Skip to main content
sharethis

#จากโรงงานสู่ห้างนายทุน กลุ่ม 'DemHope' แขวนป้ายรณรงค์ข้อความ 'ยกเลิกมาตรา112' 'ห้างสินค้าราคาแพงแรงงานราคาถูก' และ 'แก้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน' กลางห้างดัง คาดเป็นสยามพารากอน

17 ธ.ค.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงค่ำวันนี้ มีผู้ใช้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ เผยแพร่ภาพป้ายผ้ารณรงค์ประเด็นสิทธิแรงงานและการเมืองแขวนในห้างสรรพสินค้า ข้อความประกอบด้วย 'ยกเลิกมาตรา112' 'ห้างสินค้าราคาแพงแรงงานราคาถูก' และ 'แก้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน' โดยในป้ายระบุชื่อกลุ่ม DemHope หรือ คณะประชาธิปไตยเพื่อความหวัง - Democratic Front for Hope

 

 

ทวิตเตอร์บัญชี DemHope @DemHope1 ระบุว่า เป็นกลุ่มเจ้าของ Project ที่ไปห้อยป้ายวันนี้ พร้อมเชิญชวนให้ช่วยติดแฮชแท็ก #จากโรงงานสู่ห้างนายทุน #DemHope #Santanarchist

ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ 'Noppakow Kongsuwan' รายงานด้วยว่า ป้ายดังกล่าวติดบริเวณบันไดเลื่อน ชั้น 4 และ 3 ของห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ใกล้ร้านหนังสือชื่อดัง kinokuniya ซึ่งต่อมา เจ้าหน้าที่ของห้างสรรพสินค้า ได้เก็บป้ายผ้าดังกล่าวออกไปแล้ว หลังจากที่ติดได้อยู่ไม่ถึง 1 ช.ม.

ทั้งนี้ท่ามกลางการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎร ที่เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากนายกฯ แก้รัฐธรรมนูญ รวมทั้งปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ มีแกนนำและผู้ร่วมเคลื่อนไหวถูกดำเนินคดีด้วยฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือหมิ่นประมาทกษัตริย์แล้วกว่า 34 คน โดยที่บางคนโดนมากกว่า 1 คดี มีการขยายการตีความไปเพิ่มมากขึ้นด้วย

ขณะที่เมื่อปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ… ฉบับก้าวไกล ที่แก้ไขกฎหมายในที่มีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ก็ถูกปัดตกไปเช่นกัน

โดยร่างดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. เพิ่มบทนิยาม คำว่า "การจ้างงานรายเดือน” เป็นการจ้างงานที่มีลักษณะเป็นงานประจำและเต็มเวลา โดยลูกจ้างได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน อันรวมถึงค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปี และวันลาป่วยตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ หนึ่งเดือนหมายถึงเวลา 30 วัน (ร่างมาตรา 3 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 5))

2. แก้ไขเพิ่มเติมให้เวลาทำงานลูกจ้าง เมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้ว สัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 40 ชั่วโมง เว้นแต่งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างตามที่กำหนดในกฎกระทรวงเมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้ว สัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 35 ชั่วโมง (ร่างมาตรา 4 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 23))

3. แก้ไขเพิ่มเติมให้การจ้างงานในสถานประกอบการที่มีการจ้างงานรายวันและรายเดือน ผู้จ้างงานจะต้องจ้างเป็นรายเดือนทั้งหมดโดยไม่เลือกปฏิบัติ เว้นแต่ลักษณะการจ้างงานที่มีความเฉพาะ ได้แก่ งานในภาคเกษตร งานก่อสร้าง งานที่ไม่มีความต่อเนื่อง ใช้แล้วเสร็จไป หรือไม่ใช่ธุรกิจหลักของนายจ้าง ให้ใช้ระบบสัญญาจ้างแบบกำหนดระยะเวลาโดยรับรองรายรับไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำและให้ได้รับสวัสดิการเท่ากับพนักงานระบบอื่นของผู้จ้างงาน โดยผู้ทำงานเป็นรายวัน หรือ รายชิ้น ต้องมีสัญญาจ้างงาน เมื่อคิดหน่วยทำงานต้องได้รับผลตอบแทนไม่ต่ำกว่าพนักงานรายเดือน อย่างน้อยหนึ่งฉบับ (ร่างมาตรา 5 (เพิ่มมาตรา 23/1))

4. แก้ไขเพิ่มเติมให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่า 2 วัน โดยวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องมีระยะห่างกันไม่เกิน 5 วัน (ร่างมาตรา 6 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 28))

5. แก้ไขเพิ่มเติมให้ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ 120 วัน มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 10 วันทำงาน และกำหนดให้ในปีต่อมานายจ้างอาจกำหนดวันลาหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างมากกว่า 10 วันก็ได้ และนายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างโดยคำนวณให้ตามส่วนก็ได้สำหรับลูกจ้างซึ่งยังทำงานไม่ครบ 120 วัน (ร่างมาตรา 7 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 30))

6. แก้ไขเพิ่มเติมให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดหรือเลี้ยงดูบุตร รวมกัน ไม่เกิน 180 วันต่อบุตรหนึ่งคน โดยได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่า 90 วัน และรับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานประกันสังคมเพิ่มเติมอีก 90 วัน และกำหนดให้มารดาของบุตรสามารถมอบสิทธิการลาเลี้ยงดูบุตรส่วนของตนให้บิดาตามกฎหมายของบุตรหรือคู่สมรสตามกฎหมายของตนได้ไม่เกิน 90 วัน ในกรณีไม่มีบิดาหรือมารดาให้ผู้ปกครองตามกฎหมายได้รับสิทธิ (ร่างมาตรา 8 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 41))

7. แก้ไขเพิ่มเติมให้ คณะกรรมการค่าจ้างต้องปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มทุกปีในอัตรา ไม่น้อยกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ประกาศโดยสำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรืออัตราเงินเฟ้อตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ ตามแต่ว่าอัตราใดสูงกว่า ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่าเกิดสภาวการณ์อันเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศ คณะรัฐมนตรีอาจมีมติเพื่อยกเว้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดในปีนั้นได้ และให้กำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ และค่าจ้างตามประสบการณ์ให้คณะกรรมการค่าจ้างกำหนดให้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานเพิ่มไม่ต่ำกว่าร้อยละหนึ่งต่ออายุการทำงาน 1 ปีของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกาศในปีนั้นๆ ในกรณีที่ลูกจ้างรับค่าจ้างในอัตราสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ให้กำหนดค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานเพิ่มไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1 ต่ออายุการทำงาน 1 ปี โดยใช้วิธีการคำนวณอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือและค่าจ้างตามประสบการณ์ (ร่างมาตรา 9 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 87))

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net