Skip to main content
sharethis

แฮชแท็ก #ยกเลิก112 ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ในทวิตเตอร์ ย้อนดูการใช้ 'กระบวนการนอก กม.' คุมตัว-ขู่ล้วงข้อมูล-ทำ MOU แทนกฎหมาย พร้อมชวนย้อนไปอีกเพื่อทบทวนช่วงแรก ยุค คสช. ดำเนินคดีโดยศาลทหารและโทษหนักเป็นประวัติศาสตร์ รวมทั้งเปิด 5 ปัญหาของกฎหมายนี้

7 มิ.ย.2563 ความคืบหน้าการติดตามหาตัวและการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ อายุ 37 ปี ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยที่พักอาศัยอยู่ประเทศกัมพูชาถูกอุ้มหายตัวไปจากหน้าคอนโดที่กรุงพนมเปญ ช่วงเย็นวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา ขณะเดินลงมาซื้อลูกชิ้นปิ้งหน้าคอนโดนั้น สร้างปรากฏการณ์เคลื่อนไหวเรียกร้องการหาตัวเขา พร้อมทั้งวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ดังกล่าวจำนวนมาก #saveวันเฉลิม และ #RIPวันเฉลิม ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์อย่างต่อเนื่อง 2 วันแล้วนั้น

ล่าสุดวันนี้ ในทวิเตอร์ #ยกเลิก112 ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ในทวิตเตอร์อีกด้วยยอดกว่า 50 K ทวีต (บันทึกเมื่อเวลา 19.45 น. ) 

ยอดก่อนสิ้นวัน บันทึกเมื่อเวลา 0.00 น. วันที่ 8 มิ.ย.2563 มี 352K ทวีต

สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือ ความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทกษัตริย์นั้น บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

ใช้ 'กระบวนการนอก กม.' คุมตัว-ขู่ล้วงข้อมูล-ทำ MOU แทน

อย่างไรก็ตามประชาไทเคยรายงานไว้เมื่อปลายปี 2562 ว่า การดำเนินคดีด้วยกฎหมายมาตรานี้ในช่วงที่ผ่านมาจากการแสดงความคิดเห็นแม้จะลดลง หรืออาจจะเรียกว่าไม่มีคดีใหม่เลย ทางหนึ่งอาจเป็นการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” แต่อีกกระบวนการที่เจ้าหน้าที่ใช้จัดการกับผู้ที่แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างหรือความเห็นที่ ‘ถูก’ เจ้าหน้าที่มองว่ากระทบต่อความมั่นคงหรือหมิ่นประมาทกษัตริย์ก็มีกระบวนการคุมตัว บังคับให้ข้อมูลและทำข้อตกลงหรือ MOU ที่ ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ติดตามประเด็นการละเมิดสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพการแสดงออก มองว่า ไม่ถือว่าอยู่ในกระบวนการตามกฎหมาย เพราะหากตามกฎหมายนั้นไม่ต้องทำความยินยอม เมื่อมีหมายจับหรือหมายเรียกก็ต้องปฏิบัติตามกระบวนการทางกฎหมาย

ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อธิบายถึงกระบวนการนี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือให้เซ็นชื่อยินยอมให้ข้อมูลที่ไม่ได้แจ้งผู้ถูกซักถามตั้งแต่แรก ทำให้คนเหล่านั้นไม่ทราบว่าสามารถปฏิเสธได้ สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหมือนการมัดมือชกภายหลัง ซึ่งกระบวนการตามกฎหมายนั้นต้องมีหมายเรียก หมายจับ หมายค้น หรือต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหา ที่ไม่สามารถเอาตัวหรือเรียกว่าเชิญตัวไปคุยก่อน

