Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

(1)

ตั้งแต่เผ่าพันธุ์มนุษย์ปัจจุบันเกิดขึ้นและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน เราได้ผ่านยุคสมัยแห่งการวางโครงสร้างทางสังคมมาแล้วอย่างน้อยสี่ช่วงใหญ่ ๆ แต่ละช่วงมี “เรื่องราว” (stories) ที่ถูกสร้างขึ้นให้สัมพันธ์กับ “ความเป็นจริง” (reality) ซึ่งแตกต่างกันไปตามกาลเวลา

ช่วงแรกคือยุคล่าสัตว์ เวลานั้นมนุษย์ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับความเป็นจริงของชีวิตตลอดจนธรรมชาติรอบตัว อีกทั้งยังไม่สามารถเกาะเกี่ยวกันเป็นสังคมที่เหนียวแน่น โครงสร้างทางสังคมยุคนั้นอาจไม่มี มีแต่ชุมชนเล็ก ๆ ที่สมาชิกอาศัยอยู่ด้วยกันอย่างหลวม ๆ ภัยจากธรรมชาติและสัตว์ป่าคือความเป็นจริงที่คุกคามการอยู่รอดของคนในยุคนั้น มนุษย์จึงสร้างเรื่องราวที่ให้ธรรมชาติมีอำนาจเหนือสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง จากนั้นก็ตอบสนองอำนาจนั้นด้วยการเคารพบูชาธรรมชาติ โดยทำตัวให้กลมกลืนและเป็นส่วนหนึ่งของมัน

ช่วงที่สองคือยุคเกษตรกรรม ยุคนี้มนุษย์เริ่มตั้งหลักปักฐาน อยู่เป็นที่เป็นทาง และเลี้ยงสัตว์ ความเป็นจริงของยุคนี้คือแผ่นดินผืนมหึมาตามท้องที่ต่าง ๆ ซึ่งผู้คนบุกเบิกแผ้วถางเพื่อทำการเกษตร แม้จะยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับชีวิตและธรรมชาติมากนัก แต่มนุษย์ก็เริ่มเห็นความสามารถของเผ่าพันธุ์ตนเองในการควบคุมกำกับชีวิตสัตว์อื่น ความสามารถของมนุษย์เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณเมื่อคนรู้จักสร้างผังเมือง คิดระบบเงินตรา พร้อมกับมีการจารึกตัวอักษร ทำให้อิทธิพลของมนุษย์แผ่กว้างไปอย่างไร้ขีดจำกัด มนุษย์ถ่ายทอด “ความเป็นจริง” ที่ตนรับรู้เป็น “เรื่องราว” ของเผ่าพันธุ์ที่สามารถให้ความหมายแก่โลก สัตว์เลี้ยง พืช และสิ่งทั้งหลาย  ในการทำให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์และมีอำนาจเต็มในการจัดการโลก เทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้สิทธิ์ชอบธรรมนี้แก่มนุษย์  

เนื่องจากมนุษย์ยังไม่ล่วงรู้ความลับของชีวิตและสาเหตุความเป็นไปของธรรมชาติ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกกำหนดขึ้นจึงกลายเป็นสารพัด “เรื่องราว” แห่งความเชื่อเกี่ยวกับที่มาของสรรพสิ่ง ในฐานะที่มนุษย์เป็นผู้จารึกเรื่องราว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้ามนุษย์จะเชื่อและเขียนประทับไว้ตามที่ต่าง ๆ ว่า เผ่าพันธุ์ของตนมีความคล้ายคลึงและใกล้ชิดกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สุด มนุษย์ได้รับมอบสิ่งมีค่าสูงสุดคือดวงวิญญาณ (soul) จากพระเจ้า หาไม่ก็มีดวงวิญญาณอันเชื่อมโยงแนบแน่นอยู่กับอำนาจเบื้องบน การกระทำของมนุษย์จึงมีคุณค่าในเชิงศีลธรรม เราก็มีสิทธิ์ที่จะจัดการโลก สิ่งมีชีวิตอื่น รวมทั้งคนต่างเชื้อสาย ตามแต่ที่เราเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์กำหนดให้ทำ  

