Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทคัดย่อ

คำถามของบทความวิจัยนี้คือ ทำไมชนชั้นนำไทยจึงยินยอมให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 อันเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปีหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งสุดท้ายในประเทศไทย 5 ปีหลังรัฐประหารครั้งล่าสุดและมีลักษณะพิเศษหลายประการที่แตกต่างไปจากการเลือกตั้งในอดีต

การศึกษานี้ใช้กรอบแนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยในระยะผ่านที่ประเมินความตั้งมั่นของประชาธิปไตยใน 2 ช่วงสำคัญคือช่วงก่อร่างวางฐาน (Installation) และช่วงลงหลักตั้งมั่น (Consolidation) เพื่อศึกษาปฏิบัติการทางการเมืองของชนชั้นนำไทยในช่วงเวลาดังกล่าว โดยใช้ข้อมูลจากรัฐธรรมนูญ ข่าวและสารสนเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ผลการศึกษาพบว่าการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 เกิดขึ้นภายหลังชนชั้นนำจัดแจงโครงสร้างและกลไกต่างๆ ตามระบอบประชาธิปไตยให้สามารถกำกับควบคุมเสียงข้างมากมิให้ริเริ่ม เห็นชอบและดำเนินนโยบายที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจได้ ซึ่งในบทความนี้เรียกระบอบดังกล่าวว่า ระบอบประชาธิปไตยอันเป็นปฏิปักษ์กับเสียงข้างมาก


บทนำ

การเลือกตั้งทั่วไปของไทยในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 เป็นการเลือกตั้งที่มีระยะเวลาห่างจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด 8 ปี หลังรัฐประหารครั้งล่าสุด 5 ปี ร่างรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ไม่ผ่านประชามติ 1 ฉบับ ทำประชามติและประกาศใช้ 1 ฉบับ เลื่อนการเลือกตั้ง 5 ครั้ง ใช้งบประมาณของรัฐในการจัดการเลือกตั้งประมาณ 5,800 ล้านบาท ผลลัพธ์คือ รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งครั้งนี้มีนายกรัฐมนตรีเป็นคนเดิมและมีคณะรัฐมนตรีที่ไม่แตกต่างจากคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลทหารก่อนการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งแม้จะเป็นคำที่เรียบง่ายและกิจกรรมการเลือกตั้งก็ดูจะไม่ยุ่งยากเท่าการเข้าสู่อำนาจด้วยวิธีการอื่นเช่นการปฏิวัติหรือการรัฐประหาร แต่การเลือกตั้งครั้งหนึ่งๆ จะเกิดขึ้นเสียมิได้หากปราศจากฉันทามติของสังคม ความยินยอมจากผู้กุมอำนาจรวมถึงระเบียบและการจัดแจงเชิงสถาบันจำนวนมากที่รายรอบเป็นต้นว่ากฎหมายหรือ ธรรมเนียมประเพณี ในความหมายนี้การเลือกตั้งเป็นมากกว่าและสามารถแสดงให้เห็นได้มากกว่าการนับคะแนนเสียงเลือกตั้ง

โดยทั่วไปชนชั้นนำผู้กุมอำนาจจะมุ่งรักษาอำนาจเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนและเครือข่ายด้วยต้นทุนและความพยายามที่แตกต่างไปตามวาระโอกาส ในบางวาระก็ใช้กำลังปราบปรามประชาชน องค์กรปฏิปักษ์หรือล้มล้างระบอบที่เป็นภัยคุกคาม ในบางโอกาสก็ใช้การบั่นทอนพลังหรือดัดแปลงระบอบการปกครอง ณ ขณะนั้นให้เป็นพันธมิตรในฐานะหุ้นส่วนรายย่อย

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่แสดงให้เห็นหลายเหตุการณ์ที่ชนชั้นนำต่อต้านขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตย ในแง่นี้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมเกิดขึ้นได้บนเงื่อนไขที่ประชาธิปไตยถูกทำให้ปลอดภัยสำหรับพวกเขา คำถามคือ รูปแบบ “ประชาธิปไตย” ที่ปลอดภัยสำหรับชนชั้นนำคืออะไร ทำงานอย่างไร

 

กรอบแนวคิดและวิธีวิจัย

บทความวิจัยนี้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำกับประชาธิปไตยของไทยโดยใช้การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นเหตุการณ์หลักในการสืบสาวทำความเข้าใจ ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ใช้ชุดข้อมูลที่เกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้ง ข้อมูลและพฤติการณ์ของตัวแสดงและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงบริบทและประวัติศาสตร์การเมืองไทยในช่วงยาว จุดสนใจหลักอยู่ที่การวางโครงสร้างเพื่อปกป้องผลประโยชน์ชนชั้นนำจากเสียงข้างมากหรือประชาธิปไตย กรอบแนวคิดที่ใช้ในการวิเคราะห์คือ กรอบแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยในระยะผ่านที่ประเมินความตั้งมั่นของประชาธิปไตยใน 2 ช่วงสำคัญคือ ช่วงก่อร่างวางฐาน (Installation) และช่วงลงหลักตั้งมั่น (Consolidation) ที่โครงสร้างทางสถาบันถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับระบอบประชาธิปไตยและมีความพยายามทำให้ระบอบมีเสถียรภาพต่อเนื่องไม่ถูกแทนที่ด้วยการปกครองในระบอบอื่นโดยง่าย (ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, 2558, หน้า 51) แต่บทความนี้จะลองคิดถึงความเป็นไปได้ของการวางโครงสร้างสถาบันเพื่อรองรับและสร้างเสถียรภาพให้กับชนชั้นนำภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

 

งานวิชาการที่เกี่ยวข้อง

มีงานวิชาการอย่างน้อย 2 ชิ้น เสนอประเด็นการสร้างสถาบันปกป้องผลประโยชน์ชนชั้นนำหรือชนชั้นที่ได้เปรียบจากเสียงข้างมากเพื่อมิให้ชนชั้นนำต่อต้านระบอบประชาธิปไตย ได้แก่ ปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2553 เรื่อง “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกับประชาธิปไตย” โดย สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ และบทความเรื่อง “สถาบันปรปักษ์เสียงข้างมาก: การออกแบบระบบการเมืองเพื่อเสถียรภาพของประชาธิปไตยในระยะผ่าน” โดย ภูริ ฟูวงศ์เจริญ

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ (2553) มีความเห็นว่า การไม่สามารถลงหลักมั่นคงของประชาธิปไตยในไทยเป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมอย่างสูง ประเทศที่ยากจนและมีความเหลื่อมล้ำสูงมักจะมีปัญหาในการสร้างประชาธิปไตย ในขณะที่ประเทศที่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าและมีความเหลื่อมล้ำน้อยกว่าจะประสบความสำเร็จในการสร้างประชาธิปไตยที่มั่นคง (Consolidated Democracy) เหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำน้อยสามารถสร้างประชาธิปไตยที่มั่นคงได้คือ ประเทศดังกล่าวจะได้รับแรงกดดันจากประชาธิปไตยให้กระจายรายได้น้อยกว่าประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากส่งผลให้ “ผู้ที่มีรายได้สูง” ไม่ต่อต้านประชาธิปไตย

ข้อเสนอของสมเกียรติสำหรับการพัฒนาประชาธิปไตยไทยให้มั่นคงคือ การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมด้วยนโยบายสวัสดิการและการกระจายรายได้อย่างรอบคอบด้วยเหตุที่ว่าการกระจายรายได้นั้นแม้ว่าจะจำเป็นแต่ก็ต้องกระทำด้วยความระมัดระวังเพราะอาจทำให้ “ผู้ที่ได้รับสวัสดิการขาดแรงจูงใจในการทำงานหวังพึ่งสวัสดิการจากรัฐ... ไม่เป็นธรรมต่อผู้เสียภาษี... สร้างภาระต่อฐานะทางการคลังของประเทศ... เพิ่มต้นทุนแก่ธุรกิจและลดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ” (สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, 2553, หน้า 21)

ตามตรรกะของสมเกียรติ ชนชั้นนำจะไม่ต่อต้านระบอบประชาธิปไตยหากพลังประชาธิปไตยไม่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของกำลังแรงงาน งบประมาณด้านสวัสดิการของรัฐ ภาษีผู้มีรายได้สูง ภาระการคลัง ต้นทุนธุรกิจและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นจึงต้องออกแบบระบบการเมืองที่สามารถควบคุมเสียงของประชาชนมิให้ล่วงล้ำอาณาเขตสงวน (Reserved Domain) ของชนชั้นนำเหล่านี้ (ดูรายละเอียดข้อเสนอ 10 ประการเรื่องระบบสวัสดิการและการกระจายรายได้ของสมเกียรติได้ในบทความเดียวกัน หน้า 21-24)