ช่วงแรก ยุค คสช. ดำเนินคดีโดยศาลทหารและโทษหนักเป็นประวัติศาสตร์

หากย้อนไปช่วง 10 กว่าปีของความขัดแย้งทางการเมือง กฎหมายมาตรานี้ถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร 2557 ประชาไทรวมข้อมูล 5 อันดับโทษคดี 112 ที่มีการพิพากษาลงโทษสูงสุดในประวัติศาสตร์ พบทั้ง 5 คดีเกิดขึ้นในยุคของ คสช. 4 ใน 5 ถูกตัดสินโดยศาลทหาร และทุกคดีมีมูลเหตุมาจากการโพสต์ แชร์สเตตัสในเฟซบุ๊ก โดยโทษมากสุดจำคุก 70 ปี จำเลยรับสารภาพลดโทษเหลือ 35 ปี จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 10 ครั้ง

อ่านรายละเอียดในรายงานของประชาไทเมื่อ มิ.ย. 2560 https://prachatai.com/journal/2017/06/72156

ในอดีตมีการเคลื่อนไหวทั้งเพิ่มโทษในกฎหมายมาตรานี้ ขณะที่มีกลุ่มที่เสนอให้ยกเลิกมาตรานี้เนื่องจากขัดกับหลักการเสรีประชาธิปไตยจนถึงมีกฎหมายอื่นอยู่แล้ว รวมทั้งกลุ่มที่ปรับแก้ให้เข้ากับยุคสมัยเช่น คณะนิติราษฏรและคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112  (ครก.112) ในปี 2555 ที่จัดกิจกรรมล่ารายชื่อเสนอต่อสภาเป็น ร่างกฎหมายแก้ไข มาตรา 112 แต่สภาก็ไม่รับพิจารณา 

5 ปัญหาของ ม.112 

ทั้งนี้ ครก.112 ได้อธิบายลักษณะปัญหาบางประการและข้อเสนอเกี่ยวกับกฎหมายมาตรานี้ในช่วงรณรงค์ปี 2555 ไว้ดังนี้

1. คุ้มครองยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ

นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 ได้กำหนดให้ “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” แสดงให้เห็นว่า มุ่งคุ้มครองตัวบุคคลที่ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ ซึ่งเป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญอนุญาตให้ดำรงอยู่ หาได้มุ่งคุ้มครองไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อันครอบคลุมไปยังตำแหน่งพระบรมวงศานุวงศ์อื่นใดอีกไม่ ขณะที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้ขยายความผิดออกไปโดยครอบคลุมทั้ง “พระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”

นอกจากนั้น การที่มาตรา 112 เป็นการกระทำผิดทางวาจา กลับอยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐ ทำให้มีอัตราโทษที่รุนแรงโดยมีโทษขั้นต่ำ 3 ปี และสูงสุด 15 ปี ขณะที่ความผิดฐานก่อการร้ายซึ่งร้ายแรงระดับมนุษยชาติกฎหมายกำหนดโทษจำคุกเพียงตั้งแต่ 2 ปีถึง 10 ปี สะท้อนความไม่สมเหตุสมผลของบทบัญญัติโทษตามมาตรา 112 อีกทั้งการกระทำผิดโดยวาจา ไม่ทำให้กระทบหรือสูญสิ้นความเป็นรัฐ

ทางออก : ต้องยกเลิกมาตรา 112 แล้วให้การคุ้มครองพระเกียรติยศพระมหากษัตริย์เป็นความผิดที่อยู่ต่างหากจากหมวดความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร โดยนำการกระทำความผิดดังกล่าว มาอยู่ในหมวดความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยกำหนดโทษให้พอสมควรแก่เหตุ โดยนำโทษของบุคคลธรรมดาเป็นฐาน แล้วกำหนดโทษสูงกว่าบุคคลทั่วไปโดยไม่สูงเหลื่อมล้ำจนเกินไป และแยกบทลงโทษเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ออกจาก พระราชินี รัชทายาท ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

2. เกิดใต้อุ้งเท้าเผด็จการ

มาตรา 112 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้รับการบัญญัติขึ้นโดยคณะรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ออกคำสั่งในนามคณะปฎิรูปการปกครองแผ่นดิน ยกเลิกมาตรา 112 เดิม แล้วบัญญัติ 112 ขึ้นใหม่ โดยเพิ่มโทษสูงสุดจาก 7 เป็น 15 ปี และเป็นครั้งแรกที่มีโทษขั้นต่ำของความผิดนี้ คือ "ตั้งแต่ 3 ปี" ไว้ด้วย มาตรา 112 จึงเป็น "กฎหมาย" หรือ "ผลพวง" ของคณะรัฐประหาร และขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย

ทางออก : เพื่อสร้างอุดมการณ์ประชาธิปไตยให้มั่นคงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลบล้างผลพวงอันเป็นสิ่งปฏิกูลที่เกิดเนื่องมาจากการทำรัฐประหาร และยิ่งกว่านั้่น แม้แต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โทษสูงสุดเพียง 3 ปี และไม่มีโทษขั้นต่ำ

3.ใครๆก็ฟ้องได้

ด้วยเหตุที่ ม.112 เป็นความผิดฐานความมั่นคง ทำให้ใครๆก็สามารถหยิบยกข้อกล่าวหานี้มาใช้กลับใครก็ได้ ขณะเดียวกันกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ก็มีแนวโน้มที่จะ "รับฟ้อง" ทุกกรณี ปรากฏเป็นปัญหาของระบบกฎหมายไทยทียัดเยียดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของราษฎรให้เป็นอาชญากรรมต่อรัฐ ภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยา 2549 ไม่นาน ปรากฏสถิติการดำเนินคดีในปี 2553 สูงถึง 478 คดี โดยก่อนหน้านั้นมีไม่ถึง 10 คดีต่อปี

ทางออก : ต้องจำกัดตัวบุคคลมีอำนาจผู้ฟ้องคดีให้มีความชัดเจน สำนักราชเลขาธิการ ซึ่งในทางกฏหมายมีลักษณะเป็น "กรม" ซึ่งสำนักราชเลขาธิการก็มีหน่วยงานในสังกัด คือ "กองนิติกร" ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว ตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติในกฎหมาย ใช้งบประมาณแผ่นดินของราษฎรตามพระราชบัญญัติ ฉะนั้น สำนักราชเลขาธิการซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ และมีหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการได้อยู่เดิมแล้ว กล่าวคือกองนิติการในสำนักราชเลขาธิการ ย่อมผูกพันโดยตรงในการริเริ่มฟ้องคดีหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ ไม่สมเหตุสมผลที่จะให้บุคคลทั่วไปร้องทุกข์กล่าวโทษตามอำเภอใจ

4.ห้ามพิสูจน์ความจริง

กฏหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา มาตรา 329 ยกเว้นความผิดถ้าเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตและติชมด้วยความเป็นธรรม ขณะที่มาตรา 330 ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็น "ความจริง" ก็ไม่ต้องรับโทษ(เว้นแต่เป็นเรื่องส่วนตัว และไม่เป็น "ประโยชน์สาธารณะ")

แต่มาตรา 112 นั้นไม่อนุญาติให้พิสูจน์ "ความจริง" ขณะที่มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญกลับรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อการดังกล่าว

ทางออก : เพิ่มเติมเหตุยกเว้นความผิด โดยกำหนดให้ "ผู้ใด ติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริตเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิด"

5.โทษที่ไม่เป็นธรรม

ขณะที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชได้กำหนดความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไว้สูงสุดไม่เกิน 3 ปี แต่ปัจจุบันโทษในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกลับสูงสุดถึง 15 ปี และมีโทษขั้นต่ำ 3 ปี นั้นหมายความว่าถ้าใครถูกพิพากษาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้วจะไม่มีเหตุยกเว้นการรับโทษแต่อย่างใด

ทางออก : ต้องไม่มีอัตราโทษขั้นต้่ำเพราะศาลได้ใช้ดุลยพินิจในการกำหนดโทษน้อยเพียงใดก็ได้ตามควรแก่กรณี และลดอัตราโทษให้เป็นจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับสำหรับความผิดต่อพระมหากษัตริย์และจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับสำหรับความผิดต่อพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยเทียบเคียงจากฐานของบุคคลทั่วไปในความผิดเดียวกัน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net