Skip to main content
sharethis

กิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มคนไทยในสก็อตแลนด์เริ่มอีกครั้งหลังการล็อคดาวน์ทั่วประเทศเพื่อรับมือกับการระบาดของโควิดเป็นเวลาหลายเดือนสิ้นสุดลง ล้อไปกับกิจกรรมการชุมชุมของกลุ่มคนไทยในลอนดอนและในเมืองอื่นๆ ของยุโรปในช่วงที่ผ่านมา

30 ส.ค.2563 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานจาก กลุ่ม Thai Rise in Scotland ว่า วานนี้ (29 ส.ค.63) กลุ่มซึ่งประกอบด้วยนักเรียนไทยและคนไทยในสก็อตแลนด์ราว 15 คน เดินทางท่ามกลางอุปสรรคในการเดินทาง จากรถไฟระหว่างเมืองที่หยุดเดินกะทันหัน และเมืองบางแห่งถูกปิด เพื่อรวมตัวกันที่สวนสาธารณะ St.Andrew Square เมืองเอดินบะระ เมืองหลวงแห่งสก็อตแลนด์ จัดกิจกรรม "ร่วมรื้อ ร่วมสร้าง ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ" เพื่อรณรงค์ร่วมลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญร่วมกับไอลอว์ (iLaw) และเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน และเพื่อแสดงความสนับสนุนการแสดงออกทางการเมืองของผู้ชุมนุมในประเทศไทย

ผู้ชุมนุมได้อภิปรายร่วมกันในสวนสาธารณะแห่งนี้ถึงสถานการณ์การเมืองไทย ซึ่งมีการคุกคามประชาชนที่ออกมาเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองอย่างกว้างขวาง โดยผู้อภิปรายคนหนึ่งซึ่งเคยทำงานด้านสิทธิมนุษยชนได้สะท้อนถึงความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลต่อผู้คนในการเมืองระดับบนเท่านั้น หากยังส่งผลต่อระบบดูแลคุ้มครองสิทธิคนตัวเล็กตัวน้อยด้วย อาทิ การดูแลคุ้มครองเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งตอนนี้ระบบไม่ทำงานในแบบที่ควรจะเป็น

อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาอภิปราย คืออำนาจนิยมที่นำไปสู่การก่อร่างสร้างวัฒนธรรมความรุนแรง ตั้งแต่ในระดับโรงเรียน โดยถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องปกติ เมื่อมีรัฐบาลเผด็จการมาปกครองประเทศ กลไกอำนาจนิยมนี้ก็ถูกนำมาเป็นเครื่องมือให้เผด็จการควบคุมและละเมิดสิทธิประชาชนที่ออกมาแสดงออกทางการเมือง

“ในฐานะนักกฎหมายและคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนคนหนึ่ง เรารู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมของไทย กฎหมายไทย โครงสร้าง ควรถูกออกแบบและถูกนำมาปฏิบัติเพื่อคุ้มครองประชาชน แต่สิ่งที่เราเห็นก็คือ ผู้ชุมนุมถูกอำนาจรัฐ ถูกการนำกฎหมายมาคุกคาม มันทำให้เห็นว่า จริงๆ แล้วระบบยุติธรรมของเราล้มเหลวแค่ไหน มีการละเมิดอำนาจโดยผู้ถืออำนาจกฎหมาย กลายเป็นว่าประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพถูกละเมิด กลายเป็นว่าคนที่เป็นเหยื่อจริงๆ ก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง มันกลับตาลปัตรกันหมดเลย เราต้องพูดกันอย่างจริงจังว่า กระบวนการยุติธรรมและกฎหมายต้องมีไว้คุ้มครองประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อคุ้มครองประชาชน ช่วยเหลือเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง เด็ก ประชาชนที่ถูกละเมิด เด็กนักเรียนที่ถูกละเมิดในโรงเรียน ตำรวจต้องไปคุ้มครองประชาชนเหล่านี้ ไม่ใช่ทำงานตามนายสั่ง แต่ทุกวันนี้สิ่งที่เราเห็นก็คือ กฎหมายถูกออกแบบมาคุกคามประชาชน ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตามนายสั่ง โดยเอาภาษีประชาชนไปใช้เพื่อทำร้ายประชาชน” นักเรียนกฎหมายคนหนึ่ง กล่าว

