Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 “นที” หายไปกับสายน้ำ ปล่อยให้ร่างกายที่เป็นพันธนาการไหลไปกับสายน้ำ จิตวิญญาณของเขาอาจจะไปสู่ภพแห่งอรหันต์ตามที่เขาเชื่อ ข้าพเจ้ารู้สึกถึงการปลดปล่อยและเจ็บแปลบราวกับการทิ่มมีดเล่มเล็กลงไปบนห้อเลือดที่ข้อมือตัวเองก็คือ เขา ฆ่า ตัว ตาย ได้ในที่สุด 

ข้าพเจ้ารู้จักนทีผ่านการบอกเล่าของทนายความคนหนึ่งที่มีส่วนในการรับผิดชอบคดีของเขา ที่ได้เปรยขึ้นมาว่าบางทีข้าพเจ้าอาจจะพอช่วยคุยกับเขาได้บ้าง “เผื่อเขาจะสงบลงได้” อาจจะเพราะข้าพเจ้าเคยติดคุก พอจะรู้ว่าควรจะจัดการอารมณ์ความรู้สึกตัวเองอย่างไร หรืออาจจะเป็นเพราะความสามารถในการพูดคุยกับคนแปลกๆ ของข้าพเจ้า หรือ อาจจะเพราะคิดว่าการได้ทำประโยชน์แก่คนอื่นบ้างจะทำให้ข้าพเจ้าหยุดคิดเรื่องลบไปเสีย ก็ไม่อาจทราบได้ 

จนถึงตอนนี้ข้าพเจ้าก็ยังแปลกใจและยังปะติดปะต่อเรื่องราวที่เป็นเหตุเป็นผลของการพบกันของเราทั้งสองไม่ได้ทั้งหมด ตอนนั้นข้าพเจ้ารู้เพียงว่าเขาเป็นชายหนุ่มหน้าตาดี ที่โดนแจ้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะการโพสต์ข้อความในเชิงดูหมิ่นสถาบันกษัตรย์ หลังจากโดนจับเข้าเรือนจำเขาเริ่มทำร้ายตัวเองในห้องขัง กระทั่งหลายฝ่ายเกรงว่าเขาจะฆ่าตัวตายในคุก

ข้าพเจ้ารับปากไปเยี่ยมเขาที่ศาลในวันรุ่งขึ้นขณะที่เขาต้องมาขึ้นศาล อาจจะด้วยตำรวจเจ้าของคดีขอขยายระยะเวลาฝากขังหรือเพราะทนายทำเรื่องขอไต่สวนเพื่อยื่นขอประกันตัวอีกครั้ง ข้าพเจ้าเองก็จำไม่ได้แน่ชัด รู้เพียงว่าหน้าที่ของข้าพเจ้าในวันนั้นคือ “คุยกับนที” เพื่อให้เขาประคองสติอยู่ได้ ลดความหวาดระแวงลง ลดความพยายามที่จะทำร้ายตัวเองลงเพื่อให้เขารอดพ้นจากการถูกกักขังซ้ำซ้อนในคุก เพราะเมื่อคุณเริ่มมีอาการหวาดระแวง เข้ากับคนอื่นไม่ได้ในคุก คุณจะถูกสั่งแยกขัง หรือ บางครั้งเพื่อนนักโทษอาจจะใช้กำลังเพื่อให้คุณสงบลง 

ข้าพเจ้าต้องพยายามสื่อสารกับเขาให้เข้าใจว่าทุกฝ่ายกำลังช่วยกันอย่างสุดความสามารถเพื่อช่วยให้เขาได้ออกมาจากที่นั่นโดยเร็วที่สุด

วันนั้นข้าพเจ้าแต่งตัวอย่างเป็นทางการพอประมาณเผื่อจะดูน่าเชื่อถือขึ้นในฐานะคนที่จะคอยรับฟังและให้คำปรึกษากับผู้ต้องขัง ข้าพเจ้ายังไม่ได้พบเขาในทันที ต้องรอทนายความเป็นผู้พาไปแนะนำ ข้าพเจ้าจึงได้มีโอกาสพบกับพ่อของเขาขณะกำลังยื่นเอกสารขอประกันตัวลูกชาย 

