Skip to main content
sharethis

25 เม.ย. 2563 ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 53 คน พบที่ศูนย์กักขังตรวจคนเข้าเมือง จ.สงขลา ถึง 42 คน เตรียมรักษาที่ศูนย์ฯ ไม่เคลื่อนย้าย รวมผู้ติดเชื้อสะสม 2,907 คน มีผู้เสียชีวิต 1 คน รวมผู้เสียชีวิตสะสม 51 คน รักษาหาย 57 คน รักษาหายสะสม 2,547 คน สบส.เตือน รพ.เอกชน ห้ามตั้งจุดตรวจ COVID-19 ในที่สาธารณะ

25 เม.ย.2563 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ว่า พบมีผู้ป่วยเพิ่ม 53 คน ผู้ป่วยสะสม 2,907 คน วันนี้มีคนหายกลับบ้านเพิ่มอีก 57 คน รวมหายกลับบ้าน 2,547 คน รักษาตัวในโรงพยาบาล 309 คน และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก1 คน รวม 51 คน

สำหรับกลุ่มผู้ติดเชื้อใหม่ 53 คน แบ่งเป็นกลุ่มสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 3 คน ไปสถานที่ชุมชน เช่นห้าง ตลาดนัด 1 คน ค้นหาเชิงรุก จ.ยะลา 7 คน และศูนย์กักขังตรวจคนเข้าเมือง อ.สะเดา จ.สงขลา 42 คน เป็นชาวเมียนมา 34 คน เวียดนาม 3 คน มาเลเซีย 2 คน เยเมน 1 คน กัมพูชา 1 คน อินเดีย 1 คน

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า วันนี้ที่พบผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นเป็นเพราะนโยบายของนายกฯ หลังสิงคโปร์พบแรงงานติดเชื้อจำนวนมาก จึงให้ตรวจเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยง และประกาศเขตติดโรคติดต่ออันตราย 5 ประเทศ คือ มาเลเซีย กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย เมียนมา เพื่อสกัดการแพร่ระบาดชายแดนใต้

นอกจากนี้ ปลัด สธ. สั่งการนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลาให้ร่วมดูแลในศูนย์กักกันดังกล่าว ได้รับรายงานเบื้องต้นว่าทั้ง 42 คน ร่างกายแข็งแรง อาการไม่มาก เตรียมเอกซเรย์ปอดเพื่อตรวจเพิ่มเติม ซึ่งเป็นไปตามหลักการมนุษยธรรมในการดูแลแรงงานข้ามชาติ แม้จะเข้ามาโดยผิดกฎหมาย

แรงงานคนต่างด้าวเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญในการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงจากอาชีพเสี่ยง ทำงานในสถานที่แออัดลดลง เหลือ 9 คน ในสัปดาห์นี้

“กรณีพบผู้ติดเชื้อในศูนย์กักขัง 42 คน จะจัดพื้นที่ควบคุมโรคและดูแลรักษา ขอให้ชาว จ.สงขลา มั่นใจว่าจะไม่มีการแพร่เชื้อ รวมทั้งขอขอบคุณที่เห็นแก่มนุษยธรรมและช่วยเหลือกัน”

สำหรับผู้เสียชีวิตคนที่ 51 เป็นชายไทยอายุ 48 ปี อาชีพรับจ้าง มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันเป็นคนในครอบครัวที่ทำงานในสถานบันเทิงทองหล่อ เข้าตรวจ 12 เม.ย.ด้วยอาการไข้สูง ไอ หายใจลำบาก ต่อมา 16 ม.ย. อาการแย่ลงและเสียชีวิต 24 เม.ย. ด้วยภาวะทางเดินหายใจล้มเหลว

ขณะที่ยังพบว่า กทม.มีผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) 12,071 คน ยะลา 4,557 คน นนทบุรี 3,652 คน ชลบุรี 2,207 คน

โฆษก ศบค. กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วย 9 จังหวัด ได้แก่ จ.ชัยนาท ตราด สิงห์บุรี อ่างทอง กำแพงเพชร น่าน พิจิตร บึงกาฬ ระนอง ส่วนจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ ใน 28 วัน มี 12 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ราชบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ สุโขทัย อุทัยธานี มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด อุดรธานี และมี 35 จังหวัดไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ช่วง 14-28 วัน เช่น เพชรบุรี สระบุรี เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน หนองบัวลำภู ตรัง พัทลุง

นอกจากนี้ยังมี 7 จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ในช่วง 7-14 วัน และมี 7 จังหวัดมีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา 