ประเด็นเรื่องการออกแบบสถาบันปกป้องผลประโยชน์ชนชั้นนำเพื่อมิให้ชนชั้นนำต่อต้านประชาธิปไตยถูกกล่าวถึงและนำเสนออย่างละเอียดในงานของภูริ ฟูวงศ์เจริญ (2558) ในบทความเรื่อง “สถาบันปรปักษ์เสียงข้างมาก: การออกแบบระบบการเมืองเพื่อเสถียรภาพของประชาธิปไตยในระยะผ่าน”

ภูริเสนอมาตรการชั่วคราวสำหรับระยะเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยด้วยการให้อภิสิทธิ์แก่ผู้มีอำนาจมากพอที่จะทำให้พวกเขาไม่จำเป็นต้องต่อต้านประชาธิปไตยเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนผ่านสถาบันปรปักษ์เสียงข้างมากอันหมายถึงสถาบันการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการจัดการอำนาจสาธารณะในระบอบประชาธิปไตยแต่ไม่มีความพร้อมรับผิดต่อหรือขึ้นตรงต่อประชาชน (ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, 2558, หน้า 56) ด้วยเหตุผลที่ว่าการเปลี่ยนผ่านจากระบอบไม่ประชาธิปไตยไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงในประเทศต่างๆ ทั่วโลกนั้นมีประเทศจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ เนื่องจากตัวระบอบมักถูกท้าทายจากปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะในระยะก่อร่างวางฐาน (Installation) กับระยะลงหลักตั้งมั่น (Consolidation) ของประชาธิปไตย โดยชนชั้นนำผู้กุมอำนาจมักล้มระบอบหากมีแนวโน้มว่าประชาธิปไตยจะเป็นอันตรายหรือเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยไม่เป็นประโยชน์ต่อตน ดังนั้นวิธีการที่จะรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้คือ การ “สร้างช่องทางพิเศษที่จะช่วยรับประกันความสำเร็จของเขา (ชนชั้นนำ)” (ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, 2558, หน้า 55)

ภูริชี้ให้เห็นว่ามีความตึงเครียดขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำกับระบอบประชาธิปไตยโดยเฉพาะชนชั้นนำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทรัพย์สินของชนชั้นนำตกเป็นเป้าของการกระจายรายได้ พวกเขาถูกคุกคามโดยผู้ยากไร้ จึงจำเป็นที่จะต้อง “จัดวางโครงสร้างแรงจูงใจให้สามารถผ่อนคลายความตึงเครียดที่ชนชั้นนำกลุ่มดังกล่าวมีต่อกระบวนการตัดสินใจตามหลักเสียงข้างมาก” (ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, 2558, หน้า 56)

ส่วนหนึ่งของสถาบันปรปักษ์เสียงข้างมากได้แก่ ศาล ตุลาการภิวัตน์ ฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการแต่งตั้ง อำนาจยับยั้งของตัวแสดงบางกลุ่ม เกณฑ์การลงคะแนนเสียงแบบพิเศษ เป็นต้น สถาบันปรปักษ์เสียงข้างมากเหล่านี้มีอำนาจริเริ่ม เห็นชอบและยับยั้งนโยบายเป็นสถาบันที่เปิดโอกาสให้กับชนชั้นนำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง “สามารถปกป้องสิ่งที่ตนยึดถือเป็นผลประโยชน์พื้นฐานอันมิอาจประนีประนอมได้ ไม่ให้สิ่งเหล่านี้ถูกเอาไปตัดสินชี้ขาดกันในสนามเลือกตั้งหรือตกเป็นดุลพินิจของตัวแทนเสียงข้างมาก” (ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, 2558, หน้า 57)

ภูริมีความเห็นว่าเมื่อชนชั้นนำถูกพลังประชาธิปไตยบีบคั้นจนตกอยู่ในสภาพ “หลังชนฝา” “พวกเขาย่อมดิ้นรนขัดขืนด้วยทุกวิถีทางแม้กระทั่งการบ่อนทำลายหรือโค่นล้มระบอบประชาธิปไตย” (ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, 2558, หน้า 58)

ถ้าสมเกียรติและภูริวิเคราะห์ได้ถูกต้องย่อมหมายความว่า ปัญหาประชาธิปไตยไม่ตั้งมั่นในไทยเป็นผลมาจากความพยายามบ่อนทำลายหรือโค่นล้มระบอบประชาธิปไตยโดยชนชั้นนำ

บทความนี้เห็นพ้องกับสมเกียรติและภูริในเรื่องความตึงเครียดขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำกับระบอบประชาธิปไตยและต้องการเสนอข้อถกเถียงเพิ่มเติมบางประเด็น กล่าวคือ เมื่อพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของการกำหนดนโยบาย แม้กระทั่งในจังหวะเวลาที่กระแสประชาธิปไตยขึ้นสูงระหว่างปี 2516-2519 หรือระหว่างปี 2535-2549 สถาบันเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีบทบาทในการกำหนดระบบการเมือง ริเริ่ม เห็นชอบและยับยั้งหรือดำเนินนโยบายเสมอมา นี่แสดงให้เห็นว่าปัญหาประชาธิปไตยของไทยนั้นมิได้อยู่ที่การปฏิเสธสถาบันปรปักษ์เสียงข้างมาก

ดังนั้นอาจจะถูกต้องมากกว่าที่จะกล่าวว่าชนชั้นนำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งต่างหากเป็นฝ่ายปฏิเสธประชาธิปไตยและมีอำนาจกำหนดอาณาเขตของพลังประชาธิปไตย ทำให้ความขัดแย้งรุนแรงในการเมืองไทยจะเกิดขึ้นเป็นระยะตามจังหวะเวลาที่พลังประชาธิปไตยเติบใหญ่ขยายตัวและก้าวขึ้นมาขอส่วนแบ่งอำนาจที่มากขึ้น

ในขณะที่ประชาธิปไตยไทยมีชีวิตและพยาธิสภาพลุ่มๆ ดอนๆ แต่สถาบันเสียงข้างน้อยที่ปกป้องผลประโยชน์ชนชั้นนำกลับถูกก่อร่างวางฐานและลงหลักตั้งมั่นเสมอมาด้วยเหตุผลว่าสถาบันดังกล่าวติดตั้งอยู่ในระบบการเมืองไทยและมีแนวโน้มไปในทางที่จะติดตั้งกลไกดังกล่าวเพิ่มขึ้นมากกว่าด้านการถอดถอนลดลง ไม่ว่ากระแสพลังประชาธิปไตยจะเข้มแข็งหรืออ่อนแรงลงก็ตามเพราะแม้แต่ชนชั้นนำที่มาจากการเลือกตั้งก็มิได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะขยายพื้นที่ประชาธิปไตยแผ่กว้างออกไปแต่กลับนิยมสร้างสายสัมพันธ์และใช้สถาบันเหล่านั้นเพื่อเป้าหมายเฉพาะหน้าของตนด้วย

ข้อสันนิษฐานของบทความนี้คือ หนึ่ง ปัญหาประชาธิปไตยไม่ตั้งมั่นของไทยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากความพยายามของชนชั้นนำในการปกป้องผลประโยชน์ตนเองจากเสียงข้างมาก สอง “สถาบันปรปักษ์เสียงข้างมาก” ดำรงอยู่ในสังคมไทยและกำกับควบคุมเสียงข้างมากเพื่อรักษาอาณาเขตสงวนของตนเสมอมา หากการทำหน้าที่ถ่วงทานมติมหาชนของสถาบันเสียงข้างน้อยไม่เพียงพอที่จะพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ชนชั้นนำ พวกเขาจะติดตั้งกลไกใหม่เพิ่มขึ้น ผลรวมของการติดตั้งกลไกใหม่ต่างๆ โดยชนชั้นนำทำให้เกิดเป็นระบอบประชาธิปไตยอันเป็นปฏิปักษ์กับเสียงข้างมากที่สถาบันเสียงข้างน้อยต่างๆ ทำหน้าที่สอดประสานกันโดยมิต้องมีศูนย์กลางสั่งการเพื่อจูงใจ กำกับ บังคับ ลงโทษและเบียดขับเสียงข้างมากในฐานะตัวกระทำการที่มีความหมายออกไปจากพื้นที่การเมืองในระบอบประชาธิปไตย

