Skip to main content
sharethis

พรรคร่วมรัฐบาลแพ้โหวต 4 คะแนน โวยขอนับใหม่ หลังฝ่ายค้านชนะโหวต ตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบคำสั่ง ม.44 ที่ 'ปิยบุตร' เสนอ

27 พ.ย.2562 วันนี้ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีการพิจารณาญัตติการตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบเกี่ยวกับการใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) การออกคำสั่งของและการใช้มาตรา 44 ของคสช. โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ เป็นผู้เสนอญัตติอภิปรายความจำเป็นการตั้งคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ 

โดยที่ประชุมสภาฯ มีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบเกี่ยวกับการใช้อำนาจคสช. การออกคำสั่งของและการใช้ มาตรา 44 ของ คสช.ด้วยคะแนน 234 ต่อ 230 เสียง งดออกเสียง 2 คน เท่ากับว่าฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวตเพียง 4 เสียง

อย่างไรก็ตาม ปรากฎว่าสมาชิกจากพรรคร่วมรัฐบาลขอนับคะแนนใหม่ เนื่องจากเกิดความสับสนในการลงคะแนน จากนั้นเกิดการถกเถียงกันขึ้น ทั้งสมาชิกเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพราะได้ลงคะแนนไปแล้ว ซึ่งหากให้นับคะแนนใหม่จะถือเป็นบรรทัดฐานที่หากพรรครัฐบาลแพ้ จะขอนับคะแนนใหม่ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร วินิจฉัยว่าที่ประชุมต้องเป็นไปตามข้อบังคับ เมื่อมีสมาชิกร้องขอและมีผู้รับรอง 

ชวน กล่าวขอร้องสมาชิกอย่าแย่งกันพูด แต่สมาชิกหลายคนลุกขึ้นถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะนายปิยบุตร กล่าวว่า การนับคะแนนเสร็จสิ้นลงแล้ว ถ้าแพ้ก็ยอมรับว่าแพ้ ไม่เช่นนั้นจะขอนับใหม่ทุกเรื่อง ขณะที่ ชวนได้ปิดไมค์ของสมาชิกไปหลายคนและตัดบทขอลงมติใหม่อีกครั้งด้วยวิธีขานชื่อ แต่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านยกมือพร้อมเพรียงกันประท้วง แต่ ชวน กล่าวว่า ขอให้รักษามารยาท ที่นี่ที่ประชุมสภาฯ ไม่ใช่โรงเหล้าเถื่อน ทำให้มีเสียงโห่เกิดขึ้น ประกอบกับฝ่ายค้านไม่ส่งสมาชิกเป็นตัวแทนนั่งกรรมการตรวจนับคะแนน ชวนจึงสอบถามว่าเหตุใดฝ่ายค้านจึงไม่ส่งคนมา ทำให้เกิดเสียงวุ่นวายอีกครั้ง นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ้ายค้านลุกขึ้นและขอประธานสภาผู้แทนราษฎรพักการประชุม 5 นาที

ชวน อนุญาตและสั่งพักการประชุม 15 นาที

6 ปชป.โหวตหนุนตั้ง กมธ.

สำนักข่าวไทย รายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงมติครั้งนี้ด้วยว่า มี ส.ส. 33 คน ไม่ได้มาร่วมโหวต ประกอบด้วย พรรคร่วมรัฐบาล 18 คน ได้แก่พรรคพลังประชารัฐ 8 คน พรรคประชาธิปัตย์ 6 คน พรรคภูมิใจไทย 3 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน ขณะที่ฝ่ายค้าน 15 คน ได้แก่พรรคเพื่อไทย 10 คน พรรคอนาคตใหม่ 2 คน พรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 คน พรรคเสรีรวมไทย 1 คน ประชาชาติ 1คน 

ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล คือพรรคประชาธิปัตย์ 6 เสียง ลงมติสนับสนุนให้ตั้งคณะกรรมาธิการฯ ประกอบด้วย สาทิตย์​ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง, อันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี, เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช, พนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก และ กันตวรรณ ตันเถียร ส.ส.พังงา

ปิยบุตร' อภิปรายสรุป - ชี้ความจำเป็นตั้ง "กมธ.ศึกษาการใช้อำนาจ คสช. - ม.44" ปลุก ส.ส. ร่วมยุติอวัฒนธรรม "พ้นผิดลอยนวล" 

