Skip to main content
sharethis

นายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ เสนอวาระในที่ประชุม อบจ. ให้จุฬาฯ แจงกรณีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ ไม่สวมหน้ากากขณะรับปริญญาและรักษามาตรการอย่างเคร่งครัดในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร รวมทั้งแต่งกายอย่างสร้างสรรค์ นิสิตควรน้อมนำมาปฏิบัติตามเมื่อเข้ารับปริญญาด้วยหรือไม่

13 ต.ค.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ' รายงาน กรณีที่ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ เสนอวาระในที่ประชุมองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ (อบจ.) ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แจงกรณีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ไม่สวมหน้ากากขณะรับปริญญาและรักษามาตรการอย่างเคร่งครัดในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร

เพจ 'สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ' ระบุว่า เมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา เนติวิทย์ พร้อมด้วย กฤตภาส เชษฐเจริญรัตน์ อุปนายกฝ่ายกิจการมหาวิทยาลัย และ ธีรภัทร อรุณรัตน์ อุปนายกฝ่ายกิจการภายนอก เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมัยสามัญครั้งที่ 5/2563

การนี้ นายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ เสนอวาระในที่ประชุมฯ ให้ อบจ. ส่งหนังสือภายในไปยังอธิการบดี เพื่อให้มีการชี้แจงกรณีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงไม่สวมหน้ากากอนามัยขณะรับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ซึ่งขัดกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด–19 ของมหาวิทยาลัย ที่ปรากฏอย่างแพร่หลายให้สาธารณชนได้ทราบ

นายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ เสนอให้มีการส่งหนังสือภายในขอคำชี้แจงจากมหาวิทยาลัยก่อนว่าอาจมีเหตุผลประการใด หากเป็นเพราะพระองค์อาจไม่ได้รับแจ้ง แต่เป็นเพราะการละเว้นของมหาวิทยาลัย อธิการบดีควรทำการขอโทษต่อประชาคม แต่หากเป็นเพราะพระองค์ไม่ปฏิบัติตามมาตรการเอง จะให้มีทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายหนังสือกราบบังคมทูลให้ทรงปรับปรุงพระองค์ไปยังสำนักพระราชวัง

นายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ได้เสนอในที่ประชุมดังนี้ 

“เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นวันที่น่าปีติของปวงนิสิตที่ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรสำเร็จการศึกษา ปีนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปฏิบัติตามนโยบายรักษาระยะห่าง (Social Distancing) ที่เคร่งครัดเอาการตั้งแต่ขั้นตอนการคัดกรองผู้ป่วย ไปจนถึงตอนรับพระราชทานปริญญาบัตร ใน LINE ของบัณฑิตได้มีการลงข้อความในกลุ่มว่า ...

จากการสอบถามเรื่องมาตรการโควิด ในประเด็นการใส่หน้ากากอนามัยในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
Q : จะต้องถอดหรือต้องใส่ในขณะรับปริญญาบัตร?
A : จะต้องใส่ขึ้นรับพระราชทานปริญญาบัตรด้วย ไม่มีการถอดใดๆ ทั้งสิ้น
(ประกาศอย่างไม่เป็นทางการ จากอาจารย์และเจ้าหน้าที่ฝ่ายฝึกซ้อม)

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังดำเนินการอย่างเคร่งครัด ในระหว่างพิธีการ นิสิตใส่หน้ากากอนามัยมาจากบ้าน แล้วมารับจากที่มหาวิทยาลัยอีกต่อหนึ่ง นิสิตที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรทุกคน ได้ปฏิบัติการตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ถึงพวกเขาจะได้ภาพถ่ายที่ตัวเองใส่หน้ากากอนามัย ไม่ใบเห็นหน้าเต็มก็ยอม เพราะทำตามมาตรฐานทางสังคมในฐานะพลเมืองที่ดี