ชายสูงวัยร่างผอมบาง ท่าทางเรียบร้อยพร้อมกับสีหน้าหม่นๆ มีเพียงรอยยิ้มจางๆ บนใบหน้าส่งมาให้ข้าพเจ้า ทนายความกระซิบบอกข้าพเจ้าว่า พ่อของนทีเคยเป็นนักเปียโนมาก่อนข้าพเจ้ารับรู้ด้วยความสนใจ แต่ตอนนี้คงไม่เหมาะจะสนทนาถึงดนตรีใดเพราะที่นี่เขาเป็นครูสอนเปียโนที่นั่งอยู่ในห้องรอประกัน ถือเอกสารสำคัญไว้ในมือ แววตามองไปที่เค้าเตอร์ของเจ้าหน้าที่ที่มีเลขช่องพร้อมกับคำอธิบายสั้นๆ ถึงหน้าที่ต่างๆ ของมัน 

หลังจากยื่นเอกสารเรียบร้อยพวกเรา คือ ข้าพเจ้า ทนาย ผู้ช่วยทนาย และพ่อของนที เดินลงมาที่ห้องขังใต้ถุนศาลฝั่งขังชายที่ดูจะเป็นสัดส่วนกว่าฝั่งขังหญิง มีการแบ่งแดน แบ่งประเภทของคดีชัดเจน ใกล้ๆ กันมีร้านอาหารเรียงชิดติดกันหลายร้านไว้คอยให้บริการญาติผู้ต้องขังที่อยากจะทานอาหารระหว่างรอเยี่ยม หรือจะส่งอาหารเข้าไปให้ผู้ที่ติดอยู่หลังลูกกรงได้ทานอาหารอย่างคนปกติสักมื้อหลังจากต้องทนกินข้าวคุกมาสักระยะ และสำหรับบางคนอาจจะเป็นอาหารจากร้านค้ามื้อสุดท้าย ถ้าวันนั้นเป็นวันตัดสินของเขา 

ข้าพเจ้าระมัดระวังตัวเล็กน้อยเพราะวิธีการเยี่ยมญาติของฝั่งขังชายต่างจากขังหญิง จะว่าดีกว่าก็ดีกว่า จะว่าแย่กว่าก็ไม่ใช่ทั้งหมด ฝั่งขังชายนั้นการจะได้พูดคุยกับผู้ต้องขังสักคนจะต้องเขียนชื่อส่งให้เจ้าหน้าที่ที่เฝ้าช่องเยี่ยม จากนั้นเจ้าหน้าที่จะสอบถามอะไรเล็กน้อยแล้วดูว่าจะอนุญาตหรือไม่ จากนั้นผู้เยี่ยมก็ต้องเดินมาตามช่องที่มีไมค์โครโฟน รอให้ผู้ต้องขังเดินมาจากอีกฝั่งของลูกกรงแล้วนั่งให้ตรงกันจึงเริ่มบทสนทนา ต่างจากขังหญิงที่เดินเข้าไปถึงลูกกรงแล้วก็ตะโกนเรียกกันได้เลย เพราะว่าไมโครโฟนที่มีใช้งานไม่ได้

ทนายชี้ให้ข้าพเจ้าดูนทีที่เดินวนอยู่ในห้องขังใต้ถุนศาล เขาเดินวนไปวนมาอยู่ด้านหลังก่อนจะได้ยินประกาศเรียกชื่อแล้วเดินออกมายังจุดเยี่ยมญาติ พ่อของเขานำเข้าไปก่อน ชายร่างผอมท่าทางใจดีพูดคุยกับลูกชายสักเล็กน้อยก่อนจะส่งต่อให้ทนายแล้วก็ถึงคราของข้าพเจ้าที่เลือกนั่งบนเก้าอี้สูงที่ศาลจัดไว้ให้แทนการยืนคุยแบบคนอื่นๆ การสนทนาครั้งนี้คงกินเวลานานเป็นการดีกว่าการที่จะต้องเขย่งขาทรมาณตัวเองเพื่อให้ปากอยู่ใกล้ไมโครโฟนระหว่างคุยกับนที 

