Skip to main content
sharethis

4 พ.ค. 2563 ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 18 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสม 2,987 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต รวมผู้เสียชีวิตสะสม 54 คน รักษาหาย 1 คน รวมรักษาหายสะสม 2,740 คน สธ.สั่งตรวจซ้ำกลุ่มเสี่ยง 40 คน ที่ จ.ยะลา เนื่องจากผลตรวจยังขัดแย้งกัน

4 พ.ค. 2563 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ว่าไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 18 คน อยู่ในศูนย์กักกันสะเดา จ.สงขลา ผู้ติดเชื้อสะสม 2,987 คน ไม่มีเสียชีวิตเพิ่ม เสียชีวิตสะสม 54 คน หายป่วยแล้ว 2,740 คน รักษาตัวใน รพ. 193 คน

ผู้ติดเชื้อใหม่ในวันนี้ เป็นผู้ต้องกักต่างด้าวทั้งหมด เป็นหญิง 17 คน ชาย 1 คน ในศูนย์กักกันฯ สงขลา ก่อนหน้านี้พบไปแล้ว 42 คน รวม 60 คน

“กลุ่มที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อใน 28 วัน เพิ่ม 2 จังหวัด คือ สระแก้ว อุบลราชธานี รวมทั้งหมด 34 จังหวัด ส่วนกลุ่มไม่มีรายงานผู้ป่วยมาก่อนมี 9 จังหวัด”

จังหวัดยะลาพบผู้ป่วยคนแรก 16 มี.ค.จากการร่วมพิธีทางศาสนาที่มาเลเซีย จากนั้นมีกลุ่มผู้สัมผัสทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในเดือน เม.ย. โดยมีการค้นหาเชิงรุกตั้งแต่ 21 เม.ย.-3 พ.ค.ที่ผ่านมา จนพบติดเชื้อรวม 126 คน

จังหวัดยะลา ตรวจ 3,277 คน พบเชื้อ 20 คน เมื่อตรวจสอบพบ 671 คนเชื่อมโยงกลุ่มที่ติดเชื้อก่อนหน้านี้ และส่งตรวจหาเชื้อ 222 คน พบติดเชื้อ 6 คน จากนั้นตรวจเพิ่มกลุ่มใหญ่ที่เกี่ยวข้อง 311 คน พบเชื้อ 40 คน

“การตรวจพบ 40 คน จากผลการกระจายศูนย์แล็บทั่วประเทศ แต่ชุดข้อมูลที่ทางศูนย์ยะลาทำออกมายังไม่เป็นทางการ จึงมีการตรวจสอบกับศูนย์กรมวิทย์ฯ ที่ จ.สงขลา ซึ่งยืนยันผลว่าไม่พบเชื้อทั้ง 40 คน เมื่อผลตรงกันข้ามกัน ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เห็นควรให้ตรวจเพิ่มที่ส่วนกลาง หรือแล็บกรมวิทย์ฯ ที่กรุงเทพฯ วันนี้ยังไม่ยืนยันผล จนกว่าจะทวนสอบทุกขั้นตอน แต่ยืนยันไม่ปกปิดข้อมูลแน่นอน”

ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.-1 พ.ค. ไทยตรวจ COVID-19 แล้ว 227,860 ตัวอย่าง พบว่าช่วงหลังตรวจจำนวนมาก แต่พบผู้ติดเชื้อน้อยลง เพราะมีมาตรการป้องกันที่เข้มข้น

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ทั่วโลกติดเชื้อ 3.5 ล้านคน เสียชีวิต 2.4 แสนคน อาการหนัก 50,000 คน โดยสหรัฐฯ เป็นอันดับ 1 ติดเชื้อสะสม 1.18 ล้านคน เสียชีวิต 6.8 หมื่นคน

กลุ่มประเทศในเอเชีย ปากีสถานติดเชื้อเพิ่ม 981 คน ติดเชื้อสะสม 20,084 คน เสียชีวิต 457 คน สิงคโปร์ติดเชื้อเพิ่ม 657 คน ติดเชื้อสะสม 18,205 คน มาเลเซียติดเชื้อเพิ่ม 122 คน ติดเชื้อสะสม 6,298 คน