เตรียมรักษาที่ศูนย์ฯ ไม่เคลื่อนย้าย

มีรายงานข่าวต่อมาว่า ศูนย์กักตัวผู้ต้องกักตรวจคนเข้าเมือง จ.สงขลา ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 2 ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลาได้ถูกปิด ห้ามไม่ให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าออกอย่างเด็ดขาด หลังจากที่มีการตรวจพบผู้ต้องกักซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 42 คน จากจำนวนผู้ต้องกักอยู่ในศูนย์กักตัวแห่งนี้ทั้งหมด 115 คน

ขณะนี้ทั้งหมดยังถูกกักตัวอยู่ภายในศูนย์ฯ แต่มีการแยกตัวผู้ต้องกักส่วนที่เหลือ 73 คนซึ่งยังไม่ติดเชื้อไปอยู่อีกห้องเพื่อเฝ้าสังเกตอาการ โดยกลุ่มที่ติดเชื้อเป็นกลุ่มที่อยู่ในห้องกักรวมกันทั้งหมด 47 คน ติดเชื้อ 42 คน อีก 5 คนไม่ติดเชื้อ

ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทางจังหวัดสงขลาและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กำลังเตรียมแผนการรักษาแรงงานต่างด้าวที่ติดเชื้อโควิดฯ ว่าจะส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลหรือรักษาภายในศูนย์กัก โดยเบื้องต้นได้เตรียมสถานที่โรงพยาบาล 4 แห่งไว้รองรับ ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินี ณ อำเภอนาทวี โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ โรพยาบาลสงขลา และโรงพยาบาลหาดใหญ่-นาหม่อม หรือไม่ก็อาจส่งทีมแพทย์พยาบาลไปเข้าไปรักษาภายในศูนย์กักเลย เพราะเป็นแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ซึ่งอาจมีปัญหาอื่นตามมา

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคว่าแรงงานต่างด้าวที่ถูกกักตัวอยู่ในศูนย์แห่งนี้ ติดเชื้อโควิด-19 จากเจ้าหน้าที่ตม.สะเดา ที่ติดเชื้อไปก่อนหน้านี้หรือไม่ โดยกลุ่มที่ติดเชื้ออยู่ ในห้องกักรวมกันทั้งหมด 47 คน โดยมี 5 คนไม่ติดเชื้อ และผลจากการติดเชื้อโควิด-19 ของคนต่างด้าวถึง 42 คน ทำให้ยอดสะสมผู้ป่วยโควิด-19 ของจ.สงขลา ซึ่งเดิมอยู่ที่ 63 คน พุ่งพรวดขึ้นไปเป็น 105 คนทันที

สถานการณ์โลกผู้ติดเชื้อสะสม 2.8 ล้านคน 

ขณะที่ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อแล้ว 2,830,082 คน อาการหนัก 58,523 คน หรือ 2.1% เสียชีวิต 197,246 คน หรือ 7% โดยสหรัฐฯ เสียชีวิตมากที่สุดในโลก 52,185 คน อิตาลี 25,969 คน สเปน 22,524 คน

ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 57 ของโลก ส่วนญี่ปุ่นอันดับที่ 26 ติดเชื้อเพิ่ม 344 คน สะสม 12,712 คน สิงคโปร์เพิ่ม 897 คน สะสม 12,075 คน ส่วนในเอเชีย อินเดียมีผู้ป่วยใหม่สูงสุด รองลงมาสิงคโปร์ ปากีสถาน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย

กรรมาธิการด้านสาธารณสุขของมหานครนิวยอร์ก คาดจะมีผู้ติดเชื้อนับล้านคน ส่วนอินโดนีเซีย ระงับการเดินทางในประเทศชั่วคราวทั้งทางบก อากาศ และเรือ มีผลตั้งแต่เมื่อวานนี้ (24 เม.ย.)

ขณะที่วันนี้ (25 เม.ย. 2563) เวลา 07.25 น. นักศึกษาและคนไทยตกค้างที่อิหร่านได้กลับไทย 21 คน และเวลา 15.10 น. พระภิกษุ แม่ชี และผู้ปฏิบัติธรรมจากอินเดียกลับไทย 171 คน พรุ่งนี้ (26 เม.ย.) เวลา 16.20 น. นักเรียน นักศึกษา คนงาน นักท่องเที่ยวจากออสเตรเลีย กลับไทย 212 คน และเข้ากักตัว 14 ในสถานที่ที่รัฐกำหนด

จัดมาตรการสกัดโรค จุดขนส่งบริเวณด่านชายแดน

สำหรับมาตรการด้านการขนส่งบริเวณด่านชายแดนกระทรวงคมนาคมได้กำหนดพื้นที่ขนถ่ายโดยจัดมีจุดคัดกรองมีการพ่นยาฆ่าเชื้อ จัดที่พักสำหรับกักตัวเมื่อจำเป็น

