Skip to main content
sharethis

จากกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลไทยหลังจากการรัฐประหารในปี 2557 มักจะทำสัญญาซื้อขายอาวุธกับจีนด้วยงบประมาณจำนวนมากแม้กระทั่งในช่วงที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจาก COVID-19 นักวิชาการจากหลายประเทศวิเคราะห์เห็นว่าประเทศไทยไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ใดๆ เลย โดยเฉพาะในทางน่านน้ำที่ไทยไม่ได้มีส่วนอะไรกับความขัดแย้งทะเลจีนใต้และความมั่นคงทางทะเลอันดามันกับอ่าวไทยก็ไม่จำเป็นต้องใช้เรือดำน้ำ

สื่อเซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์รายงานว่า หลังจากที่มีกระแสต่อต้านจากประชาชน ทางการไทยก็ชะลอการตัดสินใจซื้อเรือดำน้ำอีก 2 ลำจากจีน มีนักวิเคราะห์และนักการเมืองเปิดเผยว่า สาเหตุของเรื่องนี้มาจากการที่ทางการไทยถูกกดดันมากขึ้นให้ต้องตอบคำถามว่าจะซื้อยุทโธปกรณ์เหล่านี้ไปทำอะไร

นักวิเคราะห์เรื่องความมั่นคงในฮ่องกงเสนอว่า อาจจะมีเรื่องการเมืองโลกที่กดดันไทยอยู่เบื้องหลังตรงจุดนี้ด้วย จากการที่ไทยเป็นพันธมิตรในเชิงสนธิสัญญากับสหรัฐฯ ในขณะที่สหรัฐฯ กับจีนมีความขัดแย้งกันในช่วงที่สหรัฐฯ กำลังจะมีการเลือกตั้งใหม่ในอีกไม่นานนี้

สื่อจากฮ่องกงรายงานว่า ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส. พรรคเพื่อไทย ตั้งคำถามว่าผบ.กองทัพเรือไทยและบริษัทที่สร้างเรือดำน้ำในจีนมีขอบเขตอำนาจในการซื้อขายยุทโธปกรณ์เหล่านี้หรือไม่ จากที่รัฐบาลไทยทำการลงนามซื้อขายเรือดำน้ำเหล่านี้ตั้งแต่เมื่อปี 2560 โดยที่ยุทธพงศ์กล่าวว่าการจะซื้อขายเรือดำน้ำเหล่านี้นั้นต้องมี "หนังสือรับมอบอำนาจเต็ม" ถึงจะนับเป็นการซื้อขายที่ถูกต้องได้

เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ตั้งข้อสังเกตว่า นับตั้งแต่รัฐประหารในปี 2557 ที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นสู่อำนาจ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนในด้านกลาโหมก็มีมากขึ้น โดยที่จีนทำตัวเป็นผู้ค้าอาวุธให้กับไทยและหลังจากที่มีการเลือกตั้งปี 2562 จนทำให้ประยุทธ์ขึ้นสู่อำนาจอีกครั้งก็ถูกวิจารณ์กันมากในเรื่องการโกงการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยก็มีแผนการซื้อยุทโธปกรณ์จีน เช่น รถถัง VT4 จากจีนเพิ่มอีก 14 คัน นอกจากนี้ยังมีการแสดงออกว่ามีความสนใจเรื่องการฝึกซ้อมรบร่วมกันด้วย

ซ่งจงปิง นักวิจารณ์เรื่องการทหารจากฮ่องกงประเมินว่า อาจจะมีเรื่องที่สหรัฐฯ และไทยเป็นพันธมิตรกันในทางสนธิสัญญาที่มีอิทธิพลกับการตัดสินใจนี้ หลังจากที่ประชาชนผู้ใช้ทวิตเตอร์ต่อต้านด้วยการ่วมกันประกาศว่าประชาชนไม่ต้องการเรือดำน้ำ นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังเคยเป็นผู้ค้าอาวุธรายใหญ่ให้กับไทยก่อนหน้านี้ด้วย

