Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เรื่องราวที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้อเสนอ 10 ข้อของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และสิ่งที่ตามมาขณะนี้ ทำให้นึกถึงบทความสำคัญชิ้นหนึ่งที่ไม่น่าจะมีคนอ่านมากนัก คือ “การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ในหนังสือ วิถีสังคมไทย : สรรนิพนธ์ทางวิชาการ เนื่องในวาระหนึ่งศตวรรษ ปรีดี พนมยงค์ ปี 2543 หรือเขียนขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ในขณะที่เป็นยุครุ่งเรืองของสถาบันกษัตริย์ไทย บทความนี้เขียนโดย มารค ตามไท ในฐานะผู้จงรักภักดีที่ต้องการปกปักรักษาระบอบนี้ให้คงอยู่ต่อไปอย่างมีเหตุผล/ตรรกะ โดยพยายามเสนอ “คุณค่าที่แท้จริง” ของระบอบนี้ นอกจากนั้นยังมีคุณค่าในการนำเสนอเหตุผลเชิงเปรียบเทียบ ข้อดี/ข้ออ่อน อันเป็นประโยชน์สำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น จึงขอเชิญชวนผู้อ่านมาทบทวนอีกครั้งผ่านการปริทัศน์นี้ (เนื่องจากบทความค่อนข้างยาว เพื่อกระชับเวลา สามารถข้ามไปอ่านหัวข้อที่ 3 ได้เลย)

เมื่อ 100 ปีก่อน ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ แต่ถึงปัจจุบัน เพียง 20 กว่าประเทศเท่านั้นที่ยังมีกษัตริย์อยู่ โดยส่วนใหญ่เป็น constitutional monarchy หรือกษัตริย์ “ใต้” หรือ “ตาม” รัฐธรรมนูญ (ดูงานศึกษาเปรียบเทียบภาษาไทยได้จาก เบเนดิกท์ อาร์ โอ จี. แอนเดอร์สัน, “ราชาธิปไตยสมัยใหม่ในมุมมองเปรียบเทียบระดับโลก” วารสารฟ้าเดียวกัน ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 (มกราคม – มิถุนายน 2547) หน้า 59-78 ) ความเปลี่ยนแปลงนี้น่าจะเป็นที่มาบทความชิ้นนี้ ที่เริ่มต้นด้วยคำถามว่า “การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (ต่อไปจะเรียกว่า “ระบอบ ป-ก”) เป็น 1) เพียงทางผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ หรือ 2) ระบอบการปกครองที่มีคุณค่าเฉพาะในตัวเองที่ต่างจากแบบอื่น โดยบทความจะแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก เหตุผลรองรับระบอบประชาธิปไตย ส่วนที่สอง วิเคราะห์ข้อวิพากษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย และส่วนที่สาม วิเคราะห์การปกครอง “ระบอบ ป-ก” ว่ามีจุดด้อย/เด่นอย่างไร 

1. เหตุผลรองรับระบอบประชาธิปไตย 

ผู้เขียนแบ่งเหตุผลในการรองรับ/สนับสนุนประชาธิปไตยออกเป็น 3 ประเภท คือ เหตุผลประเภทสมบูรณ์ ที่เป็นเหตุผลในตัวมันเอง เหตุผลประเภทประโยชน์นิยม ที่อยู่บนฐานของผลที่ตามมาในสังคม และ เหตุผลเชิงญาณวิทยา ที่วางอยู่บนขอบเขตข้อจำกัดในการรู้เรื่องราวต่างๆ ของมนุษย์

เหตุผลประเภทสมบูรณ์ อธิบายว่า คุณค่าของระบอบประชาธิปไตยไม่ได้อยู่ที่ประโยชน์ต่อสังคมที่เกิดขึ้นตามมาจากการปกครองนี้ แต่เป็นคุณค่าในตัวเอง โดยมี 2 ประเด็นสำคัญ หนึ่ง ธรรมชาติของมนุษย์กับความอิสระทางจริยธรรม คือ “การปกครองนี้เคารพในความเป็นอิสระทางศีลธรรมของประชาชน” โดยส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในการกำหนดและตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวการปกครองสังคมของตน และสอง ความเสมอภาคของมนุษย์ คือ แม้มนุษย์จะไม่ความเสมอภาคกันในทุกเรื่องแต่ทุกคนมีความเสมอภาคในการตัดสินใจในสิ่งที่จะมีผลกระทบต่อตนเอง การจะมีบุคคลหรือกลุ่มปกครองมากำหนดกติกาให้คนอื่นในสังคมทำตามนั้น ต้องเป็นไปตามความยินยอม ทั้งนี้ความเสมอภาคของมนุษย์จะเป็น “พื้นฐานของการวางระบบการตัดสินใจต่างๆ ในสังคมประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” 

