Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ประชุมนัดแรก กมธ.รับฟังความเห็น นศ. เลือก 'ภราดร ปริศนานันทกุล' เป็นประธาน 'สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ' เป็นเลขานุการ กมธ.หวั่นเรื่องความน่าเชื่อถือ-ไม่เป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติ เพราะไม่มีพรรคร่วมฝ่ายค้านเข้าร่วม - ด้าน กมธ. ศึกษาแก้ไข รธน. เห็นชอบแก้ไขมาตรา 256 ปลดล็อคให้การแก้ไข รธน.ทำได้ง่าย เปิดทางตั้ง ส.ส.ร. ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2563 คณะกรรมาธิการวิสามัญรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ประชุมครั้งแรก เพื่อพิจารณาเลือกตำแหน่งต่าง ๆ ในคณะกรรมาธิการ อาทิ นายภราดร ปริศนานันทกุล เป็นประธาน นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ เป็นเลขานุการ

จากนั้นที่ประชุมหารือแนวทางการเปิดรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน โดยกรรมาธิการต่างร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง อาทิ นายสิริพงศ์ แสดงความคิดเห็นถึงกรอบการทำงานของกรรมาธิการ 90 วัน ถือเป็นระยะเวลาสั้น ดังนั้น ควรเร่งดำเนินการและเปิดรับฟังความคิดเห็นโดยเร็ว นอกจากนี้ กรรมาธิการยังควรลงพื้นที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ ของนักเรียนนักศึกษาที่จัดขึ้น ในหลายจังหวัด

ด้านรองศาสตราจารย์รงค์ บุญสวยขวัญ กล่าวว่าคณะกรรมาธิการมีความท้าทาย 2 เรื่อง คือ เรื่องความน่าเชื่อถือ และไม่เป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติในการตั้งคณะกรรมาธิการ เนื่องจากไม่มีสัดส่วนของพรรคร่วมฝ่ายค้านเข้าร่วม จึงควรรับฟังและเชื่อมต่อความคิดเห็นของนักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศ อย่างทั่วถึง ทั้งกลุ่มที่แสดงออกและไม่แสดงออกทางการเมือง
   
นอกจากนี้ กรรมาธิการ ยังเห็นว่าการเปิดรับฟังความคิดเห็นนั้นควรมีการคุ้มครองและให้ความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยต่อนักเรียนนักศึกษาที่แสดงความคิดเห็น ขณะเดียวกันยังมีความกังวล ว่าหากกรรมาธิการลงพื้นที่ไปยังจุดจัดกิจกรรม อาจเป็นการกดดัน นิสิตนักศึกษาที่ชุมนุมทางการเมืองหรือไม่ โดยเสนอให้เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางออนไลน์ร่วมด้วย
   
ทั้งนี้ กรรมาธิการวิสามัญรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชน กำหนดการประชุม ทุกวันศุกร์เวลา 10.00-12.00 น. ณ ห้องประชุม 411 อาคารรัฐสภา ฝั่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

จากนั้นนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล และนายแพทย์คณวัตร จันทรลาวัณย์ โฆษกกรรมาธิการวิสามัญรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชน สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุมครั้งแรกของกรรมาธิการ ว่า ที่ประชุมพิจารณาเลือกตำแหน่งต่าง ๆ ในคณะกรรมาธิการ ได้แก่ นายภราดร ปริศนานันทกุล เป็นประธาน รองศาสตราจารย์รงค์ บุญสวยขวัญ เป็นรองประธานคนที่ 1 นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ เป็นรองประธานคนที่ 2 นางสาวธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ เป็นรองประธานคนที่ 3 นางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ เป็นรองประธานคนที่ 4 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ เป็นเลขานุการ นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล และนายแพทย์คณวัตร จันทรลาวัณย์ เป็นโฆษก
   
นายกรวีณ์ กล่าวว่า ที่ประชุมกรรมาธิการยังหารือถึงกรอบการดำเนินการของคณะกรรมาธิการ ซึ่งเห็นตรงกันว่าการรับฟังความคิดเห็นเป็นเรื่องเร่งด่วน แม้จะมีกรอบเวลาการทำงาน 90 วัน แต่หากดำเนินการแล้วเสร็จได้ภายใน 30-45 วัน ก็จะเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งกรรมาธิการจะต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นให้เป็นไปอย่างกระชับ ทันสถานการณ์ และยืนยันว่าไม่ใช่การเตะถ่วงเวลา โดยวางแผนลงพื้นที่ไปยังจุดจัดกิจกรรมของนักเรียน นักศึกษาที่กระจายอยู่ในหลายจังหวัด เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นที่แท้จริง นอกจากนี้ ยังจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น ข้อเรียกร้อง หรือข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการถูกข่มขู่คุกคาม ผ่านทางระบบออนไลน์ ร่วมด้วย
   