ช่วงที่สามคือยุคอุตสาหกรรม เมื่อแผ่นดินส่วนใหญ่รวมทั้งปศุสัตว์และพืชเกษตรถูกครอบครองโดยมนุษย์อย่างเบ็ดเสร็จแล้ว มนุษย์ก็เริ่มขยายอำนาจของตนไปในการพัฒนาศาสตร์และศิลป์ด้านต่าง ๆ รวมทั้งรุกรานแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติจากมนุษย์ด้วยกันเอง ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของยุคนี้ไม่เพียงช่วยให้คนประดิษฐ์เครื่องไม้เครื่องมือในการประกอบอาชีพได้อย่างกว้างขวาง หากยังทำให้เราเข้าใจความลี้ลับของธรรมชาติตลอดจนกฎเกณฑ์การอยู่รอดของชีวิตมากขึ้นด้วย

ความเป็นจริงของยุคนี้คือวิทยาศาสตร์ทำให้ชีวิตมนุษย์สะดวกสบายขึ้น มีความเป็นอยู่ทันสมัยมากขึ้น มนุษย์มองเห็นพลังความสามารถอันยิ่งใหญ่ของเผ่าพันธุ์ตนเอง และเชื่อว่าเผ่าพันธุ์ของตนอยู่ในฐานะเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งบนโลก แม้จะยังเชื่อมโยงตัวเองอยู่ระหว่างอำนาจบางอย่างที่มองไม่เห็นกับสัตว์โลกอื่น แต่มนุษย์ก็เชื่อมั่นในอำนาจการควบคุมของตนเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ “เรื่องราว” ที่มนุษย์เขียนขึ้นในยุคนี้สัมพันธ์กับการวางฐานะของคนให้อยู่เหนือธรรมชาติ และให้ความหมายคนบางกลุ่มเหนือกว่าคนอีกหลายกลุ่ม

ในยุคที่มนุษย์ต้องการแรงงานของมนุษย์ด้วยกันเพื่อพัฒนาและดำเนินการด้านอุตสาหกรรมต่าง ๆ มนุษย์ผู้มีอำนาจมากกว่าได้สร้างความหมายให้แก่เพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์ในฐานะทรัพยากรบุคคลที่แม้มีค่าเหนือกว่าสัตว์อื่น แต่ก็มีอยู่เพื่อหาและใช้ประโยชน์ในเชิงรูปธรรมเป็นสำคัญ (เช่นทำงานเพื่อแลกเงิน)  สถาบันการศึกษาและหน่วยงานจำนวนมากถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์คือสร้างคนมารองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจจากภาคอุตสาหกรรม องค์กรทางศาสนาก็ตอกย้ำทัศนคติทางสังคมด้วยการทำให้คนเชื่อว่า การทำงานหนักเพื่อส่วนรวมคือคุณค่าของมนุษย์ ซึ่งการเสียสละทำหน้าที่ทางสังคมของคน ๆ หนึ่งจะเพิ่มพูนความดีให้แก่ดวงวิญญาณของคน ๆ นั้น

“เรื่องราว” ของยุคอุตสาหกรรมจึงสัมพันธ์กับ “ความเป็นจริง” ที่ว่า มนุษย์มองเห็นความสำเร็จของเผ่าพันธุ์ตัวเองผ่านสิ่งก่อสร้าง วัตถุ เครื่องมือ และความคิดเชิงรูปธรรมต่าง ๆ ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์กายภาพที่ได้รับการค้นพบมากขึ้นเรื่อย ๆ ประสานกับความรู้ด้านสังคมศาสตร์ที่สนับสนุนความสำคัญของมนุษย์ยิ่งตอกย้ำว่า พลังของมนุษย์เป็นของจริงและอำนาจของมนุษย์ก็เป็นสิ่งชอบธรรม จะมีพระเจ้าหรือไม่ก็ไม่สำคัญอีกแล้ว เพราะความสามารถของมนุษย์ในการคิดและประดิษฐ์นั้นเพียงพอจะทำให้เราอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป เรื่องราวของช่วงเวลานี้จึงเน้นที่มนุษย์ ความสามารถของมนุษย์ การกระทำโดยมนุษย์ และมีเป้าหมายเพื่อมนุษย์