ลูกกรงหลายต่อหลายชั้น ทั้งตาข่ายอย่างหนาอย่างบางทำให้ข้าพเจ้ามองเห็นเขาไม่ชัดนัก แต่ข้าพเจ้าพยายามเพ่งมองเขา

“สวัสดีครับ ผมจะได้ประกันตัวออกไปไหมครับ” เป็นคำทักทายที่มาพร้อมกับคำถามที่เขายิงตรงเข้ามาหลังจากที่ข้าพเจ้าแนะนำตัวเองแล้ว ข้าพเจ้าคาดเดาเอาเองว่าเขาคงจะถามคำถามนี้กับทั้งพ่อและทนายความมาแล้ว เขาเริ่มเล่าเรื่องราวขณะอยู่ในคุกให้ข้าพเจ้าฟัง เขาเห็นหลายสิ่งหลายอย่างที่คนอื่นไม่เห็นและได้ยินหลายสิ่งหลายอย่างที่คนอื่นไม่ได้ยิน “มีเสียงกระซิบให้ผมหนีไป แต่ผมเถียงกับมันว่าผมไม่หนี ผมหนีไม่ได้ผมต้องรอให้ทนายมาประกันตัว แต่ผมรอนานมาก” น้ำเสียงเขาเริ่มจะสั่นขณะอธิบายถึงการรอคอยอันแสนยาวนานในที่คุมขัง ข้าพเจ้าจำไม่ได้ว่านทีต้องเข้าไปติดคุกอยู่กี่วันกว่าจะได้ออกมาขึ้นศาลในวันนี้ เท่าที่ข้าพเจ้าจับใจความได้ นทีมีอาการนอนไม่หลับจึงลุกขึ้นเดินไปเดินมาในห้อนอน ก่อให้เกิดความวุ่นวายในพื้นที่แออัดนั่น บางครั้งเขาพูดคนเดียวแต่ก็ดันไปรบกวนคนหมู่มากที่อยู่ร่วมกันเข้า

“พวกเขาไม่ชอบผม” เขาบอกข้าพเจ้า “หมอที่นั่นให้ผมกินยา” 

ข้าพเจ้าตกใจเมื่อเขาพูดเรื่องการกินยา แต่ยังควบคุมตัวเองไม่ให้แสดงอาการตกใจมากเกินไป เพราะข้าพเจ้าไม่มีข้อมูลของเขามาก่อน แน่นอนว่าถ้าเป็นผู้ต้องขังทั่วไปนั้นข้าพเจ้าย่อมไม่สนับสนุนให้พวกเขากินยาสำหรับผู้ป่วยผู้ป่วยจิตเวชแน่ๆ เพราะบางครั้งการสั่งยาของแพทย์ประจำเรือนจำก็เป็นเพียงแค่การรักษาอาการเฉพาะหน้าให้ผู้ต้องขังสงบลงเพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมของผู้คุม ยาส่วนใหญ่เป็นยาประเภทง่วงซึมและทำให้ประสาทรับรู้ช้าลงไปเท่านั้น

 “ไม่เหมือนยาที่เคยกินข้างนอก อันนี้กินแล้วผมง่วงมาก ผมไม่อยากกินอีก มันทำอะไรไม่ได้เลยทั้งวัน” เขาเล่ารายละเอียดแล้วข้าพเจ้าก็ถามจนแน่ใจว่าก่อนหน้านี้เขาเคยได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ภายนอกด้วยและเคยกินยามาก่อนจึงได้พอวางใจจากอคติของตัวเอง อย่างน้อยเขาก็เป็นผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการรักษาจริงๆ

ข้อความที่เป็นปัญหาจนทำให้นทีต้องมาใช้ชีวิตอย่างหวาดระแวงในห้องขังคือ ข้อความที่เขาขออนุญาตที่จะสอนพระมหากษัตริย์ในข้อความที่อธิบายการเป็นน้ำครึ่งแก้วว่า “ท่านไม่สามารถทำให้น้ำอยู่ครึ่งแก้วได้หากมีความรู้เข้ามาครับ และถ้าน้ำจะเต็มแก้วเราจะห้ามไม่ให้น้ำเต็มแก้วไม่ได้ครับ เราจะต้องหาวิธีต่อแก้วให้มันใหญ่ขึ้น” บวกรวมกับข้อความอื่นๆ ที่เขาแสดงความคิดเห็นลงไปในหน้าเฟสบุ๊คก็ทำให้เขาถูกฟ้องร้องด้วยมาตรา 112 
  