เหตุผลประเภทประโยชน์นิยม ให้เหตุผลว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยจะทำให้เกิดคุณลักษณะบางอย่างที่พึงปรารถนาและเป็นประโยชน์ของสังคม ซึ่งมี 2 แบบ แบบแรก ผลที่ตามมาในรูปของการเพิ่มพลังทางสังคม อย่างผลดีของการมีผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งไม่ใช่คุณภาพของผู้นำ แต่คือการที่ประชาชนเลือกผู้นำของตนเองนี้ทำให้พวกเขาเป็นคนที่มีพลังและกระตือรือร้นมากขึ้น ในที่สุด จะมีแรงบันดาลใจและพลังในการจะทดลองทำสิ่งใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน แบบที่สอง ระบอบประชาธิปไตยจัดการแก้ปัญหาดีกว่าสังคมที่มีระบอบอื่น นั่นคือ การปกป้องสิทธิพื้นฐานของประชาชน เนื่องจากทุกคนมีความสำคัญและมีโอกาสร่วมกำหนดกติกาของสังคม ดังนั้น ถ้าสิทธิพื้นฐานถูกละเมิด บุคคลสามารถปกป้องตนเองได้ด้วยกระบวนการต่างๆ ที่รับรองโดยสังคมส่วนรวม วิธีการแก้ไขปัญหาการละเมิดแบบนี้จะมีประสิทธิภาพกว่าการคอยให้คนอื่นดูแลแก้ไขให้

เหตุผลเชิงญาณวิทยา มีการนำเสนอใน 2 รูปแบบคือ หนึ่ง ประชาธิปไตยเป็นเงื่อนใขเบื้องต้นของการใช้สติปัญญาอย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ของสังคม เนื่องจากความรู้ทั้งหลายเกี่ยวกับโลกและคุณค่าสามารถเข้าถึงได้ดีในที่สุด ไม่ใช่จากการยอมรับคำตอบจากผู้อื่นแต่โดยการค้นคว้าอย่างใช้สติปัญญา การแลกเปลี่ยนทัศนคติและความรู้อย่างเป็นอิสระ ดังนั้น จึงต้องมีเสรีภาพทางความคิดและการแสดงความเห็น การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ “ประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะมอบอำนาจให้แก่ประชาชนที่จะใช้การค้นคว้าหาทางออกต่างๆ สำหรับปัญหาที่อาจเผชิญในสังคมอย่างเต็มที่และรอบคอบ” อีกรูปแบบหนึ่งคือ ฝ่ายต่อต้านมักอ้างว่า “คนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เพียงพอที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ” เพียงประชาชนส่วนหนึ่งเท่านั้นทีมี แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่ากลุ่มไหนมีคุณสมบัติเหล่านี้ ดังนั้น วิธีการเดียวที่เหลืออยู่ในการตอบปัญหานี้คือ “การที่ทุกคนในสังคมมีส่วนร่วมในการตัดสินเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปกครองสังคมนั้น และอาศัยการยอมรับกติการ่วมกันเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกัน แทนความจริงบางอย่างซึ่งไม่แน่ว่าจะหาอย่างไร” และวิธีการนี้เป็นแก่นของระบอบประชาธิปไตยนั่นเอง

2. ข้อวิพากษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย 

สำหรับข้อวิพากษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยสามารถแยกออกได้เป็น 3 กลุ่มเช่นกัน 

กลุ่มแรกเห็นว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ไม่ดีและไม่ควรส่งเสริม ปรากฏอยู่ในแนวคิดอนาธิปไตยและการปกครองในรูปแบบของการมีผู้ดูแลประชาชน พวกอนาธิปไตยจะเชื่อว่าการปกครองทุกระบอบ รัฐ โดยธรรมชาติจะจำกัดเสรีภาพ เพื่อให้มีเสรีภาพมากที่สุดจึงไม่ควรมี ส่วนแนวคิดการปกครองในรูปแบบของการมีผู้ดูแลประชาชนจะเชื่อว่าคุณสมบัติการเป็นผู้ปกครองที่ดีนั้นไม่ได้อยู่ในทุกคนและไม่สามารถพัฒนาได้ แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าใครมี และจะเกิดปัญหาเมื่อมีบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติแต่เชื่อว่าตัวเองมี มาคุมอำนาจ นำไปสู่การใช้ความรุนแรงโค่นล้มผู้ปกครอง ในสถานการณ์ที่เลวร้ายแบบนี้ ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยได้ชี้ให้เห็นว่า ระบอบนี้จะดีกว่าเพราะมีการเปลี่ยนฝ่ายปกครองโดยไม่ต้องฆ่าฟันกัน

