Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จากคำที่คนไม่ค่อยรู้จัก ที่ชัยอนันต์ สมุทวณิชประดิษฐ์ขึ้นเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน เพื่อให้หมายความถึง “ประชาสังคม” ในบริบทแบบไทยที่ยังต้องคอยอาศัยความร่วมมือจากรัฐ คำว่า “ประชารัฐ” ได้กลายมาเป็นคำที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในช่วงหลายปีที่มาในยุคของ คสช.และพรรคพลังประชารัฐ

เมื่อถูกใช้เป็นครั้งแรกหลังจากการเข้าสู่อำนาจไม่นานของ คสช. “ประชารัฐ” ถูกระบุให้หมายถึงแนวทางที่เน้นการร่วมมือประสานกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม โดย คสช.กล่าวอ้างว่าเป็นแนวทางที่แตกต่างไปจาก “ประชานิยม” ที่รัฐเน้นทำเรื่องที่ประชาชนให้ความนิยมเพื่อหวังผลทางการเมืองในระยะสั้น

ความเป็นจริงแล้ว ในช่วงแรกเริ่มนโยบายที่ถูกโยงเข้ามาเป็นนโยบายประชารัฐก็ยังไม่ได้แตกต่างไปมากจากนโยบายที่จัดทำอยู่แต่เดิมโดยรัฐบาลก่อนหน้า คสช. ไม่ว่าจะเป็นกองทุนประชารัฐซึ่งแปลงสภาพมาจากกองทุนหมู่บ้าน โครงการสินเชื่อประชารัฐซึ่งมาจากโครงการลดภาษีผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก และโครงการธงฟ้าประชารัฐซึ่งมีที่มาจากร้านธงฟ้า อย่างไรก็ดี ในช่วงหลายปีถัดมา นโยบายประชารัฐก็มีทิศทางที่แสดงความแตกต่างอย่างชัดเจนขึ้น สะท้อนถึงสภาพต่างๆที่โยงกับการกำหนดนโยบายของ คสช.ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะนโยบายในด้านสวัสดิการ ซึ่งจะเป็นชุดนโยบายที่บทความชิ้นนี้ให้ความสนใจเป็นหลัก

กำเนิดและพัฒนาการของนโยบายสวัสดิการบนแนวทางประชารัฐ ซึ่งบทความชิ้นนี้จะขอเรียกว่า “สวัสดิการประชารัฐ” ช่วยสะท้อนการเปลี่ยนแปลงสำคัญในสังคมไทย โดยเฉพาะในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและชนบท ความสัมพันธ์ที่เป็นหัวใจหลักอันหนึ่งของการเมืองไทยนี้เคยถูกวิเคราะห์ว่าเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนแปลงสำคัญในยุคสมัยของทักษิณ ชินวัตร แต่เมื่อ คสช.เข้ามาสู่อำนาจก็กำลังปรับเปลี่ยนไปอีกครั้งหนึ่ง โดยที่นัยยะของการเปลี่ยนแปลงครั้งหลังนี้ยังไม่ได้ถูกวิเคราะห์ไว้มากนัก

บทความชิ้นนี้จะเริ่มจากการเล่าถึงเส้นทางของสวัสดิการประชารัฐ โดยจะวิเคราะห์ถึงที่มาและลักษณะสำคัญของชุดนโยบายนี้ จากนั้นบทความจะลองเสนอบทวิเคราะห์เบื้องต้นว่าสวัสดิการประชารัฐกำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและชนบทไทย รวมถึงนัยยะของการเปลี่ยนแปลงนี้ต่อคนชนบทคืออะไร


เส้นทางของสวัสดิการประชารัฐ

ก่อนจะมาถึงสวัสดิการประชารัฐ นโยบายสวัสดิการของไทยมีเส้นทางที่ผกผัน ผูกพันอยู่กับความสัมพันธ์ที่ปรับเปลี่ยนไปมาระหว่างรัฐและชนบท อาจกล่าวได้ว่าความสนใจในนโยบายสวัสดิการเกิดขึ้นอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ได้แสดงความพยายามในการสร้างระบบที่รัฐเข้ามีบทบาทแก้ปัญหาปากท้องของชาวนาในชนบท ซึ่งถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนยากจนหลักของประเทศ

แต่เพียงไม่นาน การเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองและการเมืองภายใต้สงครามเย็นก็ได้เข้ามาสร้างบริบทใหม่ สวัสดิการที่เกิดขึ้นในยุคเผด็จการของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรียกได้ว่าเป็นสวัสดิการแบบลดทอน (minimalist welfare) สะท้อนความสัมพันธ์ที่รัฐหันไปมุ่งขูดรีดชาวนาและชนบทเพื่อผันส่วนเกินทางเศรษฐกิจไปสนับสนุนการเติบโตของทุนเอกชนและคนเมือง

สภาพสวัสดิการที่ขาดหายบนความสัมพันธ์แบบที่รัฐขูดรีดชนบทนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่อระบบเผด็จการทหารต้องเผชิญความท้าทายจากขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในยุคคริสตทศวรรษ 1970s และยิ่งเมื่อการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในช่วง 1990s สวัสดิการก็เข้าสู่ช่วงขยายตัว พร้อมกับที่รัฐปรับบทบาทอย่างชัดเจนมาเป็นผู้ที่อุดหนุนชนบท การปรับเปลี่ยนบทบาทนี้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนหลังจากรัฐบาลทักษิณได้เข้าสู่อำนาจ โดยรัฐบาลทักษิณหันมาเน้นนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร เช่น อุดหนุนราคาสินค้าเกษตร พักหนี้เกษตรกร อีกทั้งยังมีชุดนโยบายอื่นที่คนชนบทได้ประโยชน์มากเช่น กองทุนหมู่บ้าน และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

นโยบายเหล่านี้กลายมาเป็นหัวใจหลักของความสำเร็จทางการเมืองของทักษิณ และแนวทางที่คล้ายกันก็ยังถูกสืบทอดมาสู่พรรคการเมืองที่โยงใยกับเขาในเวลาต่อมา เช่น พรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของนโยบายเหล่านี้ก็มาพร้อมกับแรงต่อต้านที่สะสมขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะจากพลังทางสังคมหลากหลายที่รวมตัวกันต่อสู้กับรัฐบาลทักษิณและยิ่งลักษณ์ ที่มักจะตีตรานโยบายสวัสดิการในยุคทักษิณและยิ่งลักษณ์ในเชิงลบว่าเป็นนโยบายแบบ “ประชานิยม” แรงต่อต้านนี้เองเป็นพลังสำคัญที่เชื่อมโยงไปสู่การเกิดขึ้นและพัฒนาการของนโยบายสวัสดิการแบบ “ประชารัฐ”

แรงผลักดันจากการต่อต้านประชานิยม ส่งอิทธิพลต่อไปถึงพัฒนาการของสวัสดิการประชารัฐในหลายทาง เช่น การมุ่งโจมตีนโยบายสวัสดิการที่ริเริ่มมาก่อนหน้าว่าใช้งบประมาณอย่างสิ้นเปลือง สร้างความเสี่ยงทางการคลัง ส่งผลให้สวัสดิการประชารัฐต้องพยายามเสนอแนวทางที่ต่างออกไป โดย คสช.ได้พยายามลดความสำคัญของนโยบายอุดหนุนภาคการเกษตร ยกเลิกโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเช่น รถเมล์ รถไฟฟรี นอกจากนี้ ยังมักจะแสดงจุดยืนวิพากษ์ถึงความสิ้นเปลืองงบประมาณของนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดังที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรีเคยกล่าวไว้ว่า “งบประมาณสาธารณสุขมันไม่พอ เพราะท่านไปทำ … รักษาทุกโรคยังไงเล่า มันเป็นไปได้ไหมเล่า … มันเป็นโครงการประชานิยม แต่มันเป็นธรรม ประชาชนได้รับ ผมก็ไปอะไรไม่ได้ แต่เรามีความพร้อมหรือยัง เฉลี่ยแล้วคนละ 2,900 บาทนี่มันพอไหม … รักษาพอไหม โรงพยาบาลเขาจะรับไหวไหม รักษาทุกโรคเนี่ย … โรงพยาบาลเขาก็จะเจ๊ง” 


