Skip to main content
sharethis

พุทธและราชาแนบแน่นมาแต่โบราณ สังคมไทยเข้าสู่ยุคสมัยใหม่แล้วก็ยังไม่เปลี่ยน ต่างอิงอาศัยกันและกัน พุทธและพระกลายเป็นเครื่องมือสนับสนุนอุดมการณ์ราชาชาตินิยม สิ่งนี้สร้างผลกระทบที่ไม่เป็นมิตรต่อประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเท่าเทียม และความสองมาตรฐานทางศีลธรรม

  • สุรพศ ทวีศักดิ์ หยิบยืมแนวคิดราชาชาตินิยมของธงชัย วินิจจะกูล มาใช้อธิบายความเป็นพุทธราชาชาตินิยมในสังคมไทย
  • พุทธราชาชาตินิยมหมายถึงพุทธศาสนาที่สนับสนุนและเป็นกลไกหนึ่งของอุดมการณ์ของราชาชาตินิยม พระสงฆ์มีหน้าที่อบรมสั่งสอนเรื่องความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์
  • พุทธราชาชาตินิยมเลือนเส้นแบ่งของความเป็น ‘การเมือง’ โดยแยกสิ่งที่ไม่ใช่การเลือกตั้ง เช่น การรัฐประหาร โครงการพระราชดำริ ไม่ใช่การเมือง หากเป็นการกระทำเพื่อบ้านเมือง เป็นสิ่งที่อยู่เหนือการเมือง แต่การ ‘อยู่เหนือการเมือง’ คือการเมือง
  • ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับพุทธศาสนาของไทยยังเป็นเหมือนในยุคโบราณ
  • มีการอ้างธรรมาธิปไตยเพื่อสนับสนุนการรัฐประหาร ซึ่งเป็นการไม่รับผิดชอบต่อหลักการประชาธิปไตยและหลักการของพุทธเรื่องอทินนา
  • การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แยกพุทธออกจากราชาจะทำให้การแยกศาสนาออกจากรัฐมีความเป็นไปได้มากขึ้น
  • ศีลธรรมแบบพุทธราชาชาตินิยมคือรากฐานของความเป็นสองมาตรฐานทางศีลธรรม

ใครที่ติดตามข้อเขียนและความคิดของสุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการอิสระด้านปรัชญาและศาสนามาโดยตลอดจะรู้ว่า เขาสนับสนุนให้มีการแยกศาสนาออกจากรัฐด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น เพื่อให้เกิดเสรีภาพในการนับถือศาสนาอย่างแท้จริง เพื่อให้คณะสงฆ์ไม่ตกเป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์ของรัฐ เป็นต้น

แต่งานวิจัยชิ้นใหม่ของสุรพศเรื่อง ‘พุทธราชาชาตินิยม’ ซึ่งหยิบยืมแนวคิด ‘ราชาชาตินิยม’ ของธงชัย วินิจจะกูล มา ทำให้เขาได้ข้อเสนอเพิ่มเติมว่าการจะแยกศาสนาออกจากรัฐต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ด้วย เพื่อให้การแยกศาสนาออกจากรัฐเป็นไปได้ง่ายขึ้น เนื่องจากทั้ง ‘พุทธ’ และ ‘ราชา’ เชื่อมโยงแนบแน่นมาเนิ่นนาน

สุรพศ ทวีศักดิ์ (แฟ้มภาพ : ประชาไท)

พุทธที่สนับสนุนราชาชาตินิยม

สุรพศอธิบายว่าประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถาบันกษัตริย์ถูกสถาปนาขึ้นโดยอาศัยความเชื่อทางศาสนาโดยเฉพาะคติพราหมณ์-ฮินดู-พุทธ วัดและวังจึงเจริญควบคู่กัน ส่วนกษัตริย์ก็ได้กลายเป็นธรรมราชา เทวราชา จักรพรรดิราช พระโพธิสัตว์ หรือพระพุทธเจ้าอยู่หัว

