Skip to main content
sharethis

นศ.แม่โจ้ ประสานศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่นช่วย หลังถูกบริษัทเหมืองอมก๋อย แจ้งความหมิ่นประมาท เหตุรายงานข่าวการลงพื้นที่ 

ภาพนักศึกษาลงพื้นที่

26 พ.ย.2562 ความคืบหน้ากรณีการเตรียมเปิดเหมืองแร่ถ่านหินในพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีประชาชนที่วิตกกังวลกับผลกระทบ และคัดค้านการยื่นขอประทานบัตรเหมืองถ่านหินดังกล่าว นั้น ล่าสุด วันนี้ (26 พ.ย.62) นอร์ทพับลิคนิวส์ รายงานว่า วรพล โชติจิรเดชากุล หัวหน้าพรรคเสรีอินทนิล ซึ่งเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยบริหารศาสตร์ สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า นักศึกษาพรรคเสรีอินทนิล ได้ลงพื้นที่บ้านเบอกะดิน เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับชาวบ้าน หากมีการสร้างเหมืองถ่านหินในพื้นที่ และฟังความวิตกกังวลของชาวบ้าน ขณะเดียวกันก็ได้เผยแพร่ข่าวสารการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลในสื่อแห่งหนึ่ง โดยไม่ได้ระบุชื่อบริษัทเอกชนแต่อย่างใด หากกลับถูกบริษัทแจ้งความหมิ่นประมาท กับนักศึกษา 4 คนในกลุ่ม และทาง สภ.อมก๋อย ได้ออกหมายเรียกให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 27 พ.ย.นี้ เวลา 13.00 น.

“ตำรวจติดต่อมาทางโทรศัพท์ ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาหมิ่นประมาท ด้วยการนำข้อความลงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในลักษณะเป็นการใส่ความบริษัทเอกชน จึงได้ประสานกับนายสุมิตรชัย หัตถสาร ผอ.ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ขอให้ช่วยดำเนินการตามขั้นตอนของกฏหมายต่อไป” วรพล กล่าว

ขวัญหทัย โล่ติวิกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายยุติเหมืองแร่อมก๋อย กล่าวว่า หลังจากที่ไม่สามารถจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นได้ ในวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายยุติเหมืองแร่อมก๋อย ได้ทำหนังสือร้องเรียนความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ ถึงสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อมาเมื่อวันที่ 14 พ.ย. ทาง พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว ผู้ตรวจราชการพิเศษสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะได้ลงพื้นที่อมก๋อย เพื่อรับทราบข้อมูลตรงจากชาวบ้าน พร้อมทั้งแนะนำให้อุทธรณ์เรื่อง การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เข้าไป โดยให้รวบรวมข้อมูลความผิดพลาดของการดำเนินการให้ชัดเจน ส่งให้สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อตรวจสอบอย่างละเอียด

นอร์ทพับลิคนิวส์ รายงานด้วยว่า อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ได้นัดหมายเครือข่ายยุติเหมืองแร่อมก๋อย และกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ ให้เข้ามาพูดคุยเบื้องต้น เพื่อปรึกษาเรื่องการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง ในวันที่ 11 ธ.ค.นี้ ซึ่งทางเครือข่ายจะยื่นเงื่อนไขให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงใหม่ เข้ามาเป็นตัวกลางในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งต่อไป

ขณะที่เมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่งาน “อยู่ ไม่ เป็น” ของ พรรคอนาคตใหม่ 2 นักศึกษากลุ่มนี้ เดินทางมายื่นหนังสือเพื่อขอความเป็นธรรมถึงคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นประธาน และคณะกรรมาธิการกฎหมาย ยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ซึ่งมี ปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นประธาน ถึงกรณีผลกระทบจากการเตรียมเปิดเหมืองแร่ถ่านหินในพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีกลุ่มนักศึกษาร่วมลงพื้นที่เก็บข้อมูล ก่อนที่ต่อมาจะถูกแจ้งความดำเนินคดี โดยมี เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ และกรรมการบริหารพรรค ภาคเหนือ รับหนังสือ