นอกจากนี้ ยังได้กำชับผู้ขนส่งให้ขนถ่ายสินค้าด้วยความรวดเร็วและเมื่อเสร็จแล้วให้คนขับรถขับรถกลับประเทศของตนทันที ไม่ให้คนขับรถและผู้ประจำรถลงจากรถโดยไม่จำเป็น คนขับรถและผู้ประจำรถของไทยต้องกลับเข้ามาภายในราชอาณาจักรภายใน 7 ชั่วโมง ถ้ากลับมาไม่ทันจะต้องเข้าสู่มาตรการกักตัว 14 วัน 

ขณะที่ ในช่วงวันที่ 24-25 เม.ย. พบผู้ฝ่าฝืนออกนอกเคหสถาน 595 คน ตักเตือน 78 คน ดำเนินคดี 517 คน ส่วนกลุ่มมั่วสุม เช่น เล่นพนัน ดื่มสุรา ถูกดำเนินคดี 40 คน

สบส.เตือน รพ.เอกชน ห้ามตั้งจุดตรวจ COVID-19 ในที่สาธารณะ

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2563 สบส.ได้ออกประกาศ เรื่อง “แนวทางการให้บริการตรวจคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) นอกสถานพยาบาล” กำหนดให้สถานพยาบาลเอกชนสามารถออกให้บริการตรวจคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อ COVID-19 นอกสถานพยาบาล เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตราย อีกทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ซึ่งไก้มีการแบ่งแนวทางการดำเนินการเป็น 2 กรณี ได้แก่

- กรณีสถานพยาบาลเอกชนเป็นคู่สัญญาหรือดำเนินการร่วมกับสถานพยาบาลภาครัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ให้ดำเนินการได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม เนื่องจากได้รับการยกเว้นตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล
- กรณีสถานพยาบาลเอกชนดำเนินการด้วยตนเอง ให้สามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไขตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ โดยให้ดำเนินการได้ ณ ที่พำนักของผู้ป่วย หรือสถานที่กักกันเป็นการชั่วคราว

ที่ผ่านมาสถานพยาบาลเอกชนให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฎหมายเป็นอย่างดี แต่มีสถานพยาบาลเอกชนบางแห่งยังดำเนินการไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ จัดตั้งจุดบริการตรวจโรค COVID-19 ในพื้นที่สาธารณะอย่างหน้าห้างสรรพสินค้า หรือปั๊มน้ำมัน ซึ่งมีประชาชนสัญจรอย่างพลุกพล่าน ทำให้เกิดความเสี่ยงการแพร่กระจายของโรคหากผู้ป่วยโรค COVID-19 เดินทางออกมารับบริการก็อาจจะเกิดการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างการเดินทางได้ ส่งผลให้หน่วยบริการตรวจคัดกรองฯ ที่ควรเป็นด่านหน้าในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคกลับกลายเป็นจุดแพร่กระจายเชื้อ อีกทั้งอาจจะส่งผลให้การเก็บสิ่งส่งตรวจไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

ฝ่าฝืนเจอโทษคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท

นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของโรคติดต่ออันตราย และให้สถานพยาบาลเอกชนมีการดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สบส.ขอย้ำว่าการออกบริการตรวจคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อ COVID-19 จะต้องดำเนินการ ณ ที่พัก หรือสถานที่กักกันเท่านั้น ห้ามตั้งจุดในพื้นที่สาธารณะ หรือแหล่งชุมชนที่มีการสัญจรพลุกพล่านโดยเด็ดขาด หากตรวจพบจะดำเนินการเอาผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ทันที โดยผู้ดำเนินการสถานพยาบาลจะถือว่ามีความผิด ฐานไม่ควบคุมและดูแลให้ผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพของตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากตรวจพบว่าผู้ให้บริการไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ จะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ.2547 ฐานประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์โดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ หากผู้ใดพบเห็นการจัดตั้งจุดบริการตรวจคัดกรองโรค COVID-19 ของสถานพยาบาลเอกชนในพื้นที่สาธารณะหรือแหล่งชุมชน ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงให้เกิดการแพร่กระจายของโรค ในเขต กทม.ให้รีบแจ้งมาที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สบส. หมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7057 หรือที่เฟซบุ๊ก ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สบส. กระทรวงสาธารณสุข ในส่วนภูมิภาคให้แจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย


ที่มาเรียบเรียงจาก: Thai PBS [1] [2] | ไทยรัฐออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net