ตั้งแต่สุโขทัยเรื่อยมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พุทธไทยมีลักษณะเป็นพุทธศักดินา กษัตริย์แต่ตั้งยศให้นักบวช นักบวชสนับสนุนกษัตริย์ สอนธรรมะให้คนจงรักภักดี อธิบายบุญบารมีของกษัตริย์ผ่านคัมภีร์โบราณต่างๆ อย่างไตรภูมิพระร่วง ล่วงเลยเข้าสู่ช่วงรัชกาลที่ 4 คติไตรภูมิพระร่วงเริ่มถูกปฏิเสธ เกิดคำอธิบายใหม่ว่ากษัตริย์มิใช่สมมติเทพ หากเป็นมนุษย์ผู้ทรงธรรม การขึ้นเป็นกษัตริย์ก็เป็นไปตามทฤษฎีอเนกนิกรสโมสรสมมติคือถูกเลือกโดยชุมชนทางการเมืองที่มาประชุมตกลงกัน ซึ่งในสมัยนั้นก็คือขุนนางและพระสงฆ์ชั้นสูง

“รัชกาลที่ 5 ก็สานต่อความคิดนี้ว่าความเจริญของชาติอยู่ที่กษัตริย์ กษัตริย์มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองและอุปถัมภ์พุทธศาสนาทำให้ศาสนาเป็นศาสนาของราษฎร มีการคิดเรื่องการศึกษาชาติที่ต้องให้ประชาชนเรียนรู้ทั้งเรื่องวิชาชีพ ความรู้สมัยใหม่ และหลักศีลธรรมพุทธศาสนาเป็นหลักศีลธรรมของชาติ พอมาถึงรัชกาลที่ 6 ก็ชัดเจนเลยในเรื่องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และความเป็นไทยคือความเป็นพุทธ พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เพราะฉะนั้นพุทธราชาชาตินิยมก็หมายถึงพุทธศาสนาที่สนับสนุนอุดมการณ์ของราชาชาตินิยมเป็นกลไกเป็นหนึ่งในอุดมการณ์ราชาชาตินิยม”

เรื่องเล่าใหม่ของพุทธราชาชาตินิยม

ถ้าคติไตรภูมิพระร่วงเป็นเรื่องเล่าเก่า เรื่องเล่าใหม่ของพุธราชาชาตินิยมที่ถูกสานต่อเป็นเรื่องเล่าในลักษณะที่ว่ากษัตริย์คือมันสมองของชาติ เป็นผู้พัฒนาชาติ รักษาประเทศชาติ อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง และสร้างระบบปกครองสงฆ์ให้มีลักษณะเป็นสถาบันทางกฎหมายที่ชัดเจน

“คณะสงฆ์ถูกกำหนดโดยกฎหมายของรัฐว่าต้องรับใช้รัฐ พอเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย ระบบนี้ก็ไม่ได้ถูกยกเลิกไป ยังอยู่มาจนถึงทุกวันนี้”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) พระนักคิด นักเขียนที่มีอิทธิพลทางความคิดรูปหนึ่งยังได้พยายามอธิบายความต่อเนื่องของสถาบันกษัตริย์กับพุทธศาสนาและขยายความถึงความสำคัญของพุทธศาสนาในฐานะศาสนาประจำชาติ สุรพศกล่าวว่ามันคือการอธิบายความต่อเนื่องระหว่างความสัมพันธ์ของรัฐกับพุทธศาสนา ทั้งในเชิงความคิดและความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) ภาพจากวิกิพีเดีย

“อธิบายความคิดว่าความคิดในระดับคัมภีร์บอกว่ารัฐในอุดมคติของพุทธศาสนาต้องมีธรรมราชา 2 ประเภทประเภท 1 คือจักรพรรดิธรรมราชาที่ปกครองโดยธรรมธรรมราชา อีกประเภทหนึ่งคือพุทธธรรมราชาคือพระพุทธเจ้า ตรงนี้ก็เหมือนการพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรกับศาสนจักร อาณาจักรคือจักรพรรดิธรรมราชา ศาสนจักรคือพุทธธรรมราชา 2 บุคคลนี้เกิดขึ้นมาในโลกนี้เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของชนส่วนใหญ่ และทำหน้าที่สนับสนุนการปกครองโดยธรรมในการสอนประชาชนให้มีศีลธรรมก็เลยเป็นไอเดียมา ในงานของท่านปยุตโตก็ขยายความว่าในสมัยของพระเจ้าอโศกนำไอเดียนี้มาประยุกต์สร้างรัฐพุทธศาสนาแบบอโศกขึ้นมาแล้ว ไทยที่รับศาสนาเข้ามาก็พยายามปรับใช้ในบริบทของตัวเองและสืบทอดมา