ผู้ที่วิจารณ์เรื่องนี้มองว่ารัฐบาลไทยไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนว่าทำไมถึงพยายามรีบซื้อเรือดำน้ำเหล่านี้ ถึงแม้ว่ากองทัพเรือไทยเพิ่งจัดแถลงข่าวในเรื่องนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วอ้างว่าจะเพิ่ม "สมรรถนะในการป้องปราบ" โดยเฉพาะในเรื่องความมั่นคงทะเลจีนใต้ แต่ก็มีผู้สังเกตการณ์ไม่เชื่อในเรื่องนี้ หนึ่งในนั้นคือ พอล แชมเบอร์ส อาจารย์จากศูนย์ประชาคมอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร

แชมเบอร์ส กล่าวว่า ไทยไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับประเด็นความขัดแย้งทะเลจีนใต้ที่มีกลุ่มขัดแย้งเป็นเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และจีน นอกจากนี้การที่ไทยซื้อเรือดำน้ำจากจีนแล้ว จีนคงไม่อยากให้ใช้เรือดำน้ำของตัวเองเอาไปยุ่งเกี่ยวอะไรกับทะเลจีนใต้อยู่แล้ว ข้ออ้างเรื่องที่มีการแถลงข่าวมานี้จึงเป็นแค่ "การคุยโต" เท่านั้น

เรื่องหนึ่งที่ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการซื้อเรือดำน้ำนี้คือการใช้งบประมาณจำนวนมากไปในช่วงที่เศรษฐกิจของไทยที่พึ่งพิงภาคส่วนการค้าและการท่องเที่ยวกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดหนักของ COVID-19 และมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะหดตัวลงร้อยละ 8.5 ในปีนี้

และในช่วงที่มีการประท้วงจากกลุ่มนักเรียนนักศึกษาผู้ต่อต้านรัฐบาลในระยะนี้ แชมเบอร์สก็มองว่าประเด็นเรื่องเรือดำน้ำกลายเป็นประเด็นที่ประชาสังคมไทยนำมาใช้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลประยุทธ์เพราะการที่กองทัพเรือยืนยันจะซื้อยุทโธปกรณ์แพงๆ ให้ได้แม้แต่ในช่วงที่มีการะบาดหนัก นอกจากนี้ยังมีเรื่องความไม่โปร่งใสในเรื่องการทำสัญญาซื้อขายด้วย

ซ่งวิเคราะห์จากมุมมองของจีนว่าสำหรับจีนแล้วการขายเรือดำน้ำให้ไทยเป็นเรื่องเข้าใจได้ในแง่ที่ไม่ใช่แค่เรื่องการค้าขายอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการการันตีการนับน่าถือตาระหว่างสองประเทศด้วย

เสก โสภาล นักวิจัยเรื่องความมั่นคงจากมหาวิทยาลัยริทสึเมคังเอเชียแปซิฟิกในญี่ปุ่นกล่าวว่า ในตอนนี้จีนมีความกังวลเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในไทยที่มีความไม่แน่นอนในสายตาของพวกเขาทำให้อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสัญญาการซื้อขายอาวุธได้

โสภาล กล่าวอีกว่า สำหรับไทยแล้วเรื่องผลประโยชน์จากความมั่นคงทางทะเลจะอยู่ที่อ่าวไทยและทะเลอันดามัน แต่ทั้งสองแห่งนี้ไม่มีภัยความมั่นคงในแบบที่ต้องสู้รบจริงจังแต่มักจะเป็นอาชญากรรมจำพวกการประมงผิดกฎหมาย การค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ และการค้าของเถื่อน มีข้อพิพาทกรรมสิทธิกับพม่าและกัมพูชาอยู่บ้างบางส่วน ซึ่งภัยและอาชญากรรมเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องใช้เรือดำน้ำแต่อย่างไร


เรียบเรียงจาก : 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net