Skip to main content
sharethis

2 องค์กรแรงงานจับมือเครือข่ายรณรงค์ในวันงานที่มีคุณค่าสากลประกาศเจตนารมณ์พร้อมเสนอรัฐยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง เร่งสร้างงานที่มีคุณค่าแห่งอนาคต กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ ชูแก้รัฐธรรมนูญ

7 ต.ค.2562 เนื่องใน “วันงานที่มีคุณค่าสากล” (World Day for Decent Work) มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน รายงานว่า วันนี้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรแรงงานทั้งในระบบ นอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีการตั้งเป็นคณะทำงานรณรงค์ “ยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง เร่งสร้างงานที่มีคุณค่าแห่งอนาคต :Dencent Work for Future of work” โดยคณะทำงานได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านทาง สุภรณ์ อัตถาวงศ์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมารับหนังสือแทน

ภาพโดย Sriprai Nonsee

ศรีไพร นนทรีย์ รายงานกับผู้สื่อข่าวด้วยว่า วันนี้ในขบวนรณรงค์ “วันงานที่มีคุณค่าสากล” กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต และใกล้เคียงที่ร่วมเดินขบวนยังมีการรณรงค์เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย 

ภาพโดย Sriprai Nonsee

มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน รายงานเพิ่มเติมว่า สาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการ สรส. กล่าวว่า คสรท.และ สรส. มีข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล โดยเสนอว่า ควรมีการกำหนดนโยบายและมาตรการ “ยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง” ซึ่งมีรูปแบบที่หลากหลาย ในทุกหน่วยงาน ทั้งธุรกิจเอกชน ราชการและรัฐวิสาหกิจ แรงงานภาคเกษตร แรงงานนอกระบบ คนทำงานบ้าน แรงงานข้ามชาติ “เร่งสร้างงานที่มีคุณค่าแห่งอนาคต : Decent work for Future of work” เพื่อให้คนทำงานทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความมั่นคงในการทำงาน มีหลักประกันในการดำรงชีวิตมีความปลอดภัยในการทำงานของคนทำงานในทุกกลุ่มสาขาอาชีพ ปฏิบัติการดำเนินนโยบายและแผนงานตามหลักการมาตรฐานและกติกาสากลที่รัฐบาลไทยได้ให้การรับรองไว้ และขอติดตามข้อเสนอเดิมที่เคยยื่นไว้เมื่อปีที่ผ่านมา โดยเชื่อว่า หากรัฐบาลมุ่งมั่นตั้งใจจริงจะเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาล ผู้ประกอบการ และคนทำงาน ซึ่งนั่นก็หมายถึงประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งเป็นเป้าหมายของประเทศและเป็นเป้าหมายของรัฐบาลที่ได้ประกาศต่อสาธารณชนก่อนหน้านี้แล้ว หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อเสนอที่มีคุณค่านี้ จะได้รับการพิจารณาดำเนินการจากรัฐบาล ซึ่ง คสรท. และ สรส. จะติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ภาพโดย Sriprai Nonsee

กลุ่มดังกล่าวยังได้ ประกาศเจตนารมณ์ต่อผู้แทน พล.อ.ประยุทธ์ และรองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน โดยมีรายละเอียดดังนี้

ตามที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กำหนดให้วันที่ 7 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวันงานที่มีคุณค่าสากล ซึ่งมีที่มาจากการประชุมใหญ่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ครั้งที่ 87 พ.ศ. 2547 ขบวนแรงงานทั่วโลกได้จัดรณรงค์เพื่อการจ้างงานที่ดี และมั่นคง โดยหลักการแล้ว เชื่อว่างานที่มีคุณค่าจะยกระดับคุณภาพชีวิตในการทำงาน และส่งเสริมให้มีการพัฒนาแรงงานที่ยั่งยืน หากวิเคราะห์ถึงสถานการณ์การจ้างงานในประเทศไทยในขณะนี้นั้น แม้จะเป็นหนึ่งใน 45 ประเทศที่ร่วมก่อตั้งองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือILO แต่การให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับต่างๆ มีน้อยมาก จาก 190 ฉบับ แต่รัฐบาลไทยรับรองเพียง 16 ฉบับ การให้ความสำคัญต่อมาตรการต่างๆเพื่อการคุ้มครองคนงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ยังไม่มีมีมาตรการที่ดีเพียงพอที่จะเป้นหลักประกันแก่คนงาน ทำให้คนงานต้องเผชิญกับภาวการณ์ถูกเอาเปรียบ หากนำเรื่องานที่มีคุณค่ามาตรวจสอบ เช่น สิทธิการก่อตั้งสหภาพแรงงาน การเจรจาต่อรองไม่ได้รับการคุ้มครองที่ดีพอ จนทำให้การเจรจาเรียกร้อง เพื่อแบ่งปันผลประประโยชน์ระหว่างนายจ้าง กับลูกจ้างใช้เวลายาวนาน และเมื่อตกลงกันได้แล้วนายจ้างยังละเมิดข้อตกลง และรุ่นยแรงคือ ละเมิดต่อกฎหมายเกิดการเผชิญหน้ากัน

