Skip to main content
sharethis

ดูบทบาทของโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะในฐานะหน่วยให้บริการผู้ประกันตนสิทธิประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพ ในวันที่การเข้าถึงบริการทางสุขภาพในกรุงเทพฯ มีปัญหาเพราะสถานพยาบาลไม่เพียงพอ แต่ ผอ.โรงพยาบาลยังข่มขู่พนักงาน คู่ค้า และท้าทายประชาชนที่เห็นต่างทางการเมือง จน กมธ. แรงงานเตรียมสอบหน่วยงานด้านจริยธรรม เพจดังแนะ ต้องตรวจสอบจริงจังไม่ให้ล่าแม่มดกันแบบนี้

(ริสแบนด์เหลือง) พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนารับกอดจากผู้เข้าร่วมงานเดินเชียร์ลุง ที่สวนลุมพินีเมื่อ 12 ม.ค. 63

ท่าทีของ พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ จากโพสท์สาธารณะในเพจเฟสบุ๊ค เป็นที่กังวลอย่างยิ่งว่าการเลือกปฏิบัติต่อผู้เห็นต่างทางการเมืองจะส่งผลกระทบต่อชีวิตคนได้ขนาดไหน ไม่ว่าจะเป็นการขู่ว่าจะคัดกรองทัศนคติของคนทำงานในโรงพยาบาล เลิกทำธุรกิจกับคู่ค้า ไปจนถึงการท้าให้ผู้ประกันตนภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและประกันสังคมที่เป็น ‘ส้มเน่า-ควายแดง’ ย้ายไปขึ้นทะเบียนที่หน่วยบริการอื่น

โดยเฉพาะโพสท์เมื่อสายๆ วันที่ 16 ม.ค. ที่ให้สื่อมวลชน นักการเมือง องค์กรภาครัฐต่างๆ มาตรวจสอบโรงพยาบาลอย่างลับๆ ได้ว่า รพ.มงกุฎวัฒนะ มีการปฏิเสธการรักษา เลือกปฏิบัติ ผลักไสไล่สง ผู้ป่วยที่มีความคิดต่างทางการเมืองหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ให้มีการดำเนินการให้แพทยสภายึดใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมตลอดชีวิต ปิดสถานพยาบาลหรือดำเนินคดีกับตนได้

ท่าทีของผู้อำนวยการโรงพยาบาลเอกชนรายนี้ได้รับการตอบรับจากสาธารณะ โดยสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) แรงงาน เตรียมเรียกหน่วยงานที่ให้มาตรฐานธรรมาภิบาลแก่ รพ.มงกุฎวัฒนะมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องมาตรฐานธรรมาภิบาลแล้ว

วิวาทะที่หมุนวนอยู่รอบๆ กระแสต่อต้านรัฐบาล และ ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ จะไม่เป็นที่อาวรณ์ของสังคมเลยถ้าไม่มีการเอาชีวิตของคนทำงาน หรือหนักที่สุดคือเอาชีวิตของผู้ป่วย และประชาชนที่ใช้บริการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะมาเป็นตัวประกัน

ถ้าพูดกันให้ถึงที่สุด แม้ว่า นพ.เหรียญทองเพียงแค่พูดข่มขู่เท่านั้น ก็ยังถือเป็นการข่มขู่ที่แสนเลือดเย็นที่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการโรงพยาบาล

ความสำคัญของ รพ.มงกุฎวัฒนะ ในเมืองหลวงที่ไม่ใส่ใจบริการสาธารณสุข

แม้ไม่มีข้อมูลว่ามีผู้ใช้สิทธิประกันตนตามหลักประกันสุขภาพและประกันสังคมกับ รพ.มงกุฎวัฒนะกี่คน แต่จากงบการเงินรวมของบริษัทมงกุฎวัฒนะ จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ในร่างเอกสารประกอบการประชุมผู้ถือหุ้น 31 ธ.ค. 2561 พบว่า ในปี 2561 รพ.มงกุฎวัฒนะ มีรายได้ค่าบริการทางการแพทย์ค้างรับจากสำนักงานประกันสังคมจำนวน 44,020,170.72 บาท จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 52,183,284.57 บาท และจากกรมบัญชีกลางที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ 1,142,781.14 บาท