 

ธรรมชาติและรากเหง้าปัญหาของการเมืองไทยร่วมสมัย

ภารกิจถาวรของชนชั้นนำไทยคือ การดัดแปลงความเป็นจริงให้เอื้ออำนวยต่อการดำรงอยู่ของพวกตนให้มากที่สุดเนื่องจากเงื่อนไขการดำรงอยู่ของพวกเขาที่อยู่ในสถานะได้เปรียบด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองที่เหลื่อมล้ำนั้นขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริงที่มุ่งไปสู่การกระจายผลประโยชน์และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองให้ช่องห่างที่เหลื่อมล้ำนั้นหดแคบมากขึ้น การขยายตัวของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นตัวอย่างหนึ่งในประเด็นนี้ด้วยเหตุที่ว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่เปิดโอกาสให้คนจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการจัดสรรทรัพยากรในประเทศที่แต่เดิมนั้นอำนาจดังกล่าวอยู่ในมือชนชั้นนำจำนวนน้อย ในแง่นี้ประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของชนชั้นนำไทยโดยตรงพวกเขาจึงต้องดัดแปลงระบอบประชาธิปไตย

หากยึดถือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หรือการเปลี่ยนระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบการปกครองที่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร สภาผู้แทนราษฏร คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีและระบบราชการ
แบบใหม่อันเป็นองค์ประกอบของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นหมุดหมายของการขยายวงอำนาจและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองไทยครั้งใหญ่ ความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองหลังจากนั้นก็คือ ความพยายามของชนชั้นนำที่จะดัดแปลงระบอบการปกครองดังกล่าวให้ไม่เป็นภัยคุกคามจนกระทั่งความสัมพันธ์ทางอำนาจของกลุ่มผลประโยชน์หลากหลายในสังคมไทยลงตัวเป็นระยะ

บทสรุปความลงตัวระหว่างชนชั้นนำกับกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในระบอบประชาธิปไตยที่สำคัญคือ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือที่เกษียร เตชะพีระ เรียกว่า ฉันทมติภูมิพล อันเป็นระเบียบการเมืองที่ชนชั้นนำหลากกลุ่มไม่ว่าจะเป็นข้าราชการพลเรือน ทหาร เทคโนแครต นักการเมือง นักวิชาการ นักธุรกิจสามารถอยู่ร่วมและแบ่งปันผลประโยชน์กันได้โดยทุกฝ่ายยอมรับอำนาจนำของสถาบันกษัตริย์ (หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, 2562)

 

ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขกับระบอบประชาธิปไตยเลือกตั้ง

หากนับช่วงเวลาหลังจากปี 2523 ที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหมดพลังที่จะเป็นภัยคุกคามชนชั้นนำ ความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ลงตัวดังกล่าวทำให้ประเทศไทยปลอดความขัดแย้งทางการเมืองขนานใหญ่ยืดเยื้อมากว่าชั่วอายุคนจนกระทั่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่ขยายฐานคนชั้นกลางให้กลายเป็นกลุ่มพลังทางการเมืองที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่งจนสามารถทำการรุกคืบแย่งชิงพื้นที่อำนาจการเมืองจากชนชั้นนำเกิดเป็นเหตุการณ์พฤษภาเลือดปี 2535 อันเป็นชนวนไปสู่การร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เชื่อกันว่าประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างมากที่สุด

รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้สร้างพรรคการเมืองและฝ่ายบริหารจากการเลือกตั้งที่เข้มแข็งอย่างไม่เคยมีมาก่อนในการเมืองไทยคือ พรรคไทยรักไทยของทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลเข้มแข็งมีเสถียรภาพก่อให้เกิดความปั่นป่วนในระเบียบการเมืองไทยแบบเดิมที่ดำรงอยู่ระหว่างปี 2523-2544 อันมีสาระสำคัญคือ เสถียรภาพทางการเมืองเกิดจากรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ (Suehiro, 2009, pp.16-17) เนื่องจากหากรัฐบาลมีเสถียรภาพจะสามารถใช้อำนาจที่มีความชอบธรรมจากการเลือกตั้งล่วงล้ำเข้าไปในอาณาเขตสงวนของชนชั้นนำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง กล่าวคือ รัฐบาลจากการเลือกตั้งของนายกฯ ทักษิณและประชาชนได้เบียดแย่งอำนาจในการริเริ่ม เห็นชอบและยับยั้งหรือดำเนินนโยบายจากชนชั้นนำโดยเฉพาะด้านการพัฒนาประเทศและการจัดการในภาวะวิกฤตซึ่งไม่เคยตกเป็นของพรรคการเมืองเลือกตั้งพรรคเดียวมาก่อน

ตัวอย่างหนึ่งของความแตกต่างระหว่างรัฐบาลก่อนปี 2544 กับรัฐบาลหลังจากนั้นคือ การตัดสินใจและการดำเนินนโยบายหลายประการของรัฐบาลเลือกตั้งได้มาเป็นทางเลือกของประชาชนควบคู่ไปกับทางเลือกอื่นของรัฐที่ดำเนินการโดยข้าราชการและหน่วยงานอื่นที่มิได้มาจากการเลือกตั้ง เช่น โครงการต่างๆ ที่ถูกเรียกว่า “ประชานิยม” ได้รับการริเริ่ม เห็นชอบและดำเนินการอย่างกว้างขวาง ในหลายพื้นที่การดำเนินงานของโครงการประชานิยมทับซ้อนกับพื้นที่ของโครงการในพระราชดำริของส่งผลให้คำว่าประชานิยมเป็นที่ได้ยินและรู้จักควบคู่ไปกับโครงการราชูปถัมภ์ซึ่งปรากฎมายาวนานในฐานะโครงการช่วยเหลือประชาชนและพัฒนาพื้นที่ทุรกันดารและไม่เคยมีคู่เปรียบเทียบมาก่อน

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ระเบียบการเมืองไทยแบบประชาธิปไตยเลือกตั้งได้กลายเป็นความท้าทายต่อสถาบันต่างๆ ที่ดำรงอยู่เดิมในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

วิกฤตการณ์และความไร้เสถียรภาพทางการเมืองที่ปรากฎตลอดระยะเวลากว่าทศวรรษหลังการรัฐประหารปี 2549 จนถึงปัจจุบันโดยเนื้อแท้แล้วคือ การตอบโต้ของชนชั้นนำต่อระบอบประชาธิปไตย พวกเขาพยายามแสวงหาวิธีกำกับควบคุมระบอบประชาธิปไตยให้อำนาจริเริ่ม เห็นชอบและยับยั้งหรือดำเนินนโยบายอยู่ในมือชนชั้นนำดังเดิมไม่ว่าจะเป็นการใช้การเมืองบนท้องถนนหรือการรัฐประหารหรือใช้เครื่องมือทั้งสองร่วมกันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว

 

จากรัฐธรรมนูญฉบับหมายจับทักษิณสู่รัฐธรรมนูญฉบับกำราบเสียงข้างมาก

รัฐประหารเป็นเครื่องมือสำคัญของชนชั้นนำในการจัดการระบอบประชาธิปไตยแต่ไม่ใช่เครื่องมือชนิดเดียว นับจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 อันเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจแก่เสียงข้างมากจนถึงปัจจุบันประเทศไทยมีรัฐประหาร 2 ครั้งคือ ในปี 2549 และ 2557 ซึ่งเป็นรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลทักษิณและเครือข่ายที่พลังจากการเลือกตั้งเข้าถึงอำนาจกำหนดนโยบายสำคัญทั้ง 2 ครั้ง การรัฐประหารช่วยเปิดโอกาสให้ชนชั้นนำยับยั้งและเปลี่ยนทิศทางนโยบายทำลายโครงสร้างที่มอบอำนาจแก่พลังจากการเลือกตั้งและสร้างกลไกสืบทอดแนวนโยบายและโครงสร้างอำนาจแบบกระจุกตัวในหมู่ชนชั้นนำเอาไว้ผ่านการนำโดยกองทัพซึ่งมีจุดอ่อนจากการขาดความชอบธรรมตามกระแสโลกปัจจุบันจึงจำเป็นต้องกระทำการดังกล่าวผ่านกฎหมาย ในการนี้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือสำคัญของชนชั้นนำเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวที่จะต้องกระทำภายใต้ระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีการเลือกตั้งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

