อ.ประยุทธ์แจกสัมปทานโรงไฟฟ้าให้กับเอกชนรายใหญ่ หรือ โรงไฟฟ้า IPP มากจนเกินไป นานเกินไป และก็แพงจนเกินไปด้วย ที่บอกว่ามากเกินไปก็ได้พูดไปแล้วว่าเรามีกำลังไฟฟ้าสำรองล้นเกินไปอย่างไรบ้าง ส่วนประเด็นว่านานเกินไป นั่นก็เพราะว่าสัมปทานที่ให้นั้นมันยาวถึง 25 ปี ทั้งๆ ที่ธุรกิจโรงไฟฟ้าพวกนี้สามารถคืนทุนได้ในระยะเวลาเพียงแค่ 7 ปีเท่านั้น”นางสาวเบญจา ระบุ

ส่วนประเด็นที่บอกว่าแพงเกินไปนั้น เบญจา กล่าวว่า เวลาที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน จะต้องจ่ายเงิน 2 ก้อน 1.จ่ายตามจำนวนหน่วยที่ซื้อ หรือค่า EP ซื้อเยอะก็ต้องจ่ายเยอะ ถ้าซื้อน้อยก็จ่ายน้อย

แต่ ก้อนที่ 2 เรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่าค่าความพร้อมจ่าย หรือค่า AP ซึ่งคือรายจ่ายของการไฟฟ้าที่ให้กับเอกชนคู่สัญญาจะคงที่ทุกปี ไม่ว่าจะซื้อไฟหรือไม่ซื้อไฟก็ตาม คือซื้อหรือไม่ซื้อก็ต้องจ่าย และสุดท้ายมันก็กลายมาเป็นต้นทุนที่ประชาชนทั้งประเทศต้องมาร่วมกันแบกค่าไฟฟ้าที่มันสูงจนเกินจริง

เบญจา ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ว่าเราต้องจ่ายเพื่อให้โรงไฟฟ้ามีความพร้อมที่จะจ่ายไฟอยู่ตลอดเวลา และประเทศอื่นๆก็ทำกัน แต่สำหรับประเทศไทยค่า AP ที่จะต้องจ่าย ทางโรงไฟฟ้าเหมือนได้เงินลงทุนคืนทั้งหมดพร้อมผลตอบแทน อีก 20% เพราะได้รวมค่าก่อสร้าง ค่าบำรุงรักษา ค่าดอกเบี้ย แล้วก็บวกกำไรให้ด้วย แถมภาษีก็ไม่ต้องจ่าย เพราะว่าได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นว่าผลประโยชน์เป็นอย่างไร โดยดูได้จาก เอกสารสัญญาผลิตไฟฟ้าของบริษัทเอกชนเจ้าหนึ่งที่ทำไว้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่ยกขึ้นมาแสดง โดยตามสัญญาได้ระบุไว้ว่า นายทุนพลังงานผู้เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าขนาดห้าร้อยกว่าเมกะวัตต์นี้ จะได้รับการการันตีค่า AP ต่อปีสูงถึงหลักพันล้านบาท ไม่ว่าโรงไฟฟ้าแห่งนี้ จะผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ หรือ 500 เมกะวัตต์ ก็ตาม

“ท่านประธานคะอย่างนี้ธุรกิจคนขายไฟ นี่รวยฟ้าแลบเลยนะคะ มิน่าล่ะคะ ทำไมนายทุนโรงไฟฟ้าถึงได้รวยอื้อซ่า จนกลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของประเทศนี้ อีกทั้ง ทุกครั้งที่รัฐบาลอนุมัติให้มีโรงไฟฟ้า นั่นหมายความว่ากำลังตอกเสาเข็มโรงไฟฟ้าขยี้ลงไปลงบนหัวใจและคราบน้ำตาของพี่น้องประชาชนค่ะ   และนี่ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยของเราห้ามพัฒนา และไม่เดินหน้าไปไหน เพราะไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องใช้กระแสไฟฟ้าจำนวนมาก ในการผลิต เข้ามาลงทุนในประเทศได้อีกด้วย นอกจากนี้ การที่พี่น้องประชาชนต้องแบกรับค่าไฟฟ้าที่สูงมากขนาดนี้  ดิฉันเชื่อเหลือเกินว่าพลเอกประยุทธ์ไม่ทราบ ถึงจะทราบท่านก็ทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน เพราะทุกวันนี้ท่านอาศัยบ้านหลวงอยู่มาเกือบตลอดชีวิต ค่าน้ำค่าไฟก็มีสวัสดิการดีๆ จากภาษีประชาชนควักกระเป๋าจ่ายให้ท่านอยู่แล้ว” เบญจา กล่าว

เบญจา กล่าวต่อไปว่า ความจริงแล้วประชาชนสามารถเสียค่าไฟฟ้าได้ถูกกว่านี้ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ร่วมมือกับนายทุนพลังงาน จนเรามีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นมาเกินความจำเป็นไปอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบค่าไฟฟ้าของประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ พบว่า ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนและเป็นฐานการผลิตให้กับประเทศอื่นๆ มาลงทุนเช่นเดียวกับประเทศไทย แต่ประเทศเหล่านั้นกลับมีค่าไฟฟ้าถูกกว่าเรามาก โดยประเทศอินโดนีเซียมีค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 3 บาท 74 สตางค์ ประเทศเวียดนามมีค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 3 บาท 40 สตางค์ และประเทศมาเลเซียใกล้ๆ ประเทศของเรามีค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 1 บาท 96 สตางค์  แต่พวกเราคนไทยต้องแบกรับค่าไฟฟ้าราคาหน่วยละประมาณ 3 บาท 80 สตางค์ แพงกว่าทุกประเทศที่กล่าวมาทั้งหมด