ประเด็นแรงงานนอกระบบ คนทำงานบ้าน คนทำงานอิสระ แรงงานภาคเกษตร ทั้งภาคการผลิต และภาคบริกหาร ยังต้องวเผชิญกับความไม่แน่นอนในอาชีพ ค่าจ้าง สวัสดิการ ยิ่งการจ้างงานในรูปแบบเศรษฐกิจยุคดิจิทัล ระบบออนไลน์ ที่เรียกว่า แพลตฟอร์มต่างๆที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น คนขับรถส่งของ ส่งคน ส่งอาหาร แทบทั้งหมดบริษัทไม่ได้มองผู้ให้บริหารเป็นพนักงาน แต่เป็นเพียงคู่สัญญา ซึ่งทำให้ บริษัทไม่ต้องดูแลเรื่องสวัสดิการต่างๆ ระบบการประกันสังคม รวมถึงค่าตอบแทนการจ้างงาน นอกจากนี้ การร้สถานะพนักงานทำให้ผู้ให้บริการขาดอำนาจต่อรองกับบริษัท เจ้าของแพลตฟอร์ม คือ การลดทอนมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานภายใต้ระบบเทคโนโลยีใหม่

ประเด็นต่อมาเรื่องแรงงานข้ามชาติ ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันทางสังคม ต้องต่อสู้เรียกร้องเพื่อชีวิตที่ดีกว่า จากการเอาเปรียบขูดรีดจนถึงวันนี้แม้ว่ารัฐบาลจะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหา ด้วยการออกกฎหมาย ดำเนินการทางนโยบาย แต่การปฏิบัติก็เป็นไปด้วยความล่าช้า เพราะด้วยปัญหาที่หมักหมม สั่งสมมาเป็นเวลานาน ทั้งกระบวนการนายหน้า การหาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติ การค้ามนุษย์ จนนานาชาติส่งสัญญาณที่ไม่ดีต่อสถานการณ์การละเมิดสิทธิแรงงานของประเทศไทย

ประเด็นการจ้างงานในรัฐวิสาหกิจ ก็ไม่มีความแตกต่าง แม้ว่าวัตถุประสงค์แต่แรกของการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ คือ การบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยเฉพาะการสร้างงานบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกคนในชาติ ผ่านกลไกและเครื่องมือของรัฐที่เรียกว่า “รัฐวิสาหกิจ”

แต่ปัจจุบันความคิดและนโยบายของรัฐถูกครอบงำด้วยระบบทุนนิยมเสรีกำหนดนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นเอกชนเข้ามาทำหน้าที่แทนรัฐส่วนที่ยังคงสถานะให้เป็นรัฐวิสาหกิจ ก็บังคับให้ต้องแสวงหากำไรลดต้นทุนรายจ่ายจำกัดอัตรากำลังแรงงานด้วยการไม่รับพนักงานใหม่เข้ามาทำงานทดแทนผู้ที่เกษียณอายุการปฏิบัติงาน แต่ให้ใช้วิธีการจ้างแรงงาน Outsourcing ผ่านการจ้างแรงงานรับเหมาช่วง การจ้างทำของ รวมทั้งการจ้างแรงงานสัญญาระยะสั้น คนเหล่านี้แทบจะไม่ได้รับสวัสดิการใด ๆ ซึ่งในที่สุดแล้ว การบริการสาธารณะจะเกิดการผูกขาดโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ราคาค่าบริการจะแพงขึ้น พนักงานลูกจ้างจะไม่มีหลักประกันในชีวิตและงานที่มั่นคง