วรพล หนึ่งในนักศึกษาที่เดินทางมายื่นหนังสือกล่าวว่า ตนได้ทราบถึงความวิตกกังวล ของกลุ่มชาติพันธุ์ และชาวบ้าน ในบริเวณพื้นที่บ้านกะเบอะดิน ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ถึงปัญหาการสร้างเหมืองแร่ถ่านหินในพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลต่อวิถีชีวิต กลุ่มชาติพันธุ์ และชาวบ้านในพื้นที่ ด้วยจิตสาธารณะในฐานะนักศึกษา ตนและเพื่อนจึงได้รวบรวมเงินที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเดินทางลงไปในพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาและสำรวจข้อเท็จจริงต่างๆ ของชาวบ้านในพื้นที่ โดยมิได้มีเจตนามุ่งร้ายต่อบุคคลใด หรือบริษัทใด บริษัทหนึ่ง แต่หลังจากที่ตนและเพื่อนไปรับฟังปัญหาจากชาวบ้าน เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ชาวบ้านที่ไปพูดคุยได้แจ้งต่อว่า ตนและกลุ่มเพื่อนจะถูกฟ้องดำเนินคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาท จากบริษัทหนึ่ง ทำให้ตนและกลุ่มเพื่อนๆที่มีจิตใตสาธารณะ ต้องขึ้นไปให้การต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ สภ.อมก๋อย

“ผมและเพื่อนๆเป็นเพียงนักศึกษา การถูกดำเนินคดีและต้องไปให้ปากคำในพื้นที่ห่างไกล หรืออื่นๆที่ต้องใช้ระยะเวลาในชั้นกระบวนการยุติธรรม ส่งผลทั้งค่าใช้จ่าย เวลา ระยะทางทั้งทางตรงและทางอ้อมในการเรียน ผมและเพื่อนจึงได้เดินทางมาเพื่อร้องขอความเป็นธรรมในวันนี้" วรพล กล่าว

แกนนำต่อต้านการขอประทานบัตรเหมือง นักวิชาการ และนักศึกษา ถูกแจ้งความดำเนินคดีหมิ่นประมาทฯ

ขณะที่เมื่อวันที่12 พ.ย.ที่ผ่านมา ไทยพีบีเอส รายงานว่า กลุ่มประชาชนในพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ กว่า 50 คน รวมตัวกันที่สถานีตำรวจภูธรอมก๋อย เพื่อมอบดอกไม้ให้กำลังใจ พนักงานสอบสวน และแกนนำต่อต้านการขอประทานบัตรเหมืองแร่อมก๋อย หลังถูกบริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด มอบอำนาจให้ทนายความ แจ้งความดำเนินคดี ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา กับแกนนำที่ร่วมกันทำกิจกรรมรณรงค์คัดค้านการทำเหมืองแร่ เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2562 รวมทั้ง นักวิชาการอิสระ และกลุ่มนักศึกษา ที่เผยแพร่ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ รวม 7 คน

สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ระบุว่า การเข้าพบตำรวจเมื่อวานนี้ เป็นการนัดรายงานตัวครั้งแรกโดยได้ยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรเพิ่มเติม เบื้องต้นตำรวจระบุว่าจะขอตรวจสอบพยานหลักฐานทั้งหมดก่อน รวมทั้งเสนอให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณา และนัดให้มาพบอีกครั้ง เพื่อรับฟังว่าจะมีการสรุปสำนวนให้อัยการหรือไม่ ในวันที่ 12 ธ.ค.นี้

สำหรับแนวทางการต่อสู้คดี ผอ.ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ระบุว่า โครงการเหมืองแร่ถ่านหิน ถือเป็นโครงการของรัฐที่อนุญาตให้เอกชนประมูล หรือขอสัมปทาน ซึ่งจะต้องทำการรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มแกนนำชาวบ้าน และผู้เกี่ยวข้องจึงถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

ไทยพีบีเอสรายงานเพิ่มเติมว่า เหมืองถ่านหิน ในพื้นที่บ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ มีการยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ถ่านหิน ในที่ดิน 284 ไร่ แต่ถูกคัดค้านจากชาวบ้านที่กังวลจะได้ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และ วิถีชีวิต ล่าสุด การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น โดยสำนักงานอุตสาหกรรม จ.เชียงใหม่ และผู้เกี่ยวข้อง ที่โรงเรียนบ้านแม่อ่างขาง ต.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา ต้องถูกยกเลิกและเลื่อนออกไป เนื่องจากประชาชนในพื้นที่รวมตัวคัดค้านและปฎิเสธจะเข้าร่วมเวที

ข้อมูลเพิ่มเติม 15 ก.ค.2563

กสม. ระบุกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนทำอีไอเอโครงการเหมืองแร่ถ่านหิน อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ละเมิดสิทธิมนุษยชน เสนอหน่วยงานทบทวน

15 ก.ค.2563 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสม. ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้การพิจารณารายงานผลการตรวจสอบกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในโครงการเหมืองแร่ถ่านหินในพื้นที่หมู่บ้านกะเบอะดิน ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ตามที่ชาวบ้านยื่นร้องเรียน เมื่อเดือน ธ.ค. 62 