วันนั้นข้าพเจ้านั่งคุยกับเขาจนเริ่มคอแห้ง หลายครั้งข้าพเจ้าไม่ได้ติดตามสิ่งที่เขาพูด เพียงแค่เอาประโยคสุดท้ายที่เขาพูดมาถามต่อไปเรื่อยๆ ให้เขาได้เล่าความรู้สึกตัวเองออกมาเท่านั้น “หิวน้ำไหม เอาน้ำอัดลมหรือเปล่า” ข้าพเจ้าเอ่ยถามหลังจากที่สมองหาเรื่องคุยและถามไถ่ต่อไปไม่ได้

“เอาน้ำเปล่าก็พอครับ” เขาตอบเรียบๆ ก่อนที่ข้าพเจ้าจะถามเรื่องร่องรอยแผลเล็กๆ น้อยๆ ที่พอสังเกตุได้ผ่านลูกกรงหลายชั้น เขาเล่าว่าเขาพยายามจะฆ่าตัวตายตามคำสั่งของเสียงในหัว จนเพื่อนๆ ในคุกต้องมาห้ามปรามไว้จนเกิดร่องรอยอย่างที่เห็น เขาถูกกักอยู่ที่สถานพยาบาลโดยต้องใส่เสื้อที่ป้องกันการทำร้ายตัวเองและผู้อื่น “แบบนี้ครับ” เขาทำท่าให้ข้าพเจ้าดู แขนทั้งสองพาดไขว้กันอยู่ด้านหน้า คล้ายกับคนกอดอก ถูกมัดอยู่กับเตียงเพื่อป้องกันการพยายามทำร้ายตัวเอง พร้อมกับกินยาที่หมอจัดให้

“……แต่ในขณะที่โพสต์จำเลยไม่สามารถควบคุมตนเองได้และไม่ทราบว่าการโพสต์ข้อความดังกล่าวผิดกฎหมาย จำเลยเป็นผู้ทำแบบสอบถามเปรียญธรรม 10 ประโยคลงในเว็บไซต์เด็กดี เนื่องจากจำเลยเข้าใจว่าตนเป็นพระพุทธเจ้า โดยจำเลยคิดว่ามนุษย์ต่างดาวสวมร่างของจำเลย…….”

เนื้อความหนึ่งในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเล่าถึงอาการของนทีตามที่ทนายฝ่ายจำเลยนำสืบ เรื่องราวและบทสนทนาในวันนั้นของเขาและข้าพเจ้าล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องเล่าที่พัวพันผสมกันไประหว่างเรื่องราวที่เกิดขึ้นในคุกกับเรื่องที่โลดแล่นอยู่ในหัวของนที “ผมอยู่ไม่ได้แล้ว คุณหมอครับ ผมจะได้ประกันตัวไหมครับ” เขาเรียกข้าพเจ้าว่าคุณหมอ และอาจจะเข้าใจว่าข้าพเจ้าจะมาช่วยพูดเพื่อให้เขาได้รับการประกันตัว “ผมอยู่ไม่ได้แล้วครับคุณหมอ ผมไม่อยากอยู่ในนั้นแล้วครับ” 

ในระหว่างที่ต่อสู้คดีของศาลชั้นต้น พ่อของนทีในฐานะพยานฝ่ายจำเลยให้การต่อศาลตามที่ปรากฎในคำพิพากษาว่า “พยานเห็นว่าจำเลยมีความผิดปกตินอกเหนือจากบุคคลทั่วไป อย่างเช่นว่าหลังจากจำเลยจบการศึกษาจากวิทยาลัยกรุงเทพการบัญชีแล้วไปสมัครงานหลายที่แต่ไม่ผ่านการทดลองงานเนื่องจากจำเลยมีอาการผิดปกติทางสมอง เข้าใจว่าตนเองอยู่เหนือพระศาสดา เป็นพระอรหันต์ จึงพาจำเลยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเดชา ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่จะเกิดการกระทำผิดในคดีนี้”

