Skip to main content
sharethis

สปสช. แนะ อปท. ทั่วประเทศ ดึงกลไก “กปท.” ป้องกันและควบคุมแพร่ระบาด “โควิด-19” หนุนดำเนินงานใน 5กิจกรรม รณรงค์ให้ความรู้ จัดหาอุปกรณ์ป้องกัน คัดกรองกลุ่มเสี่ยง ตรวจเยี่ยมติดตามกลุ่มเสี่ยง และเฝ้าระวังผู้มาจากพื้นที่อื่น พร้อมเผยภาพรวมมี อปท. ร่วมดำเนินโครงการป้องกันโควิด 19 แล้วกว่า 2 หมื่นโครงการ

  

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ด้วยกลไกต่างๆ และด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั่วประเทศ รวมถึง “กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น” (กปท.) ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง สปสช. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่ง ส่งผลให้การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในภาพรวมของประเทศสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ไม่เกิดการแพร่ระบาดที่แพร่กระจายเป็นวงกว้างและรุนแรง 

ทั้งนี้จากข้อมูลการดำเนินงาน กปท. ในการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 (ณ วันที่ 8 ธันวาคม 2563) มี กปท. ร่วมดำเนินโครงการกรณีโควิด-19 ทั้งหมด 20,811 โครงการ เป็นงบประมาณทั้งสิ้น 1,015.41 ล้านบาท แยกเป็นการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2563 ซึ่งมี กปท. 5,195 แห่งที่ร่วมจัดทำโครงการป้องกันโควิด-19 จำนวน19,994 โครงการ เป็นงบประมาณ 989 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2564 (1 ต.ค. – 8 ธ.ค. 63) มี กปท. 394แห่ง ที่ร่วมจัดทำโครงการป้องกันโควิด-19 เป็นจำนวน 817 โครงการ งบประมาณ 26.41 ล้านบาท โดยดำเนินงานใน5 กิจกรรม ได้แก่ 1. การรณรงค์ให้ความรู้ป้องกันตามแนวทางกรมควบคุมโรค 2.การจัดหาอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า แอลกอฮอล์ เจลล้างมือ เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ เป็นต้น 3. การคัดกรองกลุ่มเสี่ยง 4. การตรวจเยี่ยมติดตามกลุ่มเสี่ยงในชุมชน และ 5.ติดตามเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่น โดยโครงการเหล่านี้ได้กระจายไปในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง และได้ช่วยสนับสนุนการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ตามผลที่ปรากฎ   

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า สำหรับในส่วนของการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงท้องถิ่นต่างๆ ได้เร่งมาตรการป้องกันและควบคุมแล้ว โดยในครั้งนี้ อปท. ที่ร่วมจัดตั้งกองทุน กปท.ยังคงสามารถใช้กลไกในพื้นที่นี้ เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาโควิด-19 ได้เช่นเดียวกัน ตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ. 2561 ในข้อ 10 (5) ที่ระบุว่า เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมกรณีเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติในพื้นที่ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณสุขได้ตามความจำเป็น เหมาะสม และทันต่อสถานการณ์ได้ ซึ่งขณะนี้ สปสช. ได้จัดสรรงบ กปท. ปี 2564 รอบแรกให้กับ อปท. แล้วจำนวน 6,910 แห่ง เป็นงบประมาณจำนวน 2,226.07 ล้านบาท  

โดย อปท. สามารถจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในพื้นที่ได้ 

ทั้งนี้เพื่อให้ อปท. สามารถดำเนินโครงการเร่งด่วนเพื่อทันต่อสถานการณ์การแพร่ระบาด ที่ผ่านมาบอร์ด สปสช. ได้เห็นชอบให้มีการแก้ไขประกาศกองทุน กปท. โดยเพิ่มเติมข้อความที่ให้อำนาจประธานกรรมการ กปท. ในการอนุมัติโครงการหรือกิจกรรมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณสุขกรณีเกิดการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อได้ตามความจำเป็นไม่เกิน 100,000 บาทต่อโครงการ โดยให้ถือว่าเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่คณะกรรมการกองทุนอนุมัติ โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามประกาศฯ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า การดำเนินโครงการ กปท. ในสถานการณ์เร่งด่วนขณะนี้ อปท. หลายแห่งอาจไม่มั่นใจในกฎระเบียบและกังวลการถูกตรวจสอบภายหลัง ที่ผ่านมาในการเสวนา “ใช้งบกองทุนสุขภาพท้องถิ่นอย่างไร เพื่อช่วยต้านภัยโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ”  สปสช. ได้เชิญ นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มาร่วมให้ข้อมูลและได้ให้ความมั่นใจว่า การดำเนินการนี้มีเป้าหมายเดียวกันตรงตามวัตถุประสงค์คือให้ประชาชนมีความปลอดภัยจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หากมีเจตนาบริสุทธิ์ในการช่วยเหลือประชาชนให้ดำเนินการได้เลย ไม่ต้องกังวลใดๆ สตง. จะเฝ้าระวังในกรณีที่มีเจตนาทุจริต หาผลประโยชน์ หรือกอบโกยในช่วงสถานการณ์วิกฤติเท่านั้น นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ สตง. ในทุกจังหวัดทั่วประเทศพร้อมให้คำปรึกษากับหน่วยงานต่างๆ ที่มีข้อสงสัยในการปฏิบัติงานท่ามกลางสถานการณ์ที่มีโรคระบาดที่ต้องจำเป็นเร่งด่วน เพื่อให้ความมั่นใจต่อหน่วยงานต่างๆ ในการดำเนินงานช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net