ประเด็นการจ้างงานในภาคราชการ ปฏิเสธไม่ได้ว่านายจ้าง ก็คือ รัฐบาล แต่ในปัจจุบันรูปแบบการจ้างงานภาครัฐก็เป็นไปในลักษณะการจ้างงานแบบชั่วคราว ตามสัญญาจ้างจ่ายค่าจ้างด้วยเงินที่ไม่ได้มาจากงบประมาณแผ่นดินก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมเลือกปฏิบัติหรืองานบางอย่างก็มอบหมายให้เอกชนรับงานไปทำเป็นส่วน ๆ ไป ซึ่งการจ้างงานที่กล่าวมานี้เป็นนโยบายของรัฐบาล จึงได้แพร่กระจายตามในหน่วยงานของรัฐทุกกระทรวง ทั้งในส่วนกลางและระดับท้องถิ่น ซึ่งก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในอาชีพดังเช่น พยาบาล เภสัชกร หรือบุคลากรด้านสาธารณสุข ลูกจ้างในระบบประกันสังคม และที่เลวร้ายกว่านั้น คือในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานมีการจ้างครูแบบสัญญาจ้างชั่วคราวไม่มีหลักประกันใด ๆ ในเรื่องค่าจ้าง สวัสดิการไม่มีงบประมาณในการสนับสนุนอย่างเพียงพอทำให้ขาดแคลนบุคลากรด้านการศึกษา หลายโรงเรียงในหลายจังหวัดแก้ปัญหาด้วยการ “ทอดผ้าป่าเพื่อการศึกษา” เพื่อนำเงินไปจ้างครูและซื้ออุปกรณ์ด้านการศึกษาทำให้การศึกษาของไทยไม่พัฒนาให้ก้าวหน้าติดหล่มล้าหลัง ต่ำกว่ามาตรฐาน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค และในระดับนานาชาติ

ดังนั้นในสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคตรัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทบทวนมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้คนงานเข้าถึงหลักการของ “งานที่มีคุณค่า” ที่สำคัญต้องมีหลักประกันให้คนงานให้เขาสามารถเข้าถึงหลักการได้จริงโดยเฉพาะการเสริมสร้างอำนาจการต่อรองให้กับคนงานให้เขาสามารถรวมตัวจัดตั้งองค์กร และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ คือ ต้องใช้กลไกของคนงาน คือ สหภาพแรงงาน ร่วมดำเนินการในทุกมิติเพื่อให้ปัญหาการละเมิดสิทธิเบาบางลง ซึ่งน่าจะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้สถานการณ์การละเมิดสิทธิแรงงานของประเทศไทยดีขึ้น และได้รับการยอมรับ และนั่นหมายถึงบทบาทของไทยในเวทีโลกที่ผ่านมารัฐบาลไทยก็พยายามแสดงบทบาทในเวทีโลกในความพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น การรับรองหลักการขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principle on Business and Human Rights :UNGP)

เพื่อกำหนดความสัมพันธ์หน้าที่ของรัฐและความรับผิดชอบของภาคธุรกิจในการคุ้มครอง (Protect) เคารพ (Respect) และเยียวยา (Remedy) และเมื่อวันที่16 พฤษภาคม 2559 คณะรัฐมนตรียังได้มีมติเห็นชอบจัดทำและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วย ธุรกิจและสิทธิมนุษยชน(National Action Plan on Business and Human rights – NAP) เพื่ออนุวัติการตามหลักการ UNGP และการที่รัฐบาลไทยได้ลงนามยอมรับหลักการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs )โดยแต่ละประเทศต้องเริ่มดำเนินการ พ.ศ. 2559 (ค.ศ. 2016) จนถึงพ.ศ. 2579 (ค.ศ. 2030) ซึ่งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) นั้นมีทั้งหมด 17 ด้าน ในแผนงานลำดับที่ 8ว่าด้วยการจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องครอบคลุมและยั่งยืน การจ้างงานที่มีคุณค่าเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยบรรลุเป้าหมายการผลิตในระดับที่สูงขึ้น และผลิตผ่านนวัตกรรมทางเทคโนโลยี สนับสนุนนโยบายที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและการสร้างงานซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในเรื่องนี้เช่นเดียวกับมาตรการที่มีประสิทธิภาพที่จะกำจัดการบังคับใช้แรงงานทาสและการค้ามนุษย์ ด้วยเป้าหมายเหล่านี้ ภายในปี 2573 ต้องให้เกิดการจ้างงานเต็มรูปแบบและมีประสิทธิภาพและการทำงานที่เหมาะสม

ดังนั้น ประเทศไทยตามที่รัฐบาลประกาศแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่จะนำประเทศสู่ความ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน รวมทั้งเงื่อนไขที่จะปฏิบัติตามแผนงานของสหประชาชาติ 17 ด้าน(Sustainable development goals : SDGs) นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 ถึงค.ศ. 2030 ที่จะต้องขจัดความยากจนและความหิวโหยในทุกพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ สร้างสังคมที่มีความสงบสุข ยุติธรรม และครอบคลุม ปกป้องสิทธิมนุษยชน สร้างงานที่มีคุณค่า ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ รวมทั้งเสริมพลังแก่สตรีและเด็กผู้หญิงและปกป้องโลกและทรัพยากรธรรมชาติ ความพยายามของรัฐที่กล่าวมาทั้งหมดยากที่จะบรรลุสู่เป้าหมายได้หากคนกลุ่มใหญ่ คือ ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ถดถอย ตกต่ำไม่มีหลักประกันในการดำรงชีวิต เนื่องในวันงานที่มีคุณค่าสากลใน ปี 2562

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net