Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ทำไมจึงเป็นปัญหา

ราว 5 เดือนก่อน เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 วาสนา นาน่วม “นักข่าวสายทหารชื่อดัง” โพสต์ลงใน Facebook ส่วนตัว จั่วหัวไว้อย่างน่าสนใจดังภาพด้านล่าง

ภาพจาก https://web.facebook.com/WassanaJournalist/posts/2679573748767733

โพสต์ดังกล่าวนี้ได้รับการกดไลค์มากกว่า 2,000 ครั้ง แชร์มากกว่า 400 ครั้ง รวมถึงมีสื่อใหญ่อย่างน้อยสองค่ายเอาไปลงข่าวพาดหัวว่า "วาสนา"โพสต์เล่าเรื่องคชบาลเท้าซ้ายหน้า "สมเด็จพระนเรศวร" กับ "บิ๊กจ๊อด"พ่อ"บิ๊กแดง" (สยามรัฐออนไลน์, 2562) หรือ อย่าเข้าใจผิด จตุลังคบาท ไม่ใช่ "บิ๊กแดง" พร้อมมีข้อความต่ออีกว่า "วาสนา"ไขความกระจ่างรูปปั้นจตุลังคบาทหน้าคล้าย"พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์" ที่อยุธยา (เนชั่นสุดสัปดาห์, 2562) โดยข่าวที่สื่อเหล่านี้ลงไม่ได้ขยายความหรือให้ข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติมจากที่วาสนาโพสต์แต่อย่างใด

ใจความสำคัญของโพสต์นี้ คือ การบอกว่า “บิ๊กจ๊อด” คือ จตุลังคบาทซ้ายหน้าของอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรที่อยุธยา ไม่ใช่ “บิ๊กแดง” อย่างที่เข้าใจผิดกัน แต่ผู้เขียนคิดว่า วาสนา นาน่วมเองก็เข้าใจผิดเหมือนกันกับสื่อที่เอาไปลงข่าว เพราะภาพรูปปั้นจตุลังคบาทที่หน้าเหมือนบิ๊กจ๊อดในโพสต์นั้น ไม่ใช่ภาพอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรที่อยุธยา แต่เป็น “พระราชานุสาวรีย์พระสุริโยทัย” ณ บริเวณทุ่งมะขามหย่อง ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา แม้ตอนท้ายของโพสต์วาสนาได้บอกด้วยว่า “(หากผู้ใด มีข้อมูล เพิ่มเติม สามารถแจ้งมาได้ค่ะ เพราะนานมากแล้ว จำไม่ค่อยได้เหมือนกัน แต่ไปทำข่าวอยู่ค่ะ)” แต่เวลาผ่านไปกว่า 5 เดือน ก็ยังไม่พบในช่องแสดงความคิดเห็นในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง (หรือมีการอินบ็อกซ์หรือเปล่าผู้เขียนไม่อาจทราบได้)

การที่ผู้เขียนกล่าวเช่นนี้ไม่ได้มีเจตนาจะมุ่งโจมตีวาสนา นาน่วมว่าแชร์ข้อมูลผิดๆ แต่อย่างใด เพราะตัวผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในคนที่กดถูกใจ และกดแชร์ทันทีที่เห็นโพสต์นี้ขึ้นมาบนหน้าฟีดข่าว โดยไม่ทันได้ตรวจสอบในตอนนั้นเลยว่า ภาพและข้อความในโพสต์นั้นมีข้อมูลอันเป็นเท็จปะปนอยู่ จนกระทั่งเวลาผ่านมา ตัวผู้เขียนเองได้มีโอกาสสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรในแต่ละที่ (ปิยวัฒน์ สีแตงสุก, 2563) ทำให้พบว่า อนุสาวรีย์ขนาดมหึมาที่ตั้งตระหง่านกลางพื้นที่สาธารณะในอยุธยานั้นมีเพียงแห่งเดียว คือ “พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ณ ทุ่งภูเขาทอง ตำบลลุมพลี อำเภอพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์แบบทรงม้าไม่ใช่ทรงช้าง เหมือนกับที่อื่นๆ เช่น พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี


ภาพพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ ทุ่งภูเขาทอง
ที่มา: http://lumplee.go.th/public/landmark/data/detail/landmark_id/11/menu/