กลุ่มที่สองเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดีแต่เป็นไปไม่ได้ สาเหตุสำคัญเกิดจากการครอบงำทางสังคมโดยคนส่วนน้อย ซึ่งสวนทางกับประชาธิปไตย ผู้เขียนเห็นว่า ปัญหานี้แก้ยากเพราะคนส่วนน้อยนี้ไม่ใช่เผด็จการใช้กำลังบังคับ แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีอิทธิพลอย่างมากในการกำหนดนโนบายของรัฐ ขณะที่ประชาชนไม่สามารถเข้าไปมีส่วนตัดสินแม้จะมีผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ก็ตาม  

กลุ่มที่สามเห็นว่า การพัฒนาประชาธิปไตย โดยการออกกฎหมายและสถาบันทางการเมืองเพื่อปกป้องสิทธิของประชาชน ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ได้มองข้ามความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของสังคมหรือพลเมือง เป็นสังคมที่มีกฎหมายมากแต่ “ไม่มีหัวใจ” ยิ่งในภาวะปัจจุบันที่ระบอบไม่สมบูรณ์นั้น การขาดความห่วงใยกันในสังคมมีผลร้ายแรงให้เห็นตลอดเวลา อย่างเช่น คนชายขอบที่ขาดการดูแล

3. การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

หลังจากได้ปูพื้นฐานข้อถกเถียงไว้ในส่วนที่ 1 และ 2 แล้ว ส่วนสุดท้ายนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของ บทความ ผู้เขียน “เตือน” เราว่า “ระบอบ ป-ก” ไม่ใช่เป็นทางเลือกที่ทุกสังคมจะมีได้ หากยกเลิกสถาบันกษัตริย์ไปแล้วจะกลับมาตั้งใหม่ได้ยากและต้องใช้เวลานาน จึงต้องคิดให้ดี ระบอบนี้ทั่วโลกไม่เหมือนกันเสียทีเดียว อย่างเช่นความรักที่มีต่อกษัตริย์ บางประเทศมีการถกเถียงในพื้นที่สาธารณะว่า กษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่คุ้มกับงบประมาณที่รัฐต้องจัดให้หรือไม่ ดังนั้น อะไรที่อาจพิจารณาว่าเป็นคุณค่าพิเศษของ“ระบอบ ป-ก” ก็ไม่ใช่คุณค่าพิเศษของ “ระบอบ ป-ก” ทุกแบบ

ผู้เขียนเริ่มต้นแสวงหาคุณค่าของ “ระบอบ ป-ก” ด้วยการเปรียบเทียบว่าเหตุผลรองรับ/สนับสนุนประชาธิปไตย (ในส่วนที่ 1) นั้นสามารถใช้สนับสนุน “ระบอบ ป-ก” ได้หรือไม่ เขาเห็นว่า เหตุผลทางญาณวิทยา-ใครจะเป็นผู้บริหารประเทศที่ดี-ยังสามารถใช้รองรับ “ระบอบ ป-ก” ได้ ขณะที่เหตุผลแบบประโยชน์นิยม-ปกป้องสิทธิพื้นฐานของประชาชนได้ดีกว่าระบอบอื่น-ก็ยังเป็นจริงใน “ระบอบ ป-ก” เช่นกัน แต่ยอมรับว่าการสร้างพลังให้แก่คนส่วนใหญ่ในสังคมนั้นมีปัญหาอยู่ “ระบอบ ป-ก” ถูกวิจารณ์ว่าไม่เป็นประชาธิปไตยเพราะมีชนชั้นแฝงอยู่ และการกระจายสิทธิการมีส่วนร่วมไปยังคนทั้งสังคมนั้นเป็นสิ่งที่ชนชั้นสูงจำใจยอมหรือไม่เต็มใจ หากเป็นเช่นนี้จริง พลังของสังคมก็จะน้อยลง ดังนั้น เหตุผลนี้จึงไม่สามารถใช้สนับสนุน “ระบอบ ป-ก” ทุกระบอบได้ อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่เอกลักษณ์ที่แก้ไม่ได้ สำหรับเขาแล้ว ปัญหาใหญ่ของ “ระบอบ ป-ก” มาจากเหตุผลประเภทสมบูรณ์ ในประเด็นความอิสระทางศีลธรรม ดังเหตุผลที่ว่า 