“ผมจะไม่ฆ่าตัวตาย ผมจะไม่ทำลายของ ผมจะคุยกับผู้คุมและเพื่อนดีๆ ถ้าได้ประกันตัวผมจะไปรักษาที่โรงพยาบาล” เขาทวนคำที่ข้าพเจ้าบอกหลังจากที่เขาให้ข้าพเจ้าช่วยหาทางที่เขาจะไม่ต้องถูกมัดไว้กับเตียงคนไข้อีก
 
วันต่อมาข้าพเจ้าได้ข่าวดีว่าเขาได้รับอนุญาตให้ประกันตัวออกมาแล้ว นับเป็นโชคดีทีเดียวสำหรับผู้ต้องหาในคดีนี้ แม้ว่าเขาเคยหลบหนีการจับกุมมาแล้วหลังจากที่เขารู้ว่ามีคนนำข้อความที่เขาโพสต์ลงในเฟสบุ๊คไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ และเป็นเรื่องดีที่เขาจะได้รับการรักษา ได้รับการดูแล และ ไม่ต้องไปอยู่ในคุกระหว่างสู้คดี บางทีเขาอาจจะรอดจากคุก บางทีผู้พิพากษาอาจจะสั่งยกฟ้อง บางทีผู้พิพากษาอาจจะละเว้นโทษทางอาญาให้เขา

บางที … ข้าพเจ้าหวังว่าบางทีมันจะเป็นอย่างนั้น แต่ในความเป็นจริงนั้น บางทีที่ดีๆ นั้นอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน 

หลังจากวันนั้นข้าพเจ้ารับรู้เรื่องราวของนทีอีกครั้งในหน้าฟีดเฟสบุ๊ค เขากระโจนลงน้ำจบชีวิตตัวเองสำเร็จ หลังจากพยายามมาแล้วหลายครั้ง เขาตายจากโลกนี้ไปแล้ว ไปจากร่างกายหรือแก้วที่กักขังเขาไปแล้ว และในขณะเดียวกันข้าพเจ้าก็ได้รับรู้ว่า ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น นทีถูกพิพากษาให้จำคุก 3 ปี รับสารภาพจึงลดลงมาเหลือ 2 ปี แต่มิใช่ด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหากแต่กลับกลายเป็นการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ 

“แม้จำเลยจะนำสืบว่ามีอาการป่วยทางจิต แต่ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าขณะกระทำความผิดไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เมื่อพิเคราะห์อาการป่วยของจำเลยก่อน ขณะ และหลังกระทำความผิดตามทางนำสืบของจำเลย น่าเชื่อว่าสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง จำเลยต้องรับโทษสำหรับความผิดดังกล่าวแต่เห็นสมควรลดโทษให้ตามพฤติการณ์แห่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง”

ครั้งเมื่อข้าพเจ้าใช้ชีวิตเสรีอยู่ในคุก ข้าพเจ้าพบเห็นและรู้จักกับนักโทษหลายคนที่มีอาการทางจิตเภท เป็นโรคประสาทแต่พวกเขาก็ยังถูกพิพากษาให้รับโทษด้วยการจำคุก ตัวอย่างเช่น มรกต ผู้มีอาการเสพติดการขโมยของ ทั้งๆ ที่ที่บ้านของเธอก็มีฐานะระดับหนึ่ง แต่ก่อนหน้าที่จะก่อคดีแรกเธอไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์ และในชั้นศาลไม่ได้มีการนำสืบไปถึงอาการป่วยของเธออจนเมื่อเธอกระทำผิดเรื่องเดิมซ้ำๆ เข้าออกคุกราวกับเดินห้างสรรพสินค้า

ผู้คุมและแพทย์ในเรือนจำก็เริ่มสังเกตุว่านี่ไม่ใช่เรืองปกติ แต่เพราะเธอมักจะรับสารภาพในทุกคดีที่ก่อ กระบวนการไต่สวนจบลงที่ตรงนั้นและเมื่อเข้าสู่รั้วเรือนจำ เธอก็ถูกรักษาด้วยยาจากหมอประจำเรือนจำแต่มิได้มีการวินิจฉัยอย่างจริงจังและประวัติการรักษาต่างๆ ก็ไม่ได้ถูกนำไปอ้างในชั้นศาลเมื่อเธอก่อคดีใหม่หลังพ้นโทษ เพราะไม่ว่าอย่างไรเธอก็รับสารภาพอยู่แล้ว