อย่างไรก็ดี ในช่วงบ่ายวันดังกล่าว มีพิธีพระราชทานดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ หนึ่งในผู้ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรคือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา กลับปรากฏภาพต่อสาธารณชนว่าพระองค์ไม่ได้ทรงสวมหน้ากากอนามัยขณะรับพระราชทานปริญญาบัตรจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทั้งที่นิสิตและผู้ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ท่านอื่น ๆ ต่างสวมหน้ากากอนามัยทุกคน มิพักต้องกล่าวถึงสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ที่ทรงสวมหน้ากากอนามัยแม้ขณะพระราชทานพระราโชวาทแก่บัณฑิต จนถึงอธิการบดีที่ขานพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรี ก็ยังใส่หน้ากากอยู่ด้วย ประเด็นนี้สร้างข้อกังขาให้แก่นิสิตและประชาชนโดยทั่วไปว่าเหตุใดการณ์จึงเป็นไปเช่นนี้ มีผู้สงสัยว่าเป็นการตัดต่อภาพของพระองค์หรือไม่ จนถึงตั้งคำถามว่ามีการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นระหว่างพิธีพระราชทานปริญญาบัตร

ข้าพเจ้าก็มีความสงสัยเช่นกัน แม้ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์นั้นจะทรงสวมหน้ากากอนามัยตลอดยกเว้นตอนรับพระราชทานปริญญา แต่ก็รู้สึกว่าไม่ถูกต้องเลยหากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอนุญาตให้เฉพาะพระองค์เป็นกรณียกเว้น หากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยละเลยดังว่าย่อมเป็นการสองมาตรฐาน และทำให้มาตรการต่าง ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแค่เรื่องขึ้นอยู่กับสถานะบุคคล ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นเรืองความเสมอภาคให้แก่นิสิตและประชาชนได้ อธิการบดีก็ควรออกมาขอโทษ และพวกเราในฐานะสโมสรนิสิตก็ควรจะกดดันให้อธิการบดีทำเช่นนั้น

ถ้าหากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีทรงทราบคำตักเตือนแล้ว แต่ไม่ทรงปฏิบัติตาม ในฐานะสาธารณบุคคลและบุคคลสำคัญของชาติ ถือว่าพระองค์ทรงทำไม่ถูกต้องเพราะทรงมีความรับผิดชอบอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและประชาชน ทรงต้องเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม ยิ่งเรื่องการปฏิบัติตนระหว่างวิกฤติโรคระบาดด้วยแล้ว ถือเป็นความรับผิดชอบสำคัญอย่างยิ่ง ในฐานะพวกเราสโมสรนิสิตย่อมไม่ต้องการให้เกิดภาวะหย่อนยานและเลือกปฏิบัติ เป็นการสมควรยิ่งที่พวกเราจะถวายหนังสือกราบบังคมทูลด้วยความเคารพถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์นั้นว่าพระองค์ได้ประพฤติสิ่งอันมิบังควร และขอให้ทรงปรับปรุงพระองค์เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่สังคมสืบไป

ข้าพเจ้าขอเสนอให้ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ตรวจสอบว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลมาจากมาตรการละเว้นของทางมหาวิทยาลัยหรือไม่ ถ้าใช่ ขอให้พวกเราทำหนังสือขอให้อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขอโทษประชาคมและสังคม ถ้าหากไม่ใช่มาตรการละเว้นแล้ว ขอให้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายหนังสือกราบบังคมทูลให้ทรงปรับปรุงพระองค์เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่สังคม โดยเฉพาะในช่วงโรคระบาดโควิด-19 นี้ เพื่อที่พวกเราเหล่านิสิตทั้งหลายจะได้สืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชจริยวัตรได้อย่างสนิทใจสืบไป”

นอกจากนี้ นายกสโมสรนิสิตคณะเภสัชศาสตร์ เสนอว่า ให้มีการเผยแพร่หนังสือที่ส่งถึงมหาวิทยาลัยด้วย ให้สาธารณชนได้ทราบว่า อบจ. ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องนี้ ในฐานะที่พวกเราเป็น อบจ.

เหรัญญิก อบจ. เสนอว่า หากการทำหนังสือถึงอธิการบดีเผยแพร่ออนไลน์ด้วยจะส่งผลดี ทำให้สาธารณชนได้ทราบว่าจากที่ทาง อบจ. ได้ส่งหนังสือไปแล้วนั้น มหาวิทยาลัยจะมีการโต้ตอบเมื่อใด

มติที่ประชุม “รับรอง” วาระดังกล่าว ให้ส่งหนังสือภายในไปยังอธิการบดีเพื่อให้มีการชี้แจงกรณีดังกล่าว ด้วยคะแนนรับรอง 17 เสียง ไม่รับรอง 1 เสียง และงดออกเสียง 7 เสียง จากผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 25 เสียง  ทั้งนี้ หากผลเป็นอย่างไรจะมาแจ้งในที่ประชุมฯ อีกครั้ง

