Skip to main content
sharethis

กกต.พม่า เซนเซอร์เนื้อหาการหาเสียงของพรรคการเมืองหลายพรรคทางช่องโทรทัศน์และวิทยุรัฐบาล ช่วงก่อนเลือกตั้ง เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรสิทธิและเสรีภาพ ขณะที่สื่ออิสระมองว่าการเซ็นเซอร์นี้อาจจะทำให้พวกเขาเป็นที่รับรู้จากช่องทางอื่นได้มากยิ่งขึ้น

20 ต.ค. 2563 ในการเลือกตั้งของประเทศพม่าวันที่ 8 พ.ย. ที่จะถึงนี้มีผู้แทน 7,000 ราย จากพรรคการเมืองมากกว่า 90 พรรคลงชิงชัยที่นั่งในสภา 1,171 ที่นั่ง แต่ทว่าพวกเขาต้องเผชิญกับอุปสรรคการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ก่อนหน้านี้ในเดือน ก.ค. คณะกรรมการการเลือกตั้งของพม่าหรือ UEC เปิดเผยถึงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการโฆษณาหาเสียงของพรรคการเมืองในการที่พวกเขาสามารถนำเสนอในสื่อของรัฐบาลพม่าได้ โดยมีการระบุให้ผู้สมัครเลือกตั้งเหล่านี้ต้องส่งต้นฉบับของเนื้อหาให้พิจารณา 1 สัปดาห์ก่อนการเผยแพร่ออกอากาศเพื่อให้ UEC และกระทรวงข้อมูลข่าวสารทำการตรวจสอบและอนุมัติ โดยที่เนื้อหาสามารถนำเสนอได้สูงที่สุดเป็นเวลา 15 นาที

ในกฎข้อห้ามเหล่านี้ระบุอีกว่า ห้ามไม่ให้มีการ "ก่อกวนความมั่นคง หลักกฎหมาย ความสงบเรียบร้อย และเสถียรภาพของประเทศ" ห้ามไม่ให้ "ลบหลู่" กฎหมายดั้งเดิมและรัฐธรรมนูญ ห้ามไม่ให้มีการ "หมิ่นชาติ" หรือทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสื่อมเสีย ห้ามหมิ่นกองทัพพม่าหรือทัตมาดอว์ ห้ามยุยงปลุกปั่นความขัดแย้งทางเชื้อชาติหรือศาสนา และห้ามยุยงให้เจ้าหน้าที่ข้าราชการละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือต่อต้านรัฐบาล

สำหรับประเทศพม่านั้นถึงแม้จะมีการเลือกตั้ง แต่ตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร และเพิ่งเปลี่ยนผ่านมาเป็นรัฐบาลพลเรือนแบบไม่เต็มใบในปี 2553 จากที่รัฐธรรมนูญปี 2551 ของพวกเขายังระบุให้กองทัพยังคงมีอำนาจอิทธิพลในประเทศรวมถึงในรัฐสภาอยู่

ถึงแม้ว่าในการเลือกตั้งปี 2558 พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือเอ็นแอลดี (NLD) ของอองซานซูจีจะสามารถชนะการเลือกตั้งได้แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่คุมเข้มลิดรอนเสรีภาพที่ออกมาจากกองทัพเพื่อใช้ในการลงโทษผู้ที่ต่อต้าน เช่น กฎหมายที่ห้ามวิจารณ์กองทัพก็ยังคงมีผลบังคับใช้ในพม่าอยู่ รวมถึงกฎหมายมาตรา 66(d) ของประมวลกฎหมายโทรคมนาคมที่นำมาใช้ฟ้องร้องนักวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์

มีพรรคการเมืองหลายพรรคเปิดเผยว่าพวกเขาถูกเซนเซอร์คำปราศรัยหาเสียงเนื่องจากการบังคับใช้กฎเกณฑ์ของ UEC จนถึงวันที่ 4 ต.ค. ที่ผ่านมามีพรรคการเมือง 10 พรรคในพม่าที่บอกว่าพวกเขาถูกเซนเซอร์ มีพรรคการเมือง 6 พรรคที่ตัดสินใจไม่เผยแพร่คำปราศรัยหหาเสียงของตัวเองออกอากาศทางสื่อของรัฐบาล

พรรค "ประชาธิปไตยเพื่อสังคมใหม่" หรือ DPNS ของพม่ากล่าวว่ากฎเกณฑ์ของ UEC มีความคลุมเครือเกินไปซึ่งทำให้ทางการอ้างตีความเอาเองเพื่อเซนเซอร์คำปราศรัยหาเสียงตามอำเภอใจได้ โนโนเทซาน (Noe Noe Htet San) รองประธานพรรคยังเปิดเผยอีกว่าพวกเขาถูกห้ามไม่ให้พูดแม้แต่คำว่า "ถูกกดขี่" ห้ามไม่ให้พูดถึงเรื่องสิทธิเด็ก มีการกดขี่ในเชิงการใช้กฎหมายและประเด็นอื่นๆ ที่พวกเขาอยากจะแก้ไขแต่ในเมื่อพูดไม่ได้พวกเขาก็จะหันไปใช้ช่องทางอื่น