ช่วงที่สี่คือยุควิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ซึ่งแม้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในศตวรรษที่ยี่สิบ แต่ก็ได้รับอิทธิพลจากการเติบโตทางวิทยาศาสตร์หลายศตวรรษก่อนหน้านั้น ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับชีวิต ส่วนวิทยาศาสตร์กายภาพก็อธิบายที่มาและความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตกับธรรมชาติได้มากขึ้น ซึ่งในข้อมูลที่วิทยาศาสตร์เหล่านั้นค้นพบไม่มีเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือดวงวิญญาณเลย กลับมีแต่กระแสของชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามทฤษฎีวิวัฒนาการ ยิ่งในปลายยุคศตวรรษที่ยี่สิบเกิดความรู้ด้านวิทยาศาสตร์แขนงใหม่ ๆ อาทิ ประสาทวิทยา พันธุวิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีชีวภาพ ก็ยิ่งทำให้มนุษย์ค้นพบความเป็นจริงเกี่ยวกับชีวิตในระดับลึก และความเป็นจริงเหล่านั้นก็มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ผ่านการรับรองจากห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ด้วย

โดยอาศัยเทคโนโลยี ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้แสดงให้เราเห็น “ความเป็นจริง” เกี่ยวกับชีวิตและวัตถุไปในทางรื้อทำลาย “เรื่องราว” ที่สั่งสมนับพัน ๆ ปีอยู่ในวัฒนธรรมของมนุษยชาติ อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ได้รับรู้ความเป็นจริงว่า เราไม่ได้เป็นศูนย์กลางความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบนกับสัตว์โลกอื่นเบื้องล่าง อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์เรียนรู้ว่า ดวงวิญญาณอมตะเป็นแค่ ความเชื่อ ที่เข้าไม่ได้กับ ข้อเท็จจริง ทางโลก เพราะสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ย่อมมีวิวัฒนาการไม่ได้ อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ต้องรับรู้ว่า คุณค่าทางศีลธรรมที่เราเคยคิดว่าดี ศิลปะที่เราเคยเชื่อว่าสวย หรือเหตุผลที่เราเคยเชิดชู ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงกระบวนการต่อรองทางธรรมชาติของ พันธุกรรม ที่ทำให้เราดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ได้ และอะไรจะน่าตกใจสำหรับปัจเจกบุคคลยิ่งไปกว่าการที่เขาถูกทำให้เชื่อว่า แม้แต่อารมณ์ส่วนตัวหรือความรู้สึกเบื้องลึกในจิตใจก็สามารถอธิบายออกมาด้วยภาษาวิทยาศาสตร์ในเชิงวัตถุได้ ซึ่งมันก็ดูเหมือนไม่มีอะไรมากไปกว่ากิจกรรมของสารชีวเคมี ไหลเป็นกระแสเข้าออกผ่านเครือข่ายเส้นใยประสาทในสมอง (neuronal activities)  หรือไม่ก็เป็นระบบชีวคำนวณ (organic algorithm) ที่วิวัฒนาการของมนุษยชาติได้รับสืบทอดมาจากบรรพบุรุษเพื่อสืบต่อสายพันธุ์ให้อยู่รอดปลอดภัยมากขึ้นแค่นั้น  

 

(2)

ยิ่งวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีพัฒนาขึ้นมากเพียงใด มนุษย์ก็ยิ่งเข้าใกล้ความเป็นจริงทางกายภาพมากเพียงนั้น แต่ยิ่งเข้าใกล้ความเป็นจริงเหล่านั้น เรื่องราวแห่งความภาคภูมิใจในเผ่าพันธุ์ของตนเองก็ยิ่งจางหาย ตอนนี้เทคโนโลยีดิจิตอลไม่เพียง “รื้อกระจาย” ชีวิตของแต่ละคนให้เหลือความสำคัญแค่เป็นชิ้นส่วนข้อมูลชีวอิเล็กทรอนิกส์ (biochips) ล่องลอยอยู่ในกาละและอวกาศ หากยัง “รื้อทำลาย” เรื่องราวสิ่งสร้างต่าง ๆ ของมนุษย์ให้เป็นเพียงความทรงจำคร่ำครึของยุคอดีต

