Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ถกด่วนปมเลื่อนบรรจุ ‘ครูคืนถิ่น’ ประกาศล่วงหน้าแค่ 1 วัน ขณะที่ ‘ธุรการ-ภารโรง’ จ่อบุกทำเนียบ ปม 5 หมื่นรายถูกเปลี่ยนวิธีจากเดิมตําแหน่ง 'ลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน' เป็นตําแหน่ง 'จ้างเหมาบริการ'

ที่มาภาพ https://www.youtube.com/watch?v=Mw-JbV-YKcU

2 ต.ค.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา สมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนแห่งประเทศไทย และเครือข่ายนักการภารโรง ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1/2562 ถึงเจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียน และนักการภารโรง ลูกจ้างชั่วคราวทุกตําแหน่ง ในสถานศึกษาของรัฐ สังกัดสํานักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ โดยระบุว่า ตามที่ ขณะนี้ได้เกิดความโกลาหลใหญ่ในหมู่ลูกจ้างชั่วคราว ในสถานศึกษา สังกัด สพฐ. 50,000 คน ด้วยปัญหาใหญ่ดังต่อไปนี้

เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา สพฐ ได้ออกหนังสือ ราชการที่ ศธ 04009/ว5966 ลงวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา  เรื่องการจัดสรรอัตราจ้างเหมาบริการ พ.ศ.2563 (ครั้งที่1) โดย สาระสําคัญหนังสือฉบับนี้ที่มีปัญหาคือ 1. สํานักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ไม่จัดสรรเงินสมทบกองทุนประกันสังคมให้แก่ลูกจ้างชั่วคราวทุกตําแหน่ง กว่า 50,000 คน 2. สํานักงบประมาณ กระทรวงการคลังให้ สพฐ ปรับวิธีการจ้างจากเดิมตําแหน่งลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน เป็นตําแหน่งจ้างเหมาบริการ

จึงเกิดคําถามว่า 1. เพราะอะไร สํานักงบประมาณ กระทรวงการคลัง จึงให้ สพฐ เปลี่ยนการจ้างในครั้งนี้ เป็นการจ้างเหมาบริการ 2. เพราะอะไร สํานักงบประมาณ กระทรวงการคลัง จึงไม่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมแก่ลูกจ้างชั่วคราวทุกตําแหน่ง ในปีงบประมาณ 2563 3. ใครมาจะแก้ไขปัญหาครั้งนี้ได้บ้าง

แนวทางแก้ไข รัฐบาลต้องมีมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติกรอบอัตรากําลังเพื่อปรับลูกจ้างชั่วคราวทุกตําแหน่งที่ได้รับผลกระทบในครั้ง นี้เป็น พนักงานราชการ เท่านั้น

"จากปัญหาที่กล่าวมา จึงทําให้เกิดผลกระทบด้านสิทธิแก่ลูกจ้างชั่วคราวกลุ่มดังกล่าวอย่างมากมายก่อให้เกิดการร่วม กลุ่มเพื่อแสดงจุดยืนรักษาสิทธิของตนอันเนื่องมาจากการถูกกระทําในครั้งนี้ โดยหากรัฐบาลไม่หามาตรการแก้ไขปัญหา ดังกล่าว ก็จะนําสู่การชุมนุมลูกจ้างทั้งประเทศเพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมที่กระทรวงศึกษาธิการ และ ทําเนียบ รัฐบาล ในวันอังคารที่ 15 ต.ค.2562 เวลา 9.00 น. เป้าหมายทําเนียบรัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ จึงเรียนแจ้งพี่น้อง ลูกจ้าง สพฐ.ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดได้ร่วมเรียกร้องสิทธิของตนครั้งนี้" แถลงการณ์ ระบุ

ก.ค.ศ.ถกด่วนบรรจุครูคืนถิ่น ‘ธุรการ-ภารโรง’ 5 หมื่นรายอ่วม ถูกเปลี่ยนวิธีเป็น ‘จ้างเหมา’