จากนั้นผู้เขียนได้ทำการตรวจสอบภาพที่วาสนาโพสต์ว่าอยู่ที่ไหนกันแน่ และได้พบว่าแท้จริงแล้ว คือ “พระราชานุสาวรีย์พระสุริโยทัย” ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น ถ้าดูภาพด้านล่างเปรียบเทียบกับภาพที่วาสนาโพสต์จะเห็นได้ชัดเลยว่าเป็นแห่งเดียวกัน


ภาพพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยและทหารนักรบจตุลังคบาท
ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย

ก่อนจะวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ผู้เขียนจะขอเล่าบริบทโดยสังเขปของการสร้างอนุสาวรีย์ทั้งสองแห่งก่อนว่ามีความเป็นมาอย่างไร โดยโครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์ทั้งสองแห่งนี้ถือเป็นโครงการที่มีความต่อเนื่องกันในพื้นที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา ภายใต้ความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกรมศิลปากร ใช้เวลาดำเนินการก่อสร้างถึงหนึ่งทศวรรษ เริ่มจาก “พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย” (พ.ศ. 2534–2538) ตามมาด้วยการสร้าง “พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” (พ.ศ. 2538–2544) อนุสาวรีย์ทั้งสองแห่งนี้ได้รับการบันทึกไว้ด้วยว่า สร้างจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ (ณัฎฐภัทร จันทวิช, 2547; ชัยณรงค์ ดีอินทร์, 2547) 


สาเหตุของภาพจำที่ยากแก่การลืม

การที่อนุสาวรีย์ทั้งสองแห่งอยู่ในอำเภอเดียวกัน และสร้างในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน อาจทำให้วาสนา นาน่วมจำข้อมูลสลับก็เป็นไปได้ แต่ผู้เขียนคิดว่ามีเหตุผลที่ลึกลงไปกว่านั้น คือ การที่คนทั่วไปในสังคมไทยมีภาพจำต่อสมเด็จพระนเรศวรทรงช้างกระทำยุทธหัตถี อาจเป็นผลมาจากอิทธิพลทางประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม (ธงชัย วินิจจะกูล, 2559) ซึ่งผู้เขียนจะแบ่งสาเหตุสำคัญออกเป็น 2 ข้อ ได้แก่


1. การผลิตซ้ำของพล็อต (plot) และภาพยุทธหัตถีในเรื่องเล่าหลักทางประวัติศาสตร์

พล็อตสงครามยุทธหัตถี พ.ศ. 2135 เป็นฉากสำคัญที่อยู่ในเรื่องเล่าของสมเด็จพระนเรศวร เริ่มถูกประกอบสร้างขึ้นใหม่พร้อมกับโครงการชำระพระราชพงศาวดารครั้งใหญ่สมัยรัชกาลที่ 1 แต่การผลิตซ้ำพล็อตดังกล่าวออกมาเป็นภาพสีแบบสมัยใหม่ (modern painting) ที่เห็นภาพการต่อสู้กันบนหลังช้างระหว่างสมเด็จพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชา เกิดขึ้นในบริบทเดียวกับที่ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมได้ถูกผลิตขึ้นมาในทศวรรษ 2430 ผ่าน “โคลงภาพพระราชพงศาวดาร” ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการร่วมกันแต่งโคลง 376 บท โดยใช้เรื่องราวจากพระราชพงศาวดารอยุธยาเป็นแกนนำเรื่อง แล้วนำโคลงเหล่านั้นมาเขียนประกอบภาพขนาดใหญ่ถึง 92 ภาพ เพื่อนำออกแสดงที่งานพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง(ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา, 2550: 177–185) ถือเป็นครั้งแรกที่ภาพการต่อสู้บนหลังช้างปรากฏขึ้นมา


โคลงภาพพระราชพงศาวดาร ฉากยุทธหัตถี
ที่มา: https://www.silpa-mag.com/history/article_17294

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (2551: 116–117) อธิบายว่า การนำโคลงภาพดังกล่าวแขวนติดให้ราษฎรได้ชมกลางพื้นที่สาธารณะ เป็นนวัตกรรมที่ทำให้เรื่องราวของวีรกษัตริย์ที่จำกัดแวดวงภายในชนชั้นสูงและราชสำนักแพร่ลงในระดับล่าง ถือเป็นพัฒนาการอีกระดับหนึ่งจากเพียง “ตัวหนังสือ” หรือ “หนังสือเล่ม”

