Skip to main content
sharethis


ที่มาภาพประกอบ: ABC10

ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาเคยมีปฏิบัติการกีดกันและส่งตัวชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นเข้าค่ายกักกัน โดยมีรัฐที่จุดไฟให้เกิดการเหยียดเชื้อชาติเช่นนี้ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกคือรัฐแคลิฟอร์เนีย แต่ล่าสุดในวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา รัฐแคลิฟอร์เนียก็มีมติขอโทษอดีตเหยื่อค่ายกักกัน รวมถึงมีการจัดให้วันที่ 19 ก.พ. เป็นวันรำลึกถึงเหตุการณ์นี้

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา สภาแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ออกมาขอโทษในเรื่องการเลือกปฏิบัติต่อชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นและช่วยเหลือทางการสหรัฐฯ ในการส่งตัวพวกเขาไปยังค่ายกักกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีการผ่านร่างมติเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเป็นเอกฉันท์ในขณะที่อดีตผู้ถูกจับเข้าค่ายกักกันและครอบครัวของพวกเขาคอยรอชมอยู่

หลังจากที่มีการโหวตมติดังกล่าวแล้ว กลุ่ม ส.ส. แคลิฟอร์เนียก็รวมตัวกันที่หน้าห้องประชุมจับมือและสวมกอดเหยื่อที่เคยเผชิญการเลือกปฏิบัติมาก่อน ในร่างมติที่พวกเขาโหวตอย่างเป็นเอกฉันท์ระบุว่าพวกเขา "ขอโทษต่อชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นต่อการกระทำในอดีตที่ส่งเสริมให้เกิดการกีดกัน, การขับไล่ และการคุมขัง อย่างไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น"

ก่อนหน้านี้ในปี 2531 รัฐบาลกลางของสหรัฐฯ เคยขอโทษและให้การชดเชยแก่ชาวเชื้อสายญี่ปุ่นที่ถูกจับเข้าค่ายกักกัน ในกฎหมายบัญญัติเสรีภาพพลเมืองปี 2531 ที่ลงนามรับรองโดยโรนัลด์ เรแกน ระบุว่าคำสั่งให้มีการย้ายชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นมีชนวนมาจาก "อคติทางเชื้อชาติ, อุปาทานในช่วงสงคราม และความล้มเหลวของผู้นำทางการเมือง" รวมถึงมีการขอโทษและจ่ายเงินชดเชยให้กับเหยื่อที่ถูกกักกัน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

หนึ่งในผู้ที่เคยถูกจับเข้าค่ายกักกันคือ คิโยะ ซาโตะ ปัจจุบันอาบุ 96 ปี เธอบอกว่าคนรุ่นใหม่ควรจะได้ทราบว่ามีชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นราว 120,000 คน ถูกส่งตัวไปยังค่ายกักกันเพราะรัฐบาลสหรัฐฯ กลัวว่าพวกเขาบางคนจะเข้าข้างประเทศญี่ปุ่นในสงคราม ประเทศสหรัฐฯ เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากที่มีเหตุการณ์โจมตีฐานทัพเรือเพิร์ลฮาร์เบอร์ ซาโตะกล่าวว่าพวกเขาต้องย้ำเตือนต่อชนรุ่นหลังว่าไม่ควรจะให้มีสิ่งนี้เกิดขึ้นอีก

มติดังกล่าวนี้มีขึ้นหลังจากที่ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย กาวิน นิวซัม ประกาศให้วันที่ 19 ก.พ. เป็นวันแห่งการรำลึกถึงเหตุการณ์ที่อดีตประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี รูสต์เวลต์ ลงนามคำสั่งพิเศษที่นำไปสู่การคุมขังคนเชื้อสายญี่ปุ่นในค่ายกักกัน 10 แห่ง ทั้งนี้ผู้ว่าการรัฐไอดาโอและอาร์คันซอก็ประกาศให้วันที่ 19 ก.พ. เป็นวันรำลึกถึงเรื่องนี้เช่นกัน โดยมีการจัดงานรำลึกทั่วประเทศสหรัฐฯ

ในยุคสมัยนั้นรัฐแคลิฟอร์เนียมีส่วนในการต่อต้านชาวเชื้อสายญี่ปุ่นผ่านกฎหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่ดินต่างด้าวปี 2466 ที่จ้องใช้เล่นงานเกษตรกรญี่ปุ่นที่ถูกมองว่าเป็นภัยโดยมีการรวมหัวกันของกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรเพื่อเล่นงานพวกเขา ในอีก 7 ปี หลังจากนั้นก็มีการห้ามไม่ให้คนที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวญี่ปุ่นซื้อที่ดินเพื่อการเกษตร

ผู้ที่เสนอมติการขอโทษต่อเหยื่อชาวญี่ปุ่นในครั้งนี้คือ ส.ส. อัล มุราทสึจิ ผู้ที่เกิดในญี่ปุ่น เขากล่าวว่าในช่วงหลายปีก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 2 แคลิฟอร์เนียเป็นรัฐที่นำประเทศสหรัฐฯ ในการโหมไฟให้เกิดการเหยียดเชื้อชาติ พวกเราควรจะเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตเพื่อที่จะไม่ทำผิดซ้ำ มุราทสึจิบอกอีกว่านโยบายกีดกันผู้อพยพของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ มีลักษณะคล้ายกับการกักกันชาวญี่ปุ่นในยุคสมัยนั้น


เรียบเรียงจาก
California formally apologizes for WWII internment of Japanese Americans, Japan Times, 21-02-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net