ทั้งนี้ นายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ เสนอวาระให้มีการน้อมนำแนวทางสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสนอให้กับมหาวิทยาลัยพิจารณาการบังคับใส่เครื่องแบบพิธีการในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรกับนิสิตทุกคน

นายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ เสนอในที่ประชุมว่า

“นอกจากกรณีเรื่องหน้ากากอนามัยของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ แล้ว ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตเรื่องฉลองพระองค์ของพระองค์ด้วย

ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง การแต่งกายของบัณฑิตในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2562 กำหนดให้ผู้ได้รับพระราชทานดุษฎีบัณฑิตต้องแต่งกายอย่างไร แต่เมื่อทรงได้รับพระราชทานปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ก็อาจจะตรงกับ ข้อ 8 ที่ให้ดุลพินิจแก่ประธานพิจารณา

กระนั้นก็ดีเรื่องนี้แตกต่างกับหน้ากากอนามัยที่เป็นมาตรการทางสังคม เสื้อผ้ามิได้เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว
พวกเราเห็นด้วยหรือไม่ว่า พระองค์ผู้ทรงได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางศิลปกรรมศาสตร์ของจุฬาฯ ทรงแต่งพระองค์ได้อย่างเฉิดฉาย โดดเด่น งดงาม สมกับที่มหาวิทยาลัยได้ประกาศว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “มีพระอัฉจริยะภาพด้านศิลปกรรมศาสตร์ …... ทรงพระปรีชาสามารถในการประยุกต์ความรู้ด้านศิลปกรรมศาสตร์และบูรณาการกับศาสตร์อื่นๆ ในลักษณะสหสาขาวิชา …... และยังทรงมีพระปรีชาสามารถโดดเด่นและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ในด้านการออกแบบเครื่องแฟชั่นและเครื่องประดับ”

ข้าพเจ้าขอเรียนถามในที่นี้ว่า ในเมื่อมหาวิทยาลัยสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ และทูลเกล้าฯ ถวายดุษฎีบัณฑิตให้พระองค์ทำไมนิสิตจุฬาฯ คนอื่นๆ จึงไม่อาจแต่งกายได้ไม่เฉิดฉาย โดดเด่น งดงาม ทั้งที่ในวันดังกล่าวควรจะเป็นวันที่พวกเขาได้เฉิดฉายมากที่สุดหลังจากพิริยะอุตสาหะมานานนับปี ระเบียบของจุฬาฯ เก่าไปแล้วหรือไม่ ในเมื่อยกย่องพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ก็สมควรที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด ให้นิสิตจุฬาฯ ได้แต่งตัวอย่างงดงามกันถ้วนหน้า

อนึ่ง เรื่องนี้น่าจะยังความยินดีให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าด้วย เพราะพระองค์จะได้ทอดพระเนตรเห็นบัณฑิตจุฬาฯ มีความภาคภูมิใจ แต่งกายอย่างมีความคิดสร้างสรรค์ และไม่ทรงหน่ายพระราชหฤทัยที่จะต้องพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตนับพันๆ คน

ข้าพเจ้าจึงขอให้องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) มีมติเสนอเรื่องให้ มหาวิทยาลัยทบทวนระเบียบการแต่งกายของผู้ได้รับปริญญาบัตรด้วย ให้สมกับที่ถวายดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาศิลปกรรมศาสตร์แก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา”