“ในระบอบ ป–ก นั้น พระมหากษัตริย์มีอำนาจทางศีลธรรมอยู่ไม่น้อย ถ้าพระมหากษัตริย์มีทัศนะเกี่ยวกับความถูกต้องเชิงบรรทัดฐานของนโนบายหรือข้อเสนอที่สาธารณะกำลังพิจารณากันอยู่ ประชาชนส่วนใหญ่ก็จะยอมรับความเห็นอันนี้ แทนที่จะคิดเองว่าอะไรถูก อะไรผิด และจึงไม่มีการตัดสินใจทางศีลธรรมอย่างอิสระ”

เมื่อเป็นเช่นนี้ “ระบอบ ป-ก” จะต้องปรับบทบาทของกษัตริย์ไม่ให้รวมถึงการเป็นแหล่งในการตัดสินเชิงศีลธรรมให้แก่พลเมือง และปล่อยให้ประชาชนไตร่ตรอง ตัดสินใจกันเองอย่างเต็มที่ 

สำหรับจุดแข็งหรือคุณค่าพิเศษของ“ระบอบ ป-ก” นั้น ต้องเน้นว่าไม่ใช่สิ่งที่กษัตริย์ ใน “ระบอบ ป-ก” มีเหมือนกับสถาบันอื่นในระบอบประชาธิปไตย อย่างเช่น การเป็นจุดรวมพลังและความสามัคคีเมื่อมีการรุกรานจากภายนอก เพราะการปกป้องสถาบันกษัตริย์มีบทบาทนี้ได้แต่การปกป้องวิถีชีวิตพลเมืองของประเทศก็สามารถเรียกร้องความสามัคคีและการเสียสละได้เท่าๆ กัน หรือ ความจงรักภักดีต่อรัฐธรรมนูญทำหน้าที่เหมือนความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น คุณค่าพิเศษจึงมาจากการมีศักยภาพตอบข้อวิจารณ์ที่ระบอบประชาธิปไตยแบบอื่นยังหาวิธีตอบไม่ได้ (ส่วนที่ 2)

ผู้เขียนเห็นว่า ข้อวิพากษ์ของอนาธิปไตยและระบอบที่มอบอำนาจการดูแลทุกข์สุขของประชาชนไว้กับบุคคลนั้น ระบอบประชาธิปไตยแบบอื่นมีคำตอบแล้ว ส่วนปัญหาการครอบงำโดยคนส่วนน้อย “ระบอบ ป-ก” ไม่มีคำตอบให้เหมือนกับระบอบประชาธิปไตยแบบอื่น ดังนั้น 2 เรื่องนี้จึงเสมอกันและต้องหาทางวิธีทางแก้ให้ได้ ดังนั้น จึงมีเพียงข้อวิพากษ์สุดท้าย สังคมประชาธิปไตยพัฒนามาเนิ่นนานแต่ยังขาดคุณลักษณะสำคัญ คือ คนในสังคมห่วงใยซึ่งกันและกัน ซึ่ง“ระบอบ ป-ก” มีศักยภาพจะตอบได้ ขณะที่ระบอบอื่นทำได้ยากกว่า

คุณค่าพิเศษอันนี้คือ “การที่องค์พระมหากษัตริย์สามารถเป็นจุดส่งต่อความห่วงใยจากพลเมืองคนหนึ่งไปสู่พลเมืองอีกคนหนึ่ง ถึงแม้ว่าไม่รู้จักกัน” หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ การเป็นตัวกลาง กษัตริย์จะทำหน้าที่นี้ได้ถ้ามีคุณสมบัติ 2 ประการ คือ กษัตริย์ต้องห่วงใยทุกข์สุขของพลเมืองทุกคนและพลเมืองทุกคนต้องรักองค์กษัตริย์อย่างถ่องแท้

