Skip to main content
sharethis

อนุทิน มอบ สปสช. พร้อมหนุนหน่วยบริการรับมือโควิด-19 ระลอกใหม่ ครอบคลุมบริการคัดกรอง ตรวจวินิจฉัย รักษาพยาบาล เผย สปสช. ติดตามประเมินสถานการณ์ต่อเนื่อง ดูแลประชาชนช่วงวิกฤตสาธารณสุข ยืนยันผลักดัน 4 บริการยกระดับบัตรทอง เกิดผลเป็นรูปธรรม  

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ได้กระจายวงกว้างไปทั่วประเทศขณะนี้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้ห่วงใยประชาชนและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมมอบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เตรียมพร้อมด้านงบประมาณในการสนับสนุนการให้บริการกรณีโควิด-19 ของหน่วยบริการทั่วประเทศ ทั้งด้านการรักษาพยาบาล การคัดกรองเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อที่เป็นการป้องกันและควบคุมโรค   

งบประมาณที่ สปสช. จัดเตรียมเพื่อดูแลกรณีโควิด-19 ในปีงบประมาณ 2564 นี้ เป็นการดำเนินการตามแผนการต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2563 ครอบคลุมการรักษาพยาบาลทั้งกรณีผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ตั้งแต่การตรวจห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อที่รวมค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment : PPE) สำหรับบุคลากรห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อและบุคลากรเก็บตัวอย่างส่งตรวจ ค่าห้องควบคุมปลอดเชื้อหรือห้องดูแลการรักษารวมค่าอาหาร หอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด-19 ยารักษาเฉพาะผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 และค่าพาหนะรับส่งต่อผู้ป่วยระหว่างหน่วยบริการ โดยครอบคลุมทั้งที่โรงพยาบาลที่เป็นหน่วยบริการร่วมกองทุนบัตรทองและโรงพยาบาลสนาม  

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การดูแลกรณีโควิด-19 ภายใต้กองทุนบัตรทองนี้ได้รวมถึงการตรวจคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อที่มีวัตถุประสงค์ดำเนินการเชิงรุกในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดครอบคลุมให้กับประชาชนทุกสิทธิและผู้ที่รับบริการในสถานกักกันในโรงพยาบาล (Hospital Quarantine) ตามหลักเกณฑ์ผู้สงสัยเฝ้าระวัง (Patient Under Investigation : PUI) ของกรมควบคุมโรค ซึ่งที่ผ่านมามีประชาชนเข้ารับบริการต่อเนื่อง    

“ขณะนี้แม้ว่าท่านอนุทินจะอยู่ในช่วงกักตัว 14 วัน ตามหลักเกณฑ์เพื่อเฝ้าระวังโรคก็ตาม แต่ท่านก็ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องที่บ้าน และได้มอบให้ สปสช. ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สนับสนุนหน่วยบริการดูแลประชาชนกรณีโควิด-19 ให้ได้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา สปสช. ได้มีการประเมินและจัดเตรียมแผน งบประมาณต่างๆ เพื่อรองรับสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ไว้แล้ว” เลขาธิการ สปสช. กล่าว  

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ในการรับมือสถานการณ์โควิด-19 ปีงบประมาณ 2564 นี้ นอกจากงบประมาณกองทุนบัตรทองกรณีโควิด-19 ที่คงเหลือจากปีงบประมาณ 2563 กว่า 400 ล้านบาทแล้ว สปสช. ยังได้รับจัดสรรงบเพิ่มเติมจาก พรก.เงินกู้ฯ อีกจำนวนเกือบ 3 พันล้านบาท เป็นงบที่ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการกองทุนบัตรทองในระบบตามปกติ ดังนั้นขอให้คนไทยทุกคนมั่นใจได้ ด้วยงบประมาณและแผนการบริหารจัดการเพื่อรองรับการแพร่ระบาดโควิด-19 นี้ จะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการคัดกรองและการรักษาพยาบาลกรณีโควิด-19 ที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึง   

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า นอกจากงบประมาณเฉพาะที่เป็นการจัดสรรเพื่อเบิกจ่ายในกรณีโควิด-19 แล้ว ภายใต้กองทุนบัตรทองยังมีกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ที่เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และ สปสช. ในการดำเนินงานกิจกรรมโครงการที่มุ่งป้องกันและส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค โดย อปท. สามารถนำงบจากกองทุนนี้มาใช้เพื่อร่วมป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ได้ ซึ่งปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมามี อปท. 394 แห่ง ที่ร่วมจัดทำโครงการป้องกันโควิด-19 เป็นจำนวน 817 โครงการแล้ว พร้อมนี้ สปสช. ยังได้ทำหนังสือถึงกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อขอความร่วมมือแจ้ง  อปท. ที่ร่วมจัดตั้ง กปท. นำกลไก กปท. มาเป็นส่วนหนึ่งเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในพื้นที่ 

 