เป้าหมายของชนชั้นนำจึงอยู่กับการร่างรัฐธรรมนูญที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สามารถกลายเป็นพลังเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายและโครงสร้างอำนาจได้ ความพยายามดังกล่าวปรากฎให้เห็นในการร่างรัฐธรรมนูญหลังการรัฐประหารทั้งในปี 2549 ที่มีการร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 และการรัฐประหารในปี 2557 ที่มีการร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับอยู่ที่ความพยายามกำกับควบคุมการเลือกตั้งให้ระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถเป็นช่องทางท้าทายอำนาจชนชั้นนำได้

นายจรัล ภักดีธนากุล รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้กล่าวไว้ว่า “ระบบ Party List ของปี 2540 พลาดตรงเขาไปทำเป็นบัญชีเดียวทั้งประเทศ เลยทำให้พรรคที่ได้เสียงมากที่สุดในทั้งประเทศนึกว่าพรรคเขามีคะแนนเสียงประชาชนสนับสนุน 14 ล้าน 19 ล้าน อหังการ มมังการ จะเทียบชั้นเป็นเจ้าแผ่นดินอย่างนี้มันไม่ถูกหลักของระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”(จรัล
ภักดีธนากุล อ้างถึงใน เกษียร เตชะพีระ, 2555, หน้า 17)

ด้วยเป้าหมายดังกล่าวรัฐธรรมนูญปี 2550 จึงลดจำนวนวันที่ผู้สมัคร ส.ส. จะต้องสังกัดพรรคการเมืองจาก 90 วันเหลือ 30 วัน ให้ ส.ส. เป็นอิสระจากมติพรรค ทำให้การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้ง่ายมากขึ้น มีการเพิ่มหมวด “คุณธรรม จริยธรรม” และถือการฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้เป็นความผิดร้ายแรง เปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้ง ลดจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อจาก 100 คน เหลือ 80 คน และกำหนดเขตเลือกตั้งแบบกลุ่มจังหวัดแทนที่เขตเลือกตั้งทั่วประเทศ กำหนดให้ ส.ว. มาจากการสรรหาโดยกรรมการสรรหาจำนวน 7 คน รวมถึงมีการกำหนดให้ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญต่างๆ มีความยึดโยงกับภาคประชาชนน้อยลงโดยส่วนใหญ่จะมาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาที่ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลัก (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550, มาตรา 93, 96, มาตรา 101 (3), มาตรา 111, มาตรา 113, มาตรา 158, มาตรา 279, มาตรา 229, มาตรา 231)

กฎหมายมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ลดความเข้มแข็งของพรรคการเมือง ลดอำนาจรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เพิ่มอำนาจของสถาบันและหน่วยงานที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งในการกำกับควบคุมนักการเมืองและพรรคการเมือง รัฐธรรมนูญปี 2550 จึงเป็นรัฐธรรมนูญที่ถ่วงดุลเสียงข้างมาก (Majority) ด้วยสถาบันเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (Non-Majoritarian Institutions) ทำให้พรรคการเมืองที่จะชนะการเลือกตั้งและเป็นรัฐบาลประสบความยุ่งยากในการควบคุม ส.ส. ของพรรคและตกอยู่ภายใต้การตรวจสอบอย่างละเอียดหยุมหยิมจากสถาบันและองค์กรอิสระที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ยกตัวอย่างเช่น กกต. มีอำนาจริเริ่มการยุบพรรคการเมืองและสิ้นสุดสมาชิกภาพของ ส.ส. ที่เป็นตัวแทนของประชาชนได้แม้ว่าจะไม่มีผู้ร้องเรียนก็ตาม จน นิธิ เอียวศรีวงศ์เรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า “หมายจับทักษิณ” (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2550)

นอกจากการใช้อำนาจเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งผ่าน กกต. แล้วศาลก็เป็นอีกสถาบันหนึ่งที่มีอำนาจยับยั้งยกเลิกเพิกถอนมติจากเสียงข้างมาก ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้นายกรัฐมนตรีจำนวน 3 ราย ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ คือ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีที่มาจาก
การเลือกตั้งถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากตำแหน่งจากการตีความกฎหมายอย่างกว้างขวางในกรณีปัญหาการตีความมาตรา 267 ว่าด้วยการเป็น “ลูกจ้าง” ของนายกรัฐมนตรี (วรเจตน์ ภาคีรัตน์, 2558, หน้า 296-313) นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รักษาการตำแหน่งหัวหน้าพรรค และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีเนื่องจากการโยกย้ายข้าราชการ

แม้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 จะพยายามควบคุมประชาธิปไตยด้วยการมุ่งลดบทบาทอำนาจตัวแทนเสียงข้างมากโดยเฉพาะตัวแทนที่ได้รับความนิยมอย่างทักษิณแต่ผลปรากฎว่าการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2550 จำนวน 2 ครั้ง คือ ในปี 2551 และ 2554 นั้นพรรคเครือข่ายทักษิณสามารถชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลทั้ง 2 ครั้งจึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าการรัฐประหารปี 2549 และรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มุ่งกีดกันทักษิณออกไปจากการเมืองไทยไม่เพียงพอที่จะควบคุมพลังการเมืองของเสียงข้างมาก ชนชั้นนำไทยจึงต้องสานต่อภารกิจดัดแปลงประชาธิปไตยให้สอดคล้องกับการดำรงอยู่ของพวกเขาอีกวาระหนึ่ง นั่นคือรัฐประหาร ปี 2557 และรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ร่างและประกาศใช้ในสมัยรัฐบาลทหาร

ชนชั้นนำจำนวนหนึ่งเห็นว่ารัฐประหารปี 2549 เป็นรัฐประหารที่ “เสียของ” (พรเทพ เฮง, 2557) จะสังเกตได้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ประสบความสำเร็จในการจำกัดพลังของเสียงข้างมาก ดังนั้นเป้าหมายหลักของการรัฐประหารในปี 2557 คือ
การสืบทอดภารกิจกระชับพื้นที่ประชาธิปไตยส่งผลให้รัฐประหารครั้งนี้จัดวางโครงสร้างที่เพิ่มระดับการควบคุมเสียงประชาชนมากขึ้น มีการเพิ่มอำนาจกองทัพให้เข้ามามีบทบาทในกิจการของรัฐอย่างกว้างขวาง ภายหลังการรัฐประหารคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงอยู่ในอำนาจควบคู่ไปกับการตั้งรัฐบาลที่มีหัวหน้า คสช. ดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาล
มีอำนาจใช้กฎหมายมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ให้อำนาจหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งที่มีผลในทางบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการและยังคงอำนาจนี้ต่อไป แม้มีรัฐธรรมนูญ 2560 จนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่

นอกจากนี้บุคลากรจากกองทัพยังมีบทบาทในคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ของรัฐสภาเช่น ในคณะกรรมาธิการสามัญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติจำนวน 20 คณะ มีทหารดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการถึง 11 คณะ มีทหารดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจและประธานบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ข้อมูลจากการสำรวจรวบรวมของสำนักข่าวบีบีซีไทยพบว่าหลังรัฐประหาร 2557 มีทหารเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจจำนวน 56 แห่งของไทยเพิ่มขึ้น 5 เท่าตัว โดยก่อนรัฐประหารปี 2557 นั้นทหารเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจเพียง 3 แห่ง ต่อมาเพิ่มเป็น 16 แห่ง หลังการรัฐประหาร (พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์, 2560)

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญในการประกันมิให้ระเบียบการเมืองไทยกลับไปสู่ระเบียบการเมืองที่เสียงข้างมากมีอำนาจนำเหนือสถาบันเสียงข้างน้อยของชนชั้นนำ จึงจำเป็นต้องในวางโครงสร้างทางกฎหมายเพื่อจัดการปัญหานี้ในระยะยาว ภายหลังรัฐประหารมีความพยายามร่างรัฐธรรมนูญโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานยกร่างแต่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติซึ่งนายบวรศักดิ์อธิบายเหตุผลที่สภาลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า “เพราะเขาอยากอยู่ยาว” (มติชนออนไลน์, 2559) การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ดำเนินการโดยนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานยกร่างและนำไปผ่าน “พิธีกรรม” ออกเสียงประชามติประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญปี 2560