ลักษณะสำคัญของสวัสดิการประชารัฐ

พัฒนาการสำคัญที่บ่งชี้แนวทางที่แตกต่างของสวัสดิการประชารัฐนั้น ถูกสะท้อนได้จากผลผลิตสำคัญในยุค คสช. ก็คือ “โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” หรือที่มักจะถูกเรียกกันในชื่อของบัตรคนจน ทุก ๆ ต้นเดือน ผู้ที่ผ่านการคัดกรองฐานะความยากจนและได้ถือบัตรดังกล่าวจะได้รับวงเงินสำหรับซื้อของในร้านธงฟ้าประชารัฐ 200-300 บาท และการช่วยเหลืออื่น ๆ เช่น ค่าโดยสารสำหรับบริการขนส่งสาธารณะ ส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม ทั้งนี้ในช่วงหลังยังมีการเพิ่มเงินอุดหนุนสำหรับคนที่เข้าร่วมโครงการฝึกงานกับภาครัฐ รวมถึงเพิ่มเงินสำหรับคนพิการ เกษตรกร ผู้สูงอายุ เป็นต้น

ผลผลิตเช่นโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนี้ช่วยบ่งบอกถึงลักษณะสำคัญสามประการของสวัสดิการประชารัฐได้ดังนี้

ประการแรก สวัสดิการประชารัฐเป็นสวัสดิการที่หันไปเน้นแนวทางการช่วยเหลือแบบเจาะจงที่คนจน (poverty-targeting) บัตรสวัสดิการแห่งรัฐถือเป็นโครงการสวัสดิการแรกของประเทศไทยที่นำสวัสดิการแบบเจาะจงที่คนจน ผ่านกระบวนการพิสูจน์ฐานะความยากจน (mean-tested) มาใช้ในระดับประเทศ คนที่จะได้รับการช่วยเหลือผ่านบัตรนี้จะต้องผ่านการลงทะเบียนแสดงฐานะตนเองว่ามีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี และผ่านการตรวจสอบฐานะการครอบครองทรัพย์สิน ว่ามีทรัพย์สินทางการเงินไม่เกิน 100,000 บาท และมีที่ดินไม่เกิน 10 ไร่ การหันมาให้สวัสดิการเฉพาะกับคนที่มีฐานะยากจนนี้ยังเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 20 ปีที่ คสช.ได้วางเอาไว้ ซึ่งระบุว่าเป้าหมายของการสร้างสวัสดิการสนับสนุนโอกาสนั้นควรจะเจาะจงไปที่ประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำที่สุด

จะสังเกตได้ว่าทิศทางไปสู่การเจาะจงให้สวัสดิการกับคนจนนี้เป็นการตอบสนองต่อมุมมองที่ต้องการสร้างประสิทธิภาพทางการคลังให้กับนโยบายสวัสดิการ นอกจากนี้ รูปแบบการให้สวัสดิการแบบเจาะจงที่คนจนยังมีแนวโน้มสูงที่จะขยายไปสู่สวัสดิการในรูปแบบอื่นด้วย ตัวบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเองก็ถูกออกแบบมาให้มีช่องทางที่สามารถเพิ่มการอุดหนุนในลักษณะอื่นเข้าไปได้อีกมาก เช่น การให้สวัสดิการคนชรา รวมถึงสวัสดิการสนับสนุนการเลี้ยงดูบุตร ซึ่งเมื่อสวัสดิการเหล่านี้ถูกนำมากระจายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็จะมีลักษณะเป็นสวัสดิการที่ให้เฉพาะคนจนไปโดยปริยาย