ประชุมออนไลน์บอร์ด สปสช. ยันผลักดัน 4 บริการยกระดับบัตรทอง เกิดผลเป็นรูปธรรม 

อนุทิน ประเดิมหลังปีใหม่ร่วมประชุมบอร์ด สปสช. ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จากสถานการณ์โควิด-19 ประกาศพร้อมเดินหน้าผลักดัน 4 บริการยกระดับบัตรทอง ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ พร้อมขอบคุณ กก.บอร์ด ทุ่มเททำงานกับ สธ. และรัฐบาล พัฒนาระบบสุขภาพประเทศ  แจงความคืบหน้าจัดซื้อวัคซีนโควิด-19  เร่งเจรจาจีนจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ช่วง ก.พ. ก่อน 2 ล้านโดส-ฉีดให้บุคลากรการแพทย์ 

ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ – เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 ได้มีการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 1/2564 โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้เข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ขณะนี้ 

อนุทิน กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิทุกคน ที่ให้ความทุ่มเททำงานกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กับตนและรัฐบาล ในการพัฒนาระบบสุขภาพประเทศ และตอบสนองต่อนโยบายด้วยดี ทั้งนี้ต้องขอแสดงความเสียใจกับการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นจากการกระทำผิดกฎหมายและอยู่เหนือความควบคุม อย่างไรก็ตามจะนำความพร้อมที่มีอยู่ไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ได้อย่างรวดเร็ว โดยที่ผ่านมาบุคลากรทางการแพทย์ในระบบได้ร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ได้หยุดช่วงปีใหม่ เพื่อที่จะพยายามทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปในแนวทางที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนภารกิจต่างๆ ต่อไป 

ในส่วนของนโยบายใหม่ๆ ในปีใหม่นี้ ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับ 4 บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) การดูแลประชาชนตามบริการปกติ หรืออีกหลายโครงการที่ได้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา จะมีการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและทำให้ช่วงเริ่มต้นผ่านไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในฐานประธานบอร์ด สปสช. ขอยืนยันความพร้อมที่จะสนับสนุนทุกนโยบาย ทุกข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ เป็นคุณูปการต่อประเทศชาติและประชาชน และจะผลักดันโครงการทั้งหมดนี้ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมภายใต้ขอบข่ายอำนาจที่มีอยู่ 

นอกจากนี้ อนุทิน กล่าวต่อบอร์ด สปสช. ถึงความคืบหน้าการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ว่า ประเทศไทยได้ทำสัญญาสั่งซื้อจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด ไปแล้วจำนวน 26 ล้านโดส ทั้งหมดเป็นวัคซีนที่ผลิตภายใต้แบรนด์แอสตร้าเซนเนก้า หลังจากนั้นจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาให้กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ของประเทศไทยที่ได้มีการอนุมัติไว้เพื่อผลิตวัคซีนเพิ่มเติม และมั่นใจว่าวัคซีนที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในช่วงเดือน พ.ค. - มิ.ย. เพื่อที่จะให้บริการประชาชนต่อไป 

"ส่วนงบประมาณที่นำไปจัดซื้อวัคซีน นายกรัฐมนตรีให้ใช้จากงบกลาง ให้กรมควบคุมโรคเป็นเจ้าภาพจัดการ ซึ่งเราเจรจาสั่งซื้อจากแอสตร้าเซนเนก้าในราคาโดสละ 6 ดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตามต้องเรียนว่าสถานการณ์วัคซีนทั่วโลก ทั้งอุปสงค์และอุปทานมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เมื่อ 6 เดือนที่แล้วเป็นแบบหนึ่ง ขอยืนยันว่าการตัดสินใจที่ผ่านมาเรายึดหลักของประชาชนเป็นหลัก ภายใต้กรอบของระเบียบจัดซื้อจัดจ้างที่อธิบายทุกฝ่ายได้" อนุทิน กล่าว 

อนุทิน กล่าวว่า ในส่วนการตัดสินใจจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 จากประเทศจีนนั้น เป็นไปเพื่อยับยั้งสถานการณ์การแพร่ระบาด และความต้องการให้ได้วัคซีนมาโดยเร็วที่สุด ซึ่งได้มีการเจรจากับบริษัท ซิโนแวค ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี 2563 เพื่อให้ช่วยจัดสรรวัคซีนในเบื้องต้นมาฉีดให้กับบุคลากรสาธารณสุข และประชาชนกลุ่มเสี่ยง จำนวน 2 ล้านโดส โดยทางซิโนแวค ยินยอมจะจัดส่งวัคซีนล็อตแรกให้กับประเทศไทยในเดือน ก.พ.นี้ ซึ่งจะดำเนินการฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายลำดับแรกเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่ต่อไป 

"ขอยืนยันว่าทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการอย่างโปร่งใสมากที่สุด บนเงื่อนไขหลักการทุกอย่างที่เป็นไปตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง และความมุ่งหวังในการควบคุมสถานการณ์เป็นสำคัญ ฉะนั้นคำถามเรื่องของราคา เงื่อนไขการเจรจาต่างๆ จึงเป็นเหตุและผลที่เกิดขึ้นบนการตัดสินใจในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสถาบันวัคซีนแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือกรมควบคุมโรค สามารถชี้แจงได้" อนุทิน กล่าว 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net