ภาพถัดมาเกิดขึ้นในปีสุดท้ายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือ “ภาพเขียนบนผนังในพระวิหารวัดสุวรรณดาราราม” จำนวน 14 ภาพ วาดโดยพระยาอนุศาสนจิตรกรเมื่อ พ.ศ. 2474 และกะเรื่องโดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ (ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา, 2550: 190–208) ซึ่งภาพที่เป็นไฮไลท์สำคัญ คือ ภาพสงครามยุทธหัตถีที่อยู่เหนือประตูตรงข้ามพระประธาน โดยปกติตำแหน่งตรงนั้นจะเป็นการเขียนภาพพุทธประวัติตอน “มารผจญ” ภาพเขียนนี้จึงเป็นการนำเรื่องราวของราชาชาตินิยมเข้าไปประทับในพื้นที่ทางศาสนา (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2551: 119) ต่อมาได้ถูกผลิตซ้ำอย่างแพร่หลายทั้งในตำราเรียนไปจนถึงสื่อต่างๆ ฯลฯ


ภาพเขียนบนผนังในพระวิหารวัดสุวรรณดาราราม ฉากยุทธหัตถี
ที่มา: https://www.voicetv.co.th/read/275178

ส่วนภาพสุดท้ายที่จะกล่าวถึงเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา นั่นคือ ภาพยนตร์เรื่อง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ภาค 5  ยุทธหัตถี ฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 หรือ 7 วันหลังรัฐประหารโดยคณะ คสช. ฉากการต่อสู้บนหลังช้างที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นการยกระดับภาพจำของสงครามยุทธหัตถีขึ้นมาอีกขั้น จากเดิมที่ผู้คนซึมซับผ่านภาพเขียน กลายเป็นภาพของคนจริง ๆ ที่แสดงเป็นสมเด็จพระนเรศวร พระมหาอุปราชา รวมถึงทหารทั้งสองทัพ ผู้ชมได้เห็นภาพของช้างทรงสองเชือกที่ต่อสู้กันจริง ๆ และยังได้เห็นเลือดเนื้อ หยาดเหงื่อ สีหน้า แววตา อารมณ์ความรู้สึก อิริยาบถ ท่วงท่าการปะทะ ตลอดจนองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในฉากดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ร่วมไปกับฉากนี้ พร้อมขับเน้นความรู้สึกแบบ “ราชา+ชาตินิยม” ขึ้นมา เพราะฉากนี้จบลงแบบสุขนาฏกรรมที่กษัตริย์ “ไทย” มีชัยชนะเหนืออริราชศัตรูอย่างอุปราชแห่ง “พม่า” 


โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 5  ยุทธหัตถี
ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช_ภาค_๕_ยุทธหัตถี

หรือนี่จะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พล็อตพระสุริโยทัยชนช้างกับพระเจ้าแปร ไม่ทรงพลังแก่การเป็นภาพจำได้เท่ากับพล็อตยุทธหัตถี เนื่องจากพระสุริโยทัยทรงถูกพระเจ้าแปรฟันพระอังสาขาดสะพายแล่งด้วยพระแสงของ้าว หาได้มีชัยเหนืออริราชศัตรูแต่อย่างใด…


2. สื่อมวลชนหรือคนทั่วไปในฐานะผู้รับสารจากเรื่องเล่าหลัก

จากที่ผู้เขียนอธิบายการผลิตซ้ำพล็อตยุทธหัตถีในบริบททางประวัติศาสตร์อย่างสังเขปมาแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมสื่อมวลชนหรือคนทั่วไปในฐานะผู้รับสารจากเรื่องเล่าหลัก (metanarrative) ถึงได้เกิดความเข้าใจผิดอย่างกรณีโพสต์ของวาสนา นาน่วม 

พลังทางประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมที่ครองพื้นที่ประวัติศาสตร์กระแสหลักในสังคมไทย ส่งผลให้ผู้คนทั่วไปอาจได้ยิน เห็น อ่าน หรือศึกษาอย่างจริงจังเกี่ยวกับเรื่องราวการต่อสู้บนหลังช้างครั้งนี้มาบ้างเป็นอย่างน้อย แม้จะไม่รู้ว่ากษัตริย์ในภาพพระนามว่าอะไร แต่ก็ซึมซับฉากดังกล่าวผ่านสายตา หรืออย่างน้อยก็ต้องได้ยินชื่อของ “สมเด็จพระนเรศวร” ผ่านเข้าหูมาบ้างไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 

