Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อ 18.00 ของวันศุกร์ที่ 17 เมษายน นายกรัฐมมนตรีได้ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ โดยบอกว่า "แต่วันนี้ผมต้องการเพิ่มความร่วมมือกับท่านทั้งหลาย ให้มากยิ่งขึ้น โดยเริ่มที่ภาคเอกชนก่อน สิ่งที่ผมจะทำในช่วงสัปดาห์ข้างหน้า ประการแรก คือ ผมจะออกจดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย 20 ท่าน ขอให้ท่านเหล่านั้นได้บอกผมว่า ในฐานะที่ท่านเป็นผู้อาวุโสของสังคม ท่านจะร่วมมือกันกับเราอย่างไร และท่านจะลงมือช่วยเหลือประเทศไทยของเราให้มากขึ้น ได้อย่างไรบ้าง มหาเศรษฐีของประเทศไทยทั้งหลาย ล้วนมีอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ และถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ผมขอให้ท่านได้มีบทบาทสำคัญ ในการร่วมกันช่วยเหลือประเทศ และร่วมเป็นทีมประเทศไทยด้วยกันกับเรา"

การแสดงท่าทีที่เปิดกว้างพร้อมรับฟังความคิดเห็นและการช่วยเหลือจากผู้คนในสังคมของท่านนายกรัฐมนตรีนั้นสะท้อนให้เห็นว่าการบริหารนำพาประเทศต้องคำนึงถึงส่วนต่างๆ ในสังคม ไม่สามารถที่จะใช้แนวทางอำนาจนิยมจัดการได้ แต่การเริ่มต้นการรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนก่อน โดยเฉพาะทุนเอกชนขนาดใหญ่ ไล่เรียงไปถึงระดับกลางและรายย่อย ทำให้คิดไม่ได้ว่าแล้วประชาชนจะต้องเป็นคนสุดท้ายที่รัฐบาลจะคิดถึงอยู่เสมอหรืออย่างไร ทั้งที่ในสังคมประชาธิปไตย เราทุกคนเท่ากัน หรือว่าเราอยู่ในการปกครองแบบคณะธิปไตยโดยนายทุนและทหาร

ซึ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ความมั่นคั่งของประเทศได้ถูกถ่ายโอนไปให้คนรวยไม่กี่ตระกูล บางตระกูลทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจาก 3.74 แสนล้านบาท เป็น 9.41 แสนล้านบาท หรือรวยขึ้น 251% บางตระกูลทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจาก 4.13 แสนล้านบาท เป็น 6.7 แสนล้านบาท หรือรวยขึ้น 234% เทียบกับเศรษฐกิจไทยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา (2557-62) ที่เพิ่มขึ้น 26.1% หรือหากพิจารณารวมไปถึงมหาเศรษฐีประเทศไทยที่รํ่ารวยที่สุด 50 คน มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 5 ปี จากในปี 2558 มีทรัพย์สินรวมกันทั้งหมด 2.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 2.54 ล้านล้านบาท เป็น 5.14 ล้านล้านบาท ในปี 2562

ขณะที่ความมั่นคั่งของนายทุนประชารัฐและเหล่านายพลแห่งกองทัพไทยทั้งหลายกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กลับ ‘สวนทาง’ กับหนี้สินครัวเรือนไทยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน จนระดับหนี้สินพุ่งแตะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา

การเขียนจดหมายร้องขอความช่วยเหลือจากมหาเศรษฐีในประเทศไทยจึงสเมือนเป็นการยกความมั่นคั่งของประชาชนที่เหลืออยู่น้อยนิดให้กับนายทุนธุรกิจกอบโกยหาประโยชน์ เราจึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องขอความช่วยเหลือจากคนเหล่านั้น นอกเหนือไปจากการกระจายความมั่นคั่งของประเทศจากมหาเศรษฐีที่มีรายได้สูงสุด 1% ของประเทศกลับมาสู่มือของสามัญชนทุกคนใหม่อีกครั้ง ผ่านการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อสร้างพื้นฐานการพัฒนาที่เท่าเทียมให้กับประเทศใหม่อีกครั้ง