เอกสารระบุว่า ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นการประมาณการโดยประเมินจากงบที่ได้รับจริงครั้งล่าสุด ควบคู่ไปกับสภาวการณ์ปัจจุบัน เพราะยังไม่ทราบจำนวนรายจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ของผู้ป่วยด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง และค่าบริการทางการแพทย์ภาระเสี่ยง ทั้งนี้ ถ้าคำนวณเงินดังกล่าวกับค่ารักษาพยาบาลต่อหัวที่สองหน่วยงานเหมาจ่ายให้กับโรงพยาบาลอยู่แล้วก็อาจทำให้เห็นจำนวนคนโดยเฉลี่ยได้ส่วนหนึ่ง 

สำหรับกองทุนประกันสังคมที่มีมูลค่า 3,399.69 บาท/คน หากนำไปหารกับรายได้ค้างรับข้างต้น จะเท่ากับมีผู้มาใช้บริการเท่าที่ค้างรับราว 15,349 ราย ส่วนบัตรทองที่มีมูลค่า 3109.87 บาท/คน จะตกเฉลี่ยจำนวนผู้ใช้บริการอยู่ที่ 14,154 ราย ข้าราชการที่มีมูลค่า 12,676.06 บาท/คน ตกเฉลี่ยที่ 90 คน 

รวมทั้งสามประเภทจะมีผู้ใช้บริการทั้งสิ้น 29,593 ราย 

ตัวเลขข้างต้นเป็นเพียงการคำนวณหยาบๆ จากรายได้ค้างรับ ที่ปกติจะทำการเบิกจ่ายใน 15-30 วัน เท่ากับว่าอาจจะมีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาและใช้สิทธิผู้ประกันตนมากกว่านั้น ดังนั้น การมีอยู่ของ รพ.มงกุฎวัฒนะ และการเลือกปฏิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นนั้นย่อมส่งผลถึงสิทธิการเข้าถึงสวัสดิการสุขภาพแห่งรัฐของคนในกรุงเทพฯ อย่างแท้จริง

ภาพรวมของการให้บริการผู้ประกันตนภายใต้สิทธิประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพในกรุงเทพฯ ถือว่ายังไม่เพียงพอและมีส่วนที่ยังพัฒนาได้อีกมาก

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ให้ข้อมูลที่น่าตกใจว่า คนกรุงเทพฯ เข้าถึงสิทธิการบริการสุขภาพต่ำกว่าคนต่างจังหวัด

นิมิตร์กล่าวว่า สิ่งที่เขาเรียกร้องมาตลอดคือการทำให้มีโรงพยาบาลประจำในแต่ละเขตที่ปัจจุบันยังไม่มี โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ จะขึ้นกับกองอนามัยของกรุงเทพฯ เนื่องจากสถานะการปกครองพิเศษของเมือง แต่เขต ที่มีศักดิ์เท่ากับอำเภอ กลับไม่มีโรงพยาบาลประจำเขต จะมีก็เพียงหน่วยปฐมภูมิอย่างคลินิกอิ่มใจที่มีหมอมาตรวจทุกเช้า ซึ่งแม้ตรงนี้จะดีกว่าสถานอนามัยในต่างจังหวัด แต่ถ้าต้องส่งต่อก็ต้องไปโรงพยาบาลแม่ข่ายที่อาจจะไกลจากที่อยู่อาศัย ไม่เหมือนต่างจังหวัดที่มีโรงพยาบาลประจำอำเภอ

และด้วยสัดส่วนประชากรที่มีจำนวนตามที่ลงทะเบียนภูมิลำเนา 5.6 ล้านคน ยังไม่นับคนต่างถิ่นที่เข้ามาทำงาน ทำให้การบริการสาธารณสุขที่รัฐมีให้ตามสิทธินั้นไม่เพียงพอ ทำให้คลินิกหรือโรงพยาบาลเอกชนเป็นตัวเลือกอีกทางของชาวกรุงเทพฯ ที่พอมีกำลังหรือเจ็บป่วยไม่มาก

ข้อมูลจากเว็บไซต์ สปสช. กรุงเทพฯ พบว่ามีโรงพยาบาลทั่วกรุงเทพฯ ที่เป็นผู้ให้บริการผู้ประกันตนภายใต้สิทธิบัตรทอง 61 แห่ง แยกเป็นโรงพยาบาลรัฐ 38 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน 23 แห่ง นิมิตร์ระบุว่า ในจำนวนเหล่า มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ๆ อยู่เพียง 5-6 แห่ง

ภาพตำแหน่งของโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่เป็นหน่วยให้บริการผู้ประกันตนตามสิทธิบัตรทอง (ที่มา: สปสช.)