รัฐธรรมนูญปี 2560 มีลักษณะสำคัญคือ สืบทอดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญปี 2550 ในด้านการลดอำนาจประชาชนและเพิ่มอำนาจสถาบันเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เช่น ข้าราชการและองค์กรอิสระด้วยโครงสร้างอย่างเป็นระบบ โดยออกแบบให้อำนาจสถาบันเสียงข้างน้อยกำกับควบคุมเสียงข้างมากอย่างเข้มงวดด้วยการออกกฎหมายใหม่ว่าด้วยพรรคการเมือง การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาที่ทำให้พรรคการเมืองตั้งยาก ยุบง่าย การเลือกตั้งมีความซับซ้อน เลือกตั้งยาก นับคะแนนยาก[3] ตั้งรัฐบาลยาก บริหารประเทศยาก (จะกล่าวต่อไปข้างหน้า) โดยพรรคการเมือง นักการเมือง รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีอันเป็นตัวแทนประชาชนถูกตรวจสอบกำกับควบคุมอย่างเข้มงวดทั้งทางวินัย จริยธรรม กฎหมายและองค์กรอิสระ โดยองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและมีอำนาจให้คุณให้โทษสถาบันตัวแทนเสียงประชาชนถูกคัดเลือกโดยชนชั้นนำและกองทัพ

นี่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในเรื่องการดำรงอยู่ของสถาบันปรปักษ์เสียงข้างมากในการเมืองไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและขอบเขตอำนาจ

ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้นอกเหนือไปจากการเขียนกฎหมายให้สถาบันเสียงข้างมากมีความยากลำบากในการเข้าสู่อำนาจและใช้อำนาจแล้ว รัฐธรรมนูญยังมีบทเฉพาะกาลกำหนดให้ คสช. และเครือข่ายมีอำนาจพิเศษในช่วงเปลี่ยนผ่านและได้รับการยกเว้นจากการตรวจสอบกำกับควบคุมโดยกฎหมายเมื่อดำรงตำแหน่งเดียวกันกับนักการเมือง ตัวอย่างเช่น การให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่แต่งตั้งโดย คสช. และคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่ต่อไปแม้จะมีการประกาศเลือกตั้งแล้วจนกว่าจะมีสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภาใหม่ (มาตรา 263) ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายมาตราต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองแก่คสช. และเครือข่าย เช่น มาตรา 112 และสำคัญที่สุดคือ บทเฉพาะกาลที่กำหนดให้มี ส.ว. 250 คนที่สรรหาและแต่งตั้งโดย คสช. (มาตรา 269) มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 272) ซึ่งจะลดโอกาสที่ผู้นำฝ่ายบริหารจะมาจากการเลือกของเสียงข้างมากแม้ว่าจะมีหัวหน้าพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งได้จำนวน ส.ส. เกินกึ่งหนึ่งจากจำนวนที่นั่ง ส.ส. ทั้งหมดก็ตาม การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ต่อเนื่องกันของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงเป็นสิ่งที่ถูกออกแบบไว้ตั้งแต่ต้น

โครงสร้างอำนาจที่จัดวางใหม่อย่างเหลื่อมล้ำสูงนี้ทำให้ชนชั้นนำมีอำนาจเหนือและมากกว่าประชาชนหรือนักการเมืองตัวแทนประชาชน ผลพวงที่ตามมาคือ คนกลุ่มนี้สามารถลอยอยู่เหนือความพร้อมรับผิด การตรวจสอบและการลงโทษจากสังคม

นอกจากรัฐธรรมนูญปี 2560 จะกำหนดให้อำนาจการเมืองตกอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำและกองทัพแล้วยังกำหนดให้อำนาจทางเศรษฐกิจตกอยู่ในมือคนกลุ่มนี้ด้วย รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่คณะกรรมการมาจากกองทัพ ข้าราชการและนายทุน คณะกรรมการทั้ง 2 ชุดนี้สำคัญเพราะสิ่งที่พวกเขากำหนดนั้นจะถูกใช้เป็นกรอบให้รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการเลือกตั้งต้องปฏิบัติตาม รัฐธรรมนูญปี 2560 หมวด 6 มาตรา 65 กำหนดให้รัฐบาลมีหน้าที่จัดทำนโยบายและใช้จ่ายงบประมาณให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีซึ่งเขียนขึ้นมาโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่แต่งตั้งโดย คสช. และคนของ คสช. ทั้งหน่วยงานรัฐและรัฐบาลสามารถถูกคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. เพื่อฟ้องร้องเอาผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบซึ่งมีโทษทั้งให้พ้นจากตำแหน่ง เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง สิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองรวมถึงโทษจำคุกด้วย (มาตรา 29)

กระบวนการต่างๆ ข้างต้นสะท้อนความพยายามกำหนดทิศทางประเทศที่ปฏิเสธกีดกันเสียงข้างมากของชนชั้นนำ พวกเขาดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเป็นระบบครอบคลุมบูรณาการ กฎหมายในลักษณะนี้ไม่จำกัดเพียงกฎหมายเกี่ยวข้องกับการเมืองเท่านั้นแต่ยังปรากฎในหมวดอื่นๆ ด้วย ดังปรากฏตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่หมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ วางนโยบายเรื่องความมั่นคง ศาสนา เศรษฐกิจ การต่างประเทศ ไว้อย่างละเอียด ซึ่งศาสตราจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เคยให้ความเป็นไว้ว่าเป็นสิ่งที่ “ฟุ่มเฟือย” และ “ควรจะวางไว้กว้างแล้วพรรคการเมืองที่
ลงเลือกตั้งเขาจะเสนอนโยบายกับประชาชน” (อธึกกิต แสวงสุข, 2558)
 

นิติบัญญัติเพื่อชนชั้นนำ

ค่อนข้างชัดเจนว่าหลังรัฐประหารปี 2549 นอกจากการใช้กำลังและโฆษณาชวนเชื่อแล้วชนชั้นนำไทยหันมาใช้กลไกในระบอบประชาธิปไตยจัดการคู่แข่งทางการเมืองด้วย ตัวอย่างหนึ่งของกลไกในระบอบประชาธิปไตย ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ หลังรัฐประหาร 2549 คณะรัฐประหารได้ยุบศาลรัฐธรรมนูญและตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อทำภารกิจยุบพรรคการเมืองที่ค้างอยู่ในศาลต่อไป (วรเจตน์ ภาคีรัตน์, 2562) วรเจตน์ยังกล่าวต่อไปอีกด้วยว่า “ในบ้านเรา (ประเทศไทย) ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญแต่พิทักษ์สิ่งที่อยู่เบื้องหลังรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ได้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นอะไรบางอย่างที่ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ” (วรเจตน์ ภาคีรัตน์, 2562)

กฎหมายสามารถกลายเป็นเครื่องมือในการจัดการฝ่ายตรงข้ามพร้อมกันกับการเป็นเครื่องมือรับรองความชอบธรรมของการกระทำต่างๆ ที่ละเมิดหลักนิติรัฐของชนชั้นนำ คณะรัฐประหารที่กระทำการสำเร็จจะใช้ประกาศ คำสั่งหรือกฎหมายที่ประกาศใช้ในสมัยรัฐประหารดำเนินนโยบายและภารกิจต่างๆ โดยอ้างเป็นการกระทำตามกฎหมาย การทำงานอย่างสอดประสานของกลไกจำกัดอำนาจประชาชนที่ออกแบบโดยชนชั้นนำปรากฎให้เห็นในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ใช้ทั้งเวลา งบประมาณและมีประชาชนร่วมลงคะแนนจำนวนมากแต่ในท้ายที่สุดก็มีการจัดตั้งรัฐบาลที่มีองค์ประกอบสำคัญไม่แตกต่างไปจากรัฐบาลทหารก่อนหน้านั้น