อีกคนคือ วรัญญา เด็กออทิสติกที่มีประวัติชี้ชัดว่าเป็นออทิสติกแต่กำเนิด ก็ไม่ได้รับการละเว้นโทษจำคุกเมื่อไปขโมยจักรยานของคนข้างบ้านมาขี่เล่น เธอถูกโยนเข้าคุกเช่นกัน  

สิทธิแห่งการร้องขอให้มีการพิจารณา หรือพิสูจน์ว่าผู้ก่อเหตุเป็นบ้า หรือฟั่นเฟือนนั้น ผู้ต้องหา หรือ ญาติของผู้ต้องหาร้องขอจากศาลให้นำไปเป็นข้อหักล้างในการพิจารณาคดีได้ แต่จะมีกี่คนที่กระทำความผิดโดยสำนึกรู้ตัวว่าตนมีอาการผิดปกติทางจิต หากคนคนนั้นเป็นแค่ชาวบ้านร้านตลาด เป็นแค่คนที่รู้กฎหมายเท่ากับ ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก หรือแม้แต่ว่าคนคนนั้นเคยมีประวัติการรักษาอาการทางจิตแล้ว มีสิทธิ์นำความเห็นแพทย์ ประวัติการรักษาขึ้นเป็นพยานในชั้นศาล ก็ไม่แน่ว่าจะได้ใช้เป็นเหตุให้ผู้พิพากษาเชื่อได้ว่าขณะกระทำความผิดนั้นเขามีอาการทางจิตจนควบคุมตัวเองไม่ได้ อันเป็นเหตุให้ละเว้นโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา65 และ 66 ที่ว่าการกระทำความผิดของคนบ้า หรือคนที่มีจิตบกพร่องโรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน หรือคนเมา กฎหมายถือว่า เป็นความผิดแต่ได้รับยกเว้นโทษ คือ ไม่ต้องรับโทษทางอาญา โดยฝ่ายผู้กระทำความผิด จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า กระทำความผิดในขณะที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตัวเองได้ โดยจะต้องนำผลการรักษาโรคจิต หรือนำความเห็นของแพทย์มาแสดงต่อศาล ศาลอาจจะลงโทษน้อยลง โดยผู้เสียหายจากการกระทำผิดของคนวิกลจริต สามารถเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งจากบุคคลวิกลจริตเอง หรือบิดามารดา หรือผู้อนุบาลของบุคคลวิกลจริตนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429
  
กรณีผู้ป่วยจิตเภทที่รอดคุกจากคดี 112 มาแล้วหลายต่อหลายครั้งคือ สมอลล์ บัณฑิต อานีญา เขาถูกแจ้งข้อหา 112 ถึง 4 ครั้ง แต่ทุกครั้ง เขาจะได้รับการยกเว้นโทษทางอาญา เนื่องจากในคดีแรกที่เขาเป็นจำเลยนั้น แพทย์ผู้รักษาเขาในขณะนั้นยืนยันว่าเขามีอาการทางจิตเภท ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี และความคุมตนเองไม่ได้ขณะที่กระทำความผิด ทำให้ในคดีต่อๆ มาเขาได้ถูกระบุว่าเป็นผู้ที่ยากต่อการรักษา และก็ยังไม่ได้ถูกระบุว่าได้รับการรักษาหายขาดแล้ว ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 วรรคแรก แต่สำหรับนทีแล้ว ศาลเห็นว่าเขายังเป็นผู้รู้ผิดชอบชั่วดีอยู่บ้างจึงใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 วรรค 2 คือบุคคลวิกลจริตนั้นยังต้องรับโทษตามการกระทำความผิดแต่อย่างไรก้ตามศาลจะลดโทษให้น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ 