“งานของเจ้าคุณปยุตโตจะอ้างกษัตริย์องค์ต่างๆ ว่าให้ความสำคัญกับพุทธศาสนาอย่างไร มีพระราชดำรัสอย่างไร รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 พูดอย่างไร พระเจ้าตากสินพูดว่าอย่างไร รัชกาลที่ 1 พูดว่าอย่างไร รัชกาลที่ 9 พูดไว้อย่างไรที่เน้นความสำคัญว่าเป็นศาสนาคู่ชาติไทยมาตลอด แล้วก็ให้ข้อถกเถียงให้เหตุผลต่างๆ งานของท่านจึงมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของพระในรุ่นต่อมาในปัจจุบัน โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวเรื่องศาสนาประจำชาติก็จะอ้างเหตุผลของเจ้าคุณปยุตโตเป็นหลัก”

‘เหนือการเมือง’ คือการเมือง

ทั้งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์และพุทธทาสภิกขุวิพากษ์วิจารณ์ประชาธิปไตยบนจุดยืนพุทธศาสนาคล้ายคลึงกันว่า ระบอบประชาธิปไตยไม่เพียงพอแต่ต้องอาศัยธรรมาธิปไตยด้วย โดยให้เหตุผลว่าประเทศไทยไม่เหมือนตะวันตก มีประวัติศาสตร์เฉพาะของตนเองที่ไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะสถาบันกษัตริย์กับพระพุทธศาสนาซึ่งถูกอธิบายว่าอยู่ควบคู่กันมาตลอด สุรพศจึงเรียกว่า พุทธราชาชาตินิยม

“คำอธิบายเผด็จการโดยธรรมของพุทธทาส การวิพากษ์ประชาธิปไตยสิทธิมนุษยชนบนจุดยืนพุทธศาสนาของเจ้าคุณปยุตโต เราจะเห็นว่าคำอธิบายพวกนี้จะสนับสนุนประชาธิปไตยแบบไทยที่เป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียม คือมีอำนาจทางการเมืองจากนักการเมืองที่ประชาชนเลือกมา แล้วก็มีอำนาจอีกอันหนึ่งที่อยู่เหนือการเมือง คือสถาบันกษัตริย์ แต่คำว่าสถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมืองถูกโต้แย้งโดยความคิดของธงชัยซึ่งผมเห็นด้วยว่าคำว่าเหนือการเมืองมันก็อยู่ในการเมืองนี่แหละ อยู่ในปริมณฑลของการเมือง

“เราไปจำกัดคำว่าการเมืองเป็นเรื่องของการเลือกตั้ง อันอื่นที่ไม่ใช่การเลือกตั้งเข้ามาไม่ถือว่าเป็นการเมือง อย่างเช่นรัฐประหารเขาก็บอกว่าเป็นเรื่องบ้านเมืองไม่ใช่การเมือง พระราชกรณียกิจต่างๆ ของกษัตริย์ที่บอกว่าทำเพื่อประชาชนประมาณ 4,000 โครงการก็ไม่ใช่การเมือง แต่ทั้งหมดนี้มันคือการเมือง เพราะว่าการเมืองในความหมายสากลก็คือความสัมพันธ์ทางอำนาจ โครงการพระราชดำริหรือการทำรัฐประหารเป็นเรื่องของอำนาจทั้งหมดจะไม่ใช่การเมืองได้อย่างไร”