เฉพาะหน้า รัฐบาลต้องใช้งบประมาณที่จะได้มาจากการเกลี่ยงบประมาณ การตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนและปรับเปลี่ยนการใช้งบประมาณปี 2563 ที่จะได้ประมาณ 2 แสนล้านบาท และการตราพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน ที่คาดได้งบเพิ่ม 1.6 ล้านล้านบาท

และการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินต้องให้แก่ทุกคนในประเทศ ไม่เฉพาะคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และไม่เฉพาะแค่คนไทย รวมถึงทุกคนที่อยู่อาศัยในสังคมไทย คนไทยคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรักษากำลังซื้อภายในที่เป็นรากฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการอุดหนุนช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางให้รักษาการจ้างงานต่อไป ลดระเบียบเงื่อนไขการประกอบธุรกิจของชุมชน รายย่อย

ไม่มีใครจะต้องร้องขอความช่วยเหลือ ถ้าสังคมเปิดกว้างและให้โอกาสทุกคนสามารถทำงานได้ตามศักยภาพและความสามารถที่มี

ระยะยาว การกระจายความมั่งคั่งอย่างมีประสิทธิภาพ ปรับโครงสร้างภาษีที่ต้องเพิ่มสัดส่วนการเก็บภาษีทางตรงจากรายได้ กำไรและผลตอบแทนจากการลงทุนของบุคคลที่มั่งคั่งที่สุดในประเทศ 1% ให้เพิ่มมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน

ยกเลิกการยกเว้นการนำรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก เงินปันผลจากการลงทุน ค่าเช่ามาพิจารณารวมในรายได้เพื่อคิดคำนวณภาษีประจำปี

ลดภาระภาษีสำหรับคนทำงานระดับกลางและช่วยเหลือบุคคลที่มีรายได้น้อย ด้วยการคืนภาษีให้กับกลุ่มที่มีรายได้น้อย ซึ่งจะเป็นขยายฐานภาษีบุคคลเมื่อพวกเขามีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องจ่ายภาษีให้อนาคต

เพิ่มอัตราภาษีสำหรับกลุ่มที่มีความมั่นคั่งสูงสุดในประเทศ ลดเกณฑ์รายได้ของผู้เสียภาษีในอัตราสูงสุดลงมา เพื่อนำไปจัดสวัสดิการการคุ้มครองทางสังคมให้ครอบคลุมทุกคนและตลอดชีวิตในอนาคต

และการจัดสวัสดิการถ้วนหน้า ได้มาตรฐานขั้นต่ำเดียวกัน เข้าถึงได้ในระดับชุมชนรากฐานที่สุด มีความรับผิดชอบโดยตรงต่อประชาชน

ในวันที่คนไทยจำนวนมากต้องตกงานจากมาตรการของรัฐบาล หลายคนต้องเข้าแถวเพื่อขอรอรับบริจาคข้าวสารอาหารแห้งจากวัดและบุคคลทั่วไปพอที่ยังพอมีกำลัง จำนวนมากได้สูญเสียความมั่นคงในชีวิตตนเองไปแล้ว แม้ว่าการให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าเป็นสิ่งจำเป็นที่สังคมไทยต้องช่วยกันในเวลานี้ แต่ในอนาคตสังคมไทยจะต้องดึงความมั่นคั่งจากคนกลุ่มน้อยในสังคมมาสร้างความเจริญเติบโตทางเศรฐกิจที่ยั่งยืนและสร้างความมั่นคงให้กับทุกคนในสังคมให้ได้

 

อ้างอิง โควิด-19 : รัฐบาลเล็งออก พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ สู้วิกฤตไวรัสโคโรนา
 

ที่มา: พรรคสามัญชน - Commoners Party แฟนเพจ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net