ผู้แทนนิสิตอักษรศาสตร์ เสริมว่า การใส่ชุดสุภาพไว้ข้างในเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยทั่วโลกก็ทำกัน เป็นสิ่งสากล คิดว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ได้นำกฎระเบียบมหาวิทยาลัยที่เราไม่เคยแตะต้องมาคุยกันด้วยเหตุผล ด้วยกระแสปัจจุบัน ที่บัณฑิตอาจจะต้องการแต่งกายในชุดที่คิดว่าดีที่สุดในวันที่ภาคภูมิใจที่สุดก็เป็นได้ และคิดว่าชุดข้างในที่ใส่เพียงครั้งเดียวในโอกาสนี้เท่านั้น เป็นการค่อนข้างผูกขาด และเป็นค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง นอกจากนี้ จากกระแส #ไม่รับปริญญา ในตอนนี้ ถ้าทางมหาวิทยาลัยต้องการให้มีบัณฑิตเข้าร่วมพิธีมากขึ้น ส่วนตัวจึงเห็นว่า ถ้ากฎระเบียบมีความยืดหยุ่น บัณฑิตได้แต่งกายตามที่ต้องการอาจทำให้บัณฑิตมีความต้องการเข้ารับปริญญามากขึ้นด้วยก็เป็นได้ หรือการใส่ชุดตามที่ต้องการทำให้ผู้ที่จำเป็นต้องเข้ารับ ไม่ต้องทุกข์ทรมานกับชุดที่อึดอัด และต้องเสียงเงินจำนวนมากเพื่อตัดชุดที่ใช้เพียงไม่กี่ครั้งอีกต่อไป

ผู้แทนนิสิตคณะจิตวิทยา เห็นด้วยกับการไม่จำกัดเรื่องเครื่องแบบในงานรับปริญญา อย่างหลักสูตรนานาชาติของคณะฯ ที่รับปริญญาในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ระเบียบของมหาวิทยาลัยที่นั่นก็ระบุเพียงใส่ชุดสุภาพข้างในในการรับปริญญาเท่านั้น เห็นด้วยกับการเปลี่ยนเป็นเสื้อสุภาพและเป็นเสื้อคลุมตาม เหมือนดังมหาวิทยาลัยควีนซ์แลนด์

เหรัญญิก อบจ. กล่าวว่า ข้อเท็จจริงคือการแต่งกายในงานพิธีนี้ไม่ได้มีบัญญัติไว้ชัดเจนในกฎระเบียบเพราะกฎได้ให้อำนาจมหาวิทยาลัยในการออกประกาศ เป็นรายครั้งไป คิดว่าอาจเริ่มเปลี่ยนแปลงได้ในปีหน้า เพราะค่อนข้างให้อำนาจมหาวิทยาลัยมากในการตัดสินใจ

ประธานฝ่ายวิชาการ อบจ. เห็นด้วยกับข้อเสนอข้างต้น คิดว่าการทำหนังสือเสนอการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องอ้างถึงพระองค์ก็ได้ เพราะควรเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่จะสามารถใส่อะไรก็ได้ คิดว่าหากอ้างถึงกรณีพระองค์อาจลดคุณค่าสิ่งที่ควรจะเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว จึงคิดว่าไม่จำเป็นต้องอ้างถึงพระองค์ก็ได้ เพราะเป็นเรื่องสมควรอยู่แล้วที่นิสิตควรสามารถแต่งตัวสุภาพไม่ขึ้นกับเครื่องแบบ

เหรัญญิก อบจ. เสริมว่า การกำหนดเครื่องแบบ เป็นการกำหนดรายปี โดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการแก้ไขข้อระเบียบใดๆ และสามารถเสนอให้กับมหาวิทยาลัยในการศึกษาแก้ไขต่อไปได้เลย

นายกสโมสรนิสิตคณะเภสัชศาสตร์ เสริมว่า ควรมีผู้ดูแลผลักดันเรื่องที่เสนอให้กับมหาวิทยาลัยด้วย และคิดว่าความจริงไม่จำเป็นต้องอ้างถึงพระองค์ก็ได้ เพราะเป็นที่การตั้งใจของนิสิตเองที่ต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบให้ดีขึ้น ไม่จำเป็นต้องอ้างถึงพระองค์เพราะคนทั่วไปก็อ้างถึงเอาเองได้อยู่แล้ว และเสริมว่า ควรมีการติดตามเรื่องหนังสือต่างๆ จากทางมหาวิทยาลัยด้วย

นายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ เห็นด้วยกับข้อคิดเห็นข้างต้น

มติที่ประชุม “รับรอง” และเปลี่ยนชื่อวาระดังกล่าว ให้ อบจ. เสนอมหาวิทยาลัยให้มีการทบทวนเรื่องการแต่งกายของบัณฑิตที่ยืดหยุ่นมากขึ้นสำหรับพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในปีการศึกษาถัดไป ด้วยคะแนนรับรอง 21 เสียง ไม่รับรอง 1 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง จากผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 25 เสียง

โดยสรุป ที่ประชุมฯ มีมติ "รับรอง" ทั้งสองวาระข้างต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net