ในส่วนของพระสงฆ์ก็เช่นกัน

“ถ้าพระสงฆ์เทศนาสนับสนุนความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวชุมนุมเพื่อสนับสนุนชาติ ศาสน์ กษัตริย์ก็ไม่ใช่การเมืองถือว่าทำเพื่อบ้านเมือง ทำเพื่อรักษาสถาบัน เพื่อความมั่นคง เป็นหน้าที่ของพระที่ควรจะทำ มหาเถรสมาคมจึงมีมติให้พระทั่วประเทศสอนประชาชนให้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นหน้าที่ที่พระดีควรจะทำ ทำแล้วก็จะเจริญในยศศักดิ์ฐานันดร แต่ถ้าพระมาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 14 ตุลาคม 6 ตุลาคมก็ถือว่ามายุ่งการเมือง ถูกลงโทษ ถูกจับสึก ถูกไล่ออกจากวัด แม้กระทั่งปัจจุบันที่ออกมาเป็นแก๊งแครอทก็ถูกไล่บี้ต่างๆ ถือว่ายุ่งการเมือง ทั้งที่มันเป็นการเมืองทั้งสองอย่าง”

และนั่นทำให้สิ่งที่ ‘อยู่เหนือการเมือง’ กลายเป็นสิ่งที่ตรวจสอบไม่ได้ ขณะที่ความบกพร่องของการเมืองในระบบเลือกตั้งถูกขยายความเกินจริง

กษัตริย์และศาสนายังอยู่ในยุคโบราณ

“ในสังคมอารยะที่เจริญแล้วการเปลี่ยนสังคมเป็นประชาธิปไตยมันได้ข้อสรุป 2 เรื่องหลักๆ คือสถานะอำนาจของกษัตริย์แบบศาสนาที่มีอยู่เดิม ไม่ว่าคุณจะเป็นเทพเป็นสมมติเทพ เป็นเทวสิทธิ์ มันต้องจบ เหลือแต่สถานะกษัตริย์ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นมนุษย์เหมือนเรา เพียงแต่มีตำแหน่งเป็นประมุขของรัฐเท่านั้นเอง กษัตริย์ที่เป็นมนุษย์เหมือนเรา เราก็ล้อเลียน เสียดสี วิจารณ์ตรวจสอบได้ภายใต้กฎหมายเหมือนกัน ทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้ และเขาก็เคลียร์เรื่องศาสนจักรของรัฐให้จบไปคือมีการแยกศาสนากับรัฐ แต่ของเรามันไม่เคลียร์ทั้งสองเรื่องและอยู่ร่วมกันเหมือนสมัยโบราณ

“ขณะเดียวกันแทนที่จะใช้รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายทำให้กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญมีความเสมอภาคตามกฎหมายเหมือนคนทั่วไป เรากลับใช้รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้กษัตริย์อยู่เหนือ เพิ่มอำนาจให้กับกษัตริย์ เพิ่มสรรพกำลัง รวมทั้งให้กับศาสนาด้วย มันก็สวนทางกับสังคมที่เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย”

ธรรมาธิปไตยที่ไม่รับผิดชอบต่อประชาธิปไตย

นอกจากนี้ สุรพศยังอธิบายถึงธรรมาธิไตยที่มักถูกนำมาใช้ไตยในทางการเมือง ไม่ว่าจะโดยพระที่มีชื่อเสียงหรือม็อบที่เคลื่อนไหว ซึ่งเป็นการธรรมาธิปไตยแบบไม่รับผิดชอบต่อหลักการประชาธิปไตย เช่น อ้างแล้วก็เรียกร้องให้ทหารออกมาทำรัฐประหาร

“ถ้าเรารับผิดชอบต่อประชาธิปไตยก็คือไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นเราต้องแก้ตามกระบวนการประชาธิปไตย เราจะไม่ล้มกระบวนการ ไม่ฉีกรัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏว่าการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาไม่รับผิดชอบตรงนี้และวิธีการอธิบายของพระที่เอาธรรมาธิปไตยมาประยุกต์อธิบายทางการเมืองต่างๆ ก็ไม่ได้ยึดตามหลักการประชาธิปไตยเหมือนกับว่าพอมาถึงจุดหนึ่งเราสามารถเว้นวรรคได้ หรืออ้างเพื่อสนับสนุนรัฐประหารได้”