ทั้งนี้ ก่อนหารลงมติ ปิยบุตร แถลงสรุปในฐานะผู้เสนอญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบจากการใช้อำนาจของ คสช. การออกคำสั่งของและการใช้มาตรา 44 ของ คสช. โดยระบุว่า การตั้ง กมธ.วิสามัญชุดนี้เพื่อศึกษาการใช้อำนาจของ คสช.ว่ามีผลอย่างไร และถ้าเห็นว่าจำเป็นต้องศึกษาประกาศคำสั่งคณะรัฐประหารอื่นๆ ด้วยก็ไม่ขัด ซึ่ง กมธ.ที่จะเกิดขึ้นไม่อาจบังคับสั่งรัฐบาลได้ ไม่อาจดำเนินคดี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานหัวหน้าคณะรัฐประหารได้ เราแค่ศึกษาทำรายงานเสนอสภาและผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินงาน สำหรับหลายความเห็นที่บอกว่า ไม่มีความจำเป็นต้องตั้ง เพราะมี กมธ.สามัญอยู่แล้ว โดยเฉพาะชุดที่ตนเป็นประธาน คือ กมธ.กฎหมายฯ แต่ก็มีเพียง 15 ท่าน นอกจากนี้ ส.ส.ก็ไม่ครบทุกพรรค ดังนั้น ถ้าตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษา จะเป็นการเปิดโอกาสให้แต่ละพรรคเข้ามาร่วมด้วย อย่างน้อย 37คน หรืออย่างมาก 49 คน รวมทั้งจะได้เชิญคนนอก ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญได้มาร่วมศึกษาได้ด้วย

"ถ้ามีการตั้ง กมธ.ขึ้น เราจะได้ศึกษาพวกประกาศ คำสั่ง คสช. หลายเรื่องที่ดี หลายเรื่องจำเป็นเร่งด่วนต้องออกตอนนั้น หลายเรื่องมีบุคคลที่สุจริตได้ประโยชน์ ซึ่งถ้ามีฉบับไหนดีก็ให้ใช้ต่อเพียงแต่ศึกษาเพื่อเปลี่ยนให้เป็น พ.ร.บ. ไม่ใช่ยังเป็นประกาศคำสั่ง คสช.ที่อยู่ในระบบกฎหมาย  สำหรับในส่วนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ขัดความยุติธรรมอย่างร้ายแรงก็ยกเลิก ส่วนที่ยกเลิกแล้วผลร้ายยังดำรงอยู่ ก็ควรหามาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งเราจะสามารถรับฟังความคิดเห็นในวงกว้างขึ้น ตามโควต้า ส.ส. มีข้อเสนอให้หน่วยงานดำเนินการต่อไป

ปิยบุตร กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการอภิปรายว่า ประกาศคำสั่ง คสช. มีการยกเลิกหลายฉบับ หลงเหลือเพียงนิดเดียว ซึ่งจริง แต่ก็มีอีกหลายฉบับ ที่ยังไม่ยกเลิก และพรรคอนาคตใหม่ได้ เสนอร่าง พ.ร.บ.ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีคำสั่งที่มีเงื่อนแง่ปม เช่น ยกเลิกแล้ว แต่ที่ผ่านมามีผลร้ายเกิดขึ้นเรียบร้อย เช่น การปลดองค์กรอิสระ การละเมิดเสรีภาพประชาชน หรือหลายเรื่องมีบุคคลจำนวนมากถูกดำเนินคดีอยู่ คือ ยังถูกผลพวงคำสั่งนั้นอยู่ หรือที่เลิกแบบมีเงื่อนไข  เช่น เกี่ยวกับประมง ยกเลิกแล้ว แต่จะมีผลต่อเมื่อกองทัพเรือทำแผนเกี่ยวกับการประมงแล้วเสร็จ หรือยกเลิกบางข้อ เช่น ให้เลิก 3/58 เพียงข้อ 12  ห้ามชุมนุมการเมือง 5 คน แต่ก็ยังให้อำนาจพนักงาน เจ้าหน้าที่ ทหารมีส่วนร่วมสืบสวนสอบสวน ดังนั้้น ถ้าให้เหตุผลว่า คสช. หายไปแล้ว ประกาศสิ้นไปแล้ว ยังไม่เพียงพอ เพราะยังมีผลพวง และผลร้ายจากประกาศคำสั่งยังอยู่ต่อเนื่อง