ตราบเท่าที่มนุษย์ยังไม่รู้ว่าความรู้สำนึก (consciousness) ของตนเองคืออะไร และแตกต่างจากความสามารถทางสมอง (intelligence) อย่างไร ตราบนั้นชีวิตของมนุษย์จะมีความหมายเหลือเพียงแค่เป็นสารชีวเคมีไหลเข้า-ออกผ่านเส้นใยประสาทในสมอง  เป็นสารประกอบโปรตีนที่แยกย่อยได้ หรือไม่ก็เป็นสิ่งแสดงพฤติกรรมการตอบสนองชุดต่าง ๆ ที่เกิดจากการทำงานของสมองเป็นสำคัญ

เพราะ “ความเป็นจริง” ของยุคปัจจุบันถูกเปิดเผยอยู่ตรงจุดนี้ ทำให้ “เรื่องราว” ที่มนุษย์เขียนให้แก่ชีวิตและเผ่าพันธุ์ของตนเองในยามนี้ถูกขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับสมอง ความสามารถทางสมอง การฝังชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ภายในอวัยวะ การจำลองปัญญาเทียม การสร้างหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ (AI)  เหล่านี้เป็นต้น  แต่ยิ่งมนุษย์สร้างเรื่องราวเกี่ยวกับความสามารถทางสมองมากขึ้นเพียงไร มนุษย์ก็ยิ่งรื้อทำลาย (disrupt) จิตใจของมนุษย์ด้วยกันเองมากเพียงนั้น

สาเหตุหลักก็คือ สำหรับผู้ที่มองความเป็นจริงนี้ในแง่บวกเกินจริง พวกเขาก็จะสนับสนุนการพัฒนาความสามารถทางสมอง (เทียม) ให้ถึงที่สุด โดยไม่ได้ฉุกคิดว่าสิ่งที่พวกเขาสนับสนุนจะกลายเป็น “เรื่องราว” ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่มนุษย์กำลังเขียนให้แก่เผ่าพันธุ์ของตนเอง ซึ่งประวัติศาสตร์ส่วนนี้จะทำให้ลูกหลานในอนาคตเรียนรู้ว่า มนุษย์วันนี้ยอมรับให้จักรกลเป็นอำนาจใหม่แทนที่อำนาจเดิมในการกำหนดทิศทางชีวิตของมนุษย์แล้ว เราแค่เปลี่ยนจากการนับถือและเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มาเป็นการนับถือและเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับจักรกลอัลกอริทึ่ม

ส่วนผู้ที่มองความเป็นจริงนี้ในแง่ลบเกินจริง พวกเขาก็จะสร้าง “เรื่องราว” ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ไปในทางลบ เป็นทำนองเกลียดกลัวเครื่องจักรหรือแม้แต่ปฏิเสธเทคโนโลยี ซึ่งแท้จริงแล้ววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ได้ทำลายชีวิตใคร มันแค่ถอดรื้อให้เห็นโครงสร้างของชีวิตเบื้องลึกในบางแง่มุม ซึ่งก็ยังไม่ใช่ทั้งหมดและไม่ใช่คำตอบสุดท้ายด้วย

สำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นจริงกับเรื่องราว อีกทั้งไม่สามารถกำหนดรู้ชีวิตของตนเองตามความเป็นจริงของโลกยุคใหม่ พวกเขาก็จะสร้าง “เรื่องราว” อีกชุดหนึ่งของมนุษย์ที่ไร้ค่าและหาความหมายไม่ได้ในโลกของเทคโนโลยี ทั้งสามชุดเรื่องราวล้วนบอกเล่าให้ลูกหลานฟังถึงการรื้อทำลายมนุษย์โดยมนุษย์ด้วยกันเองผ่านเทคโนโลยี มิใช่เทคโนโลยีทำลายล้างมนุษย์

ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่แค่แสดงให้เห็นความเป็นจริงกายภาพระดับโครงสร้าง แต่ที่มันทำร้ายความรู้สึกของมนุษย์เพราะ “ความเป็นจริง” นี้ทำลาย “เรื่องราว” ทางวัฒนธรรมที่เราได้รับปลูกฝังมาจากรุ่นสู่รุ่นจนเราแทบไม่หลงเหลือ “ความเป็นมนุษย์” รวมทั้ง “สถาบันของมนุษย์” อันน่าภาคภูมิใจได้อีกแล้ว เทคโนโลยีบอกว่าข้างในเราเป็นอะตอมหรือมีโครงสร้างโครโมโซมเหมือนกัน แต่เราคงไม่สนใจอะตอมที่เหมือนกันมากกว่า “ตัวกู” และเรื่องราว “ของกู” ที่แตกต่างจากคนอื่น

ฉันใดก็ฉันนั้น เพราะที่ผ่านมาเผ่าพันธุ์มนุษย์ดำรงอยู่และขยายอำนาจของตนผ่านเรื่องราวต่าง ๆ ใครก็ตามที่สามารถสร้าง “เรื่องราว” ให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกับ “ความเป็นจริง” ในปัจจุบันได้มากที่สุด เขาผู้นั้นจะเป็นผู้ถืออำนาจและกุมชะตากรรมแห่งมนุษยชาติไว้ในมือ

แต่เพราะความเป็นจริงที่มนุษย์ค้นพบนั้นยังเป็นเพียงฝ่ายวัตถุกายภาพ ซึ่งยังไม่มีใครสรุปได้ว่านั่นคือทั้งหมดและเป็นที่สุดแล้ว อีกทั้งทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงและรู้ความเป็นจริงได้อย่างเสมอกัน  พวกเราจึงยังมีพื้นที่สำหรับการค้นหา “ความเป็นจริง” เพื่อกำหนดความหมายของชีวิตในแบบอื่นได้อยู่ ซึ่งความเป็นจริงใหม่ที่ยังไม่ถูกค้นพบ อาจเปลี่ยนทิศทางแห่งเรื่องราวของมนุษย์ในวันหน้าก็ได้

เพราะฉะนั้น มนุษย์จึงควรใช้ชีวิตอยู่อย่างรู้ให้เท่าทันทั้ง “ความเป็นจริง” และ “เรื่องราว”  คนที่สามารถปล่อยวางเรื่องราวและอยู่กับความเป็นจริงเท่านั้นได้จะเป็นผู้หลุดพ้น ส่วนคนที่ยังอาศัยเรื่องราวเพื่อสร้างความหมายให้ชีวิต ก็จะต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นจริงกับเรื่องราวให้มากขึ้น เพื่อที่ว่าเราจะอยู่ในโลกนี้ได้อย่างสร้างสรรค์และมีคุณค่า และสามารถถ่ายทอดเรื่องราวของมนุษย์ผู้มีความสุขสู่ลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป 

 

หนังสือ (และเอกสาร) ประกอบการเขียน

Cobb, Kurt (2019). Is matter conscious? If so, does it matter? Https://www.resilience.org/stories/2019-04-21/is-matter-conscious-if-so-does-it-matter/.

Gamez, David (2018). Chapter Title: Machine Consciousness. https://www.jstor.org/stable/j.ctv8j3zv.14.

Harari, Yuval Noah (2017). Homo Deus. London: Vintage.

Harari, Yuval Noah (2019). 21 Lessons for the 21st Century. London: Vintage.

Horgan, John (1994). Can Science Explain Consciousness? Scientific American 271 (1): 88-94.

Stanislav, Grof (2018). The Nature of Consciousness and Its Relationship to Matter. Https://www. stillnessspeaks.com/nature-consciousness-relationship-matter/.

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net