ประการที่สอง สวัสดิการประชารัฐโยงใยอยู่กับความต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สภาพเศรษฐกิจนับตั้งแต่ คสช.เข้าสู่อำนาจนั้นประสบภาวะชะลอตัวอย่างต่อเนื่องมาเกือบตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเกษตรที่ประสบปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ ทำให้อัตราการเติบโตติดลบตั้งแต่ปี 2014 ถึง 2016 ส่งผลต่อเนื่องให้รายได้ของคนในชนบทลดลง

ในบริบททางเศรษฐกิจเช่นนี้ การเกิดขึ้นของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจึงถูกวางเป้าหมายไว้อีกประการว่าจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้ ผ่านการอุดหนุนเงินไปเป็นกำลังซื้อให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยโดยเฉพาะในชนบท และหวังให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนต่อไปสู่คนกลุ่มอื่น ๆ นอกเหนือจากเงินอุดหนุนที่ให้ผู้มีบัตรใช้จ่ายเป็นประจำแล้ว ยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกหลายต่อหลายครั้งที่ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นตัวกลาง เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี 2018 โดยให้กดเงินสดจากบัตรไปใช้จ่ายได้ และในปี 2019 ก็กำลังมีการพิจารณาเพิ่มเงินค่าเดินทางไปท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบัตรให้คนละ 1,500 บาท

ประการสุดท้าย สวัสดิการประชารัฐสะท้อนบทบาทที่มากขึ้นของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและทุนใหญ่ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของโครงการประชารัฐ บทบาทของทุนใหญ่ในประเทศไทยในการเข้าร่วมมือกับรัฐบาล คสช.ก็ถูกแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน คณะกรรมการประชารัฐที่รัฐบาล คสช.ตั้งขึ้นมาขับเคลื่อนโครงการพัฒนาหลากหลายด้านนั้นประกอบไปด้วยตัวแทนจากภาคเอกชนถึงร้อยละ 73 โดยตัวแทนเหล่านี้ต่างก็มาจากบริษัทใหญ่ เช่น เจริญโภคภัณฑ์ ทรู คอร์เปอเรชัน มิตรผล ปตท. และปูนซีเมนต์ไทย

สำหรับโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเองอาจไม่ได้เชื่อมโยงกับบทบาทของทุนใหญ่โดยตรง แต่ก็มีข้อสังเกตได้ว่าตัวบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในช่วงเริ่มแรกนั้นถูกจำกัดให้ซื้อสินค้าได้กับร้านค้าบางร้านเท่านั้น จนนำไปสู่ข้อวิพากษ์ว่าตัวนโยบายอาจจะมีการเอื้อประโยชน์ให้กับทุนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการประชารัฐ แม้ข้อจำกัดนี้จะถูกอธิบายว่าได้ลดบทบาทลงไปในภายหลัง แต่บริบทแวดล้อมการกำหนดนโยบายที่ทุนใหญ่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นก็ยังคงมีความสำคัญอยู่


นัยยะของสวัสดิการประชารัฐ

แอนดรูว์ วอล์คเกอร์ ได้อธิบายไว้ใน “ชาวนาการเมือง” (Thailand’s Political Peasants) ผลงานชิ้นสำคัญของเขาถึงการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและชนบทในช่วงทักษิณ ว่าเกิดขึ้นระหว่างรัฐที่หันมาทำหน้าที่อุดหนุนชนบท และชาวนาผู้ซึ่งผ่านการพัฒนาทางเศรษฐกิจจนมีฐานะแบบรายได้ปานกลาง