ในขณะที่นักเรียนปริญญาเอกทางด้านกฎหมายอีกคนหนึ่ง สะท้อนในประเด็นกระบวนการยุติธรรมเช่นกันว่า ทุกวันนี้เสมือนว่าสถาบันต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา หรือแม้แต่ผู้สอนกฎหมาย ได้สมรู้ร่วมคิดกันใช้กฎหมายอย่างสองมาตรฐาน โดยตนเห็นสิ่งนี้มาตั้งแต่ก่อนรัฐประหารปี 49 ยิ่งพอมาเรียนกฎหมาย ก็พบว่ามีการพร่ำสอนกันในโรงเรียนสอนกฎหมายว่า ผู้ใช้กฎหมายต้องมีนิติรัฐ นิติธรรม แต่การใช้กฎหมายจริงๆ ในสังคมไทยกลับไม่เป็นเช่นนั้น ไม่เป็นเช่นที่อาจารย์สอน

“เราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในสถาบันตุลาการ จะมีซักครั้งหนึ่งไหมที่ผู้พิพากษาจะบอกว่า การรัฐประหารไม่ชอบธรรมและเขาไม่ยอมรับรัฐประหาร ไม่นิรโทษกรรมผู้ทำรัฐประหาร หรือในคดีการเมืองที่เราก็เห็นการใช้กฎหมายอย่างสองมาตรฐาน ในคดีของคนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่มีอำนาจรัฐก็มีการใช้อำนาจกฎมายอย่างเต็มที่หรือบางครั้งเกินขอบเขต เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง แบบไม่ใช่การมากระซิบกันว่า จริงๆ ก็เข้าใจนะ แต่ถึงเวลาอยู่บนบัลลังก์ก็ต้องรักษาอาชีพ รักษาสวัสดิภาพของตัวเอง เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งตัวองค์กรตุลาการและผู้บังคับใช้กฎหมาย ที่ผ่านมามันไม่เป็นธรรมต่อประชาชน เราอยากเห็นพวกเขาทำเพื่อประชาชน ไม่ใช่เมื่อคุณเข้าไปอยู่ในองค์กรตุลาการแล้วก็แยกตัวออกจากประชาชน”

ส่วนนักเรียนทางด้านสังคมวิทยาคนหนึ่ง ได้พูดถึงความหวังที่ปรากฏขึ้นในสังคมไทยในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยนักศึกษาไทยได้ทลายกำแพงแห่งความกลัว ออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน จนการไปชุมนุมทางการเมืองกลายเป็น new normal ของคนรุ่นใหม่ไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีการขยับเพดานการพูดคุยในประเด็นสำคัญอย่างการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้สังคมไทยอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ทว่าขบวนการประชาธิปไตยไทยก็ยังเต็มไปด้วยอุปสรรคจากฝ่ายเผด็จการที่ใช้ทุกองคาพยายพและทุกเครื่องมือเพื่อกำจัดขบวนการประชาธิปไตย หนึ่งในนั้นคือการใช้วาทกรรมที่มุ่งทำลายความชอบธรรมของผู้ชุมนุม เช่น การแปะป้ายว่าเป็น คนชังชาติ คนล้มเจ้า และการใช้ปฏิบัติการข่าวสารเพื่อใส่ร้ายผู้ชุมนุม ปลุกปลั่นความเกลียดชัง