“ในวันนี้มีคนไทยจากมัลดีฟส์ 131 คน และฮ่องกง 162 คน ส่วนพรุ่งนี้ คนไทยจากฝรั่งเศส 16 คน และอินเดีย 220 คน เดินทางกลับไทย และเข้ากักตัวในสถานที่ที่รัฐกำหนด”

ส่วนการเดินทางเข้าไทยผ่านจุดผ่านแดนทางบก ตั้งแต่ 18 เม.ย.-3 พ.ค.ที่ผ่านมา สะสม 7,284 คน โดยเข้ากักตัวในสถานที่ที่รัฐกำหนด

สำหรับการกระทำผิดชุมนุมมั่วสุม ถูกดำเนินคดี 129 คน ส่วนใหญ่ดื่มสุรา 60% เล่นการพนัน 21 % ฝ่าฝืนออกนอกเคหสถาน 690 คน ตักเตือน 24 คน ดำเนินคดี 666 คน

เมื่อถามว่า สถานเสริมความงามเปิดได้หรือไม่นั้น นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ยืนยันว่าตามข้อกำหนดฉบับที่ 5 (6) คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ต้องปิด เพราะมีความเสี่ยงในการแพร่โรค เนื่องจากต้องใช้เวลาทำกิจกรรมนานและมีเหตุจำเป็นต้องเปิดค่อนข้างน้อย

“กรณีที่ประชาชนไปซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำนวนมาก จนเกิดความแออัดนั้น ขอแสดงความห่วงใย เพราะเพิ่งเริ่มมาตรการผ่อนปรน โดยขอให้ความร่วมมือเว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ และจำกัดจำนวนคนลดแออัด”

นพ.ทวีศิลป์กล่าวด้วยว่า ชุดข้อมูลและสถิติต่าง ๆ จะถูกรวบรวมให้สอดคล้องมาตรการผ่อนปรน หากประสบความสำเร็จ คือ ตัวเลขติดเชื้อเท่าเดิม หรือลดลง จะสู่มาตรการผ่อนปรนระยะ 2 แต่หากตัวเลขติดเชื้อเพิ่มขึ้นจะต้องทบทวนมาตรการทั้งหมด

สสจ.สงขลาเผยชาวต่างด้าวถูกกักตัวพบติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 18 ราย ยังไม่มีอาการป่วย 

กรณีพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มอีก 18 ราย เป็นชาวต่างด้าวที่ถูกควบคุมตัวอยู่ภายในศูนย์กักตัว ผู้ต้องกัก ตรวจคนเข้าเมืองสงขลา อ.สะเดา ซึ่งการตรวจพบเชื้อครั้งนี้เป็นการตรวจเชิงรุก ภายหลังจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคเมื่อสัปดาห์ก่อน พร้อมกำชับให้ปฏิบัติการตรวจหาเชื้อเชิงรุกในกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ถูกควบคุมตัวอยู่บนชั้น 2 ของอาคารศูนย์กักตัวผู้ต้องกักตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา อำเภอสะเดา ซึ่งมีจำนวน 28 ราย

นพ.อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ได้เปิดโรงพยาบาลสนามภายในศูนย์กักฯ สำหรับรักษาตัวแรงงานต่างด้าวที่ติดเชื้ออยู่ก่อนแล้ว เมื่อพบแรงงานต่างด้าวติดเชื้อเพิ่มอีก 18 ราย แพทย์จะได้ตรวจเอกซเรย์ปอด แต่ขณะนี้ทั้งหมดไม่ได้มีอาการป่วยใด ๆ หากผลเอกซเรย์ปอดพบว่ารายใดเริ่มมีปอดอักเสบหรือปอดบวมก็จะส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลหลักทันที หากยังไม่มีอาการเสี่ยงจะรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสนาม ส่วนแรงงานต่างด้าวกลุ่มเดิมที่ติดเชื้อก่อนนี้ 42 ราย ทั้งหมดมีอาการดีขึ้นตามลำดับ ขณะนี้ได้แยกชาวต่างด้าว 10 ราย ที่ไม่ติดเชื้อออกจากห้องกักที่มีผู้ติดเชื้อแล้ว ส่วนผู้ติดเชื้อนั้นทางทีมแพทย์ได้เข้าตรวจอาการแล้ว นำโดย นพ.สุวัฒน์ วิริยะพงษ์สุกิจ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะเดา

"ชาวต่างด้าวอีก 45 ราย ถูกกักตัว อยู่อาคารด้านหลัง ของศูนย์กักฯ (ที่พบผู้ป่วยเป็นอาคารด้านหน้า) ซึ่งแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง เจ้าหน้าที่ได้ประเมินร่วมกันแล้ว พบว่ายังไม่มีปัจจัยเสี่ยง เนื่องเจ้าหน้าที่ ตม.ที่ทำหน้าที่เข้าเวรดูแลความเรียบร้อยทั้ง 2 อาคารนั้นแยกออกจากกันทั้งหมด ทำให้ยังไม่ต้องมีการตรวจสารคัดหลั่งเพื่อหาเชื้อไวรัสโควิด 19 แต่อย่างใด"

อย่างไรก็ตาม การที่พบผู้ป่วยเพิ่มอีก 18 รายนั้น ทำให้จำนวนผู้ป่วยรวมในจังหวัดสงขลานั้นเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองเพิ่มเป็น 60 ราย ผู้ป่วยรวม 123 ราย

ขอประชาชนคงมาตรการป้องกัน ปิดโอกาสแพร่ระบาดระลอก 2

กระทรวงสาธารณสุขแถลง แถลงมาตรการดูแลตัวเองในช่วงผ่อนปรนมาตรการทางสังคมภาคบังคับ โดย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป ระบุว่า วันนี้มีการรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18 คน โดยเป็นกลุ่มคนต่างชาติที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งอยู่ภายในศูนย์กักกันของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งยังสามารถให้การดูแลได้

ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า ตั้งแต่การผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ ตั้งแต่วานนี้ ( 3 พ.ค.2563) ประชาชนเดินทางมากขึ้น แม้ว่าจะมีการห้ามเดินทางข้ามจังหวัดแต่การเดินทางก็จะมีความเสี่ยงที่จะพบผู้ป่วยมากขึ้นในสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ตามภาพรวมประชาชนมีความตระหนักในการป้องกันโรคทั้งการออกกำลังกายที่สวนสาธารณะและการไปซื้อของในห้างสรรพสินค้า พบว่าส่วนใหญ่สวมหน้ากากแต่ในบางจุดอาจต้องเพิ่มการเว้นระยะห่างให้เหมาะสม

นพ.โสภณ ยังกล่าวถึง คำเตือนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่า การผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ อาจทำให้มีการแพร่ระบาดอีกครั้งได้ โอกาสที่จะมีการติดเชื้อก็เป็นไปได้ขณะที่กิจกรรมบางอย่างเช่นการตั้งวงรับประทานอาหาร และดื่มสุราอาจทำให้มีความเสี่ยงด้วย ขณะที่สถานที่มีโอกาสเสี่ยงในการแพร่เชื้อเช่น เรือนจำ สถานที่พักอาศัยของกลุ่มแรงงานต่างชาติ ยังคงตรวจเชิงรุกต่อเนื่อง

นพ.โสภณ ยังกล่าวถึง ในอดีตที่ผ่านมาการรับมือโรคระบาดในช่วงแรกจะสามารถรับมือได้ดีเนื่องจากมีผู้ป่วยน้อย ขณะที่ยังมีการระบาดจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในระยะที่ 2 เนื่องจากการคลายล็อกเพราะประชนอาจลดการป้องกันซึ่งไทยควรที่จะยึดมาตรการดังเดิมและประชาชนควรร่วมมือกันในการใช้มาตรการพื้นฐานคือการลดความเสี่ยงในการใช้บริการเช่น การลดจำนวนคน คัดกรองผู้ที่มีไข้ และสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือเพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อ ไม่นำมือมาสัมผัสหน้า มาตรการส่วนบุคคลจะช่วยได้ดีหากทำได้ดีจะไม่มีการแพร่ระบาดในระลอกที่ 2

ขณะนี้ไทยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไทยยังอยู่ในรอยต่อของระลอกที่ 1 หวังว่าจะไม่ถึงระลอกที่ 2 เพื่อที่จะรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ที่มาเรียบเรียงจาก: Thai PBS [1] [2] สำนักข่าวไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net