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดกติกาการเลือกตั้งใหม่ มีการปรับสัดส่วนในการเลือก ส.ส. จำนวน 500 ที่นั่งโดยแบ่งเป็น ส.ส. ในระบบเขต 350 ที่นั่งและ ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่ออีก 150 ที่นั่งโดยใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวในระบบเขตและจะนำคะแนนเสียงที่ได้รับมาคำนวณจำนวนที่นั่งของ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคซึ่งจะมีได้ไม่เกิน “ส.ส. พึงมี” ของแต่ละพรรคที่คำนวณจากการนำจำนวนผู้มาลงคะแนนทั้งหมดหารด้วยที่นั่ง ส.ส. เป็นกติกาการเลือกตั้งในระบบ Mixed-Member Apportionment (MMA) หรือเรียกในภาษาไทยว่า “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” ที่สิริพรรณ นกสวน สวัสดีนักรัฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องระบบเลือกตั้งให้ความเห็นว่า ระบบเลือกตั้งดังกล่าวที่นำมาใช้ในไทยอาจมีปัญหาเรื่องการบิดเบือนและเบี่ยงเบนเจตนารมณ์ของผู้เลือกตั้ง เอื้อให้เกิดโครงสร้างการแข่งขันที่เน้นตัวบุคคลมากกว่าพรรค ไม่เอื้อต่อการสร้างระบบความรับผิดชอบระหว่างผู้เลือกตั้งและตัวแทนที่ได้รับเลือกตั้งและเป็นระบบที่ให้โบนัสแก่พรรคที่แพ้ในระบบเขต ซึ่งจะทำให้พรรคขนาดกลางที่ไม่ชนะการเลือกตั้งในระบบเขตมีโอกาสได้ที่นั่งสูงขึ้น และด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าวระบบการเลือกตั้งเช่นนี้อาจทำให้ “ความรู้สึกมีประสิทธิภาพทางการเมืองของประชาชนจะต่ำลงจนอาจทำให้ความสนใจและความต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองเสื่อมถอยลง” (สิริพรรณ นกสวน สวัสดี, 2561, หน้า 205-207)

ผลการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 สะท้อนความสำเร็จของชนชั้นนำไทย ในการดัดแปลงสถาบันและกลไกต่างๆ ของรัฐให้เป็นประโยชน์กับฝ่ายตนในฐานะคนส่วนน้อยที่ครอบครองใช้ประโยชน์ทรัพยากรส่วนมากของสังคมด้วยการทำให้เสียงส่วนข้างมากหมดพลังทางการเมืองลง ทั้งในกระบวนการการเลือกตั้งและการให้อำนาจสถาบันเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่วินิจฉัยพิพากษากำกับควบคุมสถาบันเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้ง

ในกระบวนการเลือกตั้งนั้น วิธีเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่นำคะแนนเสียงของผู้สมัครที่แพ้ในการแข่งขันแบบเขตมารวมเป็นคะแนนของพรรคเพื่อคำนวณหา ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อทำให้เสียงส่วนน้อยถูกนำมาเพิ่มจำนวน ส.ส. ให้กับพรรคการเมืองที่แพ้การเลือกตั้งแบบเขตในขณะเดียวกันก็ลงโทษพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งแบบเขตจำนวนมากด้วยให้ลดสัดส่วน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคจะได้รับกระทั่งอาจจะไม่ได้จัดสรรที่นั่ง ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อเพิ่มเติมเนื่องจากถือว่าได้ที่นั่ง ส.ส. แบบเขตพอเพียงแล้ว

นอกจากตัวกระบวนการเลือกตั้งที่ไม่สนับสนุนให้เสียงข้างมากมีอำนาจแล้ว ชนชั้นนำยังสร้างสถาบันเสียงข้างน้อยไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่วินิจฉัยพิพากษากำกับควบคุมสถาบันเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สถาบันตุลาการ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ล้วนแต่มีอำนาจให้คุณให้โทษผู้สมัครรับเลือกตั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจที่เกี่ยวข้องกับการตัดสิทธิในการรวมตัวกันของประชาชนและสิทธิทางการเมืองในการลงสมัครรับเลือกตั้งซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานที่สำคัญของประชาชน

ผลงานขององค์กรอิสระที่ทำให้เสียงข้างมากหมดพลังทางการเมืองลงชิ้นหนึ่งคือการนับคะแนนและการคำนวณคะแนน ภายหลังการเลือกตั้ง กกต. ใช้เวลาถึง 43 วันในการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตอย่างเป็นทางการ ในขณะที่การคิดคะแนน ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อนั้น กกต. ได้เลือกใช้วิธีการคำนวณคะแนนที่สังคมเห็นว่าขัดกับสิ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยวิธีการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของ กกต. นั้นทำให้เสียงของประชาชนที่เลือกพรรคการเมืองต่างๆ รวมกันกว่า 1.5 ล้านคน ไม่ถูกนำมาคำนวณเป็นที่นั่ง ส.ส. (ประชาไท, 2559) ในขณะเดียวกันก็ทำให้พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงรวมไม่ถึงคะแนนเสียงเฉลี่ยสำหรับ ส.ส. พึงมีคือ 71,168.5141 เสียง สามารถมี ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่งเพิ่มขึ้นมาถึง 11 พรรคการเมือง เช่น พรรคไทรักธรรม ได้มีตัวแทนในสภาด้วยคะแนนเสียงเพียง 33,754 คะแนน (บีบีซีไทย, 2562)

ผลของกติกาการเลือกตั้งและสถาบันฯ ดังกล่าวทำให้กระบวนการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปด้วยความยุ่งยาก การเลือกตั้งครั้งนี้ใช้เวลากว่า 4 เดือนหลังวันเลือกตั้งจึงจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลและแถลงนโยบายต่อรัฐสภาได้ พรรคการเมืองจัดตั้งยาก แต่ล้มง่ายโดยก่อนการเลือกตั้งมีพรรคการเมืองที่มีแนวโน้มจะได้รับคะแนนเสียงอย่างมีนัยสำคัญถูกตีความพิพากษาให้ยุบพรรค พรรคที่ชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงส่วนใหญ่จัดตั้งรัฐบาลด้วยความยากลำบากหรืออาจไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ว. จำนวน 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งโดยคนกลุ่มเดียวมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. นอกจากนี้หากพรรคที่ได้รับเลือกจากเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาได้ ก็จะเป็นรัฐบาลที่ขาดเสถียรภาพเพราะกติกาการเลือกตั้งออกแบบเพื่อไม่ให้มีพรรคที่ได้รับเสียงข้างมากเด็ดขาด

ดังนั้น ความเป็นไปได้ของรัฐบาลที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ออกแบบไว้คือ หนึ่ง การมีรัฐบาลของชนชั้นนำที่ไม่ได้ชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากแต่จัดตั้งรัฐบาลและบริหารประเทศได้จากการสนับสนุนของสถาบันเสียงข้างน้อยและกลไกรัฐที่จัดวางไว้แต่ต้น และความเป็นไปได้ที่สองคือ รัฐบาลเสียงข้างมากที่ต้องบริหารประเทศภายใต้กรอบนโยบายที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดโดยชนชั้นนำ รัฐบาลไม่สามารถริเริ่มและนำนโยบายใหม่ไปปฏิบัติได้ตลอดจนจะต้องถูกตรวจสอบอย่างละเอียดหยุมหยิมมีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องเอาผิดโดยองค์กรอิสระและตัดสินพิพากษาโดยศาลทำให้ความอยู่รอดของรัฐบาลขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับชนชั้นนำ


กำเนิดระบอบประชาธิปไตยอันเป็นปฏิปักษ์กับเสียงข้างมาก

ชนชั้นนำไทยได้ค้นพบวิธีอยู่ร่วมกับประชาธิปไตยโดยการทำให้ประชาธิปไตยเป็นส่วนหนึ่งของความชอบธรรมในการปกครองแต่ไม่ใช่องค์ประกอบเดียวและไม่ใช่องค์ประกอบหลักของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย

แนวคิดดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขลงหลักอย่างมั่นคง ทำให้ในระบอบประชาธิปไตยไทยแม้ว่าประชาธิปไตยกับสถาบันกษัตริย์จะดำรงอยู่ร่วมกันแต่สถาบันกษัตริย์ถือเป็นองค์ประกอบพื้นฐานหลักที่ดำรงอยู่เสมอแตกต่างจากประชาธิปไตยที่บางครั้งอาจถูกหยุดยั้งทำลายลงด้วยการรัฐประหาร ดังที่บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อธิบายไว้ว่า “ในทางกฎหมายนั้น เมื่อมีการรัฐประหารเลิกรัฐธรรมนูญต้องถือว่าอำนาจอธิปไตยที่เคยพระราชทานให้ประชาชนนั้นกลับคืนมายังพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นเจ้าของอำนาจเดิมก่อน 24 มิถุนายน 2475… กล่าวโดยสรุปก็คือ อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นอำนาจตามกฎหมายนั้น ถ้าไม่อยู่ที่พระมหากษัตริย์ ก็อยู่ที่พระมหากษัตริย์กับประชาชนเท่านั้น” (บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, 2548, หน้า 243-244)