ในกรณีโรงพยาบาลเอกชนที่ร่วมเป็นหน่วยให้บริการนั้น นิมิตร์ระบุว่าโรงพยาบาลเอกชนเข้ามาโดยสมัครใจ จะต้องแจ้งความจำนงเพื่อให้บริการ หมายความว่าบังคับให้มาเป็นไม่ได้ ซึ่งโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะนั้นเป็นหน่วยบริการทุติยภูมิที่คอยรับผู้ป่วยจากหน่วยบริการปฐมภูมิตามท้องที่ต่างๆ อีกทีหนึ่ง ซึ่งโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะถือว่าเป็นตัวช่วยที่สำคัญกับระบบประกันสุขภาพและประกันสังคม เนื่องจากโรงพยาบาลรัฐมีไม่เพียงพอ

“กทม. ต้องคิดถึงการผลักดัน ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขให้เป็นโรงพยาบาล ตอนนี้เรามี 60 เขตโดยประมาณ เราก็จะมีโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 60 แห่ง และรองรับคนในแต่ละเขตได้”

“สภา กทม. ผู้บริหาร กทม. หรือถ้าเรามีเลือกตั้ง สก. ก็ต้องคิดแล้วว่าจะเอายังไง ที่ผ่านมา กทม. ละเลยเรื่องนี้ เพราะคนกรุงเทพฯ ก็ไม่รู้จะโวยยังไง เจ็บป่วยยังไงก็บัตรทอง ยังพอไปได้ตรงนั้นตรงนี้ หรือไม่ก็ช่วยตัวเอง เข้าคลินิกไป จะเดือดร้อนเรื่องรถ สิ่งแวดล้อม ขยะมากกว่า คนกรุงเทพฯ ก็ต้องรู้ตัวและตื่นตัวเรื่องนี้ด้วย” นิมิตร์กล่าว และยังเพิ่มเติมด้วยว่า นโยบายด้านสุขภาพเรื่องการสร้างโรงพยาบาลไม่เคยเป็นที่สนใจของผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เห็นผลภายใน 4 ปี หรือหนึ่งวาระ หากจะดันเรื่องนี้ให้จบก็ต้องเล็งว่าจะได้รับเลือกตั้งมากกว่าหนึ่งสมัย

'Gossipสาสุข' ชี้พฤติกรรมผิดทั้งหลักการ-กฎหมาย ถาม 'คู่สัญญา' ยังปล่อยไว้?

นอกจากนี้ เฟสบุ๊กแฟนเพจ 'Gossipสาสุข' ซึ่งติดตามประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสาธารณสุขโพสต์วิจารณ์ประเด็นหมอเหรียญทองเช่นกันว่า เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจว่าสมัยนี้ยังมีผู้ที่มีทัศนคติเหยียดและเอาเรื่องแนวคิดทางการเมือง มากีดกันคนไม่ให้เข้ามารักษาในโรงพยาบาลแบบนี้อีก ซึ่งผิด “หลักการ” และผิด “กฎหมาย” ทุกอย่าง

โดย 'Gossipสาสุข' ยกรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 27 ที่ระบุถึงการห้ามเลือกปฏิบัติ อันเนื่องมาจากความคิดเห็นต่างทางการเมือง ซึ่งไม่น่าจะมีสิทธิ์ไปห้ามไม่ให้ใครมาสมัครงาน มาเป็นคู่ค้ากับโรงพยาบาล มาบริจาคเลือดให้โรงพยาบาล หรือเป็นคนไข้ของโรงพยาบาล 

หลังการนี้ยังสอดคล้องกับหลักกาชาดสากล ที่จะต้อง ไม่เลือกปฏิบัติในเรื่องสัญชาติ เชื้อชาติ ความนับถือทางศาสนา ชั้น วรรณะ และความคิดเห็นทางการเมือง และต้องยึดหลัก “ความเป็นกลาง” เพื่อจะได้รับความไว้วางใจจากทุกฝ่าย ในด้านมนุษยธรรม

เพจยังระบุถึง จริยธรรมแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ใน หมวด 2 หลักทั่วไป นั้น ระบุชัดว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมย่อมประกอบวิชาชีพด้วยเจตนาดี โดยไม่คำนึงถึงฐานะเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา สังคม หรือลัทธิทางการเมือง