หากเป็นเรา เป็นท่าน เราจะเอามาตรฐานอะไรมาวัดกันนะว่าคนที่ยืนอยู่ตรงหน้าเรานั้นเป็นผู้รู้ผิดชอบชั่วดีหรือไม่ อย่างไร ต้องใช้หลักฐานใดมาพิสูจน์ว่าเขากระทำความผิดเพราะป่วยไข้ แล้วต้องรักษามานานแค่ไหนก่อนการกระทำความผิดจึงจะเชื่อได้ว่า เขาเป็นผู้ไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจขณะกระทำความผิด จะรู้อย่างไรว่าใครแกล้งบ้า ใครบ้าจริง คนปกติอย่างเราจะมองเรื่องนี้อย่างไรนะ เราจะตัดสินคนอื่นอย่างไรกันนะ และแม้ว่าเขาจะบ้าจริง การเอาคนบ้าเข้าคุก เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องในระยะยาวจริงหรือไม่

แต่สำหรับนทีไม่ว่าเขาจะบ้าหรือไม่บ้า ตอนนี้เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาสำหรับเขาอีกต่อไป 

“ผมอยากออกไปอยู่คนเดียว ผมไม่อยากกลับไปอยู่ที่บ้าน” เขาเคยบอกข้าพเจ้า เพราะปัญหาเรื่องทัศนคติทางความคิดและพฤติกรรมของเขาทำให้คนในครอบครัวไม่พอใจและรับไม่ได้ เนื่องจากเขายังใช้นามสกุลพระราชทาน แน่นอนที่สุดว่าการถูกตีตราเกิดขึ้นกับอดีตคนคุกแทบทุกคน และมันจะเป็นตราที่หนาแน่นกว่าเดิมเมื่อคุณเป็นนักโทษคดีการเมือง คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คดีก่อการร้าย ไม่ใช่แค่จากคนข้างนอกที่เราไม่รู้จัก แต่ตราประทับแรกคือสายตาของคนในครอบครัวที่มองมาที่เราต่างหาก

จนถึงตอนนี้ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าเรื่องราวของนทีจะมีประโยชน์อะไรกับผู้อ่าน เรื่องของนทีอาจจะเป็นเรื่องที่ทำให้ข้าพเจ้าร้องไห้ห่าใหญ่เมื่อได้รับรู้ อาจจะเพราะความคับแค้นต่างๆ ที่สะสมอยู่หรือเพราะความขลาดกลัวต่อการจะจบชีวิตตนเองของข้าพเจ้าเอง 

ดังนั้นเบื้องหลังของข้อเขียนนี้จึงเป็นเพียงการแสดงความเคารพในการตัดสินใจของผู้ที่มีความกล้าหาญในการฆ่าตัวตายทุกผู้ทุกคน แด่ผู้คนที่กล้าหาญพอที่จะหยุดความเจ็บปวดเลวร้ายภายใต้การบริหารงานอย่างไร้น้ำยาของรัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา และระบบยุติธรรมแบบไทยๆ ความบูดเบี้ยวของคนในสังคม

ทุกชีวิตของผู้กล้าที่น่าสงสารเหล่านี้จะเป็นรายชื่อพยานความอดสูของระบบที่คนไทยต้องกล้ำกลืนอยู่และชื่อ นที จะเป็นหนึ่งในนั้น

นทีจากไปกับสายวารีแล้ว เขาไม่เคยเป็นน้ำครึ่งแก้ว ไม่เคยเป็นน้ำเต็มแก้ว ไม่เคยเป็นน้ำที่ล้นแก้ว เขาเป็นหนึ่งเดียวกับสายน้ำดุจนามของเขา เขาจะเข้าถึงพุทธะในทางของเขา เขาจะบอกกล่าวความคิดของตนได้อย่างเสรีเมื่อเขาเป็นหนึ่งเดียวกับสายน้ำ ไม่มีภาชนะใดมากักขังเขาได้อีก ไม่ว่าจะแก้วใบเดิม หรือแก้วที่ต่อขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าภาชนะใดก็ไม่อาจจะทำให้น้ำคงสภาพอย่างเดิมได้อย่างถาวร 


เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 'นที' ผู้ป่วยจิตเภทถูกดำเนินคดีเหตุโพสต์เกี่ยวกับกษัตริย์ โดดน้ำฆ่าตัวตายเสียชีวิต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net