อย่างไรก็ตามองค์ประกอบและลำดับความสำคัญของเงื่อนไขปัจจัยในระบอบประชาธิปไตยของไทยนั้นไม่คงที่ถาวร ภายหลังการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 คณะรัฐประหารและผู้ที่เกี่ยวข้องร่างรัฐธรรมนูญและสรรสร้างระบบเลือกตั้งใหม่เพื่อพยายามรักษาระบอบประชาธิปไตยที่เสียงของประชาชนมิได้อยู่ในสถานะนำดังที่เคยเป็นมาก่อน

เมื่อชนชั้นนำจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับประชาธิปไตย ทางออกของพวกเขาคือการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่มิให้เสียงข้างมากมีอำนาจท้าทายชนชั้นนำได้ นั่นคือ ระบอบประชาธิปไตยที่เสียงข้างมากจะต้องมีสถานะรองและขึ้นตรงต่อชนชั้นนำหากเสียงข้างมากมีเจตนารมณ์ที่ขัดแย้งกับประโยชน์ของชนชั้นนำก็จะถูกบั่นทอนทำลายลงผ่านกลวิธีต่างๆ ทั้งมาตรการทางกฎหมายและการใช้กำลัง


องค์ประกอบสำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันเป็นปฏิปักษ์กับเสียงข้างมาก

ระบอบประชาธิปไตยอันเป็นปฏิปักษ์กับเสียงข้างมากทำงานด้วยการสอดประสานระหว่างสถาบันเสียงข้างน้อยต่างๆ เริ่มตั้งแต่การเขียนกฎหมายรัฐธรรมนูญโดยชนชั้นนำที่ให้อำนาจเสียงข้างน้อยเป็นผู้บัญญัติกฎหมาย เนื้อหากฎหมายที่ร่างและประกาศใช้นั้นกว้างขวางและมีบทลงโทษโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตราที่เกี่ยวข้องกับอำนาจของประชาชน พรรคการเมืองและประชาชนจะถูกควบคุมอย่างใกล้ชิดเข้มงวดผ่านการตีความกฎหมายอย่างกว้างขวางและเลือกสรรโดยองค์กรอิสระก่อนจะทำการส่งต่อไปยังศาลเพื่อตัดสินพิพากษาลงโทษซึ่งองค์ประกอบขององค์กรอิสระและศาลก็มาจากการกำหนดและเลือกสรรโดยชนชั้นนำ นอกจากนี้การใช้อำนาจของชนชั้นนำเพื่อควบคุมเสียงข้างมากในบางครั้งมีลักษณะที่ไม่ได้เป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรด้วย เช่น กรณียุบพรรคไทยรักษาชาติที่การแถลงของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้ตัดสินลงโทษบนฐานกฎหมายลายลักษณ์อักษรแต่ไปอิงกับธรรมเนียมประเพณีซึ่งศาสตราจารย์ด้านกฎหมายมหาชนของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่าไม่เคยมีประเพณีดังกล่าวมาก่อน (วรเจตน์ ภาคีรัตน์, 2562)

การทำงานสอดประสานกันระหว่างสถาบันเสียงข้างน้อยเหล่านี้ ทำให้การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยของไทยในทางปฏิบัติแล้วเสียงข้างมากมักจะถูกกำกับควบคุมกีดกันออกจากกระบวนการริเริ่ม เห็นชอบและดำเนินนโยบายในเกือบทุกขั้นตอน เมื่อพิจารณาจากความยุ่งยากในการรวมตัวกันของประชาชนไม่ว่าจะเป็นการก่อตั้งสหภาพแรงงาน การชุมนุมทางการเมืองหรือการตั้งพรรคการเมือง เมื่อมาถึงกระบวนการเลือกตั้งโดยเฉพาะในการเลือกตั้งที่ผ่านมานับว่าเป็นการจัดการเลือกตั้งที่มีความยุ่งยากมากที่สุดครั้งหนึ่ง ประกอบด้วยความยุ่งยากในการกำหนดกติกาการเลือกตั้ง การแบ่งเขต
การออกเสียงลงคะแนนตลอดจนการนับคะแนน เมื่อผ่านวันเลือกตั้งไปแล้วก็มีความยุ่งยากในการประกาศผลคะแนน แม้กระทั่งการนับคะแนนเสียงประกาศออกมาอย่างเป็นทางการแล้วก็ยังมีความยุ่งยากในการจัดตั้งรัฐบาล

ทั้งนี้ระหว่างที่ความยุ่งยากในกระบวนการเลือกตั้งดำเนินอยู่นั้น รัฐบาล คสช. มีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศและได้ผ่านกฎหมายและอนุมัติโครงการต่างๆ ตลอดเวลา

ท้ายที่สุดหากเสียงส่วนใหญ่ผ่านขั้นตอนต่างๆ จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ก็จะต้องเผชิญกับความยุ่งยากที่รออยู่เบื้องหน้าตามโครงสร้างที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนั่นคือองค์กรอิสระ ตุลาการและกองทัพที่จะตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมิให้ดำเนินนโยบายผิดไปจากแนวทางที่ชนชั้นนำกำหนดไว้ดังที่ปรากฎในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและกฎหมายรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติสามารถยื่นเรื่องฟ้องร้องข้าราชการและรัฐบาลที่ไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติได้ และถ้าหากความยุ่งยากดังกล่าวยังไม่สามารถป้องกันการมีส่วนร่วมในการเมืองของประชาชนผ่านพรรคการเมืองได้อีกก็จะมี “อภินิหารของกฎหมาย” หลายรูปแบบทำให้ตัวแทนของประชาชนต้องพบกับความยากลำบากนานับประการในการท้าทายหรือเข้าถึงอำนาจรัฐ

การเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 และผลลัพธ์ที่เกิดขี้นสะท้อนความสำเร็จในการออกแบบระบอบประชาธิปไตยอันเป็นปฏิปักษ์กับเสียงข้างมากของชนชั้นนำและเป็นจุดที่จะวัดการหยั่งรากลงในสังคมไทยของระบอบนี้ต่อไป


สรุป

ระบอบประชาธิปไตยอันเป็นปฏิปักษ์กับเสียงข้างมาก คือ ความสัมพันธ์ทางอำนาจภายใต้กรอบโครงสร้างตามระบอบประชาธิปไตยที่จัดวางสถาบันเสียงข้างน้อยให้ทำหน้าที่กำกับควบคุมเสียงข้างมากมิให้มีบทบาทริเริ่ม เห็นชอบ ดำเนินนโยบายที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจแบบที่ดำรงอยู่

ระบอบดังกล่าวอนุญาตให้สถาบันประชาธิปไตยดำรงอยู่ แต่ถูกจัดวางให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสถาบันเสียงข้างน้อยหรือสถาบันปรปักษ์เสียงข้างมาก เช่น การเลือกตั้งอาจถูกจัดขึ้นตามแรงกดดันทั้งจากพลังภายในประเทศและจากต่างประเทศ แต่สถาบันเสียงข้างน้อยจะเป็นผู้ออกแบบกติกาการเลือกตั้ง กำกับควบคุมพรรคการเมือง ประชาชน มิให้สามารถรวมตัวหรือแสดงเจตนารมณ์ทั่วไปอันจะเป็นกระบวนการนำไปสู่การกระทำที่ท้าทายอำนาจชนชั้นนำได้

 ระบอบนี้ทำงานด้วยปฏิบัติการสอดประสานระหว่างสถาบันเสียงข้างน้อยต่างๆ ในสังคมที่ทำหน้าที่แตกต่างกันเพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือ การกำกับควบคุมเสียงข้างมากหรือประชาชน โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ สถาบันปฏิบัติการความชอบธรรม สถาบันปฏิบัติการใช้กำลังและความรุนแรง สถาบันปฏิบัติการนิติบัญญัติ สถาบันปฏิบัติการตีความและสถาบันปฏิบัติการวิชาการ (บทความนี้กล่าวถึงเฉพาะสถาบันปฏิบัติการใช้กำลังและความรุนแรง สถาบันปฏิบัติการนิติบัญญัติ สถาบันปฏิบัติการตีความ)

ระบอบประชาธิปไตยอันเป็นปฏิปักษ์กับเสียงข้างมากจึงสะท้อนว่าปัญหาประชาธิปไตยไม่ตั้งมั่นของไทยนั้นไม่ได้เป็นปัญหาเรื่องศีลธรรมของนักการเมืองหรือประชาชน “ที่ไม่มีการศึกษา” หากแต่เป็นปัญหาที่เกิดจากการติดตั้งกลไกและสถาบันเสียงข้างน้อยอย่างล้นเกินจนบ่อนทำลายฐานรากของประชาธิปไตย

 

 

บรรณานุกรม

เกษียร เตชะพีระ.  (2555).  2 แนวโน้มที่แยกแย้งของระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ.  ใน สยามยามเปลี่ยน (ไม่) ผ่าน (หน้า 28-40.).  กรุงเทพฯ:
ฟ้าเดียวกัน.