เลขาธิการพรรคสันนิบาตยะไข่เพื่อประชาธิปไตยหรือ ALD เมียวจอ (Myo Kyaw) กล่าวว่าคำปราศัยของเขาก็ถูกเซนเซอร์เช่นกัน โดยที่พวกเขากล่าวหาว่าพรรครัฐบาลที่นำโดย NLD ได้ใช้วิธีการเดียวกับรัฐบาลเผด็จการทหารคือการเซนเซอร์ ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ควรจะยุ่งเกี่ยวกับน้ำเสียงท่าทีของพรรคการเมืองต่างๆ และควรจะให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพราะในฐานะพรรคการเมืองพวกเขาควรจะสามารถแสดงออกความคิดเห็นและทัศนะความเชื่อของตัวเองได้

โกโกจี ประธานพรรคพีเพิลปาร์ตีเปิดเผยว่าคำปราศรัยของพวกเขาถูกปฏิเสธจาก UEC จากการที่พวกเขาต้องการพูดถึงเรื่องปัญหาที่ผู้ประกอบการในประเทศกำลังเผชิญปัญหาการแข่งขันกับนักลงทุนต่างชาติได้อย่างยากลำบากเพราะต้องเผชิญกับดอกเบี้ยสูง นอกจากนี้ยังต้องการปรับเปลี่ยนการเก็บภาษีในการที่จะไม่กลายเป็นการสร้างภาระทางภาษีให้ประชาชนแต่ทำให้ภาษีมีความเป็นธรรมและมีระบบที่เข้าใจง่ายขึ้น การที่ถูกเซนเซอร์และดัดแปลงทำพูดทำให้พรรคของโกโกจีจะเลิกใช้ช่องทางสื่อโทรทัศน์รัฐบาลหันไปใช้ข่องทางอื่น

"พวกเราไม่ยอมรับ(การเซนเซอร์)เพราะมันละเมิดหลักการและมาตรฐานประชาธิปไตยแบบมีหลายพรรคการเมือง นั่นคือเหตุผลว่าทำไมพวกเราถึงจะไม่มีส่วนร่วมกับการเผยแพร่ผ่านสื่อของรัฐบาล" โกโกจีกล่าว

อย่างไรก็ตามสื่ออิสระฟรอนเทียร์เมียนมาร์กล่าวว่าการตัดสินใจของพรรคการเมืองบางพรรคที่จะไม่เผยแพร่คำปราศรัยหาเสียงของตัวเองออกอากาศสื่อโทรทัศน์ช่องรัฐบาลนั้นกลับอาจจะทำให้พรรคเหล่านี้เป็นที่รับรู้และดูดีขึ้นในสายตาประชาชนได้ เพราะพรรคเหล่านี้จะได้รับการนำเสนอผ่านสื่ออื่นๆ ในเรื่องการถูกเซนเซอร์ รวมถึงเรื่องที่พวกเขายืนยันหลักการต่อต้านการเซนเซอร์เหล่านี้

องค์กรต่างประเทศวิพากษ์วิจารณ์การเซนเซอร์คำปราศรัยหาเสียงจากรัฐบาลพม่า ฮิวแมนไรท์วอทช์วิจารณ์ในเรื่องนี้ว่าเป็นการทำลายกระบวนการเลือกตั้งที่เป็นธรรมโดยสกัดกั้นไม่ให้ฝ่ายค้านเสนอนโยบายของตัวเองอย่างเต็มที่ถ้าหากนโยบายเหล่านั้นเป็นการวิจารณ์รัฐบาล ทหารหรือกฎหมายลิดรอนสิทธิฯ จำนวนมากในประเทศพม่า

แมทธิว บูเกอร์ จากองค์กรด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและข้อมูลข่าวสาร ARTICLE 19 วิจารณ์ว่ากฎเกณฑ์ของคณะกรรมการการเลือกตั้งพม่าลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การจำกัดเสรีภาพเช่นนี้เสมือนการกลับไปสู่การเซนเซอร์สมัยภายใต้รัฐบาลทหาร ถือเป็นการจำกัดไม่ให้พรรคการเมืองอื่นๆ พูดถึงรัฐบาลและกองทัพได้เต็มที่


เรียบเรียงจาก:

Myanmar's election commission censors speeches of political parties in run-up to election, Global Voices, 19-10-2020
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net