สื่อมวลชนเองเป็นหนึ่งกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดสภาวะที่เรื่องเล่าของพล็อตยุทธหัตถีกลายเป็น “สิ่งสามัญ” ที่ผู้คนรับรู้กันทั่วไป สื่อส่วนใหญ่ในสังคมไทยต่างน้อมรับพล็อตประวัติศาสตร์กระแสหลักมาทำการผลิตซ้ำ (จะด้วยความเต็มใจหรือไม่ก็ตาม) เป็นผลให้เกิด “ภาวะล้นเกิน” ของพล็อตยุทธหัตถี เพราะไม่ว่าอนุสาวรีย์ของกษัตริย์พระองค์ใดก็ตามที่ทรงช้างอยู่ ต่างพากันเข้าใจว่าเป็นอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระนเรศวรอยู่ร่ำไป นี่จึงเป็นปัญหาของสื่อมวลชนในอีกแพร่งหนึ่งที่ไม่ทำการตรวจสอบข้อมูลอย่างเคร่งครัดก่อนเผยแพร่ อย่างกรณีของวาสนา นาน่วม เห็นได้ชัดว่า พยายามจะเชื่อมโยงบิ๊กจ๊อดเข้ากับการเป็นทหารของสมเด็จพระนเรศวรในเชิงอุปมากับอนุสาวรีย์ให้ได้ จนหลงลืมการตรวจสอบข้อมูลไป

สรุปในเบื้องต้นได้ว่า ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดจากตัวของวาสนา นาน่วมเอง แต่เป็นผลจากการผลิตซ้ำพล็อตยุทธหัตถีที่มีมาอย่างคงทนและยาวนาน กอปรกับปัญหาของสื่อมวลชนเองที่เป็นตัวเชื่อมส่งต่อพล็อตดังกล่าว (โดยไม่ตรวจสอบ) ให้แพร่หลายในสังคมไทย


ทิ้งท้าย

อาจจะดูเป็นคนมีความรู้สึกช้าไปสักนิด แต่ผู้เขียนเห็นว่าเวทีแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ถึงประเด็นที่เป็นปัญหาต่อการรับรู้ของคนในสังคม ไม่อาจนำระยะเวลามาข้อจำกัดในการแสดงความเห็นได้ ในทางกลับกันถ้าผู้เขียนเห็นปัญหาแล้วเก็บงำไว้คนเดียว อาจจะมีความผิดมหันต์เกินกว่าข้อมูลที่วาสนา นาน่วมโพสต์ก็เป็นได้ 

ฉะนั้น ในความเห็นของผู้เขียน นายพลเสื้อคับจึงเป็นได้เพียงอดีตผู้นำการรัฐประหาร พ.ศ. 2534 และพ่อของผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบันเท่านั้น หาได้เป็นจตุลังคบาทซ้ายหน้าของสมเด็จพระนเรศวรแต่อย่างใด

 


อ้างอิง
ชัยณรงค์ ดีอินทร์. (2547, กรกฎาคม–สิงหาคม). พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ ทุ่งภูเขาทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. ศิลปากร. 47(4), 42-53. 
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (2551). ภาพลักษณ์วีรกษัตริย์ : จาก “พระนเรศราชาธิราช” สู่ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช”. ใน อยุธยาศึกษา : ตลาดวิชาสำหรับครู – อาจารย์. หน้า 111–121. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
ณัฎฐภัทร จันทวิช. (2547, กรกฎาคม–สิงหาคม). สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กับความสนพระทัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อยุธยา. ศิลปากร. 47(4), 32-53. 
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2550). พระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: มติชน.
ธงชัย วินิจจะกูล. (2559). โฉมหน้าราชาชาตินิยม: ว่าด้วยประวัติศาสตร์ไทย. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน.
เนชั่นสุดสัปดาห์. (2562). อย่าเข้าใจผิด จตุลังคบาท ไม่ใช่ "บิ๊กแดง". เข้าถึงเมื่อ 27 เมษายน 2563, จาก https://www.nationweekend.com/content/image_news/3357
ปิยวัฒน์ สีแตงสุก. (2563). ตามเสด็จสมเด็จพระนเรศวรไปในวงล้อมของข้าศึก: “วันยุทธหัตถี” กับการผลิตซ้ำภายใต้กรอบโครงการประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม. เข้าถึงเมื่อ 20 เมษายน 2563,จาก https://prachatai.com/journal/2020/01/85997
สยามรัฐออนไลน์. (2562). "วาสนา"โพสต์เล่าเรื่องคชบาลเท้าซ้ายหน้า "สมเด็จพระนเรศวร" กับ "บิ๊กจ๊อด"พ่อ"บิ๊กแดง". เข้าถึงเมื่อ 27 เมษายน 2563, จาก https://siamrath.co.th/n/117134
 





 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net