ทำให้สุรพศมีคำถามต่อว่า

“การอ้างธรรมาธิปไตยเพื่อเรียกร้องรัฐประหารก็เป็นการไม่รับผิดชอบต่อหลักการพุทธศาสนาด้วย ขณะที่นักการเมืองโกงกินเป็นเรื่องใหญ่มาก ยอมรับไม่ได้ แต่การรัฐประหารยิ่งหนักกว่า เพราะมันคือการปล้นอำนาจของประชาชน ปล้นระบบ ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ฉีกสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งผิดหลักอทินนาของพุทธ แต่ปรากฏว่ามันไม่ผิดพุทธราชาชาตินิยมซึ่งต้องสนับสนุนกษัตริย์และมันก็เป็นเนื้อเดียวกันอยู่แล้ว”

ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ปลดล็อกพุทธออกจากราชา แยกศาสนาออกจากรัฐ

“การมีพุธราชาชาตินิยมทำให้เราไม่มีเสรีภาพที่เท่าเทียม เสรีภาพทางการเมืองก็มีไม่ได้ เสรีภาพทางศาสนาก็มีไม่ได้ ในสังคมไทยเราคิดว่าเรามีเสรีภาพทางศาสนา แต่ถ้าใช้แนวคิดเสรีภาพที่เป็นสากลมาจับ มันไม่มี เช่น บวชภิกษุณีไม่ได้หรือไม่ให้สันติอโศกใช้คำว่าพระสงฆ์ก็ไม่ใช่เสรีภาพทางศาสนา การบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียนก็ขัดหลักเสรีภาพทางศาสนา ข้อเสนอของผมก็คือว่าถ้าเราจะสร้างสังคมเสรีประชาธิปไตยย่อมหนีไม่พ้นที่จะแยกศาสนาออกจากรัฐ ยกเลิกการบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียน”

สุรพศโต้แย้งความคิดของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ให้สนับสนุนให้มีการบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียนโดยอ้างอิงงานวิจัยชิ้นหนึ่งว่า การปลูกฝังศีลธรรมทางศาสนาไม่ได้ช่วยให้คนเป็นคนดีอย่างที่เชื่อ เหตุผลที่มักใช้อ้างเสมอว่าจะผิดอะไรถ้าบังคับให้คนเรียนสิ่งที่ดีเพื่อเขาจะเป็นคนดี แต่งานวิจัยโต้แย้งว่าครอบครัวที่เคร่งศาสนามีแนวโน้มที่จะทำผิดศีลธรรมมากกว่าครอบครัวที่ไม่นับถือศาสนา เพราะคนที่เคร่งศาสนามักคิดว่าตนเองเป็นคนมีศีลธรรม เป็นคนดี และละเมิดหลักการสาธารณะต่างๆ ได้

สุรพศเห็นว่างานวิจัยนี้สอดคล้องกับสังคมไทย คือมวลชนที่คิดว่าตนเองเป็นคนดี ใช้ธรรมะนำหน้า พร้อมที่จะละเมิดหลักการประชาธิปไตย เวลาอ้างเหตุผลในการทำรัฐประหารก็อ้างสิ่งที่ดีที่สุดซึ่งก็คือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพื่อปกป้องสิ่งดีๆ สามารถล้มระบอบประชาธิปไตยได้ แล้วผู้ทำรัฐประหารก็ถูกอ้างอิงว่าเป็นคนดี

“รวมถึงพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 ที่ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมืองและควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ซึ่งสอดคล้องกับความคิดในการทำรัฐประหารและความคิดของพุทธ สุดท้ายแล้วเราก็ต้องมาคิดมาถกเถียงกันว่าต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และแยกศาสนาออกจากรัฐ ถ้าปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้จึงจะแยกศาสนาออกจากรัฐได้”

เราถามว่าก่อนหน้านี้ความคิดของสุรพศเรื่องการแยกศาสนาออกจากรัฐไม่มีการกล่าวถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทำไมครั้งนี้เขาจึงเพิ่มเติมเข้ามา สุรพศอธิบายว่า