อย่างไรก็ตามคุณสมบัติที่ว่านี้มีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเช่นกัน หนึ่ง องค์กษัตริย์เท่านั้นที่สามารถมีบทบาทเป็นจุดส่งต่อความห่วงใยได้ เพราะสถาบันกษัตริย์รักคนไม่ได้ คุณสมบัติพิเศษของ “ระบอบ ป-ก” จึงมาจากองค์กษัตริย์เอง สอง คุณสมบัตินี้ไม่ได้มีอยู่อย่างอัตโนมัติใน “ระบอบ ป-ก” ทุกแห่ง แต่ใช้เวลาในการทำให้เกิดขึ้น ดังนั้นต้องศึกษาดูว่าหลักธรรมหรือหลักปฏิบัติของกษัตริย์ในวัฒนธรรมต่างๆ จะนำมาซึ่งคุณสมบัติ 2 ประการ (กษัตริย์รักพลเมือง-พลเมืองรักกษัตริย์) ของคุณค่าพิเศษใน “ระบอบ ป-ก” หรือไม่

4. สรุป

โดยสรุป มาร์ค ตามไท พยายามเปรียบเทียบการปกครอง “ระบอบ ป-ก” กับระบอบประชาธิปไตยแบบอื่น แล้วพบว่า ประการแรก สิ่งที่อาจจะเป็นจุดอ่อนของ “ระบอบ ป-ก” คือ “การที่พลเมืองที่อยู่ภายใต้ระบอบการปกครองนี้ไม่มีความเป็นอิสระทางศีลธรรมเพียงพอ” แต่สามารถแก้ไขได้ โดยที่ “พระมหาษัตริย์ทรงให้โอกาสพลเมืองไตร่ตรอง ตัดสินใจเรื่องต่างๆ เชิงบรรทัดฐานเกี่ยวกับวิธีอยู่ร่วมกันในสังคมโดยไม่ครอบงำ... แต่ให้แต่ละคนคิดในกรอบใหญ่ของศาสนาหรือระบบจริยธรรมของตนเอง” ประการที่สอง คุณค่าพิเศษที่ “ระบอบ ป-ก” มีและสามารถแก้จุดอ่อนของแบบอื่นได้ คือ การสร้างความห่วงใยซึ่งกันละกันในหมู่พลเมืองที่ไม่รู้จักกัน โดยที่ “พระมหากษัตริย์เป็นจุดส่งต่อความห่วงใยที่ทั่วถึง” “แสดงความรักและความห่วงใยต่อทุกส่วนของพลเมืองจนเป็นที่ประจักษ์ และ“คุณลักษณะพิเศษนี้จะเป็นพลังที่รักษาระบอบการปกครองนี้ไว้ได้มากกว่าและยั่งยืนกว่าประเพณีนิยมและการเน้นเพียงพิธีกรรม” ทั้งนี้ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก ผู้เขียนทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า “ระบอบ ป-ก” จะดำเนินต่อไปได้ สามารถเป็นจุดหมายปลายทางที่พึงปรารถนาในตัวเองได้ ถ้าปรับปรุงดูแลให้ถูกจุด

ในสถานการณ์ที่การถกเถียงว่าด้วยสถานะและอำนาจของกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย หรือ “ระบอบ ป-ก” กลับมาอีกครั้ง บทความนี้จึงได้เสนอมุมมองที่มีประโยชน์อย่างมากในการใคร่ครวญอย่างมีอิสระทางศีลธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความจริงใจที่จะรักษาระบอบนี้ไว้ มีหลายเรื่องในบทความที่สามารถและเปิดโอกาสให้ถกเถียงอภิปรายกันได้ เช่น มีคุณค่าที่แท้จริงอย่างที่พยายามโน้มน้าวหรือไม่ หากจะมีหรือสร้างให้เกิดขึ้นได้ จะต้องทำอย่างไร แต่ก็มีบางเรื่องที่แน่ชัด เช่น การคุกคาม ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น บางกรณีร้ายแรงจนถึงขั้นขู่ว่าจะทำร้าย ทั้งทางตรง และทางอ้อมโดยยกโมเดล 6 ตุลามาขู่ ต่อเยาวชน นักเรียน นักศึกษาที่จะอยู่กับสังคมนี้ไปอีกราว 50 ปี ไม่ใช่แนวทาง หรือพูดให้ชัดลงไปอีกได้ว่า ตรงกันข้ามเลยทีเดียวกับการทำให้ “ระบอบ ป-ก” เป็น “จุดหมายปลายทางที่พึงปรารถนา” ของสังคมไทยอย่างแน่นอน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net