Skip to main content
sharethis

19 พ.ค.2563 เป็นเวลา 10 ปี มาแล้วที่รัฐบาลในขณะนั้นใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) หรือ “คนเสื้อแดง” ที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะยุบสภาที่เริ่มมาตั้งแต่ 12 มี.ค. 2553 และถูกสลายการชุมนุมไปแล้ว 1 ครั้งในคืนวันที่ 10 เม.ย.2553 จนมีผู้เสียชีวิตถึง 27 คน แต่ผู้ชุมนุมก็ยืนยันที่จะชุมนุมต่อไปพร้อมกับทวงความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิตในคืนนั้น จนกระทั่งถึงวันที่ 19 พ.ค.2553  วันที่แกนนำ นปช. ต้องประกาศยุติการชุมนุมที่ราชประสงค์เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตมาตลอด 7 วัน หลังจากถูกปิดล้อมโดยกองกำลังทหารมาตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.2553  

 

หลังจากนั้นมาผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงได้กลับมาร่วมกันรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณแยกราชประะสงค์ซึ่งเป็นเวทีใหญ่ของการชุมนุมประท้วงครั้งนั้นทุกปีจนกระทั่งเข้าสู่ปีนี้ซึ่งเป็นปีที่ 10 แล้ว และนอกจากนั้นยังมีการจัดรำลึกที่วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ซึ่งเป็นอีกสถานที่สำคัญในเหตุการณ์ครั้งนั้นเนื่องจากเป็นสถานที่มีผู้เสียชีวิตถึง 6 คน แม้ว่าจะถูกประกาศเป็นเขตอภัยทานเพื่อให้เป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางกลับภูมิลำเนาได้รอพัก โดยส่วนใหญ่ผู้ชุมนุมที่อยู่ในวัดจะเป็นผู้หญิง เด็กและคนชรา 

พะเยาว์ อัคฮาด พร้อมผู้ที่มาร่วมรำลึกถึงการเสียชีวิตของ กมนเกด อัคฮาด พยาบาลที่ถูกทหารยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนารามราชวรวิหารเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553

วัดปทุมฯ ปิดประตูทางเข้าวัดทั้งสองประตูไม่ให้ประชาชนเข้าไปทำกิจกรรมใดๆ ในวัด โดยมีการติดป้ายกระดาษที่เขียนว่า "ปิด อบ ฆ่าเชื้อ(โควิด-19) ภายในวัด 18-20 พ.ค.2563” ไว้บนป้ายประกาศข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯลฯ เรื่องงดทำกิจกรรม

แต่ในการรำลึกครั้งนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่สามารถเข้าไปทำกิจกรรมในวัดปทุมฯ ได้เนื่องจากวัดได้ปิดประตูทางเข้าและติดประกาศว่า "ปิด อบ ฆ่าเชื้อ(โควิด-19) ภายในวัด 18-20 พ.ค.2563” ทำให้พะเยาว์ อัคฮาด มารดาของกมนเกด อัคฮาด 1 ใน 6 ผู้เสียชีวิตในวัดแห่งนี้ ซึ่งปกติทุกปีเธอจะมาถวายเพลทำบุญอุทิศส่วนกุศล ให้แก่ลูกสาวของเธอ ไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ในปีนี้ ทำได้เพียงแค่วางดอกไม้และจุดเทียนรำลึกที่หน้าประตูทางเข้าวัดเท่านั้น 

ภาพของกมนเกด อัคฮาด พยาบาลที่ถูกยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 และเสื้อคลุมพิมพ์ลายเครื่องหมายกาชาดที่เธอใส่ขณะถูกยิง

เข็มกลัดที่พะเยาว์ อัคฮาดนำมาติดมีข้อความว่า "เขตอภัยทาน" และมีรูปคนตายกลางศูนย์เล็งปืน ซึ่งในวันเกิดเหตุวัดปทุมวนารามถูกประกาศให้เป็นเขตอภัยทานมาตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.2553 เพื่อให้เป็นสถานที่สำหรับผู้ชุมนุมที่ต้องการกลับบ้านแล้วได้พักรอ

ส่วนทางด้านสี่แยกราชประสงค์ แม้ว่าจะสามารถจัดกิจกรรมรำลึกได้และมีผู้เข้าร่วมราว 50 คน แต่ก็เป็นการจัดกิจกรรมที่อยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้เครื่องขยายเสียงคอยประกาศเตือนให้เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกั้นรั้วแบ่งพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมบนบาทวิถีและกำหนดจุดเข้าออกเพื่อให้พยาบาลจากโรงพยาบาลตำรวจตรวจวัดไข้คนเข้าร่วมกิจกรรม  

ตำรวจพร้อมพยาบาลจากโรงพยาบาลตำรวจมาตั้งจุดตรวจโควิด-19 สำหรับคนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมรำลึกสลายการชุมนุม 19 พ.ค.2553 ที่แยกราชประสงค์


 

ประชาชนที่มาร่วมงานรำลึกครบรอบ 10 ปี สลายการชุมนุม 19 พ.ค.2553 ช่วยกันจุดเทียนรำลึกที่ถูกวางเรียงเป็นคำว่า "ความจริง ใครยิง"

นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ และ ณัฏฐา มหัทธนา มาร่วมรำลึกครบรอบวันสลายการชุมนุม


โดยประชาชนที่มาร่วมรำลึกที่แยกราชประสงค์ เริ่มร่วมตัวกันตั้งแต่เวลาประมาณ 17.00 น. โดยมีการนำดอกไม้และเทียนมาวางเป็นคำว่า “ความจริง ใครฆ่า” และผู้ที่มาร่วมต่างกล่าวรำลึกถึงการสลายการชุมนุมเมื่อ 10 ปีที่แล้วและร่วมกันร้องเพลงนักสู้ธุลีดิน  จากนั้นจึงแยกย้ายกันกลับ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net