“เราจะต้องไม่ยอมให้การใส่ร้ายป้ายสี การสร้างความเกลียดชัง นำไปสู่การใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมอีกต่อไป ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับข้อเสนอ 10 ประการเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หรือไม่ เราต้องช่วยกันส่งเสียงเพื่อยืนยืนว่าเสรีภาพในการพูดถึงเรื่องนี้คือมาตรฐานขั้นต่ำ เราจะต้องหยุดวาทกรรมที่ว่า ม็อบทำแบบนั้นแบบนี้เป็นการสร้างเงื่อนไขในการปราบปรามผู้ชุมนุม ม็อบพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่ได้เพราะจะนำไปสู่รัฐประหาร เราต้องช่วยกันยุติวัฒนธรรมโทษเหยื่อ เราต้องช่วยกันยืนยันว่า การแสดงออกทางการเมืองเป็นนสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยกับสิ่งที่เขาพูดหรือไม่ก็ตาม ทหารไม่มีสิทธิทำรัฐประหาร เผด็จการไม่มีสิทธิใช้ความรุนแรงกับประชาชน”

ด้านนักศึกษาปริญญาเอกทางด้านวรรณคดีคนหนึ่ง บอกว่า ในฐานะนักเรียนที่มาเรียนต่างประเทศแล้วอยากกลับไปเจอประเทศไทยที่ดีขึ้นกว่านี้ อย่างน้อยคนไทยต้องพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนได้อย่างสบายใจ ตนอยากส่งสารไปถึงผู้มีอำนาจในประเทศไทยว่า ตอนนี้เกือบทุกฝ่ายออกมาหมดแล้ว ทั้งนักกิจกรรม ประชาชนทั่วไป นักเรียนนักศึกษาซึ่งเด็กลงไปเรื่อยๆ เราเห็นว่าพวกเขาออกมาพูดในสิ่งที่คิด สิ่งที่เกิดขึ้น ทุกคนมีความรักอนาคตของตัวเองจึงออกมาพูด ผู้ที่มีอำนาจทั้งหลาย หน่วยงานใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ความมั่นคง และคุณภาพชีวิตของประชาชน ควรออกมาสนับสนุนประชาชนได้แล้ว โดยตนขอเรีกร้องให้ผู้มีอำนาจเหล่านี้ต้องไม่ใช้อำนาจเกินขอบเขตของกฎหมายที่อนุญาตให้องค์กรกระทำต่อประชาชน ต้องมีจรรยาบรณณทางวิชาชีพ ทหารควรจะรับใช้ประชาชน ควรรับรองความปลอดภัยให้ประชาชน ไม่ใช่ให้ใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ส่วนสภาผู้แทนราษฎรก็ควรทำหน้าที่ตัวเองในการผลักดันสิ่งที่ประชาชนเรียกร้อง ควรจะรับลูกจากประชาชนไปได้แล้ว ทั้งเรื่องการแก้กฎหมาย และการจัดการกับอำนาจนิยมที่ฝังรากในสังคมไทย

“สำหรับผู้แทนราษฎร คุณอย่าให้เด็กพูดอยู่ฝ่ายเดียว สำหรับผู้มีอำนาจก็คือ คุณต้องหยุดคุกคามประชาชน ไม่ว่าจะผ่านตำรวจ ผ่านกองกำลังที่ไม่รู้ว่าเป็นใครมาดักรอจับตัวเขาขึ้นรถ ต้องหยุดสิ่งนี้ได้แล้ว เพราะพวกเราก็จะไม่หยุดต่อสู้เช่นกัน ส่วนประชาชนคนไทยที่ออกมาสู้ เราอยากบอกว่า เป็นกำลังใจให้และเราจะร่วมส่งเสียงเรียกร้องข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ทำให้สังคมเราดีขึ้นต่อไป เรารู้ว่าตอนนี้หลายคนถูกคุกคาม ถูกบั่นทอนในลักษณะต่างๆ ไม่ว่ากฎหมาย หรือคนในสังคมด้วยกันเอง เราอยากจะขอให้ทุกคนตั้งมั่นในหลักการ อย่าเพิ่งหยุดต่อสู้ ถ้ายังมีแรง มีกำลัง โดยส่วนตัวคิดว่าตอนนี้เสียงของประชาชนกำลังดังขึ้นแล้ว เราจะอยู่เคียงข้างต่อสู้กันไปเรื่อยๆ ตามแรงกำลังที่แต่ละคนมี”