เบญจา ยังกล่าวด้วยว่า ทุนพลังงานกลุ่มใหญ่ในปัจจุบันคือ บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ เพราะในช่วงไม่กี่ปีมานี้ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้บริษัทกัลฟ์สามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดจนขึ้นไปมีส่วนแบ่งการตลาดจาก 7% ขยับไปที่ 20% เป็นยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ในกลุ่มทุนพลังงาน ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 8  ปี เท่านั้น เป็นการเติบโตขึ้นมาด้วยการพึ่งพิงการสนับสนุนของรัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ไม่ได้มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อไปใช้แข่งขันในตลาด เป็นเพียงธุรกิจที่ต้องหาหนทางช่วงชิงสัมปทาน การที่จะเปิดให้เกิดการขอสัมปทานได้นั้น ต้องขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายของภาครัฐทั้งสิ้น

เบญจา กล่าวว่า ที่ผ่านมาการดำเนินนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ก็มีข้อกังขาในการเอื้อกลุ่มทุนมากมาย อาทิ กรณีประมูลโรงไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์ที่มีข้อกังขาในการประมูลอยู่รวมทั้งไม่ได้ดำเนินการให้มีการตรวจสอบต่อ และในกรณีของโรงไฟฟ้าหินกองที่มีการยกผลประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนโดยไม่มีการประมูล กลุ่มทุนก็ได้สะสมความมั่งคั่งจากธุรกิจพลังงานและไปรับสัมปทานภาครัฐในธุรกิจอื่นๆ ด้วยไม่ว่าจะเป็นโครงการยักษ์ใหญ่ EEC ถมทะเลพันไร่ มาบตาพุด เฟส 3 มูลค่าโครงการ 47,900 ล้านบาท และไม่ว่าจะเป็นงานติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงิน (O&M) ค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ 2 สาย อย่างสาย บางปะอิน-โคราช และ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่เพิ่งปิดดีลไปแล้ว 4 หมื่นล้านบาท หรือการประมูลที่โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นโครงการเรือธงของ EEC ที่ชนะเพราะคู่แข่งถูกตัดสิทธิเพียงเพราะ จากการเซ็นชื่อลงในเอกสารไม่ตรงช่อง ยิ่งเมื่อปรากฏตามข่าวว่าข้อเสนอของกลุ่มกัลฟ์นั้นจะให้ประโยชน์กับรัฐเพียง 12,000 ล้านบาท ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งเสนอให้ผลประโยชน์แก่รัฐสูงถึง 27,360 ล้านบาท ชวนให้ตั้งข้อสงสัยว่าที่ตัดสิทธิ์อีกกลุ่มหนึ่งเนื่องจากเซ็นชื่อไม่ตรงช่องนั้น เป็นเพราะการเซ็นชื่อไม่ตรงช่องมันมีปัญหาในทางกฎหมาย หรือเอาเข้าจริงเป็นเพราะต้องการให้เหลือผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว

นอกจากนี้ เบญจา ยังระบุด้วยว่า ในกรณีที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้ทำการยกโรงไฟฟ้าหินกอง 2 ชุดไปนั้น มีกำลังการผลิตชุดละ 700 เมกะวัตต์ รวมทั้งสิ้น 1,400 เมกะวัตต์ให้กับบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยไม่ต้องเปิดให้มีการประมูล เมื่อช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มทุนมีการตั้งบริษัท หินกองเพาเวอร์ จำกัด ขึ้นมาเพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้า บริษัทดังกล่าวถือหุ้น 100% โดยบริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งถือหุ้นโดยบริษัท ราช กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทแม่จำนวน 51% ส่วนหุ้นอีก 49% ถือครองโดยบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ด้วย

เบญจา ยังได้อภิปรายทิ้งท้ายด้วยว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ เอื้อกลุ่มทุนจนประเทศชาติและประชาชนเกิดความเสียหายไปนั้น เป็นเพราะ 1.ไม่รู้เรื่องอะไรเลย เป็นเพียงหุ่นเชิดนั่งหัวโต๊ะที่ไม่มีความรู้ความสามารถ ไม่มีวิสัยทัศน์ ใครกระซิบบอกให้พูดอะไร เซ็นอะไรก็ทำตามทั้งหมดหรือไม่หรือ 2. เป็นเพราะว่าคนใกล้ชิดได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการที่ดำเนินนโยบายเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน กลุ่มนี้กันแน่ หรือ 3. ไม่มีความกล้าหาญในการลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชาที่บกพร่อง ผิดพลาด หรือตัวพลเอกประยุทธ์เองมีส่วนรู้เห็นในการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน และ 4.หรือว่าพลเอกประยุทธ์ ไม่มีเจตจำนงในการแก้ไขสิ่งที่ผิดให้กลับมาถูกต้อง ไม่เข้าใจถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ทั้งหมดที่ทำลงไปก็เพียงแต่เพื่อรักษาเก้าอี้ให้ตัวเองยังอยู่ในอำนาจได้เท่านั้น อาจเป็นเหตุผลใดเหตุผลหนึ่งหรืออาจเป็นทั้ง 4 เหตุผลรวมกันก็ได้ ที่ทำให้พลเอกประยุทธ์เลือกที่จะอุ้มชูกลุ่มทุนพลังงาน แทนที่จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุที่เห็นว่าพล.อ.ประยุทธ์ ไม่สมควรอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศนี้อีกต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net