Skip to main content
sharethis

ในรายงานสรุปสถานการณ์สื่อขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนประจำปี 2563 พบมีผู้สื่อข่าวถูกจับกุม 387 ราย และในจำนวนนี้ 54 รายถูกจับเป็นตัวประกัน และมี 4 รายที่หายสาบสูญ โดยผู้สื่อข่าวที่ถูกคุกคามรวมจำนวนแล้วเกือบจะเท่ากับปีที่แล้ว โดยมีการละเมิดเสรีภาพสื่อและมีการจับกุมที่อ้างเรื่องการระบาดของ COVID-19

14 ธ.ค. 2563 องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) ทำรายงานสรุปสถานการณ์ประจำปี 2563 ซึ่งเป็นรายงานที่พวกเขาจัดทำเป็นประจำเกี่ยวกับการปฏิบัติในเชิงละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อนักข่าวทั่วโลก ในส่วนแรกของรายงานปีนี้ระบุถึงจำนวนผู้สื่อข่าวที่ถูกจับกุมคุมขัง โดยระบุว่ามีจำนวนผู้สื่อข่าวอยู่ในคุกรวม 387 น้อยกว่าสถิติของปีที่แล้วเพียง 2 ราย (อ่านรายงาน)

RSF ระบุว่าเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้สื่อข่าวทั่วโลกยังคงถูกคุมขังมากเป็นประวัติการณ์โดยไม่ได้ลดลง และมีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 61) ที่ถูกคุมขังอยู่ใน 5 ประเทศคือ จีน, อียิปต์, ซาอุดิอาระเบีย, เวียดนาม และซีเรีย นับเป็น 5 ประเทศที่มีการคุมขังนักข่่าวมากที่สุด

ทั้งนี้ยังมีสถิติที่แสดงให้เห็นว่านักข่าวหญิงถูกคุมขังในคุกเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 35 เทียบกับปีที่แล้วที่มีนักข่าวผู้หญิงถูกจับกุม 35 ราย ส่วนตัวเลขปีนี้ นักข่าวผู้หญิงถูกจับกุม 42 ราย กรณีล่าสุดในปีนี้มีนักข่าวหญิงถูกคุมขังถึง 4 รายในประเทศเบราลุสที่ผู้นำเผด็จการเริ่มมีการปราบปรามการต่อต้านจากประชาชนนับตั้งแต่เดือน ส.ค. เป็นต้นมา

อีกสองประเทศที่อ้างใช้สถานการณ์ COVID-19 ในการปราบปรามผู้คนคืออิหร่านและจีนก็มีการคุมขังนักข่าวหญิง ในอิหร่าน 4 ราย และในจีน 2 ราย นอกจากนี้ยังมีนักข่าวหญิงเวียดนามคือ ผ่ามดวนเจริง ที่เคยได้รับรางวัลเสรีภาพสื่อของ RSF ในปี 2562 ถูกคุมขังด้วย

องค์กร RSF อาศัยข้อมูลที่พวกเขารวบรวมมาพร้อมกับข้อมูลจาก Tracker 19 ทำให้ทราบว่ามีจำนวนการจับกุมคุมขังนักข่าวโดยพลการเพิ่มมากขึ้นในช่วง 3 เดือนแรกที่มีการประกาศวิกฤต COVID-19 (มี.ค.-พ.ค. 2563) การจับกุมคุมขังนักข่าวโดยอ้างวิกฤตในช่วงนี้คิดเป็นร้อยละ 35 ของการละเมิดเสรีภาพสื่อของปีนี้จากข้อมูลช่วงเดือน ก.พ.-พ.ย. (ขณะที่การใช้ความรุนแรงและการคุกคามสื่อด้วยสาเหตุอ้างโรคระบาดนี้นับเป็นร้อยละ 30)

ถึงแม้ว่าการจับกุมนักข่าวเหล่านี้มักจะเป็นการจับกุมชั่วคราวไม่กี่ชั่วโมง ก่อนจะได้รับการปล่อยตัว หรือในบางกรณีก็เป็นหลายวันหรือหลายสัปดาห์ แต่ก็มีนักข่าว 14 รายที่ถูกจับกุมจากการที่พวกเขาเกี่ยวข้องกับการทำข่าวเรื่องโรคระบาด COVID-19 แต่ก็ยังคงไม่ได้รับการปล่อยตัว ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามาตรการเรื่องโรคระบาดมีผลต่อการทำงานของนักข่าวจริง

คริสตอฟฟ์ เดอลัวร์ เลขาธิการ RSF กล่าวว่า "มีนักข่าวเกือบ 400 คนที่ต้องใช้เวลาในช่วงเฉลิมฉลองวันสิ้นปีในคุก ห่างจากคนที่พวกเขารักและในสภาพที่มักจะทำให้ชีวิตพวกเขาอยู่ในอันตราย"

สำหรับประเทศที่มีการก่อเหตุจับกุมนักข่าวด้วยสาเหตุเรื่อง COVID-19 มากที่สุดคือจีนที่จับนักข่าว 7 ราย ในบังกลาเทศ 2 ราย และในพม่า 1 ราย ขณะที่ในประเทศตะวันออกกลางมีหลายแห่งที่ฉวยโอกาสอ้างใช้โรคระบาดในการเพิ่มการควบคุมสื่อและการรายงานข่าว มีนักข่าว 3 รายที่ถูกจับกุมเนื่องด้วยบทความเกี่ยวกับโรคระบาดมี 2 รายในอิหร่าน และ 1 รายในจอร์แดน ในแอฟริกามีการจับกุมนักข่าวรายหนึ่งในรวันดาโดยอ้างเรื่อง "ละเมิดข้อบังคับการล็อกดาวน์"

สำหรับข้อมูลเรื่องการจับนักข่าวเป็นตัวประกันนั้นในปี 2563 นี้มีนักข่าวถูกจับเป็นตัวประกันอย่างน้อย 54 ราย ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 5 หลังจากเหตุการณ์ทีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนสนับสนุนรัสเซียในพื้นที่ดอนบัสส์ของยูเครนปล่อยตัวนักข่าวที่พวกเขาเคยจับเป็นตัวประกัน ทำให้เหลือประเทศซีเรีย, อิรัก และเยเมน ที่ยังคงมีนักข่าวถูกจับเป็นตัวประกัน ในจำนวนนี้มีนักข่าว 4 ราย ที่ถูกจับเป็นตัวประกันโดยกลุ่มกบฏฮูตีและมีการประกาศจะประหารชีวิตพวกเขาในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าพวกเขาสังหารนักข่าวเหล่านี้จริงหรือไม่หรือสังหารเมื่อใด

เรียบเรียงจาก

RSF’s 2020 round-up: 35% rise in number of women journalists held arbitrarily, Reporters Without Borders, 11-12-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net