วันเดียวกัน (1 ต.ค.62) มติชนออนไลน์ รายงานว่า พีระ รัตนวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ สพฐ. สั่งชะลอการบรรจุและแต่งตั้งนักศึกษาทุนโครงการการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น พ.ศ.2562 จำนวน 2,681คน ทำให้ครูจากโครงการดังกล่าวได้รับความเดือดร้อน เพราะมีการเตรียมพร้อมมาถึง 2 ปี ขณะที่โรงเรียนเองก็รอครูเพื่อไปสอนนั้น อัตราที่สพฐ. จะบรรจุเป็นอัตราเกษียณฯ ปี 2562 ซึ่งสพฐ. ได้เสนอคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ขอรับจัดสรรคืนอัตราเกษียณฯ เพื่อบรรจุให้ทันวันที่ 1 ต.ค. 2562 ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค. 2562 โดยเรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของก.ค.ศ. จึงทำให้ไม่สามารถใช้อัตราว่างดังกล่าวได้ทันในวันที่ 1 ต.ค.2562 ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา สพฐ.จึงชะลอการบรรจุแต่งตั้งครูในโครงการดังกล่าวไปก่อน จนกว่าก.ค.ศ. จะมีมติคืนอัตรา

“สพฐ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งรัดให้ดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด อีกทั้งนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ในฐานะประธาน ก.ค.ศ. เองก็มีความห่วงใย และได้กำหนดให้มีการประชุมก.ค.ศ. วันที่ 2 ตุลาคม หากก.ค.ศ. มีมติคืนอัตราเกษียณแล้ว จะเร่งบรรจุและแต่งตั้งนักศึกษาทุนครูคืนถิ่น เป็นครูผู้ช่วยโดยเร็ว คาดว่าไม่เกินสัปดาห์นี้” พีระกล่าว

สนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการกพฐ. กล่าวว่า ส่วนกรณีที่สภาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการแห่งประเทศไทยและเครือข่ายนักการภารโรง ออกแถลงการณ์ กรณีเกิดความโกลาหล กลุ่มลูกจ้างชั่วคราวในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. โดยสำนักงบประมาณไม่จัดสรรงบสมทบกองทุนประกันสังคมให้แก่ลูกจ้างชั่วคราวในทุกตำแหน่งกว่า 50,000 คน และได้ให้สพฐ. ปรับวิธีการจ้างจากเดิมตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน เป็นตำแหน่งจ้างเหมาบริการ ซึ่งทางสภาพันธ์ เรียกร้องให้กำหนดกรอบอัตรากำลังที่ได้รับผลกระทบ เป็นพนักงานราชการ โดยจะมีการนัดรวมตัวเรียกร้องความเป็นธรรม ที่ศธ. และทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 15 ต.ค.นี้นั้น ตนทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้สพฐ. ได้จัดทำคำของบประมาณ เป็นลูกจ้างชั่วคราวตามปกติ แต่ทางสำนักงบประมาณได้จัดสรรมาเป็นงบจ้างเหมา ซึ่งเข้าใจว่า ธุรการและภารโรงได้รับผลกระทบ ไม่ได้รับเงินสมทบประกันสังคม โดยการจัดสรรงบดังกล่าว เป็นการดำเนินการของสำนักงบประมาณ ซึ่งในส่วนของสพฐ. เบื้องต้นไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะสำนักงบประมาณเป็นหน่วยงานที่ดูแลจัดสรรงบ

“สพฐ.จะดำเนินการตรวจสอบข้อมูล และหารือกับสำนักงบประมาณ เพื่อหาแนวทางแก้ไข เข้าใจว่า ทุกคนได้รับความเดือดร้อน สพฐ.เองไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ต้องรอความชัดเจนก่อน รวมถึงต้องรอดูนโยบายของเลขาธิการกพฐ. คนใหม่ ที่จะมาแทนนายสุเทพ ชิตยวงษ์ อดีตเลขาธิการกพฐ. ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว ว่าจะมีแนวทางอย่างไร” สนิทกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net