Skip to main content
sharethis

13 มี.ค. 2563 สืบเนื่องจากกรณีที่ สิระ เจนจาคะ ส.ส. กทม. พรรคพลังประชารัฐ ได้จัดซื้อหน้ากากอนามัยเพื่อแจกประชาชน ในเขตหลัก 4 ซึ่งต่อมา รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ได้ตัวอย่างหน้ากากมาตรวจสอบโดยวิเคราะห์ด้วยเทคนิค FT-IR-ATR พบว่าหน้ากากอนามัยที่นำมาแจกนั้นเป็น ผ้าสปันบอนด์ ที่เกิดจากเส้นใยสังเคราะห์ ของโพลิเมอร์ ที่เป็น “ Polypropylene ( PP ) ” ลักษณะทางกายภาพมีกลิ่นเหม็นพลาสติก มีขนาดบางมากๆ เส้นใยสีฟ้าเป็นการย้อมสีเพื่อให้ดูรู้สึกดี แต่ทั้ง 3 ชั้นบางมากและเป็นพอลิเมอร์ชนิดเดียวกัน ที่สำคัญมีกลิ่นฉุน แตกยุ่ยได้ง่าย ซึ่งจะก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เรียกว่าไมโครพลาสติก หากสูดดมเข้าไปในร่างกาย มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง หากนำไปล้างน้ำและไหลลงไปในระบบนิเวศ เช่นแม่น้ำลำคลอง สัตว์น้ำ สัตว์ทะเลจะได้รับไมโครพลาสติกพวกนี้กลับเข้ามาสู่ระบบและมนุษย์ก็ไปกินสัตว์น้ำเหล่านี้ก็จะเข้ามาสู่ร่างกายได้เช่นกัน ในระยะยาวพลาสติกเหล่านี้ย่อยสลายได้ยากมาก และเป็นกลุ่มเสี่ยงชื่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ล่าสุดวันนี้ สิระได้เดินทางไปที่สถานีตำรวจทุ่งสองห้อง เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ รศ.ดร.วีรชัย โดยบันทึกระบุรายละเอียดการแจ้งความไว้ว่า

“การกระทำของบุคคลดังกล่าวเป็นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้เกิดความแตกต่างในหมู่ประชาชน ซึ่งเป็นความจริง สารก่อมะเร็งมีอยู่ทั่วไปไม่ได้เกิดขึ้นโดยตรงกับหน้ากากอนามัย ซึ่งผู้แจ้งนำออกแจกจ่าย โดยข้อมูลของอาจารย์วีระชัยได้ใช้ความน่าเชื่อถือในตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นการจงใจทำลายชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของผู้แจ้งความ โดยใช้เครื่องมือของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นของทางราชการ อันเป็นการผิดวิสัยของนักวิชาการอื่นทั่วไป ผู้แจ้งเห็นว่าการกระทำของบุคคลดังกล่าวเป็นการกระทำอันละเมิดต่อกฎหมายและละเมิดต่อผู้แจ้งโดยตรง จึงสงวนสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องทั้งทางอาญาและทางแพ่งต่อไป และขอดำเนินคดีในความผิดที่เกี่ยวข้องทุกประการ ผู้แจ้งจึงมาแจ้งลงบันทึกประจำวันเพื่อไว้เป็นหลักฐาน”

อาจารย์เกษตรศาสตร์แนะอย่าใช้หน้ากากอนามัยไม่มีคุณภาพ เสี่ยงก่อมะเร็ง

ทั้งนี้ระหว่างอยู่ที่สถานนีตำรวจ สิระ ได้พบกับ รศ.ดร.วีรชัย จึงได้เข้าไปต่อว่า โดยระบุว่า ทำให้ตนเสียชื่อเสียง เป็นนักวิชาการประเภทไหน หวังผลทางการเมืองหรือไม่ ใครใช้ให้มาทำลายตนหรือไม่ ไปให้ข่าวแบบนี้ตนเสื่อมเสีย ดังนั้นคุณต้องไปแก้ข่าวว่าใครใช้คุณมา และประชาชนด่าตนทั้งประเทศ ฝ่ายการเมืองก็ด่าตนทั้งประเทศ แล้วคุณเป็นนักวิชาการยังไง สงสัยต้องไปถอดการเป็นนักวิชาการของคุณแล้ว ทำแบบนี้ไม่ได้ คุณรู้หรือไม่เขาตกใจกันทั้งเมือง และในเขตเลือกตั้งของตน คนที่รับของไป รู้หรือไม่ตนเอาเงินเดือนที่มาจากภาษีของประชาชน คืนให้ประชาชนในตอนที่เขาวิกฤติด้วยน้ำตา แต่ อ.อ๊อดมาทำลายตน แต่ไม่นึกถึงประชาชน