วอล์คเกอร์หยิบเอาแนวคิด สังคมการเมือง (political society) มาอธิบายสังคมชนบทไทยที่ปรับเปลี่ยนไปภายใต้ความสัมพันธ์ใหม่นี้ โดยเล่าถึงความต้องการพื้นฐานของคนชนบทว่าไม่ใช่เรื่องของการสมยอมหรือการมุ่งต่อต้านการขูดรีดของรัฐอีกต่อไป หากแต่สิ่งที่พวกเขาแสวงหาภายใต้บริบทที่รัฐเข้ามาทำหน้าที่อุดหนุนก็คือการเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับรัฐเพื่อดึงเอาทรัพยากรและอำนาจมาสร้างประโยชน์กับตนเอง และความสัมพันธ์กับรัฐแบบใหม่นี้เองยังเป็นฐานทางอัตลักษณ์ใหม่ให้กับพวกเขา

เส้นทางที่คนชนบทไทยในสังคมการเมืองจะเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับรัฐได้นั้นมีหลากหลาย ผ่านทางนโยบายและโครงการพัฒนาหลายรูปแบบที่ตัวแทนอำนาจรัฐได้นำเข้าไปโยงกับกลุ่มคนที่แตกต่างกันในชนบท แต่ภายใต้ความสัมพันธ์แบบนี้ นโยบายก็มักจะออกมาขาดระบบระเบียบและปล่อยให้สายสัมพันธ์ส่วนตัวเข้ามามีบทบาท จนทำให้คนชั้นกลางในเมืองมักจะมองนโยบายเหล่านี้ว่าขาดความก้าวหน้าของการเมืองสมัยใหม่ ดังที่สะท้อนจากเสียงวิพากษ์ของพวกเขาต่อนโยบายประชานิยมของทักษิณ

สวัสดิการประชารัฐได้เข้ามาปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เช่นนี้ไปอย่างไร? หากเส้นทางของสวัสดิการประชารัฐดำเนินต่อไปและลักษณะต่างๆที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นถูกผลักดันให้ชัดเจนขึ้น ก็คงจะไม่เกินเลยนักที่จะตั้งข้อสังเกตว่าสังคมชนบทไทยภายใต้อิทธิพลของสวัสดิการประชารัฐกำลังเคลื่อนออกจากสภาพของชาวนาการเมือง

จริงอยู่ที่รัฐไทยยังทำหน้าที่อุดหนุนชนบท ถึงจะไม่ชัดเจนเท่าแต่ก่อน แต่ความสัมพันธ์ที่มาพร้อมกับการอุดหนุนของสวัสดิการประชารัฐก็ดูจะต่างไปจากแบบที่คนชนบทได้เข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับรัฐเพื่อดึงเอาประโยชน์มาสู่ตนเอง แต่เป็นความสัมพันธ์ใหม่ที่รัฐและระบบราชการใช้อำนาจและความเชี่ยวชาญเข้าไปจัดสรรการอุดหนุนคนยากจน ทั้งสายสัมพันธ์ผ่านทางนโยบายและโครงการที่หลากหลายก็ยังมีแนวโน้มจะถูกแทนที่ด้วยสายสัมพันธ์หลักของกระบวนคัดกรองและกระจายประโยชน์สู่เฉพาะคนจน

อาจกล่าวได้ว่า สวัสดิการประชารัฐกำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้คุณค่าและความสำคัญของอัตลักษณ์ “ชาวนา” ในทางการเมืองของคนชนบทถดถอย และสร้างอัตลักษณ์ใหม่ในการเป็น “คนจน” เข้าแทนที่

นัยยะสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่สวัสดิการประชารัฐสร้างขึ้นกับชนบทไทยคืออะไร บทความนี้จะขอลองวิเคราะห์เบื้องต้นในสองแง่มุม คือ (1) การเปลี่ยนแปลงในภาคการเกษตร และ (2) การลดความเหลื่อมล้ำที่คนชนบทต้องเผชิญ

