Skip to main content
sharethis

‘อมรัตน์’ แนะนายกฯ เอาเวลาไปหาหลักฐานแก้ข้อกล่าวหาในการอภิปรายดีกว่า หลังแรมโบ้อีสานแจ้งความเอาผิดตนเองด้วย ม.112 อ้างใช้ถ้อยคำเลียนแบบเบื้องสูง ขณะที่ 'พิธา' เย้ย 'ประยุทธ์' พร้อมส่งทีมกฎหมายสู้ทุกกรณี ยันฝ่ายค้านอภิปรายปกป้องผลประโยชน์ประชาชนอย่างมีวุฒิภาวะ และยึดข้อบังคับสภาตามรัฐธรรมนูญ

18 ก.พ.2564 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า ที่อาคารรัฐสภา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงภาพรวมการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลก่อนเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลวันที่ 3 ว่า ในภาพรวมขอยืนยันถึงความเข้มข้นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจซึ่งเป็นไปอย่างมีวุฒิภาวะในการหาหลักฐานและเหตุผลมาอภิปรายตามญัตติที่เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ยึดตามข้อบังคับการประชุม และตามรัฐธรรมนูญ โดยพรรคก้าวไกลขอให้กำลังใจผู้อภิปรายของพรรคร่วมฝ่ายค้านทุกคนให้มีสมาธิ อย่าหวั่นไหวต่อการประท้วงและการเสียดสี 

ที่ผ่านมา ส.ส. ของพรรคก้าวไกลสาทำได้ดี อย่างกรณี วิโรจน์ ลักขณาอดิศร  ที่แม้จะถูกยั่วยุเสียดสีจาก ส.ส.รัฐบาล ลามไปถึงเรื่องส่วนตัว หรือมีการกล่าวหาป้ายสีระหว่างการอภิปราย แต่จะเห็นได้ว่า วิโรจน์ ไม่ได้ตอบโต้แต่อย่างใด ยังคงทำหน้าที่อภิปรายตามเนื้อหาโดยยึดผลประโยชน์ชาติและประชาชนเป็นหลัก 

“ในอีกมุม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาจตอบไม่ตรงคำถามในหลายครั้ง ตั้งแต่วันเเรกเรื่องการทุจริต เอื้อนายทุน เรื่องของนำหลักนิติรัฐ นิติธรรม ไปช่วยพวกพ้องของตนเอง เเละในประเด็นการบริหารราชการแผ่นดินที่ล้มเหลว ในเรื่องของวัคซีน เเรงงาน การลงทุนทางเศรษฐกิจ ส่วนในวันนี้จะเป็นเรื่องของการทุจริตเชิงนโยบายในการใช้อำนาจของรัฐมนตรีเข้าไปเอื้อทุนใหญ่บางกลุ่มและเอื้อพวกพ้องของตนเองจนทำให้ประเทศชาติเสียหาย คนในพื้นที่เสียหาย ขอให้ประชาชนติดตามในการอภิปรายของพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างใกล้ชิด"

พิธา กล่าวต่อไปว่า จากกรณีที่สุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เตรียมดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ที่กล่าวหา อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรค หลังจากที่อภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในประเด็นที่นายกรัฐมนตรีไม่จ่ายภาษีค่าไฟค่าน้ำบ้านพักรับรองของกระทรวงกลาโหมและรับประโยชน์เกิน 3,000 บาท หลังเกษียณอายุราชการ  นั้น ตนมองว่ากรณีนี้เป็นเอกสิทธิ์ในการอภิปรายของส.ส. สามารถกระทำได้  โดยตนได้หารือกับ ส.ส.อมรัตน์ ในเบื้องต้น จะเคียงข้างและให้กำลังใจ ส.ส.อมรัตน์ ในฐานะส.ส.ของพรรคก้าวไกล เเละพร้อมให้ทีมกฏหมายของพรรคก้าวไกลสู้ดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด

"ผมขอถามกลับต่อพลเอกประยุทธ์ ว่า เห็นด้วยต่อการกระทำเช่นนี้หรือไม่ เมื่อส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตั้งคำถามถ้าไม่ผิด ก็ขอให้ชี้เเจงต่อสภาผู้แทนราษฎร หากชี้งเเจงสภาไม่ได้ให้ตอบทีหลัง เเต่กรณีที่จะใช้พรบ.คอมฯ มาตรา 14 มาปิดปาก ส.ส.ฝ่ายค้าน กรณีนี้ท่านเป็นผู้มอบอำนาจหรือไม่ เเละเห็นด้วยกับการกระทำเช่นนี้หรือไม่ มันไม่สง่างามสำหรับชายชาติทหาร กับบุคคลที่เป็นนายรัฐมนตรีที่กระทำต่อสุภาพสตรีที่ทำหน้าที่ของเขา" พิธา กล่าว

ทั้งนี้ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนไม่หวั่นหากพรรคร่วมรัฐบาลจะยื่นฟ้องต่อพรรคก้าวไกล ในเนื้อหาที่จะอภิปรายอีกสองวันสุดท้าย เเละขอให้ส.ส.ของพรรคก้าวไกลไม่ต้องกังวล ตนยังยืนอยู่ตรงนี้ในฐานะหัวหน้าพรรค เเละทีมกฎหมายของพรรคพร้อมต่อสู้กลับไปทันที หากอีกทั้งมองว่า เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเพื่อตรวจสอบการบริหารราชการเเผ่นดิน นอกจากนี้ คิดว่า การประท้วงของ ส.ส.รัฐบาลที่ผ่านมาเพียงพอเเล้ว หากในสองวันสุดท้ายยังเกิดการประท้วงที่ไม่จำเป็นอีก ประชาชนคงมองว่าเป็นแค่เกมส์ทางการเมืองแบบเก่าที่ใช้ทำลายสมาธิผู้อภิปราย ที่ทำหน้าที่ตั้งคำถามแทนประชน ในช่วงที่ประเทศต้องการความสามัคคีมากที่สุด ขอให้ประชาชนติดตามการอภิปราย เเละเรียกร้องไปยังประชาชน ให้ติดต่อไปตามช่องทางส.ส.ในเขตพื้นที่ของตนเพื่อสะท้อนเจตจำนงค์ หากชมการอภิปรายเเล้วพบว่ามีหลักฐานที่เอาผิดรัฐบาลได้และ ส.ส.ในเขตของท่านยังไว้วางใจในระบบเเบบนี้ ซึ่งแปลว่า พวกเขาเหล่านั้นยังไว้ใจในระบบที่ประเทศไม่ยึดถือไว้ซึ่วหลักนิติรัฐ นิติธรรม ไม่มีการปฏิรูปกองทัพ ปล่อยปละละเลยการทุจริตคอร์รัปชัน ขอยืนยันอีกครั้งว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน จะอภิปรายรัฐบาลอย่างมีวุฒิภาวะ โดยยึดตามญัตติที่เสนอเเละกรอบของข้อบังคับการประชุมสภาเเทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ ในส่วนการอภิปรายของ ส.ส. พรรคก้าวไกลที่ผ่านไปแล้ว ต้องบอกว่าเกินความคาดหวังของตนมาก จึงอยากฝากให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินการปฏิบัติหน้าที่ของพวกเราจากผลงานที่ทำ

‘อมรัตน์’ ไร้กังวล บอกนายกฯ เหลือ 2 วัน ไปหาหลักฐานแก้ข้อกล่าวหาดีกว่า

ขณะที่ มติชนออนไลน์ รายงานว่า อมรัตน์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ สุภรณ์ เตรียมยื่นฟ้องตนว่า ไม่มีความกังวลอะไร เพราะตนทำหน้าที่ตรวจสอบและอภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ได้อภิปรายเพื่อยกย่อง หรือชื่นชมนายกฯ ข้อกล่าวหาทั้ง 3 ข้อ ที่ได้อภิปราย นายกฯก็ไม่ได้ตอบในสภา อย่างข้อกล่าวหาทุจริตต่อหน้าที่ หนีภาษี ไม่ยื่นแบบภ.ง.ด.90 หรือหลังจากที่เกษียณอายุแล้ว ยังอยู่บ้านพักหลวง ถือเป็นประโยชน์อื่นใด ที่จะต้องมาคำนวณภาษี ถือเป็นรายได้พึงประเมิณ ต้องมายื่นแบบ ภ.ง.ด.90 นายกฯ ก็ไม่ได้นำหลักฐานมาแสดง ในการชี้แจง และอยากให้นายกฯ ใช้เวลาที่เหลืออีก 2 วัน แก้ข้อกล่าวหาดีกว่า