“การเสนอให้แยกศาสนาออกจากรัฐยังไงก็ต้องมีกลุ่มที่ออกมาต่อต้าน ซึ่งก็ต้องโยงเรื่องของศาสนาไปยังสถาบันกษัตริย์ด้วยข้ออ้างที่ว่ามันผูกพันเป็นเนื้อเดียวกันมาตลอด แยกจากกันไม่ได้ ถ้าแยกศาสนาออกจากรัฐแล้วจะทำอย่างไร จะเป็นแบบอเมริกาหรือฝรั่งเศสที่ไม่มีกษัตริย์ใช่ไหม สามารถอ้างไปได้หมด อ้างใช้มาตรา 112 ก็ได้ ทีนี้พอเกิดกระแสการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ผมจึงคิดว่าถ้าสามารถทำเรื่องนี้ได้เรื่อง การแยกศาสนาออกจากรัฐก็เป็นไปได้”

หมายความว่าถ้าไม่ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็ไม่สามารถแยกศาสนาออกจากรัฐได้?

“อันนี้พูดในแง่ความเป็นจริง แต่ในทางตรรกะมันไม่จำเป็น ในทางทฤษฎีเราสามารถยกเลิกการบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียนได้ สามารถยกเลิกกฎหมายสงฆ์ให้คณะสงฆ์เป็นเอกชนได้ ไม่ต้องเป็นคณะสงฆ์ของรัฐ ถ้าจะรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากอดีตในเรื่องการตั้งสมณศักดิ์ก็อาจจะคงอยู่ได้ แต่ให้เป็นพระราชอำนาจตามอัธยาศัย แต่สมณศักดิ์ไม่ผูกพันกับตำแหน่งบริหารคณะสงฆ์เพราะคณะสงฆ์เป็นเอกชนก็ให้กลุ่มต่างๆ บริหารจัดการกันเอง ใครจะเป็นประมุขก็ให้เขาตกลงกันเอง ตรงนี้ในทางปฏิบัติอาจจะยุ่งยากแต่ในทางหลักการก็เป็นไปได้

“แต่ถ้าปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้การแยกศาสนาออกจากรัฐมันก็อาจจะง่ายขึ้น เพราะถ้าปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็จะเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ อำนาจพิเศษอื่นๆ เช่น อำนาจในการตั้งคณะสงฆ์ก็ต้องถูกตั้งคำถาม ตอนนี้ถ้าพูดว่าคณะสงฆ์ถูกปกครองโดยกษัตริย์ก็ถูกเลย เพราะว่ากฎหมายปกครองสงฆ์ให้อำนาจกษัตริย์ในการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม ถอดถอนสมณศักดิ์ได้”

สุรพศปิดท้ายว่า

“ศีลธรรมแบบพุทธราชาชาตินิยมคือรากฐานของความเป็นสองมาตรฐานทางศีลธรรม พระเทศนาอวยกษัตริย์ว่าทรงทศพิธราชธรรม มีบุญคุณต่อพสกนิกร ต่อประเทศชาติได้อย่างเดียว ตั้งคำถามไม่ได้ วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันพระก็ชอบเอาศีลธรรมแบบพุทธมาตัดสินทางการเมือง มาตัดสินประชาชนว่าปัญหาของชาติ ของบ้านเมือง เพราะนักการเมืองไม่มีธรรมาธิปไตย ถ้าประชาชนมีคุณธรรมการเมืองก็จะดี พอพูดแบบนี้มากขึ้นมันก็เป็นสองมาตรฐานทางศีลธรรมและเบลอศีลธรรมสาธารณะ ซึ่งก็คือหลักสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค สิทธิมนุษยชนที่เป็นศีลธรรมโลกวิสัย แต่สังคมไทยพอเวลาพูดถึงศีลธรรมเราจะมักนึกถึงแต่ศาสนา ขณะที่ศาสนาเป็นความเชื่อส่วนบุคคล เราเอาความเชื่อส่วนบุคคลหรือกลุ่มบุคคลมาอ้างเสมือนว่าเป็นศีลธรรมของสาธารณะ แล้วยกให้มันอยู่เหนือและมากำกับประชาธิปไตยอีกทีหนึ่ง มันก็เลยเลอะเทอะไปหมด”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net