สำหรับการเปลี่ยนแปลงในภาคการเกษตรนั้น สิ่งทีวอล์คเกอร์ระบุไว้ว่าเป็นผลของสังคมชนบทแบบชาวนาการเมืองก็คือการที่บทบาทของรัฐกลายเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยรักษาสังคมชาวนาเอาไว้ ภาพของภาคการเกษตรตั้งแต่สมัยทักษิณจนมาถึงยิ่งลักษณ์ (ปี 2000-2014) ที่ทั้งขนาดการผลิตและจำนวนแรงงานในภาคการเกษตรแทบไม่ได้หดตัวลง ก็ค่อนข้างตรงกับข้อสังเกตนี้ (ดูรูปประกอบด้านล่าง)

มูลค่า GDP ภาคการเกษตรและจำนวนผู้มีงานทำในภาคการเกษตร ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ผลจากช่วงเวลาของ คสช.และสวัสดิการประชารัฐ อาจทำให้กระบวนการรักษาสังคมชาวนาที่ดำเนินมาต้องจบลง ภาคการเกษตรอาจกลับเข้าสู่เส้นทางของการหดตัวอีกครั้ง ทั้งนี้สภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาในชนบท ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รวมถึงการอุดหนุนที่ลดลง ต่างก็แสดงว่าการอยู่ในภาคการเกษตรนั้นได้กลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้นสำหรับคนชนบทในปัจจุบัน

สำหรับด้านความเหลื่อมล้ำ อันเป็นปัญหาสำคัญสำหรับคนชนบทที่ได้ยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของตนเองจนพ้นความยากจนมาแล้ว สวัสดิการประชารัฐเป็นชุดนโยบายที่กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการลดความเหลื่อมล้ำที่พวกเขาต้องเผชิญ

แม้สวัสดิการประชารัฐเองจะได้รับการออกแบบผ่านแนวคิดว่าการช่วยเหลือแบบเจาะจงไปที่คนจนจะทำให้กระบวนการผันทรัพยากรไปยกระดับฐานะของคนยากจนมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มศักยภาพในการลดความเหลื่อมล้ำ อย่างไรก็ตาม ลักษณะสำคัญบางประการของสวัสดิการประชารัฐก็อาจทำให้การจะบรรลุเป้าหมายเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย

ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าสวัสดิการประชารัฐนั้นถูกขับเคลื่อนมาจากกระแสต้านประชานิยม สภาพเช่นนี้อาจกลับไปเป็นเงื่อนไขที่สร้างข้อจำกัดต่อโอกาสการขยายตัวและเพิ่มศักยภาพของสวัสดิการประชารัฐได้ เนื่องจากทัศนคติจากคนหลายกลุ่มต่อนโยบายสวัสดิการเพื่อคนจนนั้นยังอยู่ในแง่ลบ การหันมาให้สวัสดิการเฉพาะเจาะจงที่คนจนก็เลี่ยงได้ยากที่จะต้องเผชิญทัศนคติทางลบต่อไป และยังอาจรุนแรงขึ้นเสียด้วยซ้ำหากรัฐมุ่งหน้าขยายสวัสดิการในรูปแบบใหม่นี้

นอกจากนี้ การที่เป้าหมายของสวัสดิการประชารัฐยึดโยงอยู่กับการสร้างประสิทธิภาพทางการคลังและการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็อาจทำให้เป้าหมายการลดความเหลื่อมล้ำนั้นไม่มีความชัดเจนและโดนแทรกแซงได้ง่ายโดยเป้าหมายอื่น  และท้ายที่สุด หากมองไปที่ภาพใหญ่ของสภาพแวดล้อมในการกำหนดนโยบาย ที่ความสัมพันธ์หลักได้เกิดระหว่างรัฐที่ขาดความเป็นประชาธิปไตยและทุนใหญ่ ก็ยังชวนให้คิดได้ว่าสภาพเช่นนี้จะเอื้ออำนวยให้เกิดการผลักดันไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจังได้อย่างไร

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: www.newmandala.org/how-pracharat-welfare-depoliticises-thailands-political-peasants

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net