“คุณทำเกินไปไหม คุณบอกรู้จักผม แต่คุณทำกับผมแบบนี้ คุณทำเกินไปไหม ใครใช้คุณมาคุณต้องชี้แจง ทำแบบนี้ไม่ถูก วันดีคืนดีบอกหน้ากากที่ผมเสียสละเงินเดือนไปซื้อให้ประชาชน บอกใส่แล้วจะทำให้ก่อมะเร็ง ถ้าไม่เรียกว่าการทำลาย หวังผลทางการเมือง จะเรียกว่าอะไร แสนกว่าบาท และคนที่รับไป เขาคาดหวังว่า ส.ส. เป็นตัวแทนของเขาเสียสละเงินเดือน คุณต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ จะนิ่งเฉยไม่ได้ เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยคุณต้องรับผิดชอบด้วย เพราะใช้แล็บของมหาวิทยาลัย คุณทำแบบนี้ไม่ยุติธรรมสำหรับคนที่เสียสละ ไม่ยุติธรรมสำหรับนายสิระ คุณไม่มีเครดิตแล้ว ต้นทุนทางสังคมคุณหมดแล้ว คุณทำแบบนี้ แยกแยะให้เป็น การเมือง กับความเดือดร้อนของประชาชน และการเสียสละของคนคนหนึ่ง  ดังนั้นผมจะดำเนินคดีกับอ.อ๊อด” สิระ

ขณะที่ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่ข้อมูลเมื่อเวลา 10.00 น. ระบุว่า ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง หน้ากากอนามัยผ้าสปันบอนด์  เป็นไมโครพลาสติก สูดดมอาจเสี่ยงมะเร็ง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

กรณีที่มีการแชร์ว่า “หน้ากากอนามัยผ้าสปันบอนด์ ที่เกิดจากเส้นใยสังเคราะห์ ของโพลิเมอร์ ที่เป็น “Polypropylene ( PP )” ซึ่งมีกลิ่นฉุน แตกยุ่ยได้ง่าย จะก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เรียกว่าไมโครพลาสติก หากสูดดมเข้าไปในร่างกาย มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง” ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลว่า หน้ากากอนามัยผลิตจากใยสังเคราะห์ประเภทเดียวกันกับผ้าสปันบอนด์ซึ่งทำมาจากพลาสติกกลุ่ม Polypropylene จากรายงานขององค์การวิจัยมะเร็งนานาชาติ (International Agency for Research on Cancer; IARC) ระบุว่าพลาสติกกลุ่ม Polypropylene ไม่จัดเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์หรืออยู่ในกลุ่ม 3 ดังนั้นปัจจุบันการใช้หน้ากากอนามัยที่ทำมาจากผ้าสปันบอนด์จึงยังไม่มีข้อมูลว่าทำให้เกิดโรคมะเร็ง

พลาสติกกลุ่ม Polypropylene ที่นำมาใช้ผลิตผ้าสปันบอนด์ใช้ระยะเวลาในการย่อยสลายเร็วกว่าพลาสติกทั่วไปทำให้เกิดความกังวลว่าพลาสติกชนิดนี้จะย่อยสลายเป็นไมโครพลาสติกแล้วปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีรายงานทางวิชาการที่ยืนยันแน่ชัดถึงไมโครพลาสติกกลุ่ม Polypropylene ที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมแล้วก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ ดังนั้นจึงไม่ควรตื่นตระหนกเกี่ยวกับการใช้หน้ากากอนามัยจากใยสังเคราะห์สปันบอนด์

ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net