ขณะที่ นายแพทย์คณวัตร กล่าวว่า กรรมาธิการเห็นควรให้เชิญตัวแทนจากหน่วยงานความมั่นคง เข้าหารือทำความเข้าใจกับกรรมาธิการเพื่อให้ความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของนักเรียนนักศึกษาที่จะออกมาแสดงความคิดเห็น รวมทั้งจะเชิญผู้ที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองในเหตุการณ์สำคัญ ๆ ทางประวัติศาสตร์ ร่วมหารือกับกรรมาธิการด้วย

กมธ. ศึกษาแก้ไข รธน. เห็นชอบแก้ไขมาตรา 256 ปลดล็อคให้การแก้ไข รธน.ทำได้ง่าย เปิดทางตั้ง ส.ส.ร. ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แถลงผลการประชุม ว่ากรรมาธิการส่วนใหญ่เห็นตรงกันเกี่ยวกับการแก้ไข หมวด 15 มาตรา 256 ที่ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อให้กำจัดเงื่อนไขของการแก้รัฐธรรมนูญให้สามารถทำได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ขึ้น ทั้งนี้ จะสรุปความคิดเห็นต่าง ๆ ของกรรมาธิการ เพื่อเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากที่ประชุมสภา เห็นชอบก็จะส่งต่อไปยังรัฐบาลพิจารณาดำเนินการในกระบวนการต่อไป
   
ด้านรองศาสตราจารย์ โภคิน พลกุล ที่ปรึกษากรรมาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงของรัฐธรรมนูญให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งนอกจากการแก้ไข มาตรา 256 ที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแล้วนั้น ขณะเดียวกันก็จะเพิ่มเติมในหมวดว่าด้วยการให้มีการตั้ง ส.ส.ร. ขึ้น เช่นเดียวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2534 ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 5 เดือน และตามขั้นตอนของการร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอไว้จะต้องแล้วเสร็จภายใน 390 วัน หากทุกภาคส่วนเห็นพ้องกัน ประเทศก็จะมีทางออกว่าในอนาคตจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างโดยประชาชน เห็นชอบโดยประชาชน และเข้ามาแทนที่รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ในที่สุด ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องเป็นไปโดยเสรีและเป็นธรรม

เผยเปิดรับฟังความเห็นจากนักศึกษาและทุกภาคส่วนแล้ว คาดส่งรายงานได้ภายในวันที่ 19 ก.ย. นี้ ส่วนจะนำไปสู่การแก้ไขจริงหรือไม่ขึ้นกับรัฐบาล

นอกจากนี้นายพีระพันธุ์ ยังเปิดเผยถึงการประชุมกรรมาธิการซึ่งหลายฝ่ายตั้งประเด็นถึงการพิจารณาหมวด 15 เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่าวันนี้ (31 ก.ค.) คณะกรรมาธิการจะพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยคณะอนุกรรมาธิการศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติรัฐธรรมนูญฯ ที่มี นายไพบูล์ นิติตะวัน เป็นประธาน จะนำผลการศึกษามาให้กรรมาธิการพิจารณาประกอบกับข้อเสนอและความคิดเห็นจากนักศึกษา ประชาชน และภาคส่วนต่าง ๆ ที่ได้รวบรวมมา ส่วนข้อถามถึงการแก้ไขเรื่องที่มา ส.ว. นั้น กรรมาธิการยังพิจารณาไม่ถึงเรื่องดังกล่าว แต่เชื่อว่าจะได้พิจารณาในเร็ววันนี้ เพราะเป็นการไล่เรียงไปในแต่ละหมวดแต่ละเรื่องซึ่งขณะนี้เกือบครบทุกหมวดแล้ว เช่ือว่ากรรมาธิการจะส่งรายงานได้ภายในวันที่ 19 ก.ย. นี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงว่าจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นนักศึกษาอีกหรือไม่ นายพีระพันธุ์ ระบุว่า อนุกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นได้เปิดให้นักศึกษาเข้ามาแสดงความคิดเห็นแล้วตั้งแต่ช่วงก่อนมีสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งได้ออกไปรับฟังความเห็น ณ สถาบันการศึกษาต่าง ๆ 

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อไปว่ากรรมาธิการเชื่อว่าได้ทำหน้าที่ในการศึกษาและนำข้อเสนอแนะ ความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนมาพิจารณา ส่วนจะเป็นการลดอุณหภูมิทางการเมืองจากการที่มีผู้ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นเรื่องความเห็นของแต่ละบุคคล พร้อมกันนี้ ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ขึ้นถือเป็นอำนาจของรัฐบาล สภาทำได้เพียงการศึกษาข้อดีข้อเสีย ศึกษาเนื้อหาให้เห็นว่าแต่ละมาตรามีข้อใดที่ต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้ ยืนยันไม่มีการส่งสัญญาณใด ๆ มาจากนายกฯ 


ที่มาเรียบเรียงจาก: สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา [1] [2] [3] [4]


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net