"การตั้ง กมธ.ศึกษาเรื่องนี้ จะแสดงออกถึงการจัดการความคิด ความเชื่อ ที่ผมขอเรียกว่าเป็นอวัฒนธรรม อย่าง การพ้นผิดลอยนวล วิธีคิดที่บอกว่า เรื่องเกิดแล้ว ให้จบอย่ารื้อฟื้น วิธีคิดว่าเดินหน้าสู่ปรองดอง ให้เลิกแล้วต่อกัน แม้เรื่องนั้นกระทำผิดกฎหมายสูงสุดคือกระทำต่อรัฐธรรมนูญ  ถ้าคิดอย่างนี้ คนตั้งใจจะทำผิด คนที่ตั้งใจจะทำรัฐประหารอีกก็ย่ามใจ และทำอีกเรื่อยๆ  จากนั้นก็ตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ อภัยโทษตัวเอง ไม่ต้องรับผิด วิธีคิดแบบนี้ทำให้วงจรอุบาทว์อยู่ต่อไป ทั้งนี้ หลายประเทศที่ผ่านรัฐประหารบ่อยครั้ง แต่วันนี้ไม่มีแล้ว อย่าง ตุรกี กรีซ เกาหลีใต้ อาเจนตินา เหตุที่จัดการรัฐประหารไม่ให้เกิดขึ้นอีกได้ เพราะเขายอมไม่ให้มีวัฒนธรรมลอยนวลเกิดขึ้น ใครทำผิด ต้องนำมาสอบสวน อย่างน้อยที่สุดก็มีรายงานศึกษาออกมาเป็นบทเรียน" ปิยบุตร กล่าว 

ปิยบุตร กล่าวว่า นี่เป็นหมุดหมายสำคัญยิ่งของสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐประหารครองอำนาจมา 5 ปี  เราไม่มีอำนาจ ประชาชนไม่มีปากเสียง คสช. ละเมิดสิทธิเสรีภาพหลากหลายแวดวง วันนี้มีการเลือกตั้งแล้ว เริ่มทยอยกลับสู่สภาวะปกติ แต่อย่างน้อยที่สุด เรามีสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้เป็นสภาชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งหลังรัฐประหาร รับมอบอำนาจจากประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุด จึงมองไม่เห็นเหตุผลที่จะไม่ใช้อำนาจแทนราษฎร เพื่อเริ่มต้นจัดการมรดกบาป คสช. หากสภาแห่งนี้นิ่งเฉย ปล่อยผ่านไป เราจะเอาหน้าไปไว้ไหนเมื่อพบปะกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจ คสช. หรือ เวลาส่องกระจกมองตัวเอง เราซึ่งเป็นผู้เดือนร้อนจากคณะรัฐประหาร โดนจับปรับทัศนคติ เรียกรายงานตัว แต่วันนี้เมื่อมีอำนาจแล้ว ไม่กล้าทำอะไรเลย แม้แต่ลงมติให้มีการตั้ง กมธ. เพื่อศึกษาเรื่องนี้ และถ้าวันหน้ามีการรัฐประหารเกิดอีกเรายอม ไม่ทำอะไร ก็จะวนเวียนอย่างนี้เรื่อยไปอีก 

"เรา ส.ส. มีอาชีพได้ รับเงินเดือนได้เพราะประชาชนเลือกมา ภารกิจของเราคือเอาเสียง เอาความต้องการประชาชน มาแปลงให้เกิดขึ้นในสภา  เราคือผู้แทนราษฎร เราไม่ใช่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาคณะรัฐประหาร นี่คือช่วงเวลาประวัติศาสตร์การเมืองไทย รัฐสภาไทยจะบันทึกว่า ห้วงยามอำนาจกลับมาเป็นของประชาชน ประชาชนเลือกผู้แทนมาแล้ว อยู่ที่ ส.ส. จะลงมติอย่างไร จะให้สภาเริ่มต้นทบทวนการใช้อำนาจ คสช. หรือ สยบยอมการใช้อำนาจ คสช. และในวันหน้า เมื่อมีรัฐประหารอีกท่านจะพูดกับประชาชนอย่างไร จะพูดกับลูกหลานอย่างไร ถ้าวันหนึ่งเขาได้มาเปิดบันทึกการลงมตินี้เห็นท่านสยบยอม เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน แต่เรื่องนี้คือการทำหน้าที่ของ ส.ส. เรามาจากการเลือกตั้งของประชาชน ขอให้ใช้อำนาจเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจ คสช." ปิยบุตร กล่าว

ที่มา : สำนักข่าวไทย และเพจ พรรคอนาคตใหม่ - Future Forward Party

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net