ทางด้าน นักศึกษาปริญญาเอกด้านชีวิวิทยา ผู้ริเริ่มตั้งกลุ่ม Thai Rise in Scotland ตั้งแต่ต้นปี ได้พูดถึงก้าวต่อไปของการเคลื่อนไหวว่า ตอนนี้ผู้จัดงานกำลังรวบรวมเอกสารเพื่อร่วมส่งไปเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเทศไทย กิจกรรมวันนี้เป็นจุดเริ่มต้น โดยจะมีการรณรงค์ให้คนไทยร่วมลงชื่อต่อไป สำหรับการเคลื่อนไหวที่นี่ ตนมองว่าเป็นการเพิ่มจำนวน เพิ่มแนวร่วม กลุ่ม Thai Rise in Scotland จะแสวงหาความร่วมมือในการทำกิจกรรมต่อไป โดยตนหวังว่ากิจกรรมเล็กๆ ในวันนี้จะไปสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ ที่เห็นว่า กิจกรรมทางการเมืองในต่างแดนเป็นสิ่งที่ทำได้และควรจะทำเป็นเรื่องปกติ โดยการชุมนุมไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในเมืองหลวงเท่านั้น และการสนับสนุนผู้ชุมนุมในประเทศไทยก็ทำได้หลายแบบ อาทิ สื่อสารกับชาวโลกว่าเกิดอะไรขึ้น ช่วยกันจับตามมองการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือช่วยกันส่งเงินไปสนับสนุนกิจกรรมการชุมนุมในประเทศไทย เป็นท่อน้ำเลี้ยงของประชาชนโดยประชาชน

“เราเชื่อว่าคนไทยที่นี่ไม่ได้ตัดขาดจากประเทศไทยอยู่แล้ว เขาไปๆ มาๆ เขายัง มีความเป็นคนไทย เป็นประชาชนไทยอยู่ หลายคนก็ยังถือสัญชาติไทย แต่มาอยู่ที่นี่ชั่วคราว เรามองว่าความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ต้องเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนทัศนคติ เราก็เริ่มจากชวนคนรอบข้างพูดคุยถึงเรื่องที่เกิดขึ้น เรื่องความไม่เป็นธรรม เรื่องที่ผิดปกติต่างๆ ในสังคม ค่อยๆ ยกประเด็นขึ้นมาให้เขาตระหนักว่าหลายๆ อย่างมันต้องเปลี่ยน ในฐานะคนไทยในต่างประเทศ เรามองกลับไปในประเทศไทยแล้วอดเปรียบเทียบไม่ได้ พอเรามาอยู่ในที่ใหม่ที่มีเสรีภาพกว่า เราอดคิดถึงประเทศไทยไม่ได้ว่าความจริงมันควรเป็นสิ่งที่ทำได้ในประเทศไทยด้วย ส่วนหนึ่งมันก็เป็นแรงบันดาลใจด้วยว่า ถึงวันหนึ่งเราอาจจะพูดคุยกันได้อย่างเสรีมากกว่านี้ในประเทศเราเอง ไม่ต้องนำสิ่งที่เราพูดไม่ได้ในประเทศมาพูดในต่างประเทศ”

ท้ายที่สุดนั้น นักเรียนปริญญาเอกสายวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่งกล่าวสั้นๆ ว่า ตนมาร่วมกิจกรรมเพราะเห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ โดยตนต้องการแสดง solidarity (ความสมานฉันท์)กับพี่น้องที่ประเทศไทย  “ผมอยากสื่อสารไปยังผู้ชุมนุมที่เมืองไทยว่า พวกคุณไม่ได้โดดเดี่ยว เราจะสู้ไปกับคุณ”

ภาพบรรยากาศเพิ่มเติม : 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net