พ.ร.บ.สถานพยาบาล 2541 นั้น มีแต่เขียนไว้กว้าง ๆ ว่า สถานพยาบาล ไม่สามารถปฏิเสธผู้ป่วย “ฉุกเฉิน” ได้ โดยหากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย และต้องชดใช้ค่าเสียหาย

ทั้งนี้ หมอเหรียญทอง เคยประกาศผ่านเฟสบุ๊คว่าไม่รับรักษา “ควายในร่างคน” ซึ่งเคยมีผู้ยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังแพทยสภาแล้วเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมานั้น 'Gossipสาสุข' ระบุว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาแพทยสภา เลือกที่จะ “เงียบ” ไม่ยุ่งอะไร และก็เป็นไปได้สูงหากการประกาศ “ไล่” ควายแดง และส้มเน่า ไปรักษาโรงพยาบาลอื่น ทางแพทยสภา จะเงียบต่อไป

สิ่งที่หมอเหรียญทองประกาศดูเหมือนจะขัดกับหลักการสากลและกฎหมายในไทย แต่เหมือนไม่มีใครกล้าไปดำเนินการอะไรกับหมอดังกล่าวนั้น 'Gossipสาสุข' ชี้ประเด็นสำคัญคือ "แพทยสภานั้น เรื่องน่าเศร้าก็คือ กรรมการจำนวนมากที่นั่งอยู่ อาจจะอยาก “ปรบมือ” ในใจกับท่าทีคุณหมอด้วยซ้ำ เพราะมีแนวคิดที่ตรงกัน"

'Gossipสาสุข' ระบุอีกว่า สิ่งที่น่าพิจารณาอีกอย่าง คือการเป็นสถานบริการพยาบาล ซึ่งรับ “เงินเหมาจ่าย” จากสำนักงานประกันสังคม ซึ่งดูแลคนไข้ประกันสังคม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งดูแลผู้ป่วยบัตรทอง รวมทั้งที่ผ่านมา ทั้งประกันสังคม และ สปสช. ล้วนต้อง “ขอ” ให้โรงพยาบาลแห่งนี้ ทำหน้าที่ต่อไป เพราะหากโรงพยาบาลแห่งนี้ทิ้งระบบประกันสังคม และประกันสุขภาพเมื่อไหร่ การให้บริการในพื้นที่ “แถวนั้น” จะเกิด “ช่องโหว่” ขึ้นทันที

'Gossipสาสุข' ยังตั้งคำถามไปยัง ประกันสังคม และ สปสช. ถึงกรณีที่คุณหมอผู้บริหารโรงพยาบาลมีทัศนคติ “เหยียด” คนอื่นแบบนี้ ผู้บริหารทั้ง 2 หน่วยงาน ก็ควรพิจารณาพฤติกรรมของโรงพยาบาลนี้เสียใหม่ ว่าสมควรจะยังจ่ายเงินให้เป็น “คู่สัญญา” อยู่หรือไม่ เพราะนั่นหมายความว่า โรงพยาบาลแห่งนี้อาจดูแลผู้ป่วยที่เห็นต่าง เหมือนหมูเหมือนหมาก็เป็นได้ และกระทรวงสาธารณสุข ผู้คุมโรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้ ก็ควรตรวจสอบเช่นกัน ว่าโรงพยาบาลนี้ เลือกปฏิบัติกับคนไข้ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามหรือเปล่า เช่นเดียวกับ แพทยสภา ก็ควรจะเข้าไปจัดการอย่างจริงจังเสียที ไม่ใช่ให้นายแพทย์แบบคุณหมอท่านนี้เหยียดใคร ประกาศ “ล่า” ใครก็ได้บนสื่อสังคมออนไลน์

oooooooooo

ไม่ว่าการเมืองจะเป็นอย่างไร เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ก็เป็นเรื่องที่เกิดกับมนุษย์ได้ทุกวัน สถานพยาบาลและบุคลากรคือตัวละครที่โอบอุ้มและเกี่ยวข้องกับสัจธรรมทั้ง 4 โดยตรง การที่ผอ. โรงพยาบาลหนึ่งคนใช้เงื่อนไขทางการเมืองมาต่อรองกับการดูแลที่ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย ไม่ว่าจริงหรือเท็จก็น่าละอายใจและไม่มีวันทำใจยอมรับได้ 

การตรวจสอบมาตรฐานจริยธรรมและการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการรับบริการสุขภาพในโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะจะต้องดำอย่างตรงไปตรงมา

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net