ไทยพับลิก้า.  (2562, 30 มีนาคม).  วิเคราะห์ 2 สูตรคำนวณ “ส.ส.บัญชีรายชื่อ” ทำไมสื่อรายงานไม่ตรงกัน-เหตุกฎหมายยังคลุมเครือ-สูตรไหนสะท้อนเสียงประชาชน?  สืบค้นเมื่อ พฤษภาคม 10, 2562, จาก https://thaipublica.org/2019/03/ thailand-election-2562-65/

นักคณิตศาสตร์ชื่อดังแฉชัดๆ กกต. คำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อผิดถึง 4 จุด.  (2562,
10 พฤษภาคม).  ข่าวสด.  สืบค้นเมื่อ พฤษภาคม 10, 2562, จาก
https://www.khaosod.co.th/election-2019/news_2502046

นิธิ เอียวศรีวงศ์.  (2550, 11 พฤษภาคม).  นิธิ อภิปราย: การเมืองของการทำการเมืองให้ไม่การเมือง.  ประชาไท.  สืบค้นเมื่อ เมษายน 1, 2562, จาก https://prachatai.com/journal/2007/05/12659

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ.  (2548).  กฎหมายมหาชนเล่ม 2: การแบ่งแยกกฎหมายมหาชน-เอกชนและพัฒนาการกฎหมายมหาชนในประเทศไทย.  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

บีบีซีไทย.  (2562, 8 พฤษภาคม).  เลือกตั้ง: กกต. ประกาศรับรอง 149 ส.ส. บัญชีรายชื่อ.  บีบีซี. สืบค้นเมื่อ มิถุนายน 1, 2562, จาก https://www.bbc.com/thai/ thailand-48197070

ปกป้อง จันวิทย์ และธิติ มีแต้ม.  (2562, 16 มกราคม).  เปิดห้องเรียนนิติศาสตร์เพื่อราษฎร มองอนาคตการเมืองไทยกับวรเจตน์ ภาคีรัตน์.  101 World.  สืบค้นเมื่อ เมษายน 1, 2562, จาก https://www.the101.world/worachet-interview/

ประชาไท.  (2559, 8 พฤษภาคม).  เพื่อไทยแถลงค้าน กกต. ใช้สูตรแจกที่นั่งพรรคต่ำกว่าค่าเฉลี่ย อนาคตใหม่เตรียมฟ้องศาล รธน.  ประชาไท  สืบค้นเมื่อ เมษายน 1, 2562, จาก https://prachatai.com/journal/2019/05/82385

พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์.  (2560, 5 มิถุนายน).  สามปีรัฐประหาร: ทหารตบเท้านั่งรัฐวิสาหกิจบนสัญญาปฏิรูป.  บีบีซีไทย.  สืบค้นเมื่อ เมษายน 1, 2562, จาก https://www.bbc.com/thai/thailand-40121632

พรเทพ เฮง.  (2557, 10 มิถุนายน).  “อย่าให้รัฐประหารสูญเปล่า” สมคิด เลิศไพฑูรย์.  โพสต์ทูเดย์.  สืบค้นเมื่อ เมษายน 1, 2562, จาก https://www.posttoday.com/politic/report/299881?fbclid=IwAR3hxgRsypQGJAINhwAkM4NnSZNpRZg40Tf8abMtSK-21xGS3Zefy0FNvrU

ภูริ ฟูวงศ์เจริญ.  (2558).  สถาบันปรปักษ์เสียงข้างมาก: การออกแบบระบบการเมืองเพื่อเสถียรภาพของประชาธิปไตยในระยะเปลี่ยนผ่าน.  วารสารสถาบันพระปกเกล้า, 13(1), หน้า 48-71.

มติชนออนไลน์.  (2559,19 กุมภาพันธ์).  บวรศักดิ์ลั่นเปลืองตัว-เสียใจร่าง รธน. ไม่ผ่าน เปรย เข้าใจได้เพราะ “เขา”อยากอยู่ยาว.  สืบค้นเมื่อ เมษายน 1, 2562, จาก https://www.matichon.co.th/politics/news_44274

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย.  (2550, 24 สิงหาคม).  ราชกิจจานุเบกษา.  เล่มที่ 124 ตอนที่ 47 ก.  หน้า 1-127.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย.  (2560, 6 เมษายน).  ราชกิจจานุเบกษา.  เล่มที่ 134 ตอนที่ 40 ก.  หน้า 1-90.  สืบค้นจาก  http://www.ratchakitcha.soc.go.th/ DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF

วรเจตน์ ภาคีรัตน์.  (2558).  กรณีศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้นายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวชพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากจัดรายการทำอาหารทางโทรทัศน์.  ใน ด้วยกฎหมายและอุดมการณ์: รวมบทอภิปรายและบทสัมภาษณ์.  กรุงเทพฯ:
ไชน์พับลิชชิ่งเฮ้าส์.

วรเจตน์ ภาคีรัตน์.  (2562).  กรณีศาลรัฐธรรมนูญไทยรักษาชาติ (ฉบับเต็ม).  สืบค้นเมื่อ มีนาคม 15, 2562, จาก https://www.youtube.com/watch?v= lyIXhRTe2nc

อธึกกิต แสวงสุข.  (2558, 24 สิงหาคม).  วรเจตน์ ภาคีรัตน์: ชำแหละร่าง รธน. (1).  สืบค้นเมื่อ เมษายน 1, 2562, จาก https://www.facebook.com/notes/ atukkit-sawangsuk/วรเจตน์-ภาคีรัตน์-ชำแหละร่าง-รธน1/701030506645448/  

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์.  (2553).  ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกับประชาธิปไตย.  กรุงเทพฯ: มูลนิธิ 14 ตุลา.

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี.  (2561).  ระบบเลือกตั้งเปรียบเทียบ.  กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์.

หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ.  (2562, 2 มกราคม).  เลือกตั้ง 2562: หลังเลือกตั้งเราจะเห็นความผิดหวังที่เพิ่มทวีขึ้นเพราะผู้กำกับกรอบการเลือกตั้งที่ดื้อรั้น.  บีบีซีไทย.  สืบค้นเมื่อ เมษายน 1, 2562, จาก https://www.bbc.com/thai/46698245.

Suehiro, Akira.  (2009).  Tai Chuushinkoku no Mousaku, Tokyo: Iwanami.

 

อ้างอิง

[1] บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “เมื่อพรรคการเมืองเลือกตั้ง: การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง
  พรรคการเมืองกับประชาชนในฤดูการเลือกตั้ง” ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุน
  การวิจัย

[2] ดร., อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

  อีเมล์: ekasit@gmail.com

1 This paper is part of a research project titled “Political Party on the Election: A Study
  of Relationship between Political Party and the People in Election Campaign”
  sponsored by Thailand Research Fund.

2 Dr., A lecturer of Faculty of Sociology and Anthropology at Thammasat University.

  Corresponding author

  E-mail: ekasit@gmail.com

[3] ดูตัวอย่างหนึ่งของความยุ่งยากเหล่านี้ได้จากข่าวดังนี้ “วิเคราะห์ 2 สูตรคำนวณ “ส.ส.บัญชีรายชื่อ”
  ทำไมสื่อรายงานไม่ตรงกัน-เหตุกฎหมายยังคลุมเคลือ-สูตรไหนสะท้อนเสียงประชาชน
?” Thaipublica,
  30 มีนาคม 2562 สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2562, https://thaipublica.org/2019/03/thailand-
  election-2562-65/

  “นักคณิตศาสตร์ชื่อดังแฉชัดๆ กกต. คำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อผิดถึง 4 จุด” ข่าวสด, 10 พฤษภาคม
  2562, สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2562, https://www.khaosod.co.th/election-
  2019/news_2502046

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net