โดยเห็นว่า การขออนุญาตประกอบกิจการเหมืองแร่ถ่านหิน ที่ต้องมีการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนตามกฎหมายนั้นส่วนที่เป็นการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนตาม พ.ร.บ.แร่ 2560 นั้น พบสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการตามมาตรา 56 เพื่อจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของชุมชนเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 62 แต่ในวันดังกล่าวไม่สามารถจัดประชุมได้ เนื่องจากมีประชาชนคัดค้าน ต่อมาภายหลัง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการหารือร่วมกันกับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อตกลงในการกำหนดวันและสถานที่สำหรับการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของชุมชนตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดต่อไป ถือว่าเป็นการทำหน้าที่เพื่อให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นตามที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.แร่ 60 ดังนั้น กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในส่วนนี้จึงยังไม่ปรากฏว่า มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

แต่ในส่วนการดำเนินกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อประกอบการจัดทำรายงาน EIA ตาม พ.ร บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 นั้น พบว่า การจัดประชาคมหมู่บ้านกะเบอะดิน ต.อมก๋อย ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มีข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เช่น มีประชาชนยืนยันว่าไม่เคยเข้าร่วมการประชุมมาก่อน แต่กลับปรากฏรายชื่อเป็นผู้เข้าร่วมการประชุมและลงชื่อเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว และในชั้นการพิจารณารายงาน EIA คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน EIA ด้านเหมืองแร่และอุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่ มีความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของประชาชนว่า ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยเฉพาะประเด็นปัญหาด้านการสื่อสารผ่านผู้นำชุมชน ซึ่งน่าจะมีผลต่อความเข้าใจในรายละเอียดของโครงการ เนื่องจากประชาชนในพื้นที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง นอกจากนี้ วัตถุประสงค์ในการจัดประชาคมหมู่บ้านก็ให้ความสำคัญกับความต้องการของประชาชนมากกว่าการให้ข้อมูล รายละเอียดที่จำเป็นของโครงการ ย่อมทำให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นโดยไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของตนเอง ดังนั้น การดำเนินการกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อประกอบการจัดทำรายงาน EIA ไม่สอดคล้องกับสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามที่รัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 บัญญัติไว้ และไม่เป็นไปตามองค์ประกอบสำคัญของการจัดการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีความหมายอย่างแท้จริง ตามแนวทางที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กำหนดไว้

กสม. จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการป้องกัน แก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน และส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ 2 ส่วนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ

1. สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ควรนำรายงาน EIA โครงการทำเหมืองแร่ถ่านหินเสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน EIA ด้านเหมืองแร่และอุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่ เพื่อทบทวนรายละเอียดในส่วนของการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีข้อบกพร่อง โดยให้คำนึงถึงสิทธิของชุมชนในการมีส่วนร่วมในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ ในกรณีที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ เห็นชอบกับรายงาน EIA และเห็นว่า เมื่อมีการประกอบกิจการเหมืองแร่ถ่านหินแล้ว เกิดผลกระทบทางลบต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ พึงกำหนดให้บริษัทเอกชนผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ มีแผนเยียวยาความเดือนร้อนหรือเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม และได้สัดส่วนกับความเดือดร้อนหรือเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ควรเร่งทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการรับฟังความเห็นของชุมชนตาม พ.ร.บ.แร่ 2560 เพื่อลดความกังวลของประชาชนในพื้นที่ โดยให้ประชาชนได้รับทราบถึงวิธีการให้ข้อมูลและการรับฟังความคิดเห็น โดยมีรายละเอียดต่างๆ เพียงพอ เหมาะสมแก่การเข้าถึงข้อมูล และดำเนินการให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียได้รับข้อมูลของโครงการล่วงหน้าเป็นเวลาเพียงพอที่จะสามารถเข้าใจเนื้อหาสาระ และสามารถให้ความเห็นต่อโครงการอย่างเป็นประโยชน์ได้ โดยดำเนินการภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงาน

2. กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ควรนำหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน แนวนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญในเรื่องพลังงาน และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรอบสหประชาชาติ มาใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาประกอบการอนุญาตออกประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหิน ซึ่งเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเชิงธุรกิจ อันอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน เพื่อให้เกิดประโยชน์และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

หากจำเป็นต้องมีการอนุญาตให้สัมปทานแก่เอกชนเข้าทำเหมืองแร่ถ่านหินในพื้นที่ดังกล่าว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ และกระทรวงมหาดไทย ควรต้องร่วมกันพิจารณาแนวทางการคุ้มครองวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงให้มีพื้นที่ทำกินอย่างเพียงพอและเหมาะสมในการดำรงชีวิตตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมของตนอย่างสงบสุข

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net