แจ้งความเอาผิด ม.112 อ้างใช้ถ้อยคำเลียนแบบเบื้องสูง

โดยไทยโพสต์และ The Momentum รายงานว่า เวลา 13.00 น. ที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ คณะทีมวอร์รูมฝ่ายกฎหมายคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี  นำโดย สุภรณ์ นำหลักฐานเข้าแจ้งความ อมรัตน์ โดยระบุว่าอมรัตน์ใช้ถ้อยคำในการอภิปราย เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในลักษณะเลียนแบบสถาบันเบื้องสูง เพื่ออภิปรายพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำให้เข้าข่ายมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงยังใช้ถ้อยคำ ‘กล้ามาก เก่งมาก’ อีกหลายครั้ง ในแฟนเพจเฟซบุ๊กของตัวเอง จึงได้แจ้งความในข้อหาผิดพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ไปด้วย นอกจากนี้ ยังได้แนบหลักฐานเพื่อแจ้งความอมรัตน์ในข้อหาให้การสนับสนุนแกนนำราษฎร ที่กระทำความผิดตามมาตรา 112 โดยไปร่วมชุมนุมกับ 4 แกนนำกลุ่มราษฎร ที่ทำผิดกฎหมาย และได้ให้เงินสนับสนุนการชุมนุม

ทั้งนี้ สุภรณ์และคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรคพลังประชารัฐ ได้แนบหลักฐานเป็นแฟลชไดรฟ์พร้อมคลิป 4 คลิป เพื่อนำไปแจ้งความ ที่ ปอท. ด้วยเช่นกัน โดยสุภรณ์ยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้กำชับหรือสั่งการให้ดำเนินการในเรื่องนี้ แต่ในฐานะที่เป็นหนึ่งในทีมกฎหมายและวอร์รูมของรัฐบาล เห็นว่าการกระทำของอมรัตน์เข้าข่ายผิดกฎหมาย จึงจำเป็นต้องแจ้งความ พร้อมกับกล่าวเตือนให้เพจเฟซบุ๊กและประชาชนที่ใช้งานโซเชียลมีเดีย ระมัดระวังการใช้ถ้อยคำว่า ‘กล้ามาก เก่งมาก’ เนื่องจากอาจเข้าข่ายกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

ทั้งนี้ ท่ามกลางการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กว่าครึ่งปีที่ผ่านมา ขณะนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวนมาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วย ม.112 อย่างน้อย 58 รายใน 44 คดี ในจำนวนนี้ เป็นการร้องทุกข์กล่าวโทษโดยประชาชน 23 คดี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจำนวน 3 คดี ที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้กล่าวหา

แม้กฎหมายมาตรานี้ 15 มิ.ย.63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กล่าวผ่านสื่อว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตาไม่ให้ใช้ นั้น แต่ต่อมาหลังมีความเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เข้มข้นขึ้นจน 21 พ.ย.63 พล.อ.ประยุทธ์ ออกมากล่าวว่าจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ซึ่งรวมทั้ง ม.112 ด้วย จนเกิดการฟ้องร้องและดำเนินคดีจำนวนมากดังกล่าว

สำหรับ ม.112 เป็นความผิดต่อองค์กษัตริย์ไทยบัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี" ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา มีคดีที่มีการลงโทษด้วยมาตรานี้สูงที่สุด คือ อัญชัญ อดีตข้าราชการวัย 63 ปี ถูกศาลชั้นต้นโดยทิวากร พนาวัลย์สมบัติ และมาริสา เหล่าศรีวรกต ตัดสินจำคุก 87 ปี จากการแชร์คลิป 'เครือข่ายบรรพต' จำนวน 29 ครั้ง เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ก่อนลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 29 ปี 174 เดือน เนื่องจากจำเลยรับสารภาพในชั้นพิจารณาที่ศาลอาญา อย่างไรก็ตามาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวโดยอ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูง กระทบจิตใจปวงชนผู้จงรักภักดี หากปล่อยตัวเชื่อว่าจะหลบหนี 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net