Skip to main content
sharethis

สปสช.ร่วมรณรงค์วันเอดส์โลก ปี 2563 “Walk Together : เอดส์อยู่ร่วมกันได้ ไม่ตีตรา” สปสช. ร่วมแก้ปัญหาเอดส์ประเทศไทยต่อเนื่อง 16 ปี พัฒนาสิทธิประโยชน์ดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี เผย ปี 64 จัดงบกว่า 3.68 พันล้านบาท พร้อมขยายเป้าหมายบริการป้องกันการติดเชื้อก่อนสัมผัส (PrEP) 5,000 คน   

 

2 ธ.ค.2563 เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เพื่อให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคเอดส์ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการยอมรับและห่วงใยต่อผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ องค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันเอดส์โลก โดยในปี 2563 นี้ เป็นการรณรงค์ภายใต้แนวคิด  “Walk Together : เอดส์อยู่ร่วมกันได้ ไม่ตีตรา” เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจเกี่ยบกับเอดส์ สู่การเปลี่ยนแปลงลดการตีตราและเลือกปฏิบัติกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี  

“หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “บัตรทอง” ร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเอดส์ในประเทศและดำเนินการตาม “ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573” มาอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2548 ได้เพิ่มการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์เป็นสิทธิประโยชน์ในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ทั่วประเทศเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขที่จำเป็น โดยเฉพาะยาต้านไวรัสขณะนั้นที่มีราคาแพง ซึ่ง สปสช. ร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในการจัดหายาต้านไวรัส ขณะเดียวกันได้ร่วมดำเนินมาตรการควบคู่ในการป้องกันเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ และสนับสนุนการลดตีตราผู้ติดเชื้อ  

ตลอดระยะเวลา 16 ปี หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพัฒนาสิทธิประโยชน์เพื่อดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีย่างต่อเนื่อง นอกจากยาต้านไวรัสเอชไอวีสูตรพื้นฐานและสูตรกรณีดื้อยาที่มีการเพิ่มเติมรายการยาที่มีประสิทธิภาพ ลดผลข้างเคียงแล้ว ยังครอบคลุมบริการยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูก ส่งผลให้ปี 2559 ประเทศไทยได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก  (WHO) ให้เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นประเทศที่ 2 ของโลกในการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้สำเร็จ,  บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ไม่ว่าจะเป็นตรวจหาจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิด CD4, ตรวจหาเชื้อดื้อต่อยาต้านไวรัส, ตรวจหาปริมาณเชื้อเอชไอวีในกระแสเลือด และตรวจเลือดพื้นฐาน เป็นต้น, สนับสนุนการจัดระบบติดตามและดูแลผู้ติดเชื้อ รวมไปถึงการสนับสนุนป้องกันผู้ติดเชื้อรายใหม่ 

ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ได้เพิ่มเติมช่วงที่ผ่านมา อาทิ พัฒนาหลักเกณฑ์ให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีกับผู้ติดเชื้อทันทีโดยไม่จำกัดค่า CD4, บริการคัดกรองและตรวจยืนยันไวรัสตับอักเสบซีในผู้ติดเชื้อเอชไอวีพร้อมนำเข้าสู่กระบวนการรักษา, บริการเอกซเรย์คัดกรองวัณโรคในผู้ติดเชื้อรายใหม่ทุกรายก่อนรับยาต้านไวรัส และนำร่องบริการป้องกันการติดเชื้อก่อนสัมผัส (PrEP) ให้กับกลุ่มเสี่ยงจำนวน 2,000 ราย ในหน่วยบริการ 50 แห่ง ปี 2563 ขยายเพิ่มเป็น 5,000 ราย ในหน่วยบริการ 153 แห่ง ปี 2564 พร้อมเพิ่มเป้าหมายชุดบริการ RRTTR ซึ่งเป็นโครงการบูรณาการป้องกันร่วมกับภาคประชาสังคมจากเดิมจำนวน 77,000 รายในปี 2563 เป็นจำนวน 105,000 รายในปี 2564 เพื่อมุ่งลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ 

นพ.รัฐพล กล่าวว่า ส่วนผลการดำเนินงานด้านการบริการผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ในระบบบัตรทอง จากข้อมูลรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2563 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 309,169 คน และได้รับการดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัส จำนวน 282,095 คน หรือร้อยละ 91.24 เกินจากเป้าหมายกำหนดไว้ โดยในจำนวนผู้รับยาต้านไวรัสสามารถกดปริมาณไวรัสลงได้มีจำนวน 206,405 คน หรือร้อยละ 73 และในจำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อที่ตรวจไม่พบไวรัสในเลือด 195,998 คน หรือร้อยละ 70 ถือเป็นแนวโน้มสถานการณ์ที่ดีขึ้น 

สำหรับงบประมาณกองทุนดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ รัฐบาลได้จัดสรรงบเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน สอดคล้องการพัฒนาสิทธิประโยชน์ต่างๆ และดูแลอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน โดยปี 2564 จัดสรรที่ 3,676.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่ได้จำนวน 3,596 ล้านบาท แบ่งเป็นงบบริการดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัสและบริการที่เกี่ยวข้อง 3,405.51 ล้านบาท บริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี จำนวน 250.84 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2563 อยู่ที่ 200 ล้านบาท และการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ จำนวน 20 ล้านบาท 

“เอดส์เป็นตัวอย่างความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการร่วมแก้ไขปัญหา ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคประชาชนที่เป็นกลไกสำคัญ ทำให้สถานการณ์เอดส์ในประเทศไทยดีขึ้นมากจากอดีต อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะยังมีประเด็นการเลือกปฏิบัติ การตีตราที่ยังเป็นปัญหา แต่เชื่อว่าการรณรงค์ Walk Together : เอดส์อยู่ร่วมกันได้ ไม่ตีตรา